BTS วงบอยแบนด์ที่โด่งดังที่สุดในโลกเวลานี้ กลับมาเป็น “หัวข้อใหญ่” ในการสนทนาของเกาหลีชนอีกครั้ง หลังเดือนธันวาคมที่กำลังใกล้จะมาถึงนี้ "JIN" (คิม ซอก จิน) หนึ่งในสมาชิกของวง จะมีอายุครบ 30 ปีบริบูรณ์ เป็นผลให้การผ่อนผันตามกฎหมายที่ถูกเรียกว่า "BTS LAW" ซึ่งขยายระยะเวลาให้กับ เหล่าผู้ชายในวงการบันเทิงของเกาหลีใต้ ที่มีส่วนสำคัญยิ่งในการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ ผ่านการผลักดันวัฒนธรรม K-POP สามารถขยายระยะเวลาสำหรับการเข้ารับราชการทหารจากอายุ 28 ปี ไปเป็นอายุ 30 ปี ถึงเวลาที่ต้องสิ้นสุดลง (อีกครั้ง)

เหตุใด “BTS และ การเกณฑ์ทหาร” จึงยังคงกลายเป็น “หัวข้อในการแลกเปลี่ยนทัศนะ” ในประเทศเกาหลีใต้ได้อยู่เสมอๆ วันนี้ “เรา” ไปร่วมกัน “มองหลายๆ มุม” ในประเด็นนี้กันดู

อ่านเพิ่มเติม: 

...

เพราะอะไรชายชาวเกาหลีใต้ทุกคนจึงต้องเป็นทหาร :

ปี 1953 สงครามระหว่างเกาหลีใต้และเกาหลีเหนือ จบลงด้วย “การเจรจาหยุดยิงชั่วคราว” มิใช่จบลงเพราะ “การทำสนธิสัญญาสันติภาพ” ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ทั้งสองประเทศยังคงสถานะเป็นประเทศคู่สงครามอยู่จนถึงปัจจุบัน ขณะเดียวกันต้องเผชิญหน้ากับกองทหารเกาหลีเหนือที่มีกำลังพลประจำการมากกว่า 600,000 นาย แถมยังสามารถเกณฑ์ชายหนุ่มที่อายุครบ 19 ปี เข้ารับการเกณฑ์ทหารได้ในทุกๆ ปี ยังถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้การวางกำลังประจันหน้าบริเวณชายแดนเส้นขนานที่ 38 หรือ ที่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า DMZ (Demilitarized Zone) ของฝ่ายเกาหลีใต้ จำเป็นต้องอาศัย “ชายหนุ่มที่มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ทุกคน” เข้ามาทำหน้าที่ “รั้วของชาติ” เป็นระยะเวลา 18-21 เดือน

ข้อยกเว้นการเข้ารับการเกณฑ์ทหาร :

แม้ตามกฎหมาย ผู้ชายชาวเกาหลีใต้ที่สุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ทุกคนจะต้องทำหน้าที่รั้วของชาติ แต่รัฐบาลเกาหลีใต้ มีข้อยกเว้นให้กับผู้ที่สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ โดยเฉพาะผู้ที่สามารถคว้ารางวัลสำคัญๆในระดับนานาชาติ เนื่องจากถือเป็นการยกระดับภาพลักษณ์ให้กับประเทศ ซึ่งที่ผ่านมามีทั้งนักกีฬา นักดนตรีคลาสสิก และ ศิลปิน ของเกาหลีใต้หลายคน เคยได้รับการยกเว้นการเข้ากรมมาแล้ว เพียงแต่จนถึงปัจจุบัน ยังไม่เคยมีศิลปินชาย K-POP คนใดที่เข้าเกณฑ์ได้รับการยกเว้นในกรณีนี้มาก่อน

อย่างไรก็ดี แม้จะได้รับการยกเว้นการเข้ารับราชการทหาร แต่บุคคลเหล่านั้นจะต้องเข้ารับการฝึกการเป็นทหารขั้นพื้นฐานเป็นเวลา 3 สัปดาห์ และยังต้องทำหน้าที่เป็นอาสาสมัครชุมชนรวมระยะเวลาทั้งสิ้น 544 ชั่วโมง รวมถึงต้องทำงานเป็นอาสาสมัครในสาขาวิชาชีพของตนเองเป็นระยะเวลา 34 เดือนด้วย

BTS กับ การเกณฑ์ทหาร :

ผลการสำรวจในประเทศเกาหลีใต้เมื่อปี 2020 พบว่า มีผู้สนับสนุนให้สมาชิกวง BTS ได้รับการยกเว้นการเกณฑ์ทหาร 46% ส่วนฝ่ายที่คัดค้านอยู่ที่ 48% ในขณะที่ผลการสำรวจเมื่อช่วงต้นปี 2022 ที่ผ่านมาพบว่า ฝ่ายที่สนับสนุนการยกเว้นให้สมาชิก BTS เข้ารับการเกณฑ์ทหารเพิ่มขึ้นเป็น 59%

...

เหตุใดจึงควรยกเว้นการเกณฑ์ทหารให้กับ BTS :

ฝ่ายที่สนับสนุนให้ BTS ได้รับการยกเว้นการเกณฑ์ทหาร ให้เหตุผลว่านอกจากผลงานของ BTS จะได้รับการยอมรับในระดับโลกแล้ว ความโด่งดังของพวกเขายังถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเกาหลีใต้ในเวลานี้ด้วย

โดยงานวิจัยของ "สถาบันวิจัยฮุนได" (Hyundai Research Institute) ในปี 2018 ระบุว่า BTS สร้างเม็ดเงินให้กับประเทศเกาหลีใต้มากมายถึง 4.1 ล้านล้านวอน หรือประมาณ 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมูลค่าที่ว่านี้เทียบเท่ากับ เม็ดเงินที่บริษัทขนาดกลางของเกาหลีใต้ทำเงินได้รวมกัน 26 บริษัท!

...

นอกจากนี้ ความหลงใหลใน BTS ยังมีผลต่อการตัดสินใจของชาวต่างชาติในการเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศเกาหลีใต้ด้วย โดยงานวิจัยของฮุนได้ พบว่า ในปี 2017 นักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 800,000 คน หรือคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 7% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด ที่ตัดสินใจเลือกแดนกิมจิเป็นจุดหมายปลายทางนั้น มาจากอิทธิพลของ BTS เป็นสำคัญ!

และหาก...BTS ยังคงสามารถรักษากระแสความโด่งดังนี้เอาไว้ได้ต่อไป พวกเขาจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศเกาหลีใต้ได้ถึง 41.8 ล้านวอน! ในอีก 10 ปีข้างหน้า (ปี 2028) ด้วย

บทเรียนและความอ่อนไหว ประเด็นการเกณฑ์ทหารในเกาหลีใต้ :

สำหรับประเทศเกาหลีใต้แล้ว การปลุกเร้าเรื่องจิตสำนึกรักมาตุภูมิด้วยการไปทำหน้าที่รั้วของชาติเป็นไปอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะยุค 90 ในหมู่ผู้ชายชาวเกาหลีใต้ถึงกับมีคำกล่าวที่ว่า “คุณจะเป็นลูกผู้ชายได้ก็ต่อเมื่อคุณไปเป็นทหาร” ด้วยเหตุนี้ จึงมักเกิดความวิตกในหมู่ชายชาวเกาหลีใต้ที่ได้รับการยกเว้นการเข้ารับราชการทหารอยู่เสมอ "เนื่องจากหวั่นเกรงว่าสังคมส่วนใหญ่จะมองพวกเขาด้วยทัศนคติเชิงลบ"

...

ขณะเดียวกัน ปรากฏการณ์ที่เคยเกิดขึ้นกับ "ยุน ซึง-จุน" (Yoo Seung-joon) หรือที่ปัจจุบันมีชื่อว่า "สตีฟ ยุน" (Steve Yoo) อดีตนักร้องชื่อดังของเกาหลีใต้ในยุค 90 ยังคงเป็นภาพจำที่ตรึงแน่นอยู่จนถึงปัจจุบันว่า “ใครก็ตามที่พยายามหลีกเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร” จะได้รับผลลัพธ์ที่สุดเลวร้ายมากมายขนาดไหน?

ย้อนกลับไปในช่วงยุค 90 ยุน ซึง-จุน ถือเป็นหนึ่งใน Pop Icons ที่โด่งดังที่สุดคนหนึ่งของประเทศเกาหลีใต้ หากแต่เมื่อใกล้ถึงเวลาที่จะต้องเข้ากรมเพื่อรับใช้ชาติในช่วงปี 2002 ยุน ซึง-จุน ซึ่งได้ออกเดินทางไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา และกล่าวยืนยันผ่านสื่อหลายต่อหลายครั้งว่าจะเดินทางกลับมาทำหน้าที่รั้วของชาติอย่างแน่นอน กลับตัดสินใจสละสัญชาติเกาหลีใต้ขณะอยู่บนแผ่นดินสหรัฐอเมริกา ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวทำให้ชาวเกาหลีใต้ส่วนใหญ่เชื่อมั่นว่านี่คือความจงใจที่จะหาทางหลบเลี่ยงการเกณฑ์ทหารอย่างแน่นอน

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ นอกจาก ยุน ซึง-จุน จะถูกชาวเกาหลีใต้แสดงความเกลียดชังอย่างรุนแรงแล้ว ทางการเกาหลีใต้ ยังปฏิเสธความพยายามเดินทางกลับเข้าประเทศของอดีตไอดอลที่แสนโด่งดังผู้นี้ เป็นระยะเวลายาวนานร่วม 2 ทศวรรษ ขณะเดียวกันจากผลสำรวจเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ยังพบด้วยว่า แม้เวลาจะผ่านไปเนิ่นนานแล้วแค่ไหนก็ตาม แต่ชาวเกาหลีใต้ส่วนใหญ่ถึง 72.4% ก็ยังคงสนับสนุนการห้ามเดินทางเข้าประเทศของ ยุน ซึง-จุน ต่อไป แม้ว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมาเขาจะพยายามออกมากล่าวคำขอโทษต่อสาธารณชนซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็ตาม

นอกจากนี้ ยังมีสิ่งที่เกิดขึ้นกับ MC Mong แร็ปเปอร์ชื่อดังของเกาหลีใต้ ในช่วงปี 2010 ถือเป็นอีกหนึ่งบทเรียนที่สะท้อนถึงความอ่อนไหวในประเด็นนี้ได้เป็นอย่างดี นั่นเป็นเพราะการถอนฟันถึง 9 ซี่ โดยไม่มีเหตุผลทางการแพทย์ที่มากเพียงพอในการรองรับของ MC Mong ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างตามมาทันทีว่า ทั้งหมดนี้อาจเป็นอีกหนึ่งความพยายามเพื่อหาทางหลีกเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร จนกระทั่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าทำการสอบสวนทันที

อย่างไรก็ดีแม้ว่าในปี 2012 แร็ปเปอร์ชื่อดังผู้นี้ จะถูกศาลตัดสินว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ในคดีนี้ แต่ในท้ายที่สุดเขาก็ถูกพิพากษาจำคุกในข้อหาเลื่อนการเกณฑ์ทหารหลายต่อหลายครั้งโดยใช้ข้อมูลปลอมอยู่ดี และก็เช่นเดียวกับ ยุน ซึง-จุน "ทั้งคู่ได้สูญเสียความรุ่งโรจน์ในฐานะไอดอลไปตลอดกาล"

ท่าทีล่าสุดรัฐบาลเกาหลีใต้ :

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าปรากฏการณ์ที่ BTS ทำให้เกิดขึ้นในวงการดนตรีโลกนั้น คือสิ่งที่รัฐบาลเกาหลีใต้มุ่งหวังให้เกิดขึ้นหลังความพยายามวางแผนและผลักดันการส่งออกวัฒนธรรมเกาหลีมาเนิ่นนานหลายสิบปี หากแต่ความเห็นของประชาชนในเรื่องที่ สนับสนุน หรือ คัดค้าน การยกเว้นการเข้ารับการเกณฑ์ทหารให้กับสมาชิก BTS ก็ถือเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้จึงค่อนข้างมีท่าทีที่ระมัดระวังต่อการให้ความเห็นในประเด็นนี้

โดยล่าสุด "อี จง-ซอบ" (Lee Jong-sup) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของเกาหลีใต้ กล่าวว่า จะมีการทำสำรวจเพื่อศึกษาเรื่องผลกระทบด้านเศรษฐกิจและผลประโยชน์ของประเทศชาติโดยรวม เพื่อประกอบการพิจารณาในประเด็นร้อนนี้ และการทำสำรวจนี้จะถูกจัดทำขึ้นโดยองค์กรที่ไม่มีส่วนได้เสีย เพื่อให้เกิดความธรรมกับทุกฝ่าย

อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของเกาหลีใต้ ยังคงไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่า ผลการสำรวจนี้จะเสร็จสิ้นลงก่อนถึงกำหนดที่ “JIN” สมาชิกคนแรกของ BTS จะต้องเข้าไปทำหน้าที่รั้วของชาติในช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้หรือไม่?

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :