และแล้วก็ถึงเวลาที่ "ARMY" จำต้องส่ง “คิมซอก-จิน” (Kim Seok-jin) หรือ "JIN" หนึ่งในสมาชิก BTS เข้ากรมเป็นคนแรก โดย JIN จะมีระยะเวลาสำหรับการเข้าประจำการเพื่อทำหน้าที่เป็น “รั้วของชาติ” ตั้งแต่วันที่ 14 ธ.ค. 2022 จนถึงวันที่ 12 มิ.ย.2024 ตามพระราชบัญญัติรับราชการทหารของประเทศเกาหลีใต้

โดยกระทรวงกลาโหมของเกาหลีใต้ เปิดเผยว่า JIN จะเข้ารับการฝึกพื้นฐานการเป็นทหารประจำการเป็นเวลา 5 สัปดาห์ ร่วมกับพลทหารนายอื่นๆ อีกประมาณ 200 นาย ที่ค่ายทหารราบที่ 5 เมืองยอนชอน จังหวัดคยองกี ซึ่งเป็นหนึ่งในค่ายทหารที่ตั้งอยู่ตอนเหนือสุดของเกาหลีใต้ และยังเป็นค่ายทหารที่ใกล้กับชายแดนประเทศเกาหลีเหนือด้วย

ที่ตั้งค่ายทหารราบที่ 5 เมืองยอนชอน จังหวัดคยองกี
ที่ตั้งค่ายทหารราบที่ 5 เมืองยอนชอน จังหวัดคยองกี

...

โดยกองทหารราบที่ 5 นอกจากได้ชื่อว่าเป็นค่ายทหารที่มีหลักสูตรการฝึกที่สุดเข้มข้นแล้ว ยังเป็นค่ายทหารที่มีความหฤโหดลำดับต้นๆ ของกองทัพเกาหลีใต้ด้วย เนื่องจากเป็นพื้นที่ ที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยในเดือนธันวาคม ประมาณ -3 องศาเซลเซียส ถึง -5 องศาเซลเซียส ส่วนในเดือนมกราคมจะมีอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ -3 องศาเซลเซียส ถึง -6 องศาเซลเซียส ในขณะที่บางปี เคยมีอุณหภูมิหนาวยะเยือกถึงระดับ -20 องศาเซลเซียสมาแล้ว

โดยหลังจากจบหลักสูตรการฝึกทหารขั้นพื้นฐานเป็นเวลา 5 สัปดาห์แล้ว JIN จะถูกย้ายไปบรรจุยังหน่วยทหารประจำการอื่นๆ เช่นเดียวกับพลทหารนายอื่นๆ ต่อไป

พระราชบัญญัติรับราชการทหารของประเทศเกาหลีใต้ :

ชายชาวเกาหลีใต้ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ทุกคนจะต้องเข้ารับราชการทหารก่อนอายุครบ 28 ปี (เริ่มตั้งแต่ในช่วงอายุระหว่าง 18-28ปี) โดยระยะเวลาสำหรับการรับใช้ชาติของชายเกาหลีใต้จะอยู่ที่ประมาณ 18-21 เดือน

โดยหากเข้าประจำการในกองทัพบกหรือกองทัพนาวิกโยธิน จะใช้เวลาในการเข้าประจำการ 18 เดือน กองทัพเรือ 20 เดือน ส่วนกองทัพอากาศจะอยู่ที่ 21 เดือน

กลุ่มคนที่ได้รับการยกเว้น :

ชายชาวเกาหลีใต้ที่มีข้อจำกัดทางด้านร่างกายที่ไม่เอื้ออำนวยสำหรับการเข้ารับราชการทหาร จะได้รับอนุญาตให้ทำงานบริการทางเลือก เช่น การทำงานบริการสังคม ซึ่งปัจจุบันทางเลือกดังกล่าวได้ขยายไปสู่กลุ่มความเชื่อในลัทธิต่างๆ เป็นกรณีๆ ไปด้วย หลังจากก่อนหน้าที่เคยเกิดกรณี ผู้มีความเชื่อในลัทธิที่ต่อต้านการเกณฑ์ทหารถูกตัดสินจำคุกจากการปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามพระราชบัญญัติรับราชการทหารฉบับนี้

ส่วนอีกกลุ่มที่ได้รับการยกเว้นการเข้ารับราชการทหาร คือ "ศิลปินหรือนักดนตรีคลาสสิก" ที่ได้รับรางวัลจาก “ผลงานที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากกระทรวงกลาโหมของเกาหลีใต้” รวมถึง นักกีฬา ที่ได้รับรางวัลในระดับนานาชาติ เช่น เหรียญทองในกีฬาโอลิมปิก

อย่างไรก็ดี แม้จะได้รับการยกเว้นการเข้ารับราชการทหาร แต่คนกลุ่มนี้ยังคงต้องเข้ารับการฝึกทหารขั้นพื้นฐานเป็นเวลา 3 สัปดาห์ และทำงานบริการสังคมเป็นระยะเวลา 544 ชั่วโมง รวมถึงทำงานเป็นอาสาสมัครในสาขาวิชาชีพที่ตนเองถนัดเป็นระยะเวลา 34 เดือน

...

ข้อยกเว้นสำหรับ ศิลปิน KPOP :

หลัง BTS กลายเป็นปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมในระดับโลก ได้ทำให้เกิดเสียงเรียกร้องในประเทศเกาหลีใต้ว่า กลุ่มศิลปิน KPOP ควรเข้าข่ายได้รับการยกเว้นการเข้ารับราชการทหารเช่นเดียวกับกลุ่มศิลปินและนักกีฬาที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศด้วยเช่นกัน ทำให้ในเดือน ธันวาคมปี 2020 จึงได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติรับราชการทหาร โดยยืดระยะเวลาการเข้ารับราชการทหาร แก่ “ผู้เป็นเลิศในศิลปวัฒนธรรมสมัยใหม่” จากอายุ 28 ปี เป็น 30 ปี ซึ่งต่อมาผู้คนในประเทศเกาหลีใต้เรียกว่า “กฎหมาย BTS” ในที่สุด

...

การปรับตัวของวงการ KPOP :

ในอดีตที่ผ่านมา ศิลปิน KPOP มักมีทัศนคติในแง่ลบต่อการเข้ารับราชาการทหาร เนื่องจากมองว่าระยะเวลาถึง 2 ปี ที่หายหน้าไปจากแสงสปอตไลต์ เป็นระยะเวลาที่ยาวนานเกินไปและอาจกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชื่อเสียงที่สั่งสมมาเนิ่นนานต้องถึงคราวเสื่อมถอย เพราะการเข้ารับราชการทหาร มีกฎเหล็กสำคัญ คือ ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ในกองทัพ ห้ามทำกิจกรรมเพื่อการแสวงหาผลกำไรอย่างเด็ดขาด ซึ่งกฎเหล็กที่ว่านี้ เท่ากับเป็นการ “ปิดประตู” ในการสื่อสารกับกลุ่มแฟนคลับไปโดยปริยาย ซึ่งประเด็นนี้ เคยเป็นผลให้เกิดเรื่องอื้อฉาวจากการที่ ศิลปิน KPOP พยายามหาทางหลบเลี่ยงการเข้ารับราชการทหารมาแล้วในหลายกรณี

อย่างไรก็ดี หลังโลกเข้าสู่สังคมออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ บรรดาบริษัทบันเทิงในเกาหลีใต้ สามารถค้นหากลยุทธ์ใหม่ๆ ที่นำไปสู่การสื่อสารระหว่างศิลปินที่ต้องเข้ากรม กับ กลุ่มแฟนคลับ เพื่อลดช่องว่าง 2 ปีที่ขาดหายไปนี้ได้สำเร็จในระดับหนึ่ง

จากการใช้กลยุทธ์สร้างคอนเทนต์ศิลปินเก็บตุนเอาไว้ล่วงหน้าก่อนเข้ากรม จากนั้นจึงค่อยๆ ปล่อยคอนเทนต์ดังกล่าวทางโลกออนไลน์ เพื่อสื่อสารกับกลุ่มแฟนคลับออกมาอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ศิลปินทำหน้าที่รั้วของชาติ

ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ยกตัวอย่างเช่น กรณีของ “แพคฮยอน” สมาชิกบอยแบนด์ชื่อดัง Exo ที่มีการปล่อยคลิปวิดีโอรายเดือนในช่วงระหว่างเข้ากรม จนได้รับกระแสตอบรับอย่างท่วมท้น

ขณะเดียวกัน การสร้างกระแสให้เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ จากคลิปไวรัลต่างๆ ของศิลปินโดยเฉพาะการแสดงสดในขณะที่ทำกิจกรรมให้กับกองทัพ ยังกลายเป็นคอนเทนต์ที่สามารถเรียก “ความคิดถึงศิลปิน” ในหมู่แฟนคลับได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

...

ยกตัวอย่างเช่น กรณี ไวรัลคลิปการแสดงสดเพลง “My House” ของวง 2PM ในปี 2015 ได้กลายเป็น “คอนเทนต์สำคัญ” ที่ทำให้ "วง 2PM" สามารถ Come Back อย่างยิ่งใหญ่ได้สำเร็จหลังการปลดประจำการของสมาชิกวงในปี 2021

หรืออีกหนึ่งกรณีที่น่าสนใจ คือกรณี "วง ONF" ที่สมาชิกในวงที่เป็นชาวเกาหลีใต้ 5 จาก 6 คน ตัดสินใจเข้ารับราชการทหารพร้อมๆ กันในเดือนธันวาคม ปี 2021 เพื่อที่จะได้กลับมาพบกับกลุ่มแฟนคลับอย่างเต็มวงโดยเร็วที่สุด

แต่เมื่อมีการปล่อยคลิปการแสดงสดในระหว่างการทำกิจกรรมให้กับกองทัพ ผลลัพธ์ที่ออกมาคือ ได้รับการตอบรับอย่างท่วมท้น และมีผลทำให้ MV เพลง “Your Song” ซึ่งเป็นเพลงในอัลบั้มพิเศษ “Storage of ONF” ซึ่งถูกปล่อยออกมาในช่วงระหว่างที่สมาชิกส่วนใหญ่ยังรับราชการทหารอยู่ มีผู้เข้ารับชมมากกว่า 22 ล้านวิว

ซึ่งการปรับตัวซึ่งนำไปสู่การใช้กลยุทธ์การใช้สื่อออนไลน์เพื่อ “เติมเต็มช่องว่าง” ที่ขาดหายไปนี้ นอกจากทำให้ ศิลปิน KPOP ยินดีเข้ากรมกันมากขึ้นแล้ว ยังทำให้ “กองทัพเกาหลีใต้” ตระหนักถึงการใช้ประโยชน์จากบุคลากรในวงการบันเทิง สำหรับการสร้างกิจกรรมมวลชนได้ดีมากขึ้นด้วย

หากแต่...ในอีกมุมหนึ่ง นักวิเคราะห์วงการบันเทิงของเกาหลีใต้ ได้ให้มุมมองที่น่าสนใจสำหรับประเด็นนี้เอาไว้ว่า แม้ ศิลปิน KPOP จำนวนหนึ่งจะสามารถ “ก้าวผ่านระยะเวลา 2 ปีที่ขาดหายนี้ไปได้อย่างราบรื่น” แต่กรณีที่เกิดขึ้นนี้ มักจะเกิดขึ้นกับ “ศิลปินที่มีชื่อเสียงแล้วเท่านั้น”

เพราะสิ่งหนึ่งที่ต้องไม่ลืมคือ ขนาดของวงการ KPOP ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ และมีศิลปินอีกมากมายที่จำต้อง “จางหายไป” ก่อนที่จะประสบความสำเร็จในวงกว้าง และหนึ่งในปัจจัยที่นำไปสู่เหตุการณ์ที่ว่านั้น มี “ช่องว่าง 2 ปี” ซึ่งเกิดขึ้นจากการเข้ากรมรวมอยู่ด้วย

ขณะเดียวกัน ปัญหาช่องว่าง 2 ปี ยังถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ “ระยะเวลา” ในการกลับมามีสมาชิกเต็มวงอีกครั้ง ของ วง KPOP กินระยะเวลายาวนานอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น กรณี วง "Super Junior" ที่ต้องใช้ระยะเวลาเกือบ 10 ปี กว่าที่สมาชิกจะกลับมารวมตัวกันได้เต็มวงอีกครั้ง

BTS จะกลับมาเต็มวงอีกครั้งเมื่อไหร่ :

หลัง “JIN” เข้ากรมในปีนี้ สมาชิกคนอื่นๆ ของ BTS มีเงื่อนกำหนดเวลาสำหรับการเข้ากรมไล่เรียงกันดังต่อไปนี้ “SUGA” จะมีอายุครบ 30 ปี ในปี 2023 ส่วน “J-Hope” และ “RM” จะอายุครบ 30 ปี ในปี 2024 ด้าน “Jimin” และ “V” จะมีอายุครบ 30 ปี ในปี 2025 และ “Jung Kook” จะมีอายุครบ 30 ปี ในปี 2027

โดยเบื้องต้น บริษัท "Hybe Corporation" ต้นสังกัดของ BTS เปิดเผยว่า BTS ได้เริ่มพักวงชั่วคราวแล้ว และคาดว่าจะ Reunite ได้อีกครั้งในช่วงระหว่างปี 2025-2027 อย่างไรก็ดีในช่วงระหว่างนี้ จะมีการทยอยเปิดตัวผลงานเดี่ยวของสมาชิก BTS เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการพักวงชั่วคราวต่อไป

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก sathit chuephanngam

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง