วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 หลังการละสังขารของท่านพุทธทาสภิกขุ (8 กรกฎาคม 2536) ที่สวนโมกขพลาราม จ.สุราษฎร์ธานี สิบสองวัน!

ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการเสวนาโต๊ะกลม จัดโดย มูลนิธิโกมลคีมทอง ร่วมกับ สภาอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และแพทยสภา เรื่อง "เจตนารมณ์แห่งการตาย : สิทธิและจริยธรรม"

ผู้เข้าร่วมการเสวนาโต๊ะกลม มีทั้งหมด 9 คน คือ (1) พระสันติกโร (2) ดร.อุทัย ดุลยเกษม (3) นพ.ประเวศ วสี (4) นพ.วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ (5) นพ.ชูชัย ศุภวงษ์ (6) ดร.มาร์ค ตามไท (7) ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล (8) ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ (9) พรชัย วีระณรงค์

ที่มาของการเสวนาโต๊ะกลม คือ กรณีการถกเถียงระหว่าง บรรดาลูกศิษย์ท่านพุทธทาสภิกขุ ที่เป็นแพทย์ และที่ไม่เป็นแพทย์ เกี่ยวกับการรักษาอาการอาพาธของท่านพุทธทาสภิกขุว่า ควรจะเป็นที่สวนโมกขพลาราม หรือที่ รพ.ศิริราช ในกรุงเทพฯ

ผู้เขียนรู้สึกโชคดีที่ได้เข้าร่วมการเสวนาโต๊ะกลม ได้เรียนรู้จากผู้รู้ในด้านศาสนา วิทยาศาสตร์ ปรัชญาและกฎหมาย ในประเด็นอันหลากหลาย ซับซ้อน เกี่ยวกับ "ความตาย"

จำได้ว่า ในการเสวนาโต๊ะกลมวันนั้น ผู้เขียน "ถูกเรียก" (โดยไม่มีการนัดหมายล่วงหน้า) ให้เป็นผู้เสนอความคิดเห็นเป็นคนแรก กับคำถามตรงๆ ว่า "ได้เตรียมตัวคิดเรื่อง ความตาย (ของผู้เขียนเอง) ไว้อย่างไร หรือไม่ ?" 

ผู้เขียนจำคำตอบของผู้เขียนได้อย่างดีถึงวันนี้ว่า "คิด! คือ เตรียมตัวตาย!"

...

สำหรับผู้เขียน การเตรียมตัวตาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ของมหาบุรุษแห่งโลกหลายคน เป็น "ความยิ่งใหญ่" ที่ "ต้องสรรเสริญ" เพราะมิใช่เพื่อตนเอง

แต่เพื่อ คนทั้งโลก!

ผู้เขียนนึกถึงมหาบุรุษ ดังเช่น องค์พระเยซูคริสต์ ศาสดาแห่งศาสนาคริสต์ ที่ทรงทราบล่วงหน้าถึงชะตากรรมที่กำลังจะเกิดขึ้นกับพระองค์

และก็เตรียมตัวรับชะตากรรมนั้น ในฐานะ บุตรแห่งพระเจ้า กับการถูกตรึงบนไม้กางเขน เพื่อ "ไถ่บาป" แก่คนบาปทั้งโลก ด้วยคำกล่าวก่อนสิ้นลม ว่า ...

"พระบิดา โปรดอภัยแก่พวกเขาด้วย เพราะพวกเขาไม่รู้ตัวว่า พวกเขาได้ทำอะไร!"

ผู้เขียนนึกถึง องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศาสดาแห่งศาสนาพุทธ ที่ทรงเตรียมพระองค์เสด็จสู่ปรินิพพาน ในวันเพ็ญเดือน 6 เมื่อ 2565 ปีก่อนอย่างสุดสงบ

เพราะได้ทรงมอบสิ่งที่ได้ "ตรัสรู้" คือ อริยสัจ 4 ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และ มรรค อย่างสมบูรณ์ แก่ผู้ใฝ่ชีวิตสันติอย่างแท้จริง เป็นเวลา 45 ปีหลังตรัสรู้

ผู้เขียน นึกถึง มหาตมะ คานธี มหาบุรุษผู้มิใช่ศาสดาของศาสนาใดๆ แต่สมควรจะได้รับการกล่าวถึง เป็น "มหาบุรุษ" คนหนึ่งของโลกด้วย

ที่ (มหาตมะ คานธี) เตรียมตัวพร้อมสละชีพ เพื่อ "สันติ" ระหว่างชาวฮินดู กับมุสลิมอินเดีย

อย่างแน่นอน ผู้เขียนเป็นเพียงคนธรรมดาคนหนึ่ง แต่คิดว่า "โชคดี" ที่ได้คิดเรื่องการเตรียมตัวตายมานานพอสมควร ก่อนวันเสวนาโต๊ะกลม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับศาสนา และที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์

และก็ได้ตกผลึกในระดับหนึ่ง ก่อนวันเสวนาโต๊ะกลม

หลังการเสวนาโต๊ะกลม ผู้เขียนก็ยิ่ง "คิด" เรื่องการเตรียมตัวตายมากยิ่งขึ้น และตกผลึกเป็นหัวข้อแรกสุดของส่วนที่สามของสารคดีชุด "มหัศจรรย์แห่งชีวิต" ที่เป็นสารคดี เขียนเป็นตอนๆ ในคอลัมน์ "คลื่นวิทย์ – เทคโน" นิตยสารสารคดี ยาวที่สุดของผู้เขียน ในนิตยสาร หรือวารสาร คือประมาณแปดปี ตั้งแต่ตอนแรกในสารคดีฉบับเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2539 และรวมตีพิมพ์เป็นเล่ม โดยสำนักพิมพ์สารคดีครั้งแรกเดือนมีนาคม พ.ศ. 2547

ในสารคดี "มหัศจรรย์แห่งชีวิต" ผู้เขียนแบ่งชีวิตมนุษย์เป็นสามช่วง คือ (1) ช่วงการกำเนิดมนุษย์ (2) ช่วงตั้งแต่วัยทารกถึงวันเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว และ (3) ช่วงวัยเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวถึงวันสุดท้ายของชีวิต

"ก้าวแรกสำคัญที่สุด คือ การเตรียมตัวตาย" เป็นหัวข้อแรกของ "มหัศจรรย์แห่งชีวิต" ช่วงที่สาม

มาวันนี้ ในวันที่ผู้เขียนยอมรับแก่ใจดีว่า กำลังอยู่ในระยะสุดท้ายจริงๆ ของชีวิตแล้ว ผู้เขียนขอเรียนกับท่านผู้อ่านว่า "การเตรียมตัวตาย" เป็นประเด็นเรื่องหนึ่งของชีวิตที่อยู่กับใจ (ความคิด) ของผู้เขียนมากที่สุด

แต่อยู่กับใจในลักษณะของ "การทบทวน" และการแบ่งปันกับเพื่อนร่วมโลกทุกคนที่ "ใฝ่ชีวิตสันติ" ดังเช่นวันนี้

...

ความตาย เป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต ที่ไม่มีใครหนีพ้นได้

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สามารถช่วยยืดยาวชีวิตมนุษย์ได้อย่างมาก ด้วยวิธีการต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บที่คุกคามชีวิต ด้วยวิธีการผ่าตัด-เปลี่ยน-ปลูกถ่าย อวัยวะจากมนุษย์ด้วยกันเอง และจากอวัยวะเทียม และที่สุดโต่ง คือ การผ่าตัดเปลี่ยนหัวสลับร่าง ระหว่างคนร่างกายพิการ กับที่เสียชีวิตด้วยเหตุบางประการ ที่ร่างกายยังสมบูรณ์อยู่

แต่ในที่สุด ความจริงก็คือความจริง ว่า ไม่มีใครหนีความตายได้

และเมื่อความตายใกล้จะมาถึง สิ่งจำเป็นแรกสุดสองเรื่อง (หรือจะรวมเป็นเรื่องเดียวกันก็ได้) ที่จะต้องทำกัน สำหรับชาวพุทธ คือ การเตรียมโลงศพ และการจองวัด เพื่อเตรียมพิธีส่งวิญญาณตามประเพณี

แต่สำหรับเรื่อง "การเตรียมตัวตาย" ของเราวันนี้ ผู้เขียนรีบเรียนท่านผู้อ่านในทันทีว่า มิใช่เรื่องของการเตรียมหาโลงศพ และการจองวัด แต่อย่างใด

หากเป็นการ "เตรียมตัว-เตรียมใจ" เพื่อรับความตาย ได้อย่างสงบและสันติ

อย่างไร ?

อย่างตรงๆ ก็คือ ในช่วงระยะเวลาสุดท้าย ที่ยังมีลมหายใจอยู่ ก็สามารถนอนรอเวลาสุดท้ายแห่งชีวิตจริงๆ อย่างสงบ อย่างไม่กระวนกระวาย อย่างไม่กลัวตาย

ผู้เขียนเชื่อว่า คนจำนวนไม่น้อย ช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต จะเป็นช่วงเวลาแห่งความทุกข์ทรมานอย่างที่สุด เพราะความกลัวตาย

หรืออย่างตรงที่สุด กลัวการตกนรก จากบาปจากความทุกข์ ที่ตนได้กระทำต่อคนอื่น

บางคนอาจจะไม่อยากหลับตา ในช่วงเวลาใกล้วาระสุดท้ายของชีวิต เพราะกลัวจะเห็นแต่เลือด จากความชั่วร้ายที่เกิดจากตน เป็นต้นเหตุ

...

การเตรียมตัวตาย จะเกิดขึ้นได้อย่างไร?

ที่ชัดเจน การเตรียมตัวตายที่ดี เป็นสิ่งที่มิได้เกิดขึ้นอย่างง่ายๆ

เพราะถ้า "ง่าย" ผู้เขียนก็มั่นใจที่จะกล่าวได้ว่า "โลกจะน่าอยู่ น่าอภิรมย์ กว่าที่เป็นอยู่อย่างมาก!"

ทำไมหรือ ?

ก็เพราะว่า การเตรียมตัวตายที่ดี เป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้น มิใช่เฉพาะในช่วงเวลาของวาระสุดท้ายแห่งลมหายใจเท่านั้น

หากจะต้องเกิดขึ้น "ก่อน" ช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตดังกล่าว และยิ่งเกิดขึ้นก่อนช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตดังกล่าวนั้น ยิ่ง "นาน" หรือ "ก่อน" แค่ไหน ก็ยิ่งดี!

นั่นคือ ยิ่งมีคนที่เตรียมตัวตาย "เร็ว" เท่าใด (ตั้งแต่อายุยังไม่มากเท่าใด) ก็จะมีผลทำให้โลก "น่าอยู่" มากขึ้นเท่านั้น

เพราะอะไร ?

ก็เพราะว่า การเตรียมตัวตาย อย่างง่ายๆ ตรงๆ ก็คือ การดำรงชีวิตอย่างเป็นมงคล อย่างสุจริต อย่างมีคุณค่า หรือกล่าวในเชิงการเฝ้าระวัง ก็คือ ไม่ตกเป็นเหยื่อของความโลภ ความโกรธ และความหลง ให้ได้มากที่สุด

อย่างไม่ (น่า) ต้องสงสัย ผู้ได้ประโยชน์โดยตรงทันที กับการเตรียมตัวตาย ก็คือ เจ้าตัวผู้เตรียมตัวตายเอง ที่จะได้มีช่วงเวลาสุดท้ายแห่งชีวิต อย่างสันติ และสงบ

แต่อานิสงส์ ก็จะเกิดกับคนอื่นๆ ด้วย เพราะอย่างน้อย ก็ "ลด" จำนวนคนสร้างความทุกข์ ความเดือดร้อนแก่คนอื่น แก่สังคม อย่างน้อย "หนึ่งคน" และยิ่งมีคนเตรียมตัวตายมากเท่าใด ผลก็จะเกิดขึ้นในวงกว้างมากขึ้น ทำให้โลกน่าอภิรมย์มากขึ้น

...

การเตรียมตัวตาย ทำได้จริงหรือ ?

หรือว่า เป็นเรื่องที่ "อุดมคติ" อย่างสุดๆ ไม่มีเกิดขึ้นได้จริงๆ บนโลกแห่งความจริง

ผู้เขียนยอมรับว่า การเตรียมตัวตายอย่างสุดโต่ง หมายถึง การดำเนินชีวิตที่ปลอดจากความผิดพลาดทุกรูปแบบ เป็นสิ่งที่มีเฉพาะในโลกอุดมคติ

กล่าวง่ายๆ ไม่มีใครหรอกในโลก แม้แต่มหาบุรุษแห่งโลก ที่ไม่เคยทำ "สิ่งไม่ถูกต้อง" เลย ตลอดชีวิต

แต่หัวใจสำคัญที่สุด ของการเตรียมตัวตาย คือ ต้องพยายามอย่างที่สุด ที่จะดำเนินชีวิตอย่างดีที่สุด "มิใช่ เฉพาะเพื่อตนเอง" 

เมื่อเกิดความผิดพลาด ก็พยายามแก้ไข ถือ "ผิดเป็นครู" 

การเตรียมตัวตาย จะเกิดขึ้นได้อย่างไร?

นอกเหนือไปจากความพยายามในการที่จะดำรงชีวิต อย่างเป็นมงคล อย่างสุจริต อย่างมีคุณค่าแล้ว ถ้าจะถามหาคำตอบ อย่างเป็นรูปธรรมที่สุด ที่ผู้เขียนเห็น ก็คือ ต้องพยายาม สร้างตัวสร้างภูมิคุ้มกันชีวิต เพื่อที่จะได้มีชีวิตที่ "พึ่งตนเองได้" และ "ไม่ทิ้งปัญหา" ให้กับคนที่ยังอยู่ต่อไป

"พึ่งตนเองได้"  ก็คือ ต้องมีปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อการมีชีวิตอย่างมีคุณภาพ อย่างน้อย ต้องมีเงินเก็บสำรองที่จะ "ดูแลตนเอง" ได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น (ยกเว้นการพึ่งพาในเรื่องของ "น้ำใจ")

"ไม่ทิ้งปัญหา" ก็คือ ก่อนจะจากโลกไป ก็ไม่ทิ้งภาระ ดังเช่น หนี้สิน ให้ภรรยา สามี หรือลูก ที่จะต้อง "รับหนี้" แทนต่อไป

การไม่ทิ้งปัญหา นอกเหนือไปจากการ ไม่ทิ้งหนี้แล้ว ก็หมายถึง การไม่ทิ้งปัญหาที่อาจจะเกิดจากการแย่งชิงมรดก สำหรับคนมีฐานะ มีมรดก ด้วยการทำ "พินัยกรรม" ยกมรดกให้แก่ทายาท หรือสาธารณกุศล ให้เรียบร้อยก่อนจากโลกไป

แล้วก็ยังมีเรื่องของสุขภาพ ที่การเตรียมตัวตาย หมายถึง การดูแลสุขภาพของตนเอง ให้ดีที่สุดด้วย หลีกเลี่ยงการนำยาพิษเข้าสู่ร่างกาย (สุรา, บุหรี่, สารเสพติด ฯลฯ) และจิตใจ (เจ้าอารมณ์, หงุดหงิด, มองโลกเห็นแต่สีดำ ฯลฯ) เพื่อจะได้มีสุขภาพดีที่สุด ที่จะเป็นไปได้ ในช่วงสุดท้ายของชีวิต และเป็นภาระแก่คนอื่นน้อยที่สุด

การเตรียมตัวตาย จึงเป็นเรื่องที่ต้องใช้ เวลา เพื่อสร้างฐานะ สร้างปัจจัยจำเป็นต่อการดำรงชีวิต และสั่งสมความคิดพฤติกรรม จนกระทั่งเมื่อถึงเวลาแห่งลมหายใจสุดท้ายที่ใกล้จะมาถึงจริงๆ

สำหรับผู้เขียน การเตรียมตัวตาย เกิดขึ้นอย่างไม่รู้ตัว อย่างช้าๆ แต่ก็คิดว่า ยังโชคดีที่เกิดขึ้น เมื่อยังไม่สายเกินไป

แล้วท่านผู้อ่านล่ะครับ คิดเรื่องการ เตรียมตัวตายของท่านเอง อย่างไร ?