Nielsen เกาหลีใต้ รายงานว่า ตอนจบของ “Reborn Rich” หรือในชื่อภาษาไทย “กลับชาติฆาตแค้น” ซีรีย์แฟนตาซีกลับชาติมาเกิดเพื่อล้างแค้นตระกูลอภิมหาเศรษฐี พุ่งทะลุถึง 26.9%! ซึ่งถือเป็นเรตติ้งซีรีย์วันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ที่สูงเป็นลำดับที่ 2 ของช่อง JTBC (Joongang Tongyang Broadcasting Company) โดยแพ้เพียงซีรีย์ “The World of Married” หรือในชื่อภาษาไทย “รัก ลวง พยาบาท” ซึ่งออนแอร์ในปี 2020 และทำเรตติ้งตอนจบทะยานถึง 28.4% เพียงเรื่องเดียวเท่านั้น

ทั้งๆที่ ซีรีย์ที่มีนักแสดงระดับแม่เหล็กอย่าง “ซง จุงกิ” (Song Joong Ki) เรื่องนี้ เปิดตัวตอนแรกด้วยเรตติ้งที่น่าเป็นห่วงเพียง 6.1% ไปเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมาเท่านั้น แต่ในตอนต่อๆกระแสของซีรีย์ก็ค่อยๆพุ่งทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ซีรีย์พ่อหนุ่มหน้าหวานที่มักชื่นชอบการรับบทบาทคาแรกเตอร์สีเทาๆผู้นี้ เพิ่งทำเรตติ้งได้ถึง 21.1% ซึ่งถือเป็น ซีรีย์เกาหลีเรื่องแรกในปี 2022 ที่สามารถทำเรตติ้งทะลุเกิน 20% ได้สำเร็จด้วย!

...

นอกจาก เสน่ห์ในการแสดงของ “ซง จุงกิ” ที่ชวนให้ดำดิ่งถึงด้านมืดและด้านสว่างที่ต่อสู้กันเองภายในจิตใจ เพื่อไปให้ถึงการพุ่งทะยานอยู่เหนือผู้อื่นแล้ว ยังมีอะไรที่ทำให้ผู้คนพูดถึง “สิ่งน่าติดตามจากซีรีย์เรื่องนี้อีกบ้าง” วันนี้ “เรา” ขอไปพูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งถูกซีรีย์ “Reborn Rich” หยิบฉวยไปใช้ จนนำไปสู่ “จุดพลิกผัน” ในสงครามแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นที่น่าเศร้าของตระกูลแชโบล (Chaebol) นาม “ซุงยัง กรุ๊ป” (Soonyang Group) ในแบบ “ไม่สปอยล์ เนื้อหา” กันดีกว่า

ลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงซึ่งปรากฏในซีรีย์ “Reborn Rich” (No Spoil)! :

ก่อนอื่น “เรา” ไปเริ่มกันที่ ต้นกำเนิดของซีรีย์เรื่องนี้กันก่อนดีกว่า ซีรีย์ Reborn Rich ถูกดัดแปลงมาจาก นิยายไลท์โนเวล ในแพลตฟอร์ม Munpia ซึ่งมีการเผยแพร่ในช่วงระหว่างปี 2017-2018 โดยผู้เขียนที่ใช้นามปากกาว่า “ซันกยอง” (San Kyung)

Soonyang Group = Samsung Group :

ประเด็นนี้ได้รับการยืนยันจากปากของ “ซันกยอง” ผู้แต่ง ซึ่งได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อของเกาหลีใต้ โดยยอมรับว่า “เขาได้รับแรงบันดาลใจในการเขียนไลท์โนเวลเรื่องนี้มาจากกลุ่มแชโบลยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ อย่าง “ซัมซุง” (Samsung) และ “ฮุนไดมอร์เตอร์” (Hyundai Motor)

อะไรคือความคล้ายระหว่าง “Soonyang Group” และ “Samsung Group” :

หากลองไปย้อนดู “Family Tree” ระหว่าง “Soonyang Group” และ “Samsung Group” จะพบว่า “มีความคล้ายกันอยู่ในทีไม่ใช่น้อย” โดย Soonyang Group ผู้ก่อตั้งคือ “ชินยังชอล” (Jin Yang Cheol) มีลูกทั้งหมด 4 คน โดยเป็นผู้ชาย 3 คน ผู้หญิง 1 คน

ส่วน Samsung Group ผู้ก่อตั้งคือ “อีบยองชอล” (Lee Byung-Chull) มีลูกกับภรรยา “พัค ดวีอึล” (Park Du-eul) 8 คน เป็นผู้ชาย 3 คน ผู้หญิง 4 คน โดยลูกที่มีบทบาทในการบริหารธุรกิจในเครือมีทั้งสิ้น 5 คน ประกอบด้วย

“อี-แมงฮี” (บุตรชายคนโต) (Lee Maeng Hee) กลุ่มบริษัท CJ Group ผู้นำตลาดด้านอาหาร , ความบันเทิง , เทคโนโลยีชีวภาพ (ปัจจุบันเสียชีวิต)

...

“อี ชังฮี” (บุตรชายคนที่ 2) (Lee Chang Hee) กลุ่มบริษัท Saehan Group ผู้นำด้านธุรกิจสิ่งทอ , เคมีภัณฑ์ , Broadcasting , บันเทิง (ปัจจุบันเสียชีวิตในปี 1991 และกลุ่มบริษัท Saehan Group ภายใต้การบริหารของบุตรชาย ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2000 จนต้องขายกิจการแม้กระทั่งทรัพย์สินส่วนตัวจนหมด)

“อี กอนฮี” (บุตรชายคนที่ 3) (Lee Kun Hee) อดีตประธานซัมซุงกรุ๊ป (เสียชีวิต) โดยมี เจนเนอเรชันที่ 3 “อี แจยง” (Lee Jae-yon) ขึ้นทำหน้าที่บริหารแทน

“อี อินฮี” (หญิง) (Lee In Hee) กลุ่มบริษัท Hansol Group ผู้นำธุรกิจผลิตภัณฑ์กระดาษ , อิเล็กทรอนิกส์ , เคมีภัณฑ์ , โลจิสติกส์ , ไอที และก่อสร้าง

“อี มยองฮี” (หญิง) (Lee Myung Hee) กลุ่มบริษัท Shinsegae Group ผู้นำด้านตลาดค้าปลีก และห้างสรรพสินค้า

...

ส่วนความคลับคล้ายคลับคลาอีกประการระหว่าง “Soonyang Group” และ “Samsung Group” ก็คือ “การทำธุรกิจและศึกภายใน”

โดยธุรกิจที่น่าสนใจของ “Soonyang Group” ในซีรีย์ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับ “Samsung Group” ก็คือ ธุรกิจยานยนต์และธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์

1.ธุรกิจยานยนต์ :

“Soonyang Group” พยายามทุกวิถีทางเพื่อแย่งชิงความเป็นหนึ่งในธุรกิจยานยนต์กับ “Sunyang Motor” ซึ่งแทบไม่ต่างอะไรกับศึกยานยนต์อันดุเดือดระหว่าง “Samsung Motor Inc.” และ “Hyundai Motor” บนแผ่นดินเกาหลีใต้ในโลกความจริงช่วงยุค 90 เช่นเดียวกัน ก่อนที่ “Samsung Motor Inc.” ภายใต้การนำของ ทายาทเจเนอเรชันที่ 2 อย่าง “อี กอนฮี” (Lee Kun-hee) จะยอมถอดใจและยอมรับความพ่ายแพ้ก่อนขายกิจการไปให้กับ บริษัทรถยนต์สัญชาติฝรั่งเศสอย่าง “เรโนลต์” (Renault) ในปี 2000 อย่างสุดขมขื่น ซ้ำร้ายไปกว่านั้น คู่ปรับสำคัญอย่าง “Hyundai Motor” ยังสามารถขึ้นครองส่วนแบ่งการตลาดรถยนต์ในประเทศเป็นอันดับหนึ่ง ด้วยสัดส่วนที่สูงมากกว่า 80% อีกต่างหาก!

2.ธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ :

การรุกคืบเข้ากลืนกินธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ภายใต้วิสัยทัศน์อันกว้างไกลและหยั่งได้ถึงอนาคต แม้จะต้องเผชิญหน้ากับเสียงคัดค้านอย่างหนักจากคนในครอบครัว คือ อีกหนึ่งประเด็นที่ “แทบไม่แตกต่างอะไรกัน” ระหว่าง “Soonyang Group” และ “Samsung Group”

...

โดย “อี กอนฮี” ทายาทรุ่น 2 ของซัมซุง ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้แบรนด์สัญชาติเกาหลีใต้กลายเป็นแบรนด์ระดับโลก ภายใต้คำปลุกเร้าที่ว่า “ต้องเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง ยกเว้นเมียและลูกของคุณ” ได้โน้มน้าวใจท่านประธานและพ่อของเขา “อี บยอง ชอล” (Lee Byung-chull) เข้าซื้อกิจการ “ฮันกุกเซมิคอนดักเตอร์ (Hankook Semiconductor) ในปี 1988 ทั้งๆที่เป็นบริษัทที่เจียนล้มละลายแถมไร้ซึ่งผลกำไร ก่อนที่จะใช้มันเป็นใบเบิกทางการนำซัมซุงไปสู่ยุคใหม่อย่างแท้จริง โดยเฉพาะการสร้างนวัตกรรมใหม่ อย่าง โทรทัศน์จอแบน โทรศัพท์มือถือ ผ่านการผลิตชิพ Dynamic Random-Access Memory หรือ DRAM ที่มีประสิทธิภาพสูงและได้รับการยอมรับจากทั่วโลกในปัจจุบัน

3. ศึกภายในการช่วงชิงตำแหน่งผู้สืบทอด :

อีกหนึ่งความคล้ายระหว่าง “Soonyang Group” และ “Samsung Group” ก็คือ ศึกภายในอันร้อนระอุเพื่อช่วงชิงตำแหน่งผู้สืบทอด โดยศึกภายในของ “Samsung Group” นั้น ปรากฏต่อสายตาชาวโลกในปี 1987 หลัง “อี บยอง ชอล” ได้ตัดสินใจ “เปลี่ยนทายาทผู้สืบทอด” จาก “ลูกชายคนโต” คือ “อี-แมงฮี” (Lee Maeng-Hee) ไปสู่ “ลูกชายคนที่ 3” คือ “อี กอนฮี” ซึ่งถือว่าเป็นการขัดต่อธรรมเนียมการสืบทอดทายาทกิจการของเกาหลีใต้ในอดีต

โดยการตัดสินใจ “เปลี่ยนทายาทผู้สืบทอดครั้งนี้” แม้จะทำให้ “ซัมซุง” สามารถขยายธุรกิจออกไปได้อย่างกว้างไกลและพัฒนาจากบริษัทชั้นนำของเกาหลีใต้สู่บริษัทชั้นนำในระดับโลกจากวิสัยทัศน์ของ “อี กอนฮี” ได้ในที่สุด

แต่ในทางตรงกันข้าม มันก็ได้ทำให้เกิด “ศึกภายในตระกูล” ที่นำไปสู่ความขัดแย้งที่ถึงขั้นแทบตัดขาดความเป็นพี่เป็นน้อง และการฟ้องร้องขอส่วนแบ่งมรดกที่ยืดเยื้อและยาวนานในเวลาต่อมาตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต “บุตรชายคนโตของตระกูล”

ทั้งนี้ “สาเหตุ” ที่นำไปสู่การตัดสินใจเปลี่ยนทายาทผู้สืบทอดของ “Samsung Group” นั้น หากอ้างอิงจาก หนังสือชีวประวัติของ “อีบยองชอล” ผู้ก่อตั้งซัมซุง ซึ่งมีการเผยแพร่ออกสู่สาธารณในปี 1986 (มีการตีพิมพ์ใหม่ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2014 และปัจจุบันหลังซีรีย์ Reborn Rich ออนแอร์ ได้กลับมาขึ้นแท่นขึ้นชาร์ต หนังสือขายดี 100 อันดับแรกของเกาหลีใต้แล้ว) ระบุถึงเรื่องดังกล่าวเพียงว่า หลังการประกาศวางมือและให้ “อี-แมงฮี” บุตรชายคนโตทำหน้าที่เป็นประธานซัมซุงกรุ๊ปแทนได้เพียง 6 เดือน สิ่งที่เขาพบคือ “ความไร้สามารถ” ของ “บุตรชายคนโต” เพราะภายในระยะเวลาเพียง 6 เดือนของการบริหารนั้น “ธุรกิจในเครือซัมซุงทั้งหมด” ได้เข้าสู่ “ภาวะของความโกลาหลครั้งใหญ่”

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ “ขัดแย้ง” กับข้อมูลดังกล่าวจากฝั่งของ “อี-แมงฮี” คือ เขายืนยันผ่านหนังสืออัตชีวประวัติส่วนตัวเช่นกันว่า ได้ทำหน้าที่บริหารซัมซุงกรุ๊ปเป็นเวลาถึง 7 ปี ไม่ใช่ 6 เดือน ตามที่บิดาของเขาระบุแต่อย่างใด ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ “อี-แมงฮี” เขาดำรงตำแหน่งสำคัญในเครือซัมซุงกรุ๊ปถึง 17 ตำแหน่ง ซึ่งในจำนวนคือ ตำแหน่งสำคัญๆ อย่าง รองประธาน“ซัมซุงอิเล็กทรอนิกส์” และ “รองประธาน ซัมซุง C&T” ซึ่งแทบไม่ต่างอะไรกับการ “การันตี” ตำแหน่งผู้สืบทอดอันดับหนึ่งเอาไว้ในมือ ตั้งแต่ปี 1973 แล้ว

แล้วอะไรคือ “จุดพลิกผัน” ที่นำไปสู่การเปลี่ยนตำแหน่งทายาทผู้สืบทอดกิจการ :

ในมุม ของ สื่อมวลชนเกาหลีใต้ เชื่อว่า สาเหตุสำคัญของเรื่องนี้น่าจะเกิดจากเรื่องอื้อฉาวที่ว่า ทางการเกาหลีใต้ ได้ตรวจสอบพบว่า บริษัทในเครือซัมซุงได้แอบลักลอบนำเข้าขัณฑสกรอย่างผิดกฎหมาย จำนวน 58 ตัน เมื่อปี 1966

ซึ่งเรื่องอื้อฉาวดังกล่าวเป็นให้รัฐบาลเกาหลีใต้ต้องเปิดการสืบสวนข้อเท็จจริง และเป็นผลให้ “อีบยองชอล” ต้องก้าวลงจากตำแหน่งประธานซัมซุงอย่างกระทันหัน และส่งมอบตำแหน่งให้กับ “ลูกชายคนโต” ทำหน้าที่บริหารกิจการแทน

หากแต่สิ่งที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมาคือ “อี-แมงฮี” ถูกต้องสงสัยว่า เป็นผู้แอบส่งจดหมายลับ ถึง “ชองวาแด” (Cheong Wa Dae) หรือ ทำเนียบบูลเฮาส์ เพื่อกล่าวโทษถึงบิดาของตัวเองในเรื่องอื้อฉาวที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ดีแม้ ลูกชายคนโตผู้แสนอาภัพของซัมซุง จะออกมายืนกรานว่า เขาไม่ได้เกี่ยวข้องกับ “จดหมายลับ” ดังกล่าว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ “ผู้เป็นบิดา” ได้ประกาศปลดเขาออกจากตำแหน่งสำคัญๆในเครือซัมซุงกรุ๊ปทั้งหมด ก่อนจะมอบอำนาจการบริหารกิจการให้ “อี กุนฮี” ผู้เป็นน้องซึ่งในเวลานั้นต้องบินไปผ่าตัดมะเร็งที่ต่างประเทศขึ้นทำหน้าที่แทน ในปี 1976 จนกระทั่งได้กลายเป็นผู้สืบทอดกิจการอย่างเป็นทางการ หลังมรณะกรรมด้วยโรคมะเร็งของ “อีบยองชอล” ในปี 1987

ขณะเดียวกันเหตุอื้อฉาวนี้ ยังทำให้ บุตรชายคนที่ 2 “อี ชังฮี” ซึ่ง “ท่านประธานใหญ่” มั่นใจว่ามีส่วนรู้เห็นกับ “จดหมายลับ” ดังกล่าว ยังถูกตัดสินจำคุกถึง 6 เดือนในคดีนี้ และสูญเสียความสำคัญในซัมซุงกรุ๊ปไปตลอดกาลเช่นเดียวกับพี่ชายคนโตด้วย!

ทั้งนี้ หลัง “อี-แมงฮี” ถูกขับออกจากตำแหน่งผู้สืบทอด เขายังต้องเผชิญกับชะตากรรมที่สุดเลวร้ายด้วยการถูกผลักไสให้ไปใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศและไม่ได้รับความสนใจใดๆจากครอบครัวเป็นเวลายาวนานเกือบ 40 ปี

แต่ในระหว่างนั้น พี่ชายคนโตของตระกูลก็ยังคงก่อเรื่องอื้อฉาวขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยในปี 1990 เขาถูกตรวจพบว่าพกพาอาวุธปืนและกระสุนอีก 185 นัด ขณะกำลังเดินทางกลับเข้าประเทศด้วยสายการบินโคเรียนแอร์ นอกจากนี้ เมื่อถูกครอบครัวส่งเข้ารับการบำบัดทางจิต ยังเคยอาละวาดด้วยการยิงปืนลูกซองใส่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของซัมซุงที่พยายามเข้าระงับเหตุ รวมถึงก่อนที่จะเสียชีวิตเขายังได้ฟ้องร้องขอส่วนแบ่งมรดกจาก “อี กอนฮี” ก่อนที่จะถูกศาลยกฟ้องในเวลาต่อมา

โดย “อี กอนฮี” เคยกล่าวถึงพี่ชายคนนี้เอาไว้ในขณะที่มีการฟ้องร้องกันว่า “เขาคือคนที่ถูกครอบครัวของเราขับไล่ออกไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว” และจากนั้นทั้งคู่ก็ไม่เคยมีการพูดจากันอีกเลย...จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

มาถึงบรรทัดนี้...หากจะเล่าถึง เหตุการณ์จริงที่นำไปสู่จุดพลิกผันในซีรีย์ Reborn Rich ก็น่าจะยาวเกินไปสำหรับ “คุณ” เสียแล้ว เอาไว้มาต่อกันใน ตอนถัดไปในวันพรุ่งนี้กันดีกว่า!

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง