สวัสดีครับ "รายการรู้รอบเกม" กับ "กุมภฤทธิ์ พุฒิภิญโญ" หรือ "พี่กู้" Content Creator สายเกมไทยรัฐออนไลน์ กลับมาพบกับทุกคนอีกครั้ง และวันนี้ คงไม่มีดราม่าวงการเกมเรื่องไหนจะร้อนแรงเท่ากับเรื่องนี้อีกแล้ว

"กุมภฤทธิ์ พุฒิภิญโญ" หรือ "พี่กู้" Content Creator สายเกมไทยรัฐออนไลน์

โดยเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 66 ที่ผ่านมา ได้มีเกมๆ หนึ่งที่เกมเมอร์จำนวนมากรวมถึงแฟนๆ จักรวาล "แฮรี่ พอตเตอร์" ต่างก็รอคอยที่จะได้สัมผัสกันอย่างล้นหลาม นั่นก็คือ "Hogwarts Legacy" ผลงานเกมจาก Avalanche Software ค่ายเกมที่มีประสบการณ์ในการสร้างเกมจากการ์ตูนแอนิเมชันมามากมาย แต่ว่าเกมนี้ถือว่าเป็น ผลงานเกมเกรด AAA ที่มีขนาดใหญ่โตที่สุดเท่าที่สตูดิโอเคยสร้างมา

...

สาเหตุที่เกมนี้เป็นที่รอคอยกันอย่างมาก ก็เพราะว่าตั้งแต่เมื่อเกมเริ่มมีการเปิดตัวให้สาธารณะได้รู้จักเนี่ย กระแสของเกมค่อนข้างจะแรงไม่หยุด เนื่องจากว่ามันสร้างมาจากซีรีส์หนังสือนวนิยายและภาพยนตร์ชื่อดัง ซึ่งมีฐานแฟนอยู่มากมาย นับเฉพาะแค่หนังสือ 7 ภาค

มียอดขายทั่วโลกรวมกัน ทะลุ 500 ล้านเล่ม โดยในช่วงปี 1997 ที่หนังสือเล่มแรก Philosopher’s Stone วางขาย ไปจนถึงเล่มสุดท้าย Deathly Hallows ในปี 2007 มันได้สร้างฐานแฟนไว้มหาศาล นับเป็นปรากฏการณ์ที่ยิ่งใหญ่ของวงการหนังสือ และมีเด็กๆ จำนวนมากที่เติบโตมาโดยการถูกหล่อหลอมจากเนื้อหาของนิยายชุดนี้

เกือบ 20 ปีผ่านไป คนกลุ่มนี้ก็เติบโตเป็นผู้ใหญ่ แต่ยังคงมีความทรงจำในวัยเด็กที่ผูกพันกับโลกแห่งจินตนาการในจักรวาลแฮรี่ตลอดมา และแม้ว่าที่ผ่านมาจะเคยมีการนำเอาเนื้อหาของหนังสือมาสร้างเป็นวิดีโอเกมหลายต่อหลายภาค แต่ก็ไม่มีเกมไหน ที่สามารถถ่ายทอดภาพจำที่ทุกคนมีในวัยเด็กได้ยอดเยี่ยมเทียบเคียงกับที่ "Hogwarts Legacy" ทำได้

นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกมนี้มีกระแสแรงต่อเนื่องไม่หยุด ผู้คนรอคอย และตื่นเต้นที่จะได้เล่นมันอย่างมาก ถึงขนาดว่าขึ้นชาร์ตเกมขายดีบนสตรีมด้วยยอดจองสั่งซื้อล่วงหน้าก่อนที่เกมจะขายจริงเป็นเดือน

แต่แม้ว่ากระแสของเกมจะพุ่งสูงยังไง ก็ไม่วายที่เกมอย่าง Hogwarts Legacy จะอุดมไปด้วยประเด็นดราม่ารายล้อมตัวเกมมาตลอดตั้งแต่ก่อนเกมวางจำหน่าย ซึ่งเรื่องราวเหล่านั้นก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับคุณภาพของตัวเกม หรือ ฝีมือของทีมพัฒนา แต่มันเป็นเรื่องของความเคลื่อนไหวที่จะต่อต้านผู้แต่งนวนิยายและจักรวาลพ่อมดนี้อย่าง "เจ เค โรว์ลิง" โดยถ้าหากจะว่ากันตามตรงหนังสือชุดแฮรี่ พอตเตอร์นั้นขายดี และได้รับคำชมเยอะมาก จนทำให้ตัวนักเขียนอย่าง เจ เคโรว์ลิง โด่งดัง ร่ำรวย และเป็นที่รักของทุกๆ คนอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง

เจเค โรว์ลิง ผู้แต่งหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์
เจเค โรว์ลิง ผู้แต่งหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์

...

แต่ทว่านับตั้งแต่ช่วงปี 2018 เป็นต้นมา "เจเค" มักจะมีการพูดคุยปฏิสัมพันธ์และแสดงความคิดเห็นบนโซเชียลมีเดียและโลกอินเทอร์เน็ตมากขึ้น โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับเรื่องเพศสภาพ ทั้งการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิของกลุ่ม LGBTQ+ หรือการตั้งคำถามหรือหาคำนิยามจำกัดความของคำว่าเพศ โดยเนื้อหาของสิ่งที่ "เจเค" พยายามจะสื่อในหลายๆ ครั้ง เช่น การบอกว่าโลกนี้มีเพียงสองเพศคือชายและหญิงเท่านั้น, เด็กที่มีลักษณะรักร่วมเพศควรถูกส่งไปบำบัด, ถ้าเพศไม่มีจริง การรักร่วมเพศก็ต้องไม่มีจริง, หรือการโพสต์แสดงความเป็นห่วงเป็นใยในกรณีที่ในระยะหลังมีการเคลื่อนไหวของคนข้ามเพศกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเรียกร้องสิทธิหรือปรากฏตัวบนสื่อ ซึ่งมันทำให้เด็กจำนวนมากอยากจะเปลี่ยนเพศของตัวเอง ได้สร้างความไม่พอใจกับกลุ่มเพศทางเลือกอย่างมากอยู่เป็นประจำ เพราะพวกเขารู้สึกว่า เจเค นั้นเหยียบย่ำตัวตนและศักดิ์ศรี รวมไปถึงพยายามอย่างแข็งขันที่จะทำให้พวกเขามีชีวิตอยู่บนโลกนี้ยากขึ้น เช่น ตั้งแต่เรื่องง่ายๆ อย่างการที่ตัว เจเค มักออกมาตอบโต้หรือต่อปากต่อคำกับกลุ่มเพศทางเลือกบนโซเชียลมีเดียบ่อยๆ ไปจนถึงการบริจาคเงินให้กับกลุ่มต่อต้านการเคลื่อนไหว LGBTQ+ ในการเรียกร้องสิทธิต่างๆ

...

และผลลัพท์ที่ตามมาก็น่าจะเดากันได้ไม่ยาก คอมมูนิตี้ของกลุ่มเพศทางเลือกก็เริ่มจะอาฆาตแค้นในตัว เจเค อย่างเปิดเผย เริ่มเรียกร้องรณรงค์ให้มีการบอยคอตผลงานต่างๆ ของนักเขียนชาวอังกฤษ และแน่นอนมันรวมถึงเกม Hogwarts Legacy ที่ในตอนนั้นใกล้จะวางจำหน่ายด้วย เพราะการที่สนับสนุนผลงานของ เจเค ในรูปแบบใดๆ จะหนังสือนิยายหรือแม้แต่วิดีโอเกมที่เธอเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ สุดท้ายเงินก็จะไปถึงตัว เจเค และเธอก็จะนำเงินจำนวนนี้ไปมอบให้กับกลุ่มที่ต่อต้านเพศทางเลือกในที่สุด

กระแสต่อต้านเจเคนั้น ก็ยังทรงตัวต่อเนื่องเรื่อยมา จนกลับมาปะทุอย่างรุนแรงเมื่อตอนที่ตัวเกมวางจำหน่ายและเริ่มมีคนจำนวนมากได้เล่นมัน โดยเฉพาะกลุ่มคอนเทนต์ครีเอเตอร์และสตรีมเมอร์ต่างประเทศหลายรายที่ตื่นเต้นรอคอยเกมนี้อยู่แล้วแต่เดิม เมื่อพวกเขาได้เล่นและเผยแพร่ข้อมูลของตัวเกมออกสู่สาธารณะ ก็ได้มี "กลุ่มต่อต้านเจเค" บอยคอต ตัวเกมจำนวนมากแวะเวียนเข้ามาหาคอนเทนต์ครีเอเตอร์เหล่านั้น ทั้งในรูปแบบที่นุ่มนวลและรุนแรงครับ คือกลุ่มที่เข้ามาอย่างนุ่มนวลนั้นก็ไม่ได้สร้างปัญหาเท่าไร คือเข้ามาอธิบายว่าทำไมพวกเขาถึงต้องการที่จะต่อต้านบอตคอตผลงานชิ้นนี้ของเจเค เพราะก็ต้องยอมรับครับว่าหลายคนก็รู้จักแต่ผลงานของนักเขียนหรือศิลปินโดยไม่ได้รู้ว่า ความคิดเห็นทางการเมือง นิสัยส่วนตัว หรือชีวิตประจำวันของเจ้าของผลงานนั้นๆ เป็นอย่างไร เขารู้ว่าเขาชอบแฮรี่ พอตเตอร์ และเขาก็อยากเล่น ก็แค่นั้น แต่ก็มีบางคนที่เข้ามาก่นด่าต่อว่าผู้สร้างสรรค์ผลงานว่าไร้จิตสำนึก ไร้ความรับผิดชอบ สนับสนุนคนเลวที่พยายามบ่อนทำลายสังคมกลุ่มเพศทางเลือกของพวกเขา

...

เรื่องนี้เกิดขึ้นอย่างหนักและลุกลามบานปลายอย่างมากในต่างประเทศ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่การต่อสู้ทางความคิดของกลุ่มคนที่เชื่อในเพศทางเลือก และต่อต้านเพศทางเลือกมีความดุเดือดรุนแรง ถึงขนาดว่ามีการเปิดเว็บไซต์เพื่อรวบรวมรายชื่อคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่สร้างผลงานเกี่ยวกับตัวเกม เพื่อประจานให้คนได้รับรู้และกดเลิกติดตามพร้อมแบนบุคคลเหล่านั้นไปด้วยเลยนะครับ แต่ในประเทศไทยนั้นก็ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้ไม่ได้เป็นประเด็นที่เข้มข้นเท่า

อย่างไรก็ตามมันก็เกิดเรื่องขึ้นจนได้ เพราะว่าสตรีมเมอร์อันดับหนึ่งของเมืองไทยอย่างคุณเอก "Heartrocker" นำเอาเกมนี้ไปเล่นออกไลฟ์ผ่านช่องของตัวเอง ซึ่งก็มีกลุ่มบุคคลที่มีความต้องการที่จะต่อต้านบอยคอตเกม เข้าไปแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก ทั้งแบบที่ให้ข้อมูลประท้วงแบบเบาๆ ไปจนถึงด่ากราดและหยิบยกเอาประเด็นเก่าๆ ที่เคยมีเรื่องออกข่าวครึกโครมของ "คุณเอก" มาผสมโรงกันไปด้วย ซึ่งหลังจากที่ถูกโจมตีสักระยะคุณเอกก็ได้ออกมาเปิดเผยว่าเตรียมดำเนินคดีกับผู้ที่เข้ามาต่อว่าเขาอย่างเสียๆ หายๆ จำนวนมาก ด้วยการแคปภาพข้อความเหล่านั้นไว้เป็นหลักฐานแล้ว

อุทธาหรณ์ของเรื่องนี้ก็คงไม่มีประเด็นอะไรมากไปกว่า ทุกคนต้องยอมรับผลจากการกระทำของตัวเอง แม้จะเป็นบนโลกอินเทอร์เน็ต ต้องบอกว่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งบนโลกอินเทอร์เน็ตที่ใครอยากจะเผยแพร่ข้อมูลอะไรก็ได้ มันจึงเป็นเรื่องง่ายเหลือเกินที่จะทำให้เกิดการกระทำความผิดทั้งทางศีลธรรมหรือกฎหมาย โดยจะอ้างว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือมันปากอย่างไรก็ตาม มันก็แสดงถึงวุฒิภาวะทางสังคมว่าเราจำเป็นที่จะต้องมีมากขึ้นในทุกประเด็นความขัดแย้ง

ซึ่งมันก็เป็นเรื่องเตือนใจในข้อที่สองต่อมาว่า "วุฒิภาวะนั้นจะเกิดขึ้นได้จากการเรียนรู้ ไม่ว่าจะโดยการบอกกล่าว เห็นเป็นตัวอย่าง หรือพลาดพลั้งและเรียนรู้จากความผิดพลาดนั้นจริงๆ"

ดังนั้นการเปิดให้มีเสรีบนโลกอินเทอร์เน็ตก็ยังจำเป็น แต่ผู้คนจะต้องเรียนรู้ที่จะไม่ใช้สิทธิเกินส่วน หรือปล่อยวางในประเด็นที่คนไม่เห็นด้วยกับชุดความคิดของตัวเอง ไม่ว่าเราจะเชื่อว่ามันดีงามทรงคุณค่าเพียงใดก็ตาม คนที่คิดเห็นไม่เหมือนเราเขาไม่ได้ผิดอะไร และเราทำได้มากที่สุดก็แค่โน้มน้าวจิตใจให้ผู้คนเห็นด้วยกับแนวทางของเราเท่านั้น เพราะถ้าคุณเริ่มเรียกร้องจนเกิดขอบเขต สร้างความเดือดร้อนรำคาญ นอกจากตัวเองจะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำนั้นแล้ว ประเด็นแนวคิดที่เราอยากจะผลักดันก็จะถูกต่อต้านมากขึ้น และทำให้เป้าหมายนั้นบรรลุผลไม่ได้ในที่สุด

และนั้นคือ...ข้อคิดจากวงการเกมที่ฝากไว้ให้กับคุณผู้ชมทุกท่านในรายการรู้รอบเกม วันนี้ขอบคุณสำหรับการติดตามและพบกันใหม่คราวหน้า สำหรับวันนี้ สวัสดีครับ...

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :