- เป็นที่ฮือฮาไม่น้อยเมื่อครม.เห็นชอบให้นาคเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ ประเภทสัตว์ในตำนาน ซึ่งเป็นการประกาศในเชิงสัญลักษณ์ ด้วยเหตุผลเพื่อสร้างให้เกิดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และวัฒนธรรมของชาติ อีกทั้งเป็นการต่อยอด ซอฟต์พาวเวอร์ ในการนำทุนวัฒนธรรมมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและนำรายได้เข้าประเทศ
- นาคมีคติความเชื่อปรากฏในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน มีความเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตคนไทย สะท้อนถึงตำนานและความเชื่อตั้งแต่อดีต ผ่านทางขนบธรรมเนียม ประเพณี ศิลปวัฒนธรรม และพิธีกรรมต่างๆ มาจนถึงปัจจุบัน เช่น เป็นผู้พิทักษ์ศาสนา เป็นบันไดเชื่อมระหว่างโลกและสวรรค์ บั้งไฟพญานาคในวันออกพรรษาและประเพณีไหลเรือไฟ เป็นสัญลักษณ์สะท้อนวัฒนธรรมของคนไทย
- ที่ผ่านมากรมศิลปากร สำนักช่างสิบหมู่ ได้ร่างภาพต้นแบบนาค สื่อให้เห็นคติความเชื่อเกี่ยวกับนาค เป็นรูปพญานาคสี่ตระกูล ในตระกูลวิรูปักษ์ (สีทอง) ตระกูลเอราปถ (สีเขียว) ตระกูลฉัพพยาปุตตะ (สีรุ้ง) และตระกูลกัณหาโคตมะ (สีดำ) และนาควาสุกรี ซึ่งเป็นนาคตัวใหญ่สุด มีความเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาและพระมหากษัตริย์ รวมถึงภาพประกอบ เช่น คลื่นน้ำและศาสนสถาน สื่อให้เห็นว่านาคเป็นสัญลักษณ์แห่งน้ำ ความอุดมสมบูรณ์ และเป็นผู้พิทักษ์รักษาพระพุทธศาสนา
- ปัจจุบันประเทศที่มีสัตว์ประจำชาติ ประเภทตำนาน เทพนิยาย และความเชื่อ มีจำนวน 157 ประเทศ รวม 229 รายการ มีบางประเทศที่มีสัตว์ประจำชาติมากกว่า 1 รายการ ซึ่งสัตว์ประจำชาติของประเทศต่างๆ มีสัตว์ที่ปรากฏอยู่จริง เช่น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์สี่เท้า สัตว์ปีก ส่วนสัตว์ในตำนานเทพนิยายและความเชื่อ แม้ว่าจะไม่มีผู้พบเห็น แต่คนในชาตินั้นๆ มีความเชื่อและศรัทธาจนมีการสร้างสรรค์เป็นสัญลักษณ์ประจำชาติ
- เช่นเดียวกับประเทศจีน มีหมีแพนด้าเป็นสัตว์ประจำชาติ และมังกรเป็นสัตว์ประจำชาติประเภทตำนาน ส่วนอินโดนีเซีย มีมังกรโคโมโดเป็นสัตว์ประจำชาติ และครุฑเป็นสัตว์ประจำชาติประเภทตำนาน รวมถึงกรีซ มีปลาโลมาเป็นสัตว์ประจำชาติ และนกฟีนิกซ์เป็นสัตว์ประจำชาติประเภทตำนาน ซึ่งสัตว์ในตำนานเหล่านี้ มักจะนำมาเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ เป็นตราแผ่นดิน โล่และอาร์ม หรือธงต่างๆ และเกี่ยวข้องกับสถาบันเป็นส่วนใหญ่
...
“ผศ.รัตนพล ชื่นค้า” ภาควิชาวรรณคดี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุ การผลักดันให้นาคเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ ประเภทสัตว์ในตำนาน เกิดจากแนวคิดของวีระ โรจน์พจนรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม น่าจะต้องการเน้นบทบาทของนาคในหลายมิติ อย่างในวรรณกรรมในสังคมไทย มีบทบาทหลายอย่างในเรื่องความเชื่อทางศาสนา หรือเนื้อหาในนิทานไทย มีการพูดถึงนาค เป็นงูขนาดใหญ่ และไม่ใช่เฉพาะประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงเท่านั้น แต่เป็นที่รู้จักไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งแต่ละประเทศมีความแตกต่างด้านวัฒนธรรม อาจอธิบายเรื่องของนาคคนละแบบ เช่นมีลักษณะเป็นงูใหญ่ หรือครึ่งมนุษย์ครึ่งงู
ปัจจุบันมีคนบูชานาค หรือพญานาค เพราะเชื่อว่าเกี่ยวกับความร่ำรวยดูแลโภคทรัพย์และทรัพย์สมบัติ เป็นการตอบสนองผู้คนในแง่เศรษฐกิจและชีวิตการเป็นอยู่ ทำให้มีนาคสีหลากหลาย และในอดีตยังสัมพันธ์กับตำราพิชัยสงคราม โดยใช้นาคอธิบายกลยุทธ์การสู้รบ
อย่างในวรรณกรรมเรื่องลิลิตตะเลงพ่าย การยกทัพของกองทัพสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีการเคลื่อนพลตามเกล็ดนาค "ตากเต็มท่งแถวเถื่อน เกลื่อนกล่นแสนยาทัพ ถับประทะไพริน ส่วนหัสดินอุภัย เจ้าพระยาไชยานุภาพ เจ้าพระยาปราบไตรจักร ตรับตระหนักสำเนียง เสียงฆ้องกลองปืนศึก อึกเอิกก้องกาหล" ซึ่งบอกไว้ว่าวันใดนาคหันหัวไปทางทิศใด จะต้องเคลื่อนพลในทางทิศเดียวกันจะเกิดสิริมงคล ไม่ให้ทวนเกล็ดนาคถือว่าเป็นอัปมงคล
หรือการทำนาในแต่ละเดือนจะต้องหาทิศทางของนาค หรือนาคสมพงศ์ โดยเดือน 1-3 นาคหันหัวไปทิศใต้ เดือน 4-6 หันหัวไปทิศตะวันตก เดือน 7-9 หันหัวไปทิศเหนือ และเดือน 10-12 หันหัวไปทิศตะวันออก มีความเชื่อว่าห้ามไถนาย้อนเกล็ดนาคอย่างเด็ดขาด หากฝืนจะทำให้มีอันเป็นไปได้รับอันตราย ต้นข้าวนาข้าวเสียหายไม่สมบูรณ์ หรือเกิดภัยพิบัติต่างๆ จึงต้องให้ความสำคัญ
“นาคเป็นสัตว์ที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมของคนไทย เกี่ยวข้องกับเทวตำนานของไทย และเป็นสัตว์ที่อยู่เบื้องหลังความเชื่อ ความคิดของคน แม้ว่าเราไม่รู้ว่าสิ่งที่ขอจากนาคจะให้ได้จริงหรือไม่ เพราะเป็นสิ่งมองไม่เห็น ถือเป็นการเล่นกับนามธรรม นำไปสู่การสร้างนาคที่มีหน้าตาไม่เหมือนกันทั้งในตำนาน และในนิยาย ซึ่งคนในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างเข้าใจกันได้ และในอดีตยังเชื่อกันว่านาคเป็นผู้พิทักษ์รักษาพุทธศาสนา จะเห็นนาคตามบันได ช่อฟ้าใบระกาตามวัดต่างๆ หรือคนจีนเชื่อว่านาคเป็นพลังธรรมชาติ ดินน้ำฟ้า ถือเป็นเทพแห่งน้ำ”
การให้นาคเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ ประเภทสัตว์ในตำนาน มองว่ายังจับต้องไม่ได้ แตกต่างกับการใช้ช้างเป็นเอกลักษณ์ของชาติ แต่หากมีการจำลองบทบาทของนาคจากตำนานต่างๆ อาจมีมุมมองเฉพาะในแต่ละคน เช่น ให้นาคมีภาพลักษณ์ในกลุ่มความเชื่อทำให้คนเสาะหาตามรอยนาคจากเส้นทางท่องเที่ยว
...
อย่างปรากฏการณ์แรงศรัทธาต่อถ้ำนาคา ตั้งอยู่อำเภอบึงโขงหลง จ.บึงกาฬ และถ้ำนาคี อำเภอบ้านแพง จ.นครพนม และสามารถอธิบายได้ถึงลักษณะของหินที่เป็นเกล็ดงูในแนววิทยาศาสตร์และธรณีวิทยา แต่ในทางมนุษยศาสตร์และสังคมวิทยา จะอธิบายไปอีกแบบ หรือพื้นที่ใดมีการพบหินมีค่า อาจมีคนไทยเชื่อมโยงกับนาคก็ได้
รวมถึงหนังสือสมุดไทยเรื่องนันโทปนันทสูตรคำหลวง วรรณคดีเชิงพุทธศาสนาในสมัยอยุธยา ซึ่งมีนาคไปสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับตำนานพุทธประวัติค่อนข้างมาก และในไตรภูมิกถา วรรณคดีสมัยสุโขทัย กล่าวถึงนาคพิภพ ที่อยู่แห่งฝูงนาค ทำให้จากเดิมผู้คนเคยนับถือนาค เป็นพลังธรรมชาติ หรือนับถือผีสางเทวดา กระทั่งนำนาคมาเป็นตำนาน จนคนหันมานับถือศาสนาพุทธในที่สุด
หากจะนำนาคหรือพญานาค มาต่อยอดซอฟต์พาวเวอร์ ในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและนำรายได้เข้าประเทศ อาจมีการกระตุ้นให้คนไขความลับจักรวาลจากความเชื่อของคนไทยในการทำนาในสมัยโบราณ ห้ามไถนาย้อนเกล็ดนาคให้เป็นความรู้ทางเกษตร
“คิดว่าธุรกิจองค์กรคงเห็นช่องทาง อาจต่อยอดจากความเชื่อศรัทธา แม้แต่การทำแหวน เครื่องประดับก็เกี่ยวข้องทั้งหมด นำมาต่อยอดซอฟต์พาวเวอร์ จากตำนาน และมองนาคมากกว่าเป็นสัตว์ มีความสัมพันธ์กับความเชื่อ หรือศิลปวัฒนธรรม ก็จะขายได้เพราะนาคเป็นนามธรรม เอื้อต่อการตีความได้อย่างหลากหลายหากคิดจะทำกันจริงๆ”.
...
ผู้เขียน : ปูรณิมา