ความบาดหมางภายใน SM Entertainment หนึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านอุตสาหกรรมดนตรีของเกาหลีใต้ ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1995 และปัจจุบันถือครองส่วนแบ่งทางการตลาดในประเทศถึง 20% กระทั่งนำไปสู่ความพยายามเข้าซื้อกิจการของ HYBE Corporation ในเวลานี้ได้กลายเป็นจุดสนใจของทั้งนักลงทุน และบรรดาสาวก K-POP ไปทั่วโลก คำถาม คือ อะไรที่นำไปสู่ “รอยปริแยกภายใน” และจะเกิดอะไรขึ้นในวงการ K-POP หลังจากนี้ วันนี้ “เรา” ค่อยๆ ไปร่วมสังเคราะห์เรื่องราวประเด็นร้อนแรงนี้ร่วมกัน
จุดเริ่มต้นและรอยบาดหมางภายใน SM Entertainment :
จุดเริ่มต้น :
นับตั้งแต่ “อี ซูมาน” (Lee Soo man) ร่วมก่อตั้ง SM Entertainment ในยุค 90 เป็นต้นมา “The Godfather of K-pop” ผู้นี้ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทถึง 18.5% ได้กลายเป็นไอคอนที่มีอิทธิพลอย่างสูงในอุตสาหกรรมดนตรีของเกาหลีใต้ เนื่องจากเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของศิลปินมากมาย เช่น H.O.T, S.E.S, BoA, Girls Generation, Super Junior, TVXQ, Shinee, NCT, Red Velvet และ EXO
...
ซึ่งความสำเร็จอันงดงามของบรรดาเหล่าศิลปินเหล่านี้ ได้ผลักดันให้ SM Entertainment ครอบครองส่วนแบ่งการตลาดในประเทศได้ถึง 20% นอกจากนี้ยังสามารถรุกคืบเข้าทำการตลาดได้อย่างแข็งแกร่งในประเทศญี่ปุ่น จีน ภูมิภาคตะวันออกกลาง และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนเป็นผลให้บริษัทถูกประเมินมูลค่าทางการตลาด ณ ปัจจุบันสูงถึง 2.7 ล้านล้านวอน!
รอยปริแยก :
ปี 2022 กองทุน “Align Partners Capital Management” ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น 1% ใน SM Entertainment ได้ออกมาเป็นหัวหอกในการเรียกร้องขอผลตอบแทนที่เพิ่มมากขึ้นให้กับผู้ถือหุ้น รวมถึงเรียกร้องให้การกำกับดูแลกิจการภายใต้การนำของ “อี ซูมาน” มีความโปร่งใสให้มากขึ้นด้วย
อันเป็นผลมาจาก “อี ซูมาน” ได้รับผลตอบแทนที่เป็นค่าลิขสิทธิ์สูงถึง 11,400 ล้านวอน! หรือคิดเป็นถึง 30% ของรายได้ SM Entertainment ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2022 (ปี 2021 ได้รับรวม 24,000 ล้านวอน) ผ่านสำนักงานตัวแทนทางกฎหมาย (Boutique Firm) ที่มีชื่อว่า Like Planning ของ “อี ซูมาน”
และจากภายใต้แรงกดดันดังกล่าวนี้เองเป็นเหตุให้ SM Entertainment ได้ประกาศยุติสัญญากับ บริษัท Like Planning ของผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทลง เมื่อช่วงปลายปี 2022 ที่ผ่านมา ซ้ำร้ายไปกว่านั้นบรรดากรรมการบริษัท SM Entertainment ยังได้ทาบทามผู้บริหารของ Align Partners Capital Management เข้ามามีส่วนร่วมทั้งในเรื่องการบริหารและการปรับโครงสร้างของบริษัท หรือหากจะพูดง่ายๆ ให้เข้าใจก็คือ “การลดทอนอำนาจของ อี ซูมาน ใน SM Entertainment นั่นเอง!”
การปฏิรูป SM 3.0 :
...
จากนั้นเป็นต้นมาการลดทอนอำนาจของ “อี ซูมาน” ใน SM Entertainment ได้เพิ่มความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ ผ่านการประกาศปฏิรูปโครงสร้างองค์กรที่มีชื่อว่า “SM 3.0” ซึ่งจะมีการก่อตั้งศูนย์โปรดักชันที่มีความแตกต่างกันในเรื่องการผลิตผลงานเพลง 5 แห่ง รวมถึงสร้างค่ายเพลงอิสระเพื่อกระจายการผลิตผลงาน ซึ่งจะแตกต่างจากระบบเดิมที่กระบวนการผลิตเพลงทั้งหมดจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของ “อี ซูมาน” แต่เพียงผู้เดียวอย่างสิ้นเชิง!
และเพียงเท่านั้นยังไม่พอ ขั้วตรงข้ามของ “อี ซูมาน” ใน SM Entertainment อย่าง “อี ซอง ซู” (Lee Sung soo) และ “ทัค ยอง จุน” (Tak Young jun) CEO ร่วมของ SM Entertainment ซึ่งเป็นผู้ผลักดันแผนการปฏิรูปองค์กร “SM 3.0” ยังได้ดึง “KaKao Corp” บริษัท Tech Giants ยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ เข้ามาไล่ซื้อหุ้นของ SM Entertainment ด้วยมูลค่ารวมสูงถึง 217,000 ล้านวอน จนทำให้มีสัดส่วนการถือหุ้นสูงถึง 9.05% และกลายเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 2 ของบริษัทในที่สุด
...
Lee Soo man Strike back :
หลังโดนรุกคืบอย่างหนักหน่วงเพื่อชิงอำนาจในการบริหารไปจากมือ “อี ซูมาน” จึงเริ่มตอบโต้กลับ โดยเริ่มต้นจากการออกแถลงการณ์คัดค้านการเข้าเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของ “KaKao Corp” พร้อมกับยื่นคำร้องขอให้หยุดการทำธุรกรรมดังกล่าว
“การออกหุ้นใหม่และหุ้นกู้แปลงสภาพของ SM Entertainment ละเมิดกฎหมายอย่างชัดเจน เพราะข้อแรกบริษัทกำลังเกิดความขัดแย้งในเรื่องสิทธิการบริหาร คณะกรรมการบริษัทจึงมีการตัดสินใจฝ่ายเดียวในเรื่องการขยายผู้สนับสนุนผู้ถือหุ้น ข้อที่สอง ตามข้อบังคับของ SM การออกหุ้นใหม่และหุ้นกู้แปลงสภาพ จะได้รับอนุญาตก็ต่อเมื่อบริษัทต้องการเงินทุนอย่างเร่งด่วน แต่ในปัจจุบันมีทั้งเงินสดและสินทรัพย์จำนวนมาก จึงไม่จำเป็นต้องมีการเพิ่มทุนผ่านข้อตกลงดังกล่าว”
นอกจากนี้ “อี ซูมาน” ยังได้ติดต่อขายหุ้นของตัวเองให้กับ “บัง ชีฮยอก” (Bang Si hyuk) เจ้าของบริษัท HYBE Corporation อีกหนึ่งยักษ์ใหญ่แห่งอุตสาหกรรมดนตรีของเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นผู้ผลักดันให้ BTS กลายเป็นอีกหนึ่งไอคอนทางดนตรีที่สำคัญในระดับโลกอีกด้วย!
...
โดยล่าสุด HYBE Corporation ได้ออกแถลงการณ์ว่าตกลงรับข้อเสนอซื้อขายหุ้นมูลค่า 422,800 ล้านวอน จาก “อี ซูมาน” แล้ว และหากการทำธุรกรรมเสร็จสิ้นลง (เบื้องต้นคาดว่าน่าจะเสร็จสิ้นลงภายในวันที่ 6 มี.ค. 2023) จะส่งผลให้ HYBE Corporation เข้าถือหุ้นในสัดส่วนถึง 14.8% ของ SM Entertainment ทันที ในขณะที่สัดส่วนการถือหุ้นของผู้ก่อตั้งอย่าง “อี ซูมาน” จะลดลงเหลือเพียง 3.66%
และหลังจากสามารถบรรลุข้อตกลงดังกล่าวได้สำเร็จ HYBE Corporation ยังได้ประกาศ Tender offer เพื่อซื้อหุ้นเพิ่มเติมอีก 25% จากผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ ในราคาสูงสุด 120,000 วอนต่อหุ้น ซึ่งสูงกว่ามูลค่าปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ประมาณ 98,500 วอนต่อหุ้นถึง 20% ภายในวันที่ 1 มี.ค. เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายการถือครองหุ้นรวมกันมากกว่า 40% ใน SM Entertainment ด้วย แม้ว่าการจะไปให้ถึงเป้าหมายดังกล่าวได้นั้น บรรดานักวิเคราะห์คาดว่าอาจจะต้องใช้เงินทุนมากถึง 1.1 ล้านล้านวอนก็ตาม
ทำไม HYBE ต้องซื้อ SM :
ปัจจุบัน SM Entertainment ถูกประเมินมูลค่าที่ 2.7 ล้านล้านวอน ส่วน HYBE Corporation ถูกประเมินมูลค่าเอาไว้ที่ 8.1 ล้านล้านวอน ทำให้หากไม่มีอะไรผิดพลาด การควบรวมกิจการในครั้งนี้จะทำให้ทั้งสองบริษัทมีมูลค่ารวมกันมากถึง 11 ล้านล้านวอน!
“ข้อตกลงดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขัน และพวกเราหวังว่าความสามารถในระดับโลกของทั้งสองบริษัทจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในอุตสาหกรรมดนตรีโลก” นั่นคือ...ถ้อยแถลงอย่างเป็นทางการของ HYBE Corporation
อย่างไรก็ดีในมุมมองของนักวิเคราะห์เชื่อว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการจับมือระหว่าง “อี ซูมาน” และอดีตคู่แข่งสำคัญอย่าง “บัง ชีฮยอก” ในครั้งนี้ เป็นเพราะ “อี ซูมาน” ต้องการกำลังหนุนที่แข็งแกร่งขึ้นในการต่อสู้กับกลุ่มผู้บริหาร SM Entertainment ในปัจจุบัน ในขณะที่ “บัง ชีฮยอก” จะได้รับผลประโยชน์จากการได้ขยายตลาดออกไปทั่วโลกมากขึ้น โดยเฉพาะในภูมิภาคที่ SM Entertainment ได้วางรากฐานเอาไว้ได้อย่างแข็งแกร่งอย่าง ประเทศญี่ปุ่น จีน ภูมิภาคตะวันออกกลาง และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ขณะเดียวกันต้องยอมรับด้วยว่าในช่วงที่หลายปีผ่านมา HYBE Corporation มีรายได้หลักจากวง BTS เพียงวงเดียวคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 80-90% ของรายได้รวมบริษัท (เฉพาะปี 2019 HYBE มีรายได้จาก BTS คิดเป็นสัดส่วนถึง 90% ของรายได้บริษัท)
ด้วยเหตุนี้เมื่อเหล่าสมาชิก BTS ต้องทยอยเข้ากรมเพื่อรับใช้ชาติ HYBE จึงต้องเข้าสู่การปฏิรูปองค์กรเพื่อกระจายความเสี่ยงและหารายได้เพิ่มเติม ซึ่งไม่เพียงแต่การเข้าควบรวมกับ SM Entertainment เท่านั้น เพราะก่อนหน้านี้เพียงไม่นาน HYBE เพิ่งบรรลุข้อตกลงในการเข้าซื้อ Quality Control ค่ายเพลงฮิปฮอปชื่อดังในสหรัฐฯ ที่มีศิลปินชื่อดังอย่าง Migos และ Lil Yachty อยู่ในมือ ด้วยมูลค่า 320 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยการเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ นักวิเคราะห์มองว่า HYBE กำลังต้องการต่อยอดและวางรากฐานที่แน่นหนาขึ้นในอุตสาหกรรมดนตรีสหรัฐฯ หลัง BTS กลายเป็นปรากฏการณ์ในตลาดอเมริกาเหนือ รวมถึงยังมีความร่วมมือในการทำงานอย่างใกล้ชิดกับบรรดาศิลปินชั้นนำระดับโลกหลายต่อหลายคน อย่าง "จัสติน บีเบอร์" หรือ "อาเรียนา แกรนเด" ในช่วงระยะหลังนี้ด้วย
การต่อสู้ของ SM Entertainment และพันธมิตร KaKao Corp :
“ทัค ยอง จุน” CEO ร่วมของ SM Entertainment ซึ่งอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับ “อี ซูมาน” ออกมาตอบโต้ข้อกล่าวหาของผู้ก่อตั้งบริษัทว่า การเป็นพันธมิตรกับ KaKao Corp เป็นเพียงเพื่อการเร่งรัดการปฏิรูปองค์กรภายใต้แผน SM 3.0 และไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อพิพาทด้านการแย่งสิทธิการบริหารตามที่ อี ซูมาน กล่าวอ้าง นอกจากนี้การเข้าซื้อหุ้นของ HYBE ยังเข้าข่ายการควบรวมและการเข้าซื้อกิจการที่ไม่เป็นมิตรอีกด้วย ขณะที่ KaKao Corp ยืนยันว่าจะรักษาสัดส่วนการถือครองหุ้น 9.05% เอาไว้ต่อไป
ทำไม KaKao Corp ต้องซื้อ SM Entertainment :
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ KaKao Corp ต้องการซื้อหุ้นเพื่อเข้ามามีบทบาทใน SM Entertainment เพราะในปี 2021 KaKao Corp เคยพยายามขอซื้อหุ้นจากเจ้าพ่อวงการ K-POP มาแล้ว เนื่องจาก ต้องการนำ “อาวุธหนักทางด้านลิขสิทธิ์คอนเทนต์ในอุตสาหกรรมบันเทิง” ซึ่งครอบคลุมทั้ง เพลง ซีรีส์ รายการโทรทัศน์ ไปต่อยอดผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ที่อยู่ในมือ เพื่อกระโดดเข้าสู่เป้าหมายขึ้นท้าชิงกับ Naver Corp. แพลตฟอร์มออนไลน์อันดับหนึ่งของเกาหลีใต้ และ คู่ขับเคี่ยวด้านคอนเทนต์บันเทิงออนไลน์สำคัญอย่าง CJ ENM ในเครือ CJ Group
ด้วยเหตุนี้ “สงครามชิง SM Entertainment” ในมุมของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่จึงเชื่อว่า “ไม่น่าจะจบลงได้โดยง่ายแน่นอน” ฉะนั้น สิ่งที่ต้องจับตาหลังจากนี้คือ KaKao Corp จะต่อสู้กลับด้วยราคาเสนอขายหุ้นที่สูงกว่า 120,000 วอนต่อหุ้นของ HYBE หรือไม่?
เพราะสิ่งหนึ่งที่ต้องไม่ลืมคือสถานะความมั่งคั่งในปัจจุบันของ KaKao Corp นั้นไม่ได้เดือดร้อนในเรื่องเงินๆ ทองๆ แต่อย่างใด เนื่องจากเมื่อไม่นานมานี้เพิ่งได้รับเงินสนับสนุนจาก "กองทุนเพื่อความมั่งคั่งของซาอุดีอาระเบีย" (Public Investment Fund) หรือ PIF และ "กองทุนเพื่อความมั่งคั่งแห่งชาติของสิงคโปร์" (GIC Private Limited) จำนวนมากมายถึง 964 ล้านดอลลาร์สหรัฐไปหมาดๆ
และประเด็นนี้อาจเป็นผลทำให้ HYBE ไม่สามารถเป็นเจ้าของ SM Entertainment ได้โดยสมบูรณ์ จนอาจนำพาบริษัทเข้าสู่ “ปัญหาก้อนใหญ่ๆ” ในเรื่องการบริหารงานต่อไป เพราะคงเป็นเรื่องยากที่จะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้นภายใน จากผู้ถือหุ้นรายย่อยในมือ KaKao Corp แน่นอน.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง