Top Gun : Maverick กลายเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของนักแสดงแถวหน้าฮอลลีวูดอย่าง “ทอม ครูซ” (Tom Cruise) ที่ทำรายได้เกิน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หลัง Megastar ผู้มีวัยเหยียบย่างเข้าใกล้แซยิด ผ่านร้อนผ่านหนาวในวงการบันเทิงมาเนิ่นนานร่วม 40 ปีเข้าให้แล้ว

อะไรคือ "กุญแจสำคัญ" ที่ทำให้หนังภาคต่อที่แฟนๆ อดทนรอคอยการกลับมาของ "นักบินผู้มุทะลุดื้อดึงและชอบฉายเดี่ยว" มายาวนานถึง 36 ปี (Top Gun ภาคแรก ออกฉายในปี 1986) แถม โทนี สกอต (Tony Scott) ผู้กำกับผู้อยู่เบื้องหลังมุมกล้องเหวี่ยงซ้ายเหวี่ยงขวาไปมาในห้องนักบินขับไล่ ที่ทำผู้เด็กผู้ชายในยุคปลาย 80 พากันอยากสวมแว่นเรย์แบน ไปสมัครเป็นทหารอากาศกันเป็นทิวแถว เกิดมาเสียชีวิตก่อนที่โปรเจกต์จะเริ่มต้น จนต้องหันไปพึ่งบริการของ ผู้กำกับหนุ่มอย่าง "โจเซฟ คาซินสกี้" (Joseph Kosinski) ผู้ที่เคยดูภาพยนตร์ Top Gun ภาคแรกตอนอายุได้เพียง 12 ปี!

...

กลับประสบความสำเร็จจนกลายเป็น ภาพยนตร์เรื่องที่ 50 ที่ทำรายได้เกินกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (แชมป์ทำเงินอันดับหนึ่งคือ Avartar 2,847 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) รวมถึงยังเป็น ภาพยนตร์เรื่องที่ 2 ในยุคโควิด-19 แพร่ระบาด ต่อจาก Spider-Man : No Way Home (1,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ที่ทำรายได้ทะลุ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทุนสร้าง Top Gun Maverick :

ภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้ทุนสร้างสูงถึง 170 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 6,046 ล้านบาท) ซึ่งถือว่าเป็นภาพยนตร์ที่ใช้ทุนสร้างสูงมากสำหรับฮอลลีวูดในยุคนี้ ทำให้หากเกิด “พลาดพลั้ง” ขึ้นมาย่อมแปลว่า นั่นคือหายนะครั้งใหญ่สำหรับ ค่ายตราดาวภูเขา บริษัทพาราเมาท์ พิกเจอร์ส (Paramount Pictures) อย่างแน่นอน นั่นเป็นเพราะทุนสร้างภาพยนตร์ฮอลลีวูดในยุคปัจจุบัน ค่าเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 65 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเรื่อง แต่หากเป็นหนังฟอร์มใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจำนวนเงินที่ว่านี้ยังไม่ครอบคลุมต้นทุนเรื่องการจัดจำหน่ายและการทำตลาด ซึ่งโดยมากจะอยู่ที่ประมาณ 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นอย่างน้อยด้วย

อ่านเพิ่มเติม :

ถอดรหัสความสำเร็จ Top Gun Maverick :

...

1. การกลับเข้าโรงภาพยนตร์ของกลุ่มผู้ใหญ่

จากผลสำรวจก่อนหน้านี้ พบว่ากลุ่มผู้ใหญ่ที่มีอายุเกินกว่า 35 ปีขึ้นไปส่วนใหญ่ ยังรู้สึกไม่ปลอดภัยที่จะกลับเข้าไปดูหนังในโรงภาพยนตร์เนื่องจากหวั่นเกรงเรื่องการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ซึ่งประเด็นนี้สอดคล้องกับกรณีสายลับดับเบิลโอเซเวนภาคล่าสุด No Time To Die ก่อนหน้านี้ ที่เหล่าด้อมรุ่นเก๋าเข้าโรงภาพยนตร์น้อยกว่าที่คาดไว้ จนกระทั่งทำให้รายได้หนังน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้พอสมควรถึงแม้จะลงทุนยื้อเวลาฉายเพื่อรอให้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในสหรัฐฯ ดีขึ้นก็ตาม

แต่สำหรับ Top Gun Maverick กลุ่มผู้ใหญ่ที่อายุเกินกว่า 35 ปี ต่างพร้อมใจแห่เข้าโรงภาพยนตร์โดยคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 55% ในขณะที่กลุ่มอายุเกินกว่า 45 ปี คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 38% และกลุ่มอายุเกินกว่า 55 ปี คิดเป็นสัดส่วนถึง 18% ซึ่งแตกต่างจากกรณี Spider-Man : No Way Home ที่กลุ่มวัยรุ่นเข้าไปอุดหนุนพ่อหนุ่ม “ทอม ฮอลแลนด์” (Tom Holland) เป็นส่วนใหญ่ หรือในกรณี ภาพยนตร์ Doctor Strange in the Multiverse of Madness นั้น มากกว่า 66% ที่ซื้อตั๋วเข้าชมเป็นกลุ่มอายุต่ำกว่า 34 ปี ทำให้ "ปรากฏการณ์ด้อมวัยเก๋าคืนโรง" อย่างขนานใหญ่แบบนี้ แทบไม่เคยปรากฏมาก่อนเลยก็ว่าได้ในยุคโควิด-19 ในสหรัฐฯ

...

2. ปากต่อปากและคะแนนรีวิวสุดเลิศหรู

คะแนนรีวิวใน Rotten Tomatoes พุ่งเร็วกว่าจรวดต่อต้านอากาศยาน SAM S-125 Neva/Pechora ที่แหวกอากาศจี้เข้าหาเครื่องบินรบ FA-18 Super Hornet ของ Captain Pete “Maverick” Mitchell เสียอีก โดยได้คะแนนไปอย่างท่วมท้นถึง 97% อีกทั้งเสียงชื่นชมแบบ “ปากต่อปาก” ยังส่งให้คลื่นมหาชนแห่เข้าไปดู “การปฏิบัติการที่เป็นไปไม่ได้ด้วยความเร็วเหนือเสียง” จนล้นหลาม

3. ยอดขายตั๋วอันแข็งแกร่งในตลาดสหรัฐฯ และแคนาดา

โดยสัปดาห์แรกที่ Top Gun Maverick เข้าฉายในสหรัฐฯ และแคนาดา (27-29 พ.ค. ศุกร์-อาทิตย์ และต่อด้วยวันจันทร์ที่ 30 พ.ค. ซึ่งเป็นวันหยุดเนื่องในวัน Memorial Day ซึ่งเป็นวันรำลึกถึงทหารผ่านศึกสหรัฐฯ) หนังทำรายได้รวมถึง 160 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ สัปดาห์ที่ 2 ทำรายได้รวม 135 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัปดาห์ที่ 3 ทำรายได้รวม 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัปดาห์ที่ 4 ทำรายได้รวม 71 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และแม้เข้าสู่สัปดาห์ที่ 5 ก็ยังสามารถทำรายได้รวมถึง 54 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทำให้เพียงเฉพาะในตลาดสหรัฐฯ และแคนาดา หนังทำเงินได้สูงถึง 520 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากระยะเวลาการฉาย 5 สัปดาห์ (สิ้นสุดวันที่ 27 มิ.ย.22) นับตั้งแต่เปิดตัว ซึ่งจากตัวเลขดังกล่าวจะเห็นได้ว่า รายได้ของหนังในแต่ละสัปดาห์ “ไม่มี” การตกลงอย่างฮวบฮาบโดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ซึ่งมักเป็นสัปดาห์ตัดสินว่า หนังจะสามารถทำเงินได้อย่างถล่มทลายใน Box office ได้หรือไม่?

...

4. กระแสการตอบรับในตลาดต่างประเทศ

ความพยายามหลีกเลี่ยงอย่างสุดความสามารถว่า “เป้าหมายในการปฏิบัติภารกิจที่เป็นไปไม่ได้ด้วยความเร็วเหนือเสียง” คือ ประเทศใด ถึงแม้ว่าโรงงานเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียม, เครื่องบิน SU-57 ที่เห็นได้อย่างชัดเจน ก็ยังอุตส่าห์เลี่ยงไปเรียกว่า เครื่องบินรบเจเนอเรชันที่ 5, รวมถึงการมีอยู่ของเครื่องบิน F-14 TOMCAT ที่นอกจากสหรัฐฯ แล้วก็มีเพียงประเทศเดียวที่มีอยู่ในครอบครอง (เรียกว่าชัดเจนมากว่าคือประเทศใด) เพื่อมุ่งหวัง “ลดแรงเสียดทานต่างๆ” ที่อาจเกิดขึ้นเมื่อเวลาออกไปฉายในตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะในยามที่โลกเต็มไปด้วยความขัดแย้งจากจุดเริ่มต้นในสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน (ถึงแม้จะพลาดไปบ้างกับอะไรๆ บนเสื้อแจ็กเก็ตนักบินของ “ทอม ครูซ” ที่ทำให้เกิดการตีความไปต่างๆ นานาก็ตาม)

และอาจจะเพราะการเลือกเดินทางสายกลาง รวมถึงการเดินทางไปร่วมโปรโมตหนังอย่างชนิดไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยของ ทอม ครูซ ไม่ว่าจะเป็นทั้ง ประเทศเม็กซิโก ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส อังกฤษ เกาหลีใต้ และสเปน จึงทำให้ Top Gun Maverick ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีเช่นกันในตลาดนอกสหรัฐฯ โดยสามารถทำเงินรวมได้สูงถึง 124 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการเปิดตัวใน 62 ประเทศทั่วโลก และสิ้นสุด วันที่ 27 มิ.ย. 22 หนังทำรายได้ในตลาดนอกสหรัฐฯ รวมกันแล้วถึง 486 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยเหตุนี้เมื่อรวมเข้ากับรายได้ในสหรัฐฯ Top Gun Maverick จึงทำเงินรวมไปแล้ว 1,010 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยรายได้ในสหรัฐฯ และแคนาดา คิดเป็น 52.4% ส่วนรายได้นอกสหรัฐฯ คิดเป็น 47.6%

ภาคต่อ Top Gun Maverick :

ในเมื่อทำเงินถล่มทลายขนาดนี้ การ Move on เพื่อสร้างภาคต่อย่อมไม่ใช่ “ปัญหา” หากแต่ตอนนี้ “ปัญหา” มันดันเกิดขึ้นเพราะ “ทายาทของ Ehud Yonay (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว)" นักเขียนผู้เป็นเจ้าของบทความ “Top Gun” ซึ่งเล่าเรื่องศูนย์ฝึกนักบินรบของกองทัพเรือสหรัฐฯ ซึ่งได้ถูกตีพิมพ์ในปี 1983 และในเวลาต่อมาถูกหยิบฉวยไปใช้สร้างภาพยนตร์ Top Gun ตั้งแต่ภาคแรก ได้ยื่นฟ้อง “บริษัทพาราเมาท์ พิกเจอร์ส” อีกครั้ง (ครั้งแรกชนะคดีจนสตูดิโอต้องยอมจ่ายเพื่อซื้อลิขสิทธิ์ไปแล้ว)

โดยอ้างว่าสตูดิโอ ไม่ได้เป็นผู้ถือลิขสิทธิ์ Top Gun อีกต่อไปแล้ว ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีสิทธิที่จะสร้างภาคต่อของภาพยนตร์เรื่องนี้อีกต่อไป เนื่องจากมาตรา 203 (Section 203) ของ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์สหรัฐฯ เจ้าของบทความสามารถยุติการโอนลิขสิทธิ์ได้หลังจากผ่านไป 35 ปี ด้วยเหตุนี้แม้ว่า บริษัทพาราเมาท์ จะได้รับสิทธิ์สำหรับ Top Gun ภาคแรกไปแล้ว แต่จะไม่มีสิทธิ์ในการสร้างภาคต่อ โดยในคำฟ้องต่อศาลแคลิฟอร์เนียของทายาท อ้างว่าได้มีการแจ้งต่อสตูดิโอไปแล้วว่า จะมีการยุติการโอนลิขสิทธิ์เพื่อให้ลิขสิทธิ์กลับคืนสู่พวกเขาในปี 2020 อย่างไรก็ดีทางสตูดิโอ “ปฏิเสธ” ข้อหาดังกล่าวและยืนยันว่าจะขอสู้คดี และด้วยปัญหาอีนุงตุงนังเรื่องลิขสิทธิ์คำว่า “Top Gun” ที่ว่านี้ จึงอาจทำให้ภาคต่อของหนังทำเงินพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เรื่องนี้ อาจต้องชะลอออกไประยะหนึ่งก่อน

*** หมายเหตุ Top Gun Maverick ซึ่งเริ่มขั้นตอนโปรดักชันมาตั้งแต่ปี 2018 แต่ปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้การถ่ายทำเกิดความล่าช้า อีกทั้งยังต้องเลื่อนการฉายในโรงภาพยนตร์ออกไปจนถึงปี 2022 ด้วย ***

บทส่งท้าย เก็บตกสถิติความสำเร็จของ ทอม ครูซ (Tom Cruise) :

Tom Cruise : อายุ 59 ปี

คาแรกเตอร์สร้างชื่อ :
1. Pete “Maverick” Mitchell จากภาพยนตร์ Top Gun
2. Ethan Hunt จากภาพยนตร์ Mission Impossible

ภาพยนตร์ที่รับบทนักแสดงนำ :
รวม 38 เรื่อง ทำรายได้รวมทั่วโลก 8,491 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

5 อันดับหนังทำเงินสูงสุดในฐานะนักแสดงนำ :
1. Top Gun : Maverick (2022) 1,010 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
2. Mission : Impossible Fallout (2018) 787 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
3. Mission : Impossible Ghost Protocol (2011) 694 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
4. Mission : Impossible Rogue Nation (2015) 688 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
5. War of the Worlds (2005) 606 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :