“ครอบครัวหลากหลายทางวัฒนธรรม” (Multicultural Families) ในประเทศเกาหลีใต้ กำลังกลายเป็น “คำ” ที่ได้รับความสนใจจากชาวโลกขึ้นมาทันที หลังการประกาศวิวาห์ฟ้าผ่ารอบสอง ของ “ซง จุงกิ” (Song Joong Ki) และ “เคที หลุยส์ ซอนเดอร์ส” (Katie Saunders) สาวสวยชาวอังกฤษ ซึ่งได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการแล้วว่าทั้งคู่ได้จดทะเบียนสมรสไปเมื่อวันที่ 30 ม.ค. ที่ผ่านมา เหตุใด “เรา” จึงต้องให้ความสนใจกับคำว่า “ครอบครัวหลากหลายทางวัฒนธรรม” วันนี้ “เรา” จะลองไปค้นหาคำตอบร่วมกันท่ามกลาง “ดวงใจน้อยๆ ที่กำลังแตกสลาย” ของสาวๆ ทั่วโลก

ครอบครัวหลากหลายทางวัฒนธรรม :

ตามข้อกำหนดของ "กระทรวงความเสมอภาคทางเพศและครอบครัว" (Ministry of Gender Equality and Family) ระบุเอาไว้ว่า ครอบครัวหลากหลายทางวัฒนธรรม คือ ครอบครัวที่มีการสมรสอย่างถูกต้อง และหนึ่งในคู่สมรสถือสัญชาติต่างประเทศ หรือมีการโอนสัญชาติเป็นชาวเกาหลีใต้

...

พระราชบัญญัติการสนับสนุนครอบครัวหลากหลายทางวัฒนธรรม :

พระราชบัญญัติการสนับสนุนครอบครัวหลากหลายทางวัฒนธรรม (Multicultural Family Support Act) เป็นกฎหมายที่มีเนื้อหาสาระมุ่งให้การสนับสนุนการปรับตัวและการตั้งถิ่นฐานของครอบครัวหลากหลายทางวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมการสมรสระหว่างประเทศที่ถูกต้อง รวมถึงเป็นการเปิดกว้างทางสังคมของเกาหลีใต้ต่อวัฒนธรรมที่หลากหลาย ซึ่งมีการแก้ไขเพิ่มล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2020 ที่ผ่านมา ระบุว่า รัฐบาลเกาหลีใต้จะต้องให้การสนับสนุนครอบครัวหลากหลายทางวัฒนธรรม ผ่านสวัสดิการทางสังคมต่างๆ เพื่อช่วยในการปรับตัวให้เข้ากับสังคมของเกาหลีใต้

สวัสดิการทางสังคมที่ครอบครัวหลากหลายทางวัฒนธรรมจะได้รับ :

การสนับสนุนทางการศึกษา, ที่พักอาศัย, เงินอุดหนุนการดูแลบุตร รวมไปจนกระทั่งถึง การพัฒนาการทางด้านภาษาเกาหลีใต้ให้กับคู่สมรสและบุตรของครอบครัวหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งการพัฒนาการทางภาษาที่ว่านี้จะประกอบไปด้วย...

1. การให้บริการล่ามแปลภาษาให้กับคู่สมรสในครอบครัวหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่ง ณ ปัจจุบันประกอบไปด้วย ล่ามภาษาเวียดนาม, จีน, ฟิลิปปินส์ (ภาษาตากาล็อกและภาษาอังกฤษ), มองโกเลีย, กัมพูชา, รัสเซีย, ญี่ปุ่น และเนปาล

2. การปฐมนิเทศล่วงหน้าที่ประเทศต้นทาง เพื่อแนะนำการใช้ชีวิตในประเทศเกาหลีใต้ โดยปัจจุบันมีบริการใน 3 ประเทศ ประกอบด้วย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และไทย

3. การให้บริการข้อมูลและการให้คำปรึกษาผ่านล่าม 13 ภาษา ประกอบด้วย ภาษาเกาหลี, จีน, เวียดนาม, กัมพูชา, ฟิลิปปินส์ (ภาษาตากาล็อกและภาษาอังกฤษ) มองโกเลีย, รัสเซีย, ญี่ปุ่น, ไทย, ลาว, อุซเบกิสถาน, เนปาล ตลอด 24 ชั่วโมง แบบไม่มีวันหยุด

สวัสดิการทางด้านการศึกษา :

สำหรับโรงเรียนนานาชาติในประเทศเกาหลีใต้ จะมีหลักเกณฑ์การรับนักเรียนที่มีประวัติการศึกษานอกประเทศเกาหลีใต้อย่างน้อย 3 ปี จึงจะสามารถสมัครเข้าเรียนได้ แต่สำหรับ ครอบครัวหลากหลายทางวัฒนธรรม จะไม่อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์นี้ ขณะเดียวกันเด็กจากครอบครัวหลากหลายทางวัฒนธรรมจะได้รับการจัดลำดับความสำคัญในระดับสูงเมื่อสมัครเข้าเรียนในระบบการศึกษาของเกาหลีใต้ที่มีการแข่งขันกันสูงอีกด้วย

สวัสดิการด้านที่พักอาศัย :

ครอบครัวหลากหลายทางวัฒนธรรม จะสามารถยื่นเรื่องขอ เช่า ซื้อ หรือขายบ้าน ภายใต้เงื่อนไขพิเศษ โดยไม่ต้องแข่งขันกับชาวเกาหลีใต้

...

สวัสดิการด้านเงินอุดหนุนต่างๆ :

ครอบครัวหลากหลายทางวัฒนธรรม จะได้รับการสนับสนุนด้านสินเชื่อระยะยาวที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ สำหรับนำไปใช้ในกิจกรรมต่างๆ เช่น การจัดงานแต่งงาน ค่าเล่าเรียนบุตร ค่ารักษาพยาบาล หรือแม้กระทั่งการใช้จ่ายสำหรับการดูแลบิดามารดา

เหตุใดเกาหลีใต้จึงเปิดกว้างมากขึ้นกับครอบครัวหลากหลายทางวัฒนธรรม :

อัตราเจริญพันธุ์รวมยอด (Total Fertility Rate) หรือ TFR (จำนวนบุตรโดยเฉลี่ยตลอดวัยให้กำเนิดบุตรได้ของสตรีคนหนึ่ง หรือกลุ่มหนึ่ง) ในประเทศเกาหลีใต้ ลดต่ำลงแตะระดับ 0.81 ในปี 2021 ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุด นับตั้งแต่เริ่มมีการเก็บสถิติเป็นต้นมา ซึ่งสอดคล้องกับการที่จำนวนเด็กในระดับชั้นอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมต้น และมัธยมปลาย ที่มีจำนวนลดลงจาก 5.95 ล้านคน ในปี 2021 เหลือเพียง 5.87 ล้านคน ในปี 2022 อีกทั้งจำนวนที่ว่านี้ยังเทียบอะไรไม่ได้เลยกับจำนวนเยาวชนที่มากถึง 10.3 ล้านคน เมื่อปี 1986 ด้วย

ขณะเดียวกัน สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสุขภาพแห่งเกาหลี (Korea Health Industry Development Institute) หรือ KHIDI ยังได้คาดการณ์ว่า ประเทศเกาหลีใต้จะเข้าสู่สังคมสูงวัย (Super Aging Society) ในปี 2026 หลังการสำรวจเมื่อปี 2019 เกาหลีใต้มีจำนวนผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีอายุเกิน 65 ปี คิดเป็นสัดส่วนถึง 15.5% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าวเป็นการตอกย้ำว่า “ประเทศเกาหลีใต้กำลังใกล้ที่จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอนาคตอันใกล้นี้”

...

โดยนับตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา จำนวนประชากรเด็กในประเทศเกาหลีใต้เริ่มลดลงอย่างมีนัยสำคัญ รัฐบาลเกาหลีใต้จึงเริ่มต้นการรณรงค์เพิ่มจำนวนประชากรจริงจัง ซึ่งหนึ่งในมาตรการที่ว่านี้คือการสนับสนุนให้ชายโสดชาวเกาหลีใต้แต่งงานกับชาวต่างชาติด้วย หลังเห็นประเทศญี่ปุ่นใช้โมเดลดังกล่าวเพื่อแก้ไขปัญหาลักษณะเดียวกันในช่วงปี 1980 มาแล้ว.

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง