“ซากุรางิ นายชอบบาสเกตบอลไหม?” วลีอมตะจากมังงะที่ทำให้ "ชายวัยกลางคน" ณ ปี 2023 เกิดอาการคันไม้คันมืออยากเลี้ยงลูกบาสแล้วหวังจะกระโดด DUNK ให้ห่วงกระจุย เพื่อโชว์หญิงที่โรงเรียนกันเป็นทิวแถว ก่อนที่ท้ายที่สุดจะพบความจริงอันแสนน่าเศร้าว่า “แม้จะกระโดดเอื้อมมือจนสุดแขนแล้วก็ยังไม่แม้แต่จะแตะแค่ปลายตาข่าย” จากนั้นจึงได้หันไปเริ่มฝึก “ลูกชู้ตเก็บตัว” หรือ “ลูกชู้ตสามัญชน” ที่แสนกากๆสำหรับเหล่าหญิงสาวแทน
ใช่แล้ววันนี้ “เรา” จะไปหวนรำลึกวันชื่นคืนสุขของ “ชายวัยกลางคน” หลังมังงะกีฬาที่ทำให้คนอ่านเกิดอาการขนลุกและน้ำตาเอ่อล้นราวกับได้ลงไปร่วมแข่งบาสเกตบอลจริงๆ กับตอนจบที่แสนกังขาว่า “มันเป็นการถูกตัดจบ” หรือ “จบลงเพราะไม่มีทางที่จะเขียนตอนจบได้ดีไปกว่านี้อีกแล้ว” กันแน่? อย่าง “สแลม ดังก์” (Slam Dunk) มังงะสุดแสนโด่งดังแห่งยุค 90 ที่ได้กลับมาพบกับ "แฟนๆ เด็กหนวด" อีกครั้งในแบบฉบับ The Movie และได้สร้างปรากฏการณ์ทำรายได้ทิ้ง Avatar The way of Water ในประเทศญี่ปุ่นอย่างชนิดไม่เห็นฝุ่น
...
The First Slam Dunk Movie :
การกลับมาของมังงะอายุกว่า 30 ปี ในรูปแบบ The Movie สามารถทำรายได้อย่างถล่มทลายในประเทศบ้านเกิด โดยล่าสุดหลังเปิดฉายมาครบ 64 วัน ทำรายได้รวมเฉพาะในประเทศญี่ปุ่นไปแล้วถึง 72,795,877 ดอลลาร์สหรัฐ! หลังเปิดตัวอย่างสุดร้อนแรงในช่วงสัปดาห์แรก (3 ธ.ค.-9 ธ.ค. 2022) ซึ่งสามารถเก็บรายได้ไปได้ถึง 9,647,895 ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งๆ ที่ช่วงเวลาดังกล่าว อยู่ในช่วงอีเวนต์ฟุตบอลโลกที่ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่กำลังเอาใจช่วยทีมชาติของตัวเองอยู่ก็ตาม และสัปดาห์ล่าสุด (สิ้นสุดวันที่ 29 ม.ค. 2023) The First Slam Dunk Movie ก็ยังคงความร้อนแรงได้อย่างต่อเนื่องทั้งๆ ที่ยืนโรงฉายมานานถึง 9 สัปดาห์เข้าให้แล้ว โดยทำได้ไปได้มากถึง 2,655,972 ดอลลาร์สหรัฐ!
โดยรายได้รวมในประเทศญี่ปุ่นของ The First Slam Dunk Movie นี้ “ทิ้งขาด” ภาพยนตร์ทุนสร้างมโหฬารและเป็นหนังสุดฮิตของชาวโลกประจำปี 2022 อย่าง Avatar The Way of Water ไปอย่างไม่เห็นฝุ่น โดยในประเทศญี่ปุ่นนั้น Avatar The Way of Water ทำรายได้รวมจากการฉาย 51วัน อยู่ที่เพียง 30,238,457 ดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่การเปิดตัวในสัปดาห์แรกในประเทศญี่ปุ่น (17 ธ.ค.22) ทำเงินไปได้เพียง 4,727,204 ดอลลาร์สหรัฐ และสัปดาห์ล่าสุดของการฉาย สิ้นสุดวันที่ 29 ธ.ค.23 ลดลงฮวบฮาบมาอยู่ที่เพียง 889,828 ดอลลาร์สหรัฐ เท่านั้น
ไม่เพียงแต่สร้างรายได้ระดับปรากฏการณ์ในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น The First Slam Dunk Movie ยังสามารถทำรายได้ก้อนโตใน "ตลาดประเทศเกาหลีใต้ และ ฮ่องกง" อีกด้วย โดยในประเทศเกาหลีใต้นั้น หลังออกฉายครบ 32 วัน (ฉายรอบปฐมทัศน์ 4 ม.ค.23) ทำรายได้รวมแล้ว 16,164,471 ดอลลาร์สหรัฐ แถมสัปดาห์ล่าสุด สิ้นสุดวันที่ 29 ม.ค.23 ก็ยังสามารถทำรายได้ร้อนแรงเก็บเงินไปได้มากถึง 2,115,428 ดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นรั้งตำแหน่งหนังทำเงินอันดับ 2 ประจำสัปดาห์ของประเทศเกาหลีใต้ ได้อย่างแข็งแรง
ส่วนในฮ่องกง ซึ่งเปิดฉายมาตั้งแต่วันที่ 5 ม.ค.23 นั้นล่าสุด (สิ้นสุดวันที่ 29 ม.ค.23) The First Slam Dunk Movie ทำเงินรวมไปแล้วถึง 4,522,338 ดอลลาร์สหรัฐ
ทำให้เมื่อรวมรายได้จาการฉายในประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และ ฮ่องกง จนถึงปัจจุบัน The First Slam Dunk Movie ทำเงินรวมไปแล้วถึง 93,482,686 ดอลลาร์สหรัฐ! หรือประมาณ 3,120 ล้านบาท! (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 5 ก.พ.23) และจากรายได้ในช่วงสุดสัปดาห์ล่าสุดที่ยังคงร้อนแรงทั้งในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ทำให้มีความเป็นไปได้สูงมากๆ ที่ “ซากุรางิ ฮานามิจิ และผองเพื่อน” จะสามารถกวาดรายได้ทะลุ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ!
...
จุดกำเนิดมังงะ Slam Dunk :
“อาจารย์อิโนอุเอะ ทาเคฮิโกะ” ผู้เขียน Slam Dunk ให้สัมภาษณ์ในโอกาสครบรอบ 50 ปี นิตยสารโชเน็นจัมป์ ถึงจุดกำเนิดของมังงะบาสเกตบอลชื่อดังเรื่องนี้เอาไว้ว่า...
“สมัยนั้นไม่มีมังงะเกี่ยวกับกีฬาบาสเกตบอลเลยครับ ผมเลยคิดว่าจะเขียนเรื่องที่เกี่ยวกับบาสเกตบอล และภาวนาว่าอย่าให้มีมังงะบาสเกตบอลเรื่องอื่นออกมาก่อนผมด้วย โดยเรื่องแรกที่วาดนั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับ ชมรมบาสเกตบอลที่ฝีมือไม่เอาไหน แต่ได้ผ่านเข้ารอบไปสู่การแข่งขันระดับประเทศ แต่ในคืนก่อนหน้าการแข่งขันสมาชิกในชมรมกลับคิดว่าพวกเขาไม่เอาไหนและเสียกำลังใจที่จะเข้าแข่งขันไป ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ไม่มีอะไรเป็นพิเศษเกิดขึ้นเลย เมื่อส่งผลงานไปเข้าประกวดงานนักเขียนหน้าใหม่ของนิตยสารโชเน็นจัมป์ จึงไม่ได้รับความสนใจและสุดท้ายคงถูกทิ้งลงขยะ”
แต่แล้วเรื่องสุดเซอร์ไพรส์ก็ได้เกิดขึ้น เมื่อ บก.นิตยสารโชเน็นจัมป์ ซึ่งเป็นคนที่ทิ้งงานของ อาจารย์อิโนอุเอะ ไป กลับโทรเลขกลับมาพร้อมข้อความที่ระบุว่า “คุณเป็นคนมีพรสวรรค์นะช่วยติดต่อกลับมาที่ กอง บก. ด้วย!” และจากนั้นเอง “ตำนานจึงได้เริ่มต้นขึ้น”
...
ความค้างคาใจ ถูกตัดจบ หรือ จบด้วยตัวเอง :
หลัง Slam Dunk ถูกตีพิมพ์ในนิตยสารโชเน็นจัมป์ มายาวนานถึง 6 ปี (1990-1996) และสามารถสร้างยอดขายฉบับรวมเล่มได้มากกว่า 120 ล้านเล่มทั่วโลก จนกระทั่งสร้างกลุ่มฐานแฟนที่เหนียวแน่นจำนวนมากทั้งในและนอกประเทศญี่ปุ่น แต่แล้วท่ามกลางการปูเรื่องและการเพิ่มคาแรกเตอร์ที่มองยังไงก็ไปต่อได้อีกยาวนานหลายปี จู่ๆ การขับเคี่ยวระหว่าง "โชโฮคุ กับ เทคนิกซังโน" กลับกลายเป็นศึกสุดท้ายของทั้ง “ซากุรางิ ฮานามิจิ” และ “รุคาว่า คาเอดะ” ไปเฉยๆ ท่ามกลางความตกตะลึงของเหล่าสาวกว่า ตกลงแล้วมันคือตอนจบจริงๆ ของ Slam Dunk ใช่หรือไม่?
โดย “อาจารย์อิโนอุเอะ ทาเคฮิโกะ” ได้ให้คำตอบสำหรับประเด็นนี้ในการให้สัมภาษณ์ครบรอบ 50 ปี นิตยสารโชเน็นจัมป์ เอาไว้เช่นกันว่า...
“เหตุผลที่ผมเขียนเรื่องให้จบลงแบบนั้นก็เพราะ...ผมไม่อยากให้มันจบลงอย่างชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่...ไม่รู้สิครับ ผมแค่ไม่อยากจำกัดกรอบเอาไว้ แล้วเอาผลงานที่เสร็จสมบูรณ์มาแขวนประดับผนัง ผมไม่ชอบฉากจบที่สมบูรณ์แบบ ผมอยากปล่อยให้ขึ้นอยู่กับการตีความของผู้อ่านมากกว่า เมื่อเป็นแบบนั้นผมรู้สึกว่าถ้าผมอยากเขียน ผมจะเขียนตอนต่อก็ได้ แต่ถึงแม้ว่าผมจะไม่เขียนต่อ ผมก็รู้สึกว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนไปแม้แต่น้อย”
...
การกลับมาของตำนาน Slam Dunk :
การทำให้ตอนจบของ Slam Dunk เป็นแบบ “ปลายเปิด” ที่สุดแสนประทับใจและตราตรึงอยู่ในความทรงจำไม่รู้ลืม จนกระทั่งส่งให้มังงะเรื่องนี้กลายเป็นตำนานขึ้นหิ้งในระดับ “สมบัติล้ำค่าของประเทศญี่ปุ่น” แต่ในอีกด้านหนึ่ง มันได้ทำให้เกิดคำถามในหมู่สาวกเช่นกันว่า “มันกะทันหันมากเกินไป” และควรจะมีภาคต่อการขับเคี่ยวแบบเพื่อนรักเพื่อนชังระหว่าง “ซากุรางิ และ รุคาว่า” ออกมาสักทีเถอะ
อย่างไรก็ดี “อาจารย์อิโนอุเอะ ทาเคฮิโกะ” ก็ยังคงยืนกรานอย่างหนักแน่นเช่นเดิมว่า เนื่องจาก Slam Dunk มีตอนจบที่สมบูรณ์แบบไปแล้ว จึงไม่สามารถตอบสนองความต้องการของเหล่าสาวกในเรื่องนี้ได้ อีกทั้งยังเกิดความกังวลว่า การบอกเล่าเรื่องราวต่อไปเพื่อนำไปสู่ตอนจบอีกครั้ง อาจทำร้ายความรู้สึกของแฟนๆ ที่ติดตามมังงะเรื่องนี้มาร่วม 30 ปีได้!
ด้วยเหตุนี้หลายปีที่ผ่านมา “อาจารย์อิโนอุเอะ ทาเคฮิโกะ” จึงได้ปฏิเสธข้อเสนอต่างๆ ที่จะขอนำ Slam Dunk ไปดัดแปลงเพื่อทำภาพยนต์ทั้งฉบับคนแสดงและอนิเมะมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง
หากแต่เมื่อเวลาเลยล่วงไป และเสียงเรียกร้องจากบรรดาแฟนๆ ก็ยังคงดังขึ้นอยู่เรื่อยๆ “อาจารย์อิโนอุเอะ ทาเคฮิโกะ” จึงตัดสินใจแสดงความรับผิดชอบต่อบรรดาสาวกที่รอคอยมาจนกระทั่งเหยียบย่างเข้าสู่วัยกลางคน ด้วยการทำ The First Slam Dunk Movie ขึ้นมาในแบบ “แอนิเมชันลูกผสม” ที่มีการผสมผสานระหว่าง Computer Graphics และการวาดด้วยมือ ภายใต้การดูแลการผลิตอย่างใกล้ชิดทุกขั้นตอนด้วยตัวเอง จนกระทั่งได้รับเสียงชื่นชมเรื่องงานภาพอย่างล้นหลาม และกลายเป็นไวรัลในโลกโซเชียลมีเดียมาตั้งแต่มีการปล่อย Teaser ก่อนหน้านี้แล้ว
ขณะที่ ทีมงานที่ร่วมกันสร้าง The First Slam Dunk Movie เปิดเผยบนเว็บไซต์ COURT SIDE ว่า ใช้เวลาในการผลิตรวมกันยาวนานถึง 13 ปี โดยในจำนวนนี้เป็นขั้นตอนการเตรียมการต่างๆ หลัง “อาจารย์อิโนอุเอะ ทาเคฮิโกะ” ยอมใจอ่อนอนุมัติโปรเจกต์นานถึง 8 ปี ส่วนอีกประมาณ 4 ปี ที่เหลือคือขั้นตอนในกระบวนการผลิตอย่างจริงจัง ด้วยเหตุนี้ภาพฟุตเทจต่างๆ โดยเฉพาะฉากการแข่งขันบาสเกตบอลนั้นจึงออกมาสวยงามและสมจริงจนแทบไร้ที่ติ และแตกต่างจากเวอร์ชันอนิเมะที่ออกฉายทางโทรทัศน์เมื่อหลายสิบปีก่อนอย่างสิ้นเชิง โดยในขั้นตอนการทำภาพนั้น “อาจารย์อิโนอุเอะ” จะเข้ามาให้คำแนะนำ และแก้ไขในรายละเอียดของภาพอย่างใกล้ชิดด้วย
สำหรับคำถามสำคัญที่ว่า The First Slam Dunk Movie เรื่องนี้ ตกลงเป็น “ภาคต่อ” ของ Slam Dunk ฉบับมังงะ หรือไม่นั้น “บรรดาชายวัยกลางคนทั้งหลาย” คงต้องไปค้นหาคำตอบและความสุขที่จะหวนคืนมาอีกครั้งในโรงภาพยนต์ต่อไป
“อย่าละทิ้งความหวัง จนกว่าจะถึงที่สุด เพราะหากตัดใจยอมแพ้ การแข่งขันก็จะสิ้นสุดลง” อาจารย์อันไซ ปิศาจผมขาว กล่าว...
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง