ปรากฏการณ์ "มหาศึกคนชนเทพ" ยังมีอะไรที่น่าศึกษาจากความพยายาม “ปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์” ของ "พระพุทธเจ้า" อีกบ้าง และผู้เขียนมังงะเรื่องนี้หยิบฉวยอะไรเกี่ยวกับ "พระพุทธศาสนาและพระพุทธเจ้า" ไปอ้างอิงและประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดความ Real เพิ่มมากขึ้นหรือไม่ วันนี้ “ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์” จะไปพยายามค้นหา “คำตอบ” ที่ว่านี้จาก "ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์" นักวิชาการอิสระด้านศาสนาและสังคม และอดีต ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนา ม.พระพุทธศาสนาแห่งโลก
มังงะมหาศึกคนชนเทพ :
...
“ส่วนตัวเท่าที่ได้อ่านมังงะเรื่องนี้ คิดว่าผู้เขียนเรื่องนี้มีการศึกษาค้นคว้าเรื่องพระพุทธเจ้ามาพอสมควร”
ยกตัวอย่างเช่น "พระพุทธรูป" ซึ่งตั้งแต่ในอดีตกาลจนถึงปัจจุบันนั้น ล้วนแล้วได้รับอิทธิพลมาจากการปั้นเทพเจ้าของชาวกรีก ด้วยเหตุนี้ ใบหน้าของพระพุทธรูปจึงมักออกไปในทางชาวตะวันตกนิดๆ และมีผมหยิกเป็นก้นหอยเหมือนกับชาวกรีก แต่ผู้เขียนมังงะเรื่องนี้ตีความว่า พระพุทธเจ้าน่าจะเป็นชาวอารยัน หรือมีเชื้อสายอินเดีย ฉะนั้นผมจึงเหยียดตรง ซึ่งสอดคล้องกับรูปเขียนของพระพุทธเจ้าในฝ่ายมหายานซึ่งมีผมเหยียดตรง
อีกประเด็นการตีความที่น่าสนใจ คือ การให้พระพุทธเจ้าทรงมีเขี้ยว ซึ่งสอดคล้องกับตำนานของทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายานที่ว่าพระพุทธเจ้าทรงมีพระเขี้ยวแก้ว หรือพระทันตธาตุส่วนที่เป็นเขี้ยวของพระพุทธเจ้า ซึ่งเมื่อปรินิพพานไปแล้วได้มีการนำพระเขี้ยวแก้วไปประดิษฐานไว้ในสวรรค์ชั้นสุขาวดี ซึ่งความเชื่อนี้ทำให้ทั้งในประเทศอินเดียและประเทศศรีลังกายังคงมีพิธีบูชาพระเขี้ยวแก้วกันอยู่ ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้หากสังเกตให้ดีผู้เขียนเรื่องนี้มักให้พระพุทธเจ้าในมังงะรับประทานอาหาร หรือขนมอยู่ตลอดเวลา ซึ่งประเด็นนี้น่าจะสอดคล้องกับ "มหาปุริสลักษณะ" ของฝ่ายเถรวาท ที่ว่า พระพุทธเจ้าทรงมีพระชิวหา คือ ลิ้นที่สมบูรณ์ มีปลายเส้นประสาทสำหรับรับรสอาหารได้ดีอีกด้วย
ขณะเดียวกัน ผู้เขียนยังมีการหยิบคำศัพท์ที่เด่นๆ ในพุทธศาสนามาอ้างอิงในมังงะเพื่อให้เกิดความน่าสนใจเพิ่มมากขึ้นด้วย เช่น อาวุธที่พระพุทธเจ้าในมังงะมหาศึกคนชนเทพใช้ ชิ้นแรก คือ "กงล้อแห่งสุญญตา" นั้นก็น่าจะมีการอ้างอิงมาจากคำว่า "สุญญตา" ของฝ่ายมหายาน หรือที่ฝ่ายเถรวาท เรียกว่า "อนัตตา" ซึ่งแปลว่า "ความว่างเปล่า" ส่วนอาวุธชิ้นต่อมาคือ "ดาบแห่งนิพพาน" นั้นก็น่าจะอ้างอิงมาจากคำว่า "นิพพาน" ซึ่งถือเป็นแนวคิดหลักของพุทธศาสนานั่นเอง
...
“โดยรวมแล้วต้องยอมรับว่า ผู้เขียนมังงะเรื่องนี้มีการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับพุทธศาสนาในระดับหนึ่ง และมีการหยิบจับประเด็นต่างๆ มาประยุกต์ใช้ได้อย่างสอดคล้องและน่าสนใจเลยทีเดียว”
พระพุทธเจ้า การตีความระหว่างฝ่ายเถรวาทและฝ่ายมหายาน :
แนวคิดเกี่ยวกับ "พระพุทธเจ้า" ระหว่าง "ฝ่ายเถรวาท" ซึ่งแพร่หลายในประเทศศรีลังกา พม่า ไทย ลาว กัมพูชา กับ "ฝ่ายมหายาน" ซึ่งแพร่หลายในประเทศจีน เกาหลี ญี่ปุ่น เวียดนาม มีความแตกต่างกัน เพราะฝ่ายเถรวาทซึ่งเรียกพระพุทธเจ้าว่า “สมณโคดม” จะมีแนวคิดว่า พระพุทธเจ้าเป็นมนุษย์ มีชีวิตอยู่ ค้นพบสัจธรรมที่มีอยู่ในธรรมชาติจนกระทั่งพ้นทุกข์ และดับขันธ์ไป
ขณะที่ "ฝ่ายมหายาน" ซึ่งเรียกพระพุทธเจ้าว่า “ศากยมุนี” นั้นมีการตีความพระพุทธเจ้าว่าก่อนที่จะดับขันธ์ปรินิพพาน ด้วยความที่พระพุทธเจ้าทรงมีเมตตากรุณาและเป็นห่วงต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย ทำให้ในนาทีก่อนที่จะดับขันธ์ พระพุทธเจ้าได้ตั้งจิตอธิษฐานว่าจะยังคงอยู่ต่อไปเพื่อช่วยสรรพสัตว์และโลก เพียงแต่การดำรงอยู่นั้นจะอยู่ในฐานะ "สัมโภคกาย" หรือ "กายทิพย์" ดำรงอยู่ในจักรวาลจุดใดจุดหนึ่งยังไม่ได้หายไปไหน เพื่อคอยสดับรับฟังความทุกข์ของสรรพสัตว์และประทานความช่วยเหลือลงมา
นอกจากนี้ฝ่ายมหายานยังมองด้วยว่าจักรวาลนี้เป็น "อนันตกาล" หรือ "ไม่มีที่สิ้นสุด" ต้นกำเนิดก็ไม่มีที่สิ้นสุด เพราะฉะนั้นจากอดีตกาลมาจนถึงปัจจุบัน โลกของเราจึงมีพระพุทธเจ้ามาอุบัติแล้วนับไม่ถ้วน ฉะนั้น สำหรับฝ่ายมหายานจึงมีพระพุทธเจ้าหลายพระองค์และยังดำรงอยู่ในจักรวาล และมีสถานะเป็น “เทพ” ด้วย
...
บันทึกถึงรูปลักษณ์ของพระพุทธเจ้ามีจริงหรือไม่ :
สำหรับฝ่ายเถรวาท มีบันทึกลักษณะของพระพุทธเจ้าอยู่ในพระไตรปิฎกซึ่งเขียนด้วยภาษีบาลี ที่เรียกว่า "มหาปุริสลักษณะ" ส่วนฝ่ายมหายานมีระบุอยู่ในคัมภีร์มหายาน ที่เขียนด้วยภาษาสันสกฤต ที่เรียกว่า "สัทธรรมปุณฑริกสูตร" "มหาสุขาวตีวยูหสูตร" และ "มหาไวโรจนสูตร" เป็นต้น
ปรากฏการณ์ มหาศึกคนชนเทพ :
“ในท่ามกลางความหลากหลาย แน่นอนว่าย่อมมีความเห็นต่างเกิดขึ้นกับมังงะเรื่องนี้ แม้ว่า...มันจะได้รับการตอบรับจากกลุ่มเป้าหมายที่เป็นวัยรุ่นอย่างล้นหลามก็ตาม”
แม้ว่า "มังงะมหาศึกคนชนเทพ" เรื่องนี้จะได้รับการแปลหลายภาษา และมียอดขายทั่วโลกรวมกันมากกว่า 11 ล้านเล่ม แต่เท่าที่ทราบ...ปัจจุบัน ประเทศอินเดียซึ่งมีความเป็นอนุรักษนิยมในเรื่องของศาสนาค่อนข้างมากนั้น ได้มีการประกาศแบนมังงะเรื่องนี้อย่างเป็นทางการแล้ว เนื่องจากมีการนำ "พระศิวะ" มาเป็นหนึ่งในคาแรกเตอร์หลัก ส่วนในโลกตะวันตกยังไม่พบว่ามีการต่อต้านมังงะชื่อดังเรื่องนี้ ขณะที่ฝ่ายมหายานในประเทศอื่นๆ เท่าที่ทราบก็มีการเปิดกว้างและสามารถยอมรับการนำเสนอภาพลักษณ์พระพุทธเจ้าแบบใหม่นี้ได้พอสมควร เพราะมองว่าเป็นมังงะที่เน้นเรื่องความสนุกสนานและความบันเทิงเป็นหลักมากกว่า
...
มหาศึกคนชนเทพ กับ พุทธศาสนิกชน :
“ความเห็นส่วนตัวผมคิดว่า สำหรับมังงะเรื่องนี้ เราน่าจะมีท่าทีที่สบายๆ แม้ว่าผู้เขียนอาจจะมีการใช้จินตนาการอย่างเต็มที่เพื่อมอบบุคลิกใหม่ให้กับพระพุทธเจ้า ซึ่งค่อนข้างจะออกไปในทางห้าวไปเล็กน้อยบ้างก็ตาม (หัวเราะ) แต่ทั้งหมดนั้นหากมองด้วยใจเป็นกลาง มันก็เป็นโลกของมังงะ หรืออนิเมะ ที่ต้องมีการแต่งเติมความเป็นแฟนตาซีและความบันเทิงเข้าไปเพื่อเร้าความสนใจอยู่แล้ว ซึ่งข้อดีก็คืออาจทำให้กลุ่มเด็กวัยรุ่นมีความสนใจในพุทธศาสนามากขึ้นก็เป็นได้ เพราะที่ผ่านมาเราก็ไม่เคยเห็นมังงะ หรืออนิเมะที่มีการพูดถึงพระพุทธเจ้าในลักษณะแบบนี้มาก่อน เพราะส่วนใหญ่จะเป็นการนำเสนอพระพุทธเจ้าที่เป็นไปตามประเพณีและวัฒนธรรมเก่าเสียมากกว่า ซึ่งอาจจะเป็นการยากที่จะเรียกร้องความสนใจจากกลุ่มเด็กวัยรุ่นได้ ส่วนตรงไหนที่อาจจะมีการนำเสนอข้อมูลที่ไม่ถูกต้องอยู่บ้าง ทางกระทรวงวัฒนธรรม หรือองค์กรพระพุทธศาสนาต่างๆ ก็ควรใช้โอกาสนี้ในการนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องให้กับเด็กๆ มากกว่า” ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์ ให้ความเห็นปิดท้าย.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง