หลังซีรีส์เกาหลี "อูยองอูทนายอัจฉริยะ" (Extraordinary Attorney Woo) ก้าวขึ้นติดอันดับ 1 ใน 10 ซีรีส์ที่มีคนดูมากที่สุดของ Netfliex ที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ หลังจากเริ่มออนแอร์ตอนแรกไปเมื่อวันที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา ประเด็นที่มีการพูดถึงในวงกว้างตามมาหลังจาก ทนายอูยองอู ซึ่งรับบทโดย นักแสดงสาว "พักอึนบิน" (Park Eun-bin) กลายเป็นที่รู้จักและรักใคร่ของใครหลายๆ คน คือ การเป็น “ออทิซึม” (Autism Spectrum Disorder) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสมอง จนทำให้มีการแสดงออกเป็นพฤติกรรมที่ต่างไปจากเด็กวัยเดียวกัน ซึ่งโดยมากมีพัฒนาการที่ล่าช้าหรือผิดปกติทางด้านสังคม ภาษา รวมถึงปัญหาพฤติกรรม นั้น สามารถกางกั้นการประกอบอาชีพเป็นทนายได้ในโลกของความเป็นจริงได้หรือไม่
...
วันนี้ “เรา” จึงอยากให้ “คุณ” ไปทำความรู้จักกับ ทนายสาวที่ประสบปัญหาออทิซึม แต่กลับสามารถเรียนจบกฎหมายและผ่านการสอบเนติบัณฑิต จนประกอบอาชีพเป็น ทนายความได้สำเร็จ โดย “ทนายอูยองอู” ในโลกของความเป็นจริงนี้มีชื่อว่า “ฮาเลย์ มอส” (Haley Moss)
ฮาเลย์ มอส คือใคร? :
หญิงสาววัย 27 ปี (เกิด 31 ก.ค.95) ชาวสหรัฐอเมริกา โดยจากการให้สัมภาษณ์กับสื่อของเกาหลีใต้ เธอยอมรับว่า ตอนอายุได้เพียง 3 ขวบ เคยถูกแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นออทิซึม ซึ่งอาจส่งผลให้ไม่สามารถพูดสื่อสารกับใครได้ และในกรณีที่โชคดีอาจเรียนได้สูงสุดเพียงระดับไฮสคูลเท่านั้น
อย่างไรก็ดีในอีก 10 ต่อมา “ฮาเลย์ มอส” ได้พิสูจน์ตัวเองว่าไม่ได้ยอมจำนนต่อการวินิจฉัยดังกล่าว หลังเธอสามารถเขียนหนังสือคู่มือการเข้าศึกษาในระดับมัธยมต้นสำหรับเด็กนักเรียนออทิซึมได้สำเร็จ รวมถึงยังได้เข้าร่วมอภิปรายบนเวที The Autism Society of America Conference ได้อีกด้วย
หลังจากนั้นเมื่อสามารถคว้าปริญญาตรี หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาจิตวิทยา และ Arts in Criminology จาก มหาวิทยาลัยฟลอริดา ได้สำเร็จแล้ว สาวน้อยคนนี้ ยังได้ศึกษาต่อในหลักสูตร Juris Doctor หรือ JD ซึ่งเป็นหลักสูตรสำหรับการศึกษากฎหมายของสหรัฐอเมริกาขั้นแรกซึ่งสามารถนำไปใช้สำหรับประกอบอาชีพเป็นทนายความ ที่ University of Miami School of Law จนสำเร็จการศึกษา และเป็นที่รู้จักในวงกว้างในฐานะทนายความฝึกหัดคนแรกที่เป็นออทิซึมของรัฐฟลอริดาในปี 2019
ทนายความออทิซึม :
“ฮาเลย์ มอส” ยอมรับกับสื่อเกาหลีใต้ว่า หลังจากได้ดูซีรีส์ Extraordinary Attorney Woo เธอคิดว่าในโลกของความเป็นจริง ทนายความที่เป็นออทิซึมน่าจะยังมีอีกหลายคน เพียงแต่เธอเป็นทนายความที่กล้าออกมาเปิดเผยต่อสาธารณชนว่าเป็นออทิซึมเท่านั้น
“หลายคนที่เป็นออทิซึม หวาดกลัวที่จะเปิดเผยตัวเอง เนื่องจากสังคมมีทัศนคติในเชิงลบต่อเรื่องนี้ มันจึงทำให้พวกเขาเหล่านั้นไม่ต้องการถูกตัดสินว่ามีความแปลกแยกไปจากสังคม”
...
สิ่งที่ทนายอูยองอูตัวจริงต้องเผชิญ :
ความสอดคล้องที่เกิดขึ้นในซีรีส์กับโลกของความเป็นจริงที่ “ฮาเลย์ มอส” ต้องเคยเผชิญในฐานะทนายคือ ผู้คนมักให้สนใจที่เธอเป็นออทิซึม มากกว่าข้อเท็จจริงที่ว่าเธอสำเร็จการศึกษาทางด้านกฎหมาย
“บางคนที่มีลูกเป็นออทิสติกมักจะปฏิบัติกับฉันราวกับฉันเป็นเพียงเด็กตัวเล็กๆ มากกว่าที่จะเป็นเพื่อนร่วมงานคนหนึ่ง ถึงแม้ว่าฉันจะสำเร็จการศึกษาทางด้านกฎหมายและจบเนติบัณฑิตมาเหมือนๆกัน รวมถึงยังมีคุณสมบัติที่จะประกอบอาชีพนี้ได้ ด้วยเหตุนี้มันจึงทำให้ฉันรู้สึกว่า ต้องพิสูจน์ตัวเองให้มากขึ้นเพื่อให้ได้รับความเคารพและโอกาสเช่นเดียวกับที่คนอื่นๆได้รับ”
อุปสรรคในการประกอบอาชีพทนายความ :
“ฮาเลย์ มอส” ยอมรับว่า เธอมีความอ่อนไหวต่อเสียงที่ดังมากเกินไป (Overload) จนกระทั่งต้องพึ่งพาหูฟังเช่นเดียวกับทนายอูยองอูในซีรีส์ รวมถึงยังมักมีปัญหาเรื่องกระบวนการวิเคราะห์แยกแยะเรื่องการจัดลำดับความสำคัญของงาน ซึ่งอาจจะเป็นเพราะประเด็นนี้ เธอจึงอาจจะยังไม่ได้รับความไว้วางใจมากนักจากเพื่อนร่วมงานบางคนในฐานะทนายความ
“ฉันมักอ่อนไหวกับเสียงโดยเฉพาะเสียงที่ดังมากๆ เช่น เสียงกรีดร้องของเด็กเล็กซึ่งมักทำให้ฉันเกิดความหวาดวิตกกังวล จนกระทั่งบางครั้งรู้สึกว่าร่างกายกำลังสั่นเทาเพื่อต่อสู้กับเสียงรบกวนที่เกิดขึ้น มันจึงทำให้ฉันต้องพูดกับตัวเองอยู่เสมอๆ เช่นว่า ต้องออกไปจากที่นี่ หรือ ฉันต้องพยายามไปหาที่เงียบๆ อยู่เสมอๆ ด้วยเหตุนี้ฉันจึงมักต้องพึ่งหูฟังเพื่อตัดเสียงรบกวนเหล่านั้นออกไป”
กิจวัตรประจำวันรับประทานอาหารแบบเดิม :
...
นอกจากเรื่องการสวมหูฟังแล้ว อีกเรื่องที่ “ฮาเลย์ มอส” ยอมรับว่า มีการปฏิบัติเป็นกิจวัตรประจำวันเหมือนกับ ทนายอูยองอู ในซีรีส์ Extraordinary Attorney Woo คือ การรับประทานอาหารแบบเดิมซ้ำๆ กันทุกๆ วัน และการลุ่มหลงในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งในกรณีของทนายอูยองอูนั้น เป็นการตกหลุมรักเรื่องวาฬแบบถอนตัวไม่ขึ้น แต่กับกรณีของทนายสาวฟลอริดา มันเป็นความหลงใหลเรื่องการวาดภาพและงานศิลปะ
ออทิซึมที่นำไปสู่ความได้เปรียบในฐานะทนายความ :
“ฮาเลย์ มอส” ยอมรับว่า อาการออทิซึมบางอย่างของเธอ กลับสร้างความได้เปรียบสำหรับการทำงานในฐานะทนายความให้กับเธอได้เป็นอย่างมาก “โดยการจดจำข้อกฎหมายได้อย่างละเอียดลออ รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ เข้าด้วยกัน”
“ฉันมักได้รับมอบหมายให้ดูแลคดีที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าต้องใช้ทั้งข้อกฎหมายและข้อมูลประกอบจำนวนมหาศาล หากแต่การที่ฉันสามารถจดจำข้อกฎหมายได้อย่างละเอียดลออ รวมถึงมักจะรู้ถึงจุดที่จะเชื่อมโยงข้อมูลเหล่านั้นเข้าด้วยกัน จึงมักทำให้เกิดประโยชน์ในทางการต่อสู้คดีอยู่เสมอๆ ซึ่งประเด็นนี้ในบางครั้งฉันสามารถทำให้ลูกความเข้าใจเรื่องเงื่อนไขกฎหมายยากๆ ได้ง่ายขึ้นด้วย”
...
ออทิซึมไม่ใช่เรื่องที่ควรปกปิดหากต้องการแสวงหาการยอมรับ :
“การเปิดเผยตัวตนว่าเป็นออทิซึม สำหรับฉันมันคือการเปิดกว้าง และทำให้ฉันไม่จำเป็นต้องทำตัวให้เหมือนคนอื่นเพื่อให้ได้รับเพียงการยอมรับ เพราะฉันสามารถเป็นตัวของตัวเองได้ ฉะนั้น หาก เรา (ผู้ที่เป็นออทิซึม) พยายามปิดบังในเรื่องนี้ เราจะคาดหวังได้อย่างไรว่าจะได้รับการยอมรับอย่างแท้จริง” ทนายสาวอูยองอู ในโลกของความเป็นจริงกล่าวปิดท้ายอย่างทรงพลัง
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก : sathit chuephanngam
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :