เป็นข่าวดัง และพูดถึง สำหรับกรณีดราม่าในวงการเพลงลูกทุ่ง “ตั๊กแตน ชลดา” กับคลิปไวรัล ที่ร้องเพลงได้แค่ “7 คำ” เพราะเกรงว่าจะเป็นการ “ละเมิดลิขสิทธิ์” กระทั่ง “เอ-ศุภชัย ศรีวิจิตร” ผู้จัดการดาราชื่อดัง ตัดสินใจเช่าซื้อลิขสิทธิ์เพลงให้ “ตั๊กแตน ชลดา” เป็นเวลา 1 ปี ซึ่งนักร้องลูกทุ่งสาวถึงกับร้องไห้โฮด้วยความดีใจ

ประเด็นปัญหาเรื่อง “ลิขสิทธิ์” ถือเป็นเรื่อง “คาราคาซัง” มานาน หากจำกันได้ เมื่อก่อนถึงขั้นไล่จับร้านคาราโอเกะ และมาถึงยุคนี้ก็เข้าใจกันว่า หากร้องไม่เกิน 7 คำนั้น ถือว่า ไม่ละเมิด ซึ่งถือเป็นความเข้าใจผิด!

เรื่องเกี่ยวข้องกับ “ลิขสิทธิ์” ใครจะรู้ดีเท่าคนที่อยู่ในวงการเพลง และดูแลงานลิขสิทธิ์ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสคุยกับ “ก้อ-ณฐพล ศรีจอมขวัญ” มือเบสวง Groove Riders วงดนตรีมือเก๋าคร่ำหวอดในวงการดนตรีมากว่า 20 ปี และเวลานี้ เขายังดำรงตำแหน่ง ประธาน บริษัท ลิขสิทธิ์ดนตรี (ประเทศไทย) จำกัด(Music Copyright Thailand) หรือ MCT ทำหน้าที่ปกป้องลิขสิทธิ์ของเหล่านักแต่งเพลง และศิลปินในประเทศไทยด้วย

...

ตั๊กแตน 7 คำ ความเข้าใจเรื่อง “ลิขสิทธิ์” ที่คลาดเคลื่อน

ก้อ-ณฐพล กล่าวถึงกรณี “ตั๊กแตน 7 คำ” ว่า หากเราดูหลายๆ สื่อที่เขียนเรื่องนี้ หรือแม้แต่ตัว “ตั๊กแตน” เอง อาจมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน...เพราะในกฎหมายลิขสิทธิ์ของเมืองไทยไม่มีการระบุ ว่า “ห้ามร้องเกิน 7 คำ” ส่วนตัวก็ไม่ทราบว่าการห้ามร้องเกิน 7 คำนี้มาจากไหน ถ้าให้เดาก็อาจจะเคยได้ยินใครเคยพูดถึงเรื่องนี้ หรือการพูดจากข้อมูลที่ผิด...

ในตัวบทกฎหมายทุกอย่างที่เกี่ยวข้องขึ้นอยู่กับ “เจตนา” จะละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ จะร้องเพลง 5 คำ 7 คำ หรือ 10 คำก็ตาม สุดท้ายมันไปพิสูจน์กันที่เจตนา ส่วนตัวแล้วก็รู้สึกเข้าใจทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายนักร้อง หรือ เจ้าของลิขสิทธิ์ เพราะทุกคนต้องทำมาหากิน เพียงแต่ว่าการแก้ปัญหาเรื่องนี้ คือ จะทำอย่างไรให้ถูกต้อง มีมาตรฐานที่ดี ที่ตัวนักร้องที่เคยร้องเพลงนี้ สามารถเอาผลงานที่เคยทำไปทำมาหากินได้ ถึงแม้ไม่ได้แต่งเองก็ตาม..

ขณะเดียวกัน คนที่แต่งเพลงๆ นั้นก็สมควรจะได้รับค่าตอบแทน เพราะนักแต่งเพลงก็คืออาชีพหนึ่งเช่นกัน ทุกฝ่ายต้องเคารพและหันหน้ามาคุยกัน โดยมีการเก็บค่าลิขสิทธิ์ที่มีมาตรฐาน ไม่ได้แพงจนเกินไป...”

เจาะปัญหา “ลิขสิทธิ์เพลง” เมืองไทย ผ่าน 3 ทศวรรษ ที่ยังถูกละเลย

ทีมข่าวได้ลงลึกถึงปัญหา ลิขสิทธิ์ กับประธาน MTC ได้สรุปออกมาเป็น 3 ข้อ

1. ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับลิขสิทธิ์เพลงในเมืองไทยมีน้อย
2. ไม่มีองค์กร กลไก จากภาครัฐมาสนับสนุนอย่างชัดเจน
3. ไม่มีมาตรฐานการเก็บลิขสิทธิ์ที่ใช้กันทั้งประเทศ

“ปัญหาลิขสิทธิ์เพลงกับค่ายเพลงแต่ละค่ายมีความแตกต่างกันตามการบริหารจัดการที่ต่างกัน”

ประธานของ Music Copyright Thailand อธิบายว่า ประเด็นแรกความรู้ความเข้าใจ เรียกว่า มีปัญหาทุกส่วน ทั้งตัวนักร้อง นักดนตรี นักแต่งเพลง ค่ายเพลง

จากประสบการณ์ตรงในการทำงานวงการเพลงมาอย่างยาวนาน ก้อ เผยว่า แม้แต่คนที่ทำงานในค่ายเพลง ยังมีความรู้เกี่ยวกับลิขสิทธิ์น้อย หรือบางคนก็มีองค์ความรู้ แต่เลือกใช้วิธีการบริหารจัดการไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม ของแบบนี้ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลด้วย

ก้อ-ณฐพล ศรีจอมขวัญ
ก้อ-ณฐพล ศรีจอมขวัญ

รากปัญหา คือ ประเทศไทยไม่มีมาตรฐานในการเก็บค่าลิขสิทธิ์ เพราะไม่มีองค์กร หรือ กลไกจากภาครัฐมาสนับสนุนในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง คนที่เห็นปัญหาและเข้าใจเรื่องนี้ กลายเป็นคนที่ไม่มีอำนาจจัดการ ส่วนคนที่มีอำนาจจัดการกลายเป็นคนที่ไม่เข้าใจเรื่องนี้...?

รวมถึงกรมทรัพย์สินทางปัญญา...? ก้อ ณฐพล นิ่งไปสักครู่ ก่อนกล่าวยอมรับว่า คนในองค์กรนี้ ถือว่ามีบุคคลที่มีประสบการณ์และเห็นปัญหาหลายๆ คน แต่เขาเหล่านั้นไม่ได้มีอำนาจโดยตรง เพราะหากจะแก้ปัญหานี้ได้ จำเป็นต้องไปถึงในระดับรัฐบาล มีการออกกฎหมาย

...

“สมัยก่อน มีความพยายามในการแก้ปัญหา แต่สุดท้ายผลที่ได้ก็ล้มเหลวทุกครั้ง ในอนาคตคงต้องรอดูไปว่าจะมีผู้มีอำนาจที่จะยอมรับฟังพวกเรา แล้วมาจัดการเรื่องนี้ เพราะหากทำได้ก็จะเกิดประโยชน์กับประเทศเราอย่างมาก”

เรตการเก็บค่าลิขสิทธิ์ นำตัวอย่างมาจาก ตปท.

ทีมข่าวฯ ถามว่า ปัจจุบันเรามีเรตการเก็บค่าลิขสิทธิ์อย่างไร มือเบส Groove Riders ในฐานะ ประธาน MCT อธิบายว่า ความจริงประเทศไทยควรจะมีเรตที่ชัดเจน แต่ปัจจุบันเรียกว่า “ไม่มี”
ก้อ ขยายความว่า ประเทศที่เจริญแล้ว ที่ประสบความสำเร็จในการเก็บค่าลิขสิทธิ์นั้น เขาได้มีการจัดตั้ง “องค์กรที่จัดเก็บลิขสิทธิ์” โดยมากแล้ว ประเทศหนึ่งจะมีแค่องค์กรเดียว หรือประเทศใหญ่ๆ อย่างสหรัฐอเมริกา ก็จะเพียง 3 องค์กรเท่านั้น ซึ่งองค์กรที่เก็บค่าลิขสิทธิ์เหล่านี้คือองค์กรเอกชน ที่ได้รับการคุ้มครองและควบคุมการเก็บโดยภาครัฐ โดยมี “บรรษัทภิบาล”

“คุณรู้ไหมว่าประเทศไทย มีองค์กรที่จัดเก็บลิขสิทธิ์กี่องค์กร...?”

...

ก้อยิงคำถาม ถามผู้เขียน ก่อนจะเฉลยว่า มีมากกว่า 40 องค์กร ซึ่งเป็นประเทศเดียวในโลกที่เป็นแบบนี้ มันจึงไม่มีมาตรฐานในการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์

ฉะนั้น ถามผมว่า เรตการเก็บลิขสิทธิ์ เป็นอย่างไร เราก็ตอบได้ในส่วนของ MCT เท่านั้น เราไม่ได้บอกว่าเราดีที่สุด แต่เราเป็นองค์กรลูกของ SESAK ซึ่งเป็นองค์กรนานาชาติ และคอยทำหน้าที่ให้คำแนะนำในการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ กับองค์กรต่างๆ ทั่วโลกมากกว่า 100 องค์กร โดยมีกฎกติกามารยาทที่ชัดเจน ว่าจะบริหารจัดการอย่างไร

สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะเราไม่สามารถทำตามใจตัวเองได้ ต้องทำตามกฎ SESAK ซึ่งเป็นองค์กรนานาชาติ เหมือนกับ MCT มีมาตรฐาน ISO โดยมีที่มาที่ไปของราคาในการเก็บค่าลิขสิทธิ์

ประเภท การเก็บค่าลิขสิทธิ์ ที่ได้มาตรฐาน

การเก็บค่าลิขสิทธิ์ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

1. การเก็บค่าลิขสิทธิ์แบบดิจิทัล หมายถึงการเก็บในแพลตฟอร์มดิจิทัลทั่วไป
2. เก็บค่าลิขสิทธิ์ทั่วไป เช่น การนำเพลงไปร้อง หรือนำเพลงไปเปิดในสถานที่ต่างๆ

...

ทั้ง 2 รูปแบบมีเรตในการจัดเก็บที่ชัดเจน รวมไปถึงค่า “ลิขสิทธิ์ดนตรีกรรม” ซึ่งก็มีการแบ่งประเภทหลักออกเป็น 3 ประเภท คือ

1. สิทธิในการเผยแพร่ต่อสาธารณชน (Communication to the Public / Public Performing Right)

หากเป็นการเผยแพรต่อสาธารณชนโดยการเปิดเพลง (เช่น ไฟล์ดิจิทัล ซีดี ดีวีดี) ผู้ใช้งานจะต้องขออนุญาตทั้งเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานสิ่งบันทึกเสียง (ไฟล์หรือแผ่นดังกล่าว) และงานดนตรีกรรม (ทำนอง มีหรือไม่มีคำร้อง) แต่หากเป็นการนำเพลงนั้นๆ ไปเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยการขับร้อง (เช่น การ cover เพลง หรือ ร้องสดในงาน event/concert โดยไม่มีการเปิด backing track) ผู้ใช้งานจะต้องขออนุญาตเพียงเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมเท่านั้น

2. สิทธิในการทำซ้ำ (Mechanical Right/ Reproduction Right)

สิทธิในการทำซ้ำนั้นมีทั้งในรูปแบบเป็นวัสดุจับต้องได้ (Physical) เช่น การนำไปแบบแผ่นซีดี หรือในรูปแบบของไฟล์ (digital) ซึ่งการทำซ้ำจะเกิดขึ้นในระบบคอมพิวเตอร์ จะเห็นได้ว่าการใช้งานในช่องทางดิจิทัลจะต้องมีการทำซ้ำเสมอ การเผยแพร่ต่อสาธารณชนในช่องทางนี้จึงต้องได้รับสิทธิในการทำซ้ำเพื่อจุดประสงค์ในการเผยแพร่ควบคู่กันไปด้วย

3. สิทธิทำซ้ำประกอบภาพเคลื่อนไหว (Synchronization Right)

หรือเรียกสั้นๆว่า สิทธิ sync ซึ่งเป็นการทำซ้ำในรูปแบบหนึ่ง ที่ต้องชำระค่าสิทธิต่างหากจากการทำซ้ำโดยทั่วไป การทำซ้ำประเภทนี้คือการนำงานดนตรีกรรมไปทำซ้ำประกอบภาพเคลื่อนไหว ยกตัวอย่าง เช่น ในงานโฆษณา โดยการขออนุญาตประเภทนี้จะมีอัตราค่าสิทธิที่แตกต่างกันในเจ้าของลิขสิทธิ์แต่ละราย และแต่ละประเภทของการใช้งาน ซึ่งจะต้องมีการสอบถามกับทางเจ้าของสิทธิเป็นกรณีๆ ไป

เรตการเก็บค่าลิขสิทธิ์ ควรมีมาตรฐานเดียว ใช้กันทั่วประเทศ

ก้อ ณฐพล ย้ำว่า การคิดเรตแต่ละประเภท ต้องมีความชัดเจนและเป็นธรรม ไม่ใช่ว่าการร่างขึ้นมาเพื่อ “ไม่ให้ใครใช้” เช่น ราคาสูงเกินไป ซึ่งกฎเกณฑ์ที่นำมาใช้ ก็นำมาจากบริษัทแม่ มาเป็นต้นแบบในการใช้ ซึ่งแต่ละประเทศอาจจะมีเรตที่แตกต่างกันบ้าง เพราะรากฐานของแต่ละประเทศต่างกัน

ส่วนตัวอย่างการจัดเก็บ เราไม่ได้ดูว่าเพลงไหนดัง หรือ ไม่ดัง “เรตราคา” การจัดเก็บทุกเพลงเท่ากันหมด ยกเว้น การนำมาใช้กับการ Sync Right คือ นำไปประกอบภาพ ทางบริษัทที่เป็น Publisher สามารถเรียกเรตราคาเพลงดังได้มากกว่า แต่ในแง่อื่นๆ เช่น สิทธิดิจิทัล หรือไปปล่อยใน spotify เพลงดังแค่ไหน ก็ได้ค่าลิขสิทธิ์เท่ากับเพลงที่ไม่ดัง

ปัญหาเพลง ลูกทุ่งในไทย กับการ “ขายขาด”

สำหรับปัญหา “ลิขสิทธิ์เพลง” ในวงการเพลงลูกทุ่ง “ก้อ” สะท้อนว่า ยังรู้สึกเป็นห่วง โดยเฉพาะเรื่องการขายขาดเพลง...

“ต้องยอมรับว่า แต่ละวงการก็มีความรู้ความเข้าใจแตกต่างกัน สำหรับปัญหาใหญ่ในวงการลูกทุ่ง คือ การซื้อขาดเพลง จากนักแต่งเพลง หมายถึง นักแต่งเพลงแต่งเพลงได้ ก็ขายขาดให้ค่ายเพลง ซึ่งจบแล้วจบเลย การทำแบบนี้ นักแต่งเพลงจะหมดสิทธิในการหารายได้จากเพลงของตัวเอง ตรงนี้แก้ได้ด้วยการให้ความรู้ ความเข้าใจกับนักแต่งเพลง ว่า “ไม่ควรขายขาด” ให้ค่ายเพลง ซึ่งความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ยังมีไม่มาก”

ที่ผ่านมา พยายามสื่อสารออกไป แต่นักแต่งเพลงบางคนก็เลือกที่จะขายขาด เพราะเขาอาจจะอยากได้เงินก้อนไปใช้จ่ายในชีวิต ซึ่งเรื่องนี้อาจจะเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นมานานแล้ว

ก้อ ณฐพล ย้ำว่า ส่วนตัวรู้สึกเข้าใจถึงความจำเป็น ดังนั้นสิ่งที่ทำได้คือ การให้ความรู้ความเข้าใจ ว่าเขาจะได้สิทธิประโยชน์อย่างไร ซึ่งหากเพลงนั้นไม่ใช่เพลงดังก็ไม่มีปัญหา แต่เมื่อไหร่ที่เพลงนั้นดังขึ้นมา มีคนดูเป็นร้อยล้านวิว แบบนี้เขาจะได้ส่วนแบ่งเป็นเงินหลายแสนบาท

“ในต่างประเทศมีแคมเปญ Your music, Your Future หมายถึง เพลงของคุณ คือ อนาคต ของคุณ ฉะนั้น คุณต้องคิดให้ดีว่าควรจะทำอะไรกับเพลงของคุณ ถ้าขายขาด เท่ากับตัดอนาคตเพลงของคุณไปแล้ว แต่ถ้าคุณยังมีลิขสิทธิ์ ส่วนแบ่งรายได้ เพลงของคุณอาจจะเลี้ยงคุณไปยังตลอดชีวิต ตราบใดที่ยังมีคนฟัง มีคนนำไปใช้ ตราบนั้นก็ยังได้เงินจัดเก็บจากค่าลิขสิทธิ์ รายได้ต่างๆ เหล่านี้ ก็จะได้ไปถึงนักแต่งเพลง บวกกับ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์เพลงของประเทศไทย คุ้มครองลิขสิทธิ์เพลง ไปอีก 50 ปี หลังศิลปินคนนั้นเสียชีวิต หมายความว่า ลูกหลานของท่านยังได้เงินจากค่าลิขสิทธิ์ไปอีก 50 ปี

สิ่งนี้ เหล่าศิลปินคิดเห็นอย่างไร ยังอยากจะขายขาดเพลงตัวเองหรือไม่ ซึ่งการตัดสินใจ เราก็ไม่สามารถบังคับใครได้...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

กราฟิก : Varanya.p 

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ