“อี ซูมาน (Lee Soo man) จะไม่มีสิทธิในการบริหารหรือการผลิตผลงานเพลง และจะไม่ได้รับค่าลิขสิทธิ์อีกต่อไป” พัค จีวอน (Park Ji-won) CEO ของ HYBE Corporation ประกาศถึงความชัดเจนเกี่ยวกับอนาคตของ "The Godfather of K-pop" เป็นครั้งแรก หลัง HYBE ประกาศว่าสามารถบรรลุข้อตกลงเรื่องการซื้อหุ้น 14.8% ของ SM Entertainment จากอดีตผู้ร่วมก่อตั้งค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ในระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์กับพนักงานของ HYBE วานนี้ (13 ก.พ. 23)
ขณะเดียวกัน CEO ของ HYBE ยังได้กล่าวถึงอนาคตของ SM Entertainment ที่กำลังก้าวเข้าสู่การควบรวมกิจการที่อาจเปลี่ยนโฉมหน้าวงการ K-POP ในอนาคตเอาไว้ว่า...
...
“เราให้ความเคารพต่อมรดกทางดนตรีของ SM Entertainment และ HYBE จะรับประกันความเป็นอิสระของ SM Entertainment พร้อมกับจะช่วยรักษาและขยายมูลค่ากิจการให้กว้างไกลออกไป และเสาหลักของอุตสาหกรรม K-POP (HYBE และ SM) จะได้รับประโยชน์จากผลของการทำงานร่วมกันในครั้งนี้”
อย่างไรก็ดี คำประกาศที่ราวกับว่า HYBE Corporation กำลังจะกลายเป็นผู้ชนะในสงครามการยื้อแย่ง SM Entertainment กับ กลุ่มผู้บริหาร SM ที่เป็นขั้วตรงข้ามกับ “อี ซูมาน” และ พันธมิตร KaKao Corp. จะได้ผลสรุปเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่นั้น...จนถึงวันนี้ บรรดานักวิเคราะห์ยังไม่มีใครที่กล้าฟันธงได้อย่างชัดเจน เนื่องจากยังมีทั้งขั้นตอนการพิจารณาของศาลในประเด็นที่ “อี ซูมาน” ยื่นคำร้องให้พิจารณาการซื้อหุ้น SM Entertainment ในสัดส่วน 9.05% ให้เป็น “โมฆะ” รวมไปจนกระทั่งถึงการไล่ซื้อหุ้นในมือผู้ถือหุ้นรายย่อยอย่างดุเดือดระหว่าง HYPE และ KaKao Corp. เพื่อแย่งชิงสิทธิในการบริหาร ก่อนที่จะถึงวันประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นครั้งต่อไปในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้
ฉะนั้น “อะไรๆ ย่อมสามารถเกิดขึ้นได้” แม้ว่าจนถึงตอนนี้ HYPE ดูจะเป็นฝ่ายได้เปรียบในแง่มีสัดส่วนหุ้นในมือมากกว่าฝ่ายตรงข้ามก็ตาม!
พันธมิตร HYBE-SM :
หากการควบรวมกิจการระหว่าง HYBE และ SM เกิดขึ้นจริง แม้ในด้านหนึ่งอาจทำให้ ทั้ง 2 บริษัทมีขนาดใหญ่โตในตลาดนอกประเทศเกาหลีใต้ ในระดับลีกเดียวกับ 3 บริษัทดนตรียักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง Sony, Universal และ Waner Music แต่ในอีกด้านหนึ่งนักวิเคราะห์ในเกาหลีใต้ มองว่า การควบรวมดังกล่าวอาจกลายเป็นการ “ผูกขาด” วงการ K-POP มากเกินไป จนทำให้ “ความหลากหลาย” ในการผลิตผลงานเพลงอาจลดน้อยถอยลง
...
นอกจากนี้ หาก HYBE ไม่สามารถกลายเป็น “ผู้ชนะที่เด็ดขาด” ในสงครามแย่งชิง SM Entertainment ในบั้นปลายได้ “ความยุ่งเหยิง” ที่จะเกิดขึ้นจากความขัดแย้งภายใน อาจทำให้ทั้งการผลิตผลงานเพลง รวมถึงกำลังใจของบรรดาศิลปินในค่าย “ลดน้อยถอยลงตามลำดับได้อีกเช่นกัน”
การควบรวมที่ต้องทั้งสมดุลและปรองดอง :
ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า HYBE และ SM มีความโดดเด่นเฉพาะตัวในการสร้างผลงานเพลงในแบบฉบับของตัวเอง ด้วยเหตุนี้ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่จึงมองว่า การควบรวมครั้งนี้ควรจะต้องดำเนินไปในแบบการสร้างความสมดุล และแสวงหาความปรองดองระหว่างกันและกัน
นั่นคือ...ข้อแรกควรให้ “อิสระ” กับ SM เรื่องการสร้างผลงานเพลงในแบบฉบับของตัวเองต่อไป ในขณะที่ HYBE ควรจะมีหน้าที่หลักในการดูแลเรื่องการจัดจำหน่ายและการทำการตลาด โดยเฉพาะในตลาดอเมริกาเหนือ ซึ่ง HYBE สามารถวางรากฐานเอาไว้ได้อย่างแข็งแรงเพื่อขยายขอบข่าย K-POP ให้กว้างไกลออกไปมากกว่าเดิม
...
ส่วนในประเด็นเรื่องการแสวงหาความปรองดองในการควบรวมกิจการนั้น เป็นเพราะประเด็นสำคัญที่ต้องไม่ลืม คือ K-POP เป็นธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วย “แฟนคลับ” เป็นสำคัญ ฉะนั้นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง คือ “ความเปลี่ยนแปลงใดๆ” หลังจากการควบรวมกิจการ จะต้องไม่กระทบต่อจิตใจของเหล่าแฟนคลับมากเกินไปด้วย
ส่องอาณาจักร HYBE Corporation และ SM Entertainment :
HYBE Corporation :
Market Cap. : 8.1 ล้านล้านวอน
ผู้ถือหุ้นใหญ่ : “บัง ชีฮยอก” (Bang Si hyuk) ผู้ก่อตั้ง 31.80%, Netmarble (บริษัทผู้พัฒนาเกมมือถือเกาหลีใต้) 18.21%, National Pension Service (กองทุนบำเหน็จบำนาญของเกาหลีใต้) 6.62%, Dunamu Inc. (บริษัทฟินเทคของเกาหลีใต้) 5.57%
รายงานผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2022 :
...
รายได้ : 445,499 ล้านวอน (+30.6% YoY) กำไรสุทธิ : 94,924 ล้านวอน (+91% YoY) โดยในจำนวนนี้เป็น ยอดขาย Albums : 129,198 ล้านวอน : และรายได้จากการแสดงคอนเสิร์ต : 47,232 ล้านวอน
สำหรับ New Artists Highlights ปี 2023 ของบริษัท คือ Le Sserafim , Newjeans และ &TEAM
SM Entertainment :
Market Cap. : 2.7 ล้านล้านวอน
ผู้ถือหุ้นใหญ่ (ก่อนสงครามระหว่าง HYBE และ KaKao) : “อี ซูมาน” (Lee Soo man) ผู้ร่วมก่อตั้ง 18.45%, National Pension Service (กองทุนบำเหน็จบำนาญของเกาหลีใต้) 8.96%
แผนงานปี 2023 : มีกำหนดปล่อย 40 อัลบั้มในปี 2023 โดยแยกเป็นการเปิดตัว 7 อัลบั้มในไตรมาสแรกของปีนี้, ส่วนไตรมาส 2 และ 3 จะมีการเปิดตัวรวม 24 อัลบั้ม และไตรมาส 4 เปิดตัวอีกรวม 10 อัลบั้ม
รายงานผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2022
รายได้ : 238,100 ล้านวอน (+65.4% YoY) : กำไรสุทธิ : 29,200 ล้านวอน (+129.5% YoY) โดยในจำนวนนี้เป็นยอดขาย Albums : 72,000 ล้านวอน และรายได้จากการแสดงคอนเสิร์ต : 10,900 ล้านวอน
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง