Before : ปี 2020 “เร็วๆนี้ เราจะนำเสนอหลักฐานจำนวนมากยิ่งกว่านี้ในสหรัฐอเมริกา” ทนายความของดาราสาวแอมเบอร์ เฮิร์ด (Amber Heard) กล่าวด้วยความมั่นอกมั่นใจ ภายหลังจาก Megastar อย่าง จอห์นนี เดปป์ (Johnny Depp) เป็นฝ่าย “พ่ายแพ้” ในคดีฟ้องหมิ่นประมาทหนังสือพิมพ์แท็บลอยด์อันแสนโด่งดังของอังกฤษ อย่าง เดอะซัน (The Sun) จากการที่กล่าวหาว่าเขาใช้ความรุนแรงกับอดีตภรรยา โดยมีเหตุผลสำคัญมาจากการที่ ศาลสหราชอาณาจักรเชื่อในหลักฐานจากบทความของหนังสือพิมพ์เดอะซัน ที่ว่า มีถึง 12 เหตุการณ์ จาก 14 เหตุการณ์ ที่สามารถเชื่อได้ว่า ข้อกล่าวหาใช้ความรุนแรงกับอดีตภรรยาเป็นเรื่องจริง
After : ปี 2022 “ขอบคุณคณะลูกขุนที่ทำให้ผมได้ชีวิตของผมกลับคืนมา” คณะลูกขุนศาลชั้นต้นในเขตปกครองแฟร์แฟกซ์ รัฐเวอร์จิเนีย ตัดสินให้ จอห์นนี เดปป์ เป็นฝ่ายชนะในคดีที่ฟ้องร้อง แอมเบอร์ เฮิร์ด ฐานสร้างความเสื่อมเสียแก่ตัวเขา ด้วยการเขียนบทความกล่าวหาว่ามีการใช้ความรุนแรงกับอดีตภรรยา แม้จะไม่มีการระบุชื่ออย่างเฉพาะเจาะจง ลงในหนังสือพิมพ์เดอะวอชิงตัน โพสต์ เมื่อปี 2018
...
ผลของการชนะคดีในครั้งนี้ ทำให้ กัปตันแจ็ค สแปร์โรว์ ได้รับเงินชดเชย 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (จากที่เรียกร้อง 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) บวกกับค่าเสียหายเชิงลงโทษ (Punitive Damages) อีก 350,000 ดอลลาร์สหรัฐ (จากที่เรียกร้อง 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ขณะที่ฝ่าย “เมร่า” จากจักรวาล DC ที่ฟ้องกลับและเรียกเงินค่าเสียหายถึง 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต้องเป็นฝ่าย “คว้าน้ำเหลว” ก่อนที่จะตัดสินใจยื่นอุทธรณ์คำตัดสิน พร้อมยอมรับว่า ไม่สามารถชดใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวได้
อะไรคือปัจจัยที่ทำให้ จอห์นนี เดปป์ พลิกกลับมาเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะใน 2 คดีที่ถูกกล่าวหาว่าใช้ความรุนแรงกับอดีตภรรยาเหมือนกัน และในบรรทัดถัดจากนี้ คือ ทัศนะของบรรดานักวิเคราะห์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายในต่างประเทศ
1. ความแตกต่างระหว่างศาลสหรัฐฯ และศาลสหราชอาณาจักร :
ศาลสหรัฐฯ : พิจารณาคดีโดยคณะลูกขุน
ศาลสหราชอาณาจักร : พิจารณาคดีโดยผู้พิพากษา
2. #justiceforjohnnydepp :
#justiceforjohnnydepp บนแพลตฟอร์ม TikTok มีคนคลิกเข้ามาดูรวมกันเกินกว่า 19,000 ล้านวิว!
3. DARVO = Deny , Attack , Reverse Victim and Offender :
DARVO คือ ปฏิกิริยาที่ผู้กระทำความผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้กระทำความผิดทางเพศ อาจแสดงออกมาเพื่อตอบสนองต่อการรับผิดชอบในพฤติกรรมของตัวเอง
โดยผู้กระทำความผิดอาจปฏิเสธพฤติกรรม และโจมตีบุคคลที่เผชิญหน้า รวมถึงสลับบทบาทของเหยื่อและผู้กระทำความผิด เพื่อให้ผู้กระทำความผิดรับบทบาทเป็นเหยื่อ และเปลี่ยนให้เหยื่อ หรือผู้แจ้งเบาะแส กลายเป็นผู้ถูกกล่าวหาแทน
ทั้งนี้ วิธีการที่จะมักถูกนำมาใช้ คือ สวมบทบาทเป็นผู้ถูกกล่าวหาด้วยข้อมูลเท็จ และโจมตีความน่าเชื่อของผู้กล่าวหา รวมถึงกล่าวโทษผู้กล่าวหาว่า เป็นผู้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหาที่เป็นเท็จ
และปัจจัยสำคัญทั้ง 3 ประการนี้เอง คือสิ่งที่บรรดานักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่า คือ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้คดีทำร้ายร่างกายอดีตภรรยาเหมือนกันจึงได้ผลลัพธ์ที่ “แตกต่าง”
...
กลยุทธ์ DARVO :
ในการพิจารณาคดีทั้งในสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา ทีมทนายของจอห์นนี เดปป์ ใช้กลยุทธ์เหมือนๆกัน คือ การใช้ข้อโต้แย้งว่า แอมเบอร์ เฮิร์ด กำลังโกหก และหาทางลดความน่าเชื่อถือของเธอ นอกจากนี้ยังพยายามหาทางกล่าวอ้างด้วยว่า นักแสดงสาวผู้นี้เป็นคู่ครองที่ไม่เหมาะสม จากนั้นจึงหาทางเปลี่ยนให้ จอห์นนี เดปป์ กลายเป็นเหยื่อ และ แอมเบอร์ เฮิร์ด กลายเป็นผู้กระทำความผิดแทน
ผู้พิพากษา คณะลูกขุน :
เนื่องจากการพิจารณาคดีในสหรัฐฯ กระทำต่อหน้าคณะลูกขุน นั่นจึงเป็นเหตุให้ทีมทนายของ จอห์นนี เดปป์ สามารถมุ่งโฟกัส (โจมตี) ไปที่ แอมเบอร์ เฮิร์ด ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์ที่ดีสำหรับคดีลักษณะเช่นนี้ แต่กลับกัน กลยุทธ์แบบนี้แทบจะใช้ไม่ได้ผลกับ การพิจารณาคดีของผู้พิพากษาตามกระบวนการของศาลสหราชอาณาจักร ซึ่งมีประสบการณ์สำหรับการรับมือกับกลยุทธ์แบบนี้มาเป็นอย่างดีมากกว่าคณะลูกขุน ซึ่งมักอ่อนไหวไปกับการถูกโน้มน้าว
นอกจากนี้ ผู้พิพากษาจะมุ่งโฟกัสไปที่หลักฐานที่สามารถชี้ชัดได้ว่า เกิดการทำร้ายร่างกายจริงหรือไม่เป็นหลัก ในขณะที่ผู้คนทั่วไปมักมีภาพจำในใจว่าเหยื่อการถูกล่วงละเมิด น่าจะมีหน้าตาและพฤติกรรมอย่างไร ซึ่งโดยมากแล้วเป็นที่ทราบกันดีว่าทัศนะแบบนี้มักจะไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริง
...
โดยสิ่งที่เห็นได้ชัดสำหรับประเด็นนี้ คือ ในการไต่สวนครั้งล่าสุดมีการแสดงหลักฐานที่เพิ่มมากขึ้นเรื่องความน่าเชื่อถือของ แอมเบอร์ เฮิร์ด จากฝ่ายทีมทนายของ จอห์นนี เดปป์ ทั้งๆ ที่สิ่งเหล่านี้ได้รับความสำคัญเพียงเล็กน้อยตามกระบวนการพิจารณาของผู้พิพากษา ศาลสหราชอาณาจักร
การถ่ายทอดสด และพลังของโซเชียลมีเดีย :
การปล่อยให้มีการถ่ายทอดสดการไต่สวนคดีซึ่งเต็มไปด้วยความดราม่า และกินระยะเวลายาวนานถึง 6 สัปดาห์ โดยแต่ละฝ่ายใช้เวลาถึง 61 ชั่วโมง ของสถานีโทรทัศน์ Court TV ซึ่งเผยแพร่ทั้งทางโทรทัศน์และระบบสตรีมมิงแบบเรียลไทม์ ทำให้คดีนี้แทบไม่ต่างอะไรกับการถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬา และเป็นผลให้กองเชียร์แต่ละฝ่ายต่างออกมาใช้โซเชียลมีเดียเพื่อโหมกระหน่ำการสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะเหล่าแฟนคลับของ จอห์นนี เดปป์ จนกระทั่งทำให้ #justiceforjohnnydepp บนแพลตฟอร์ม TikTok มีคนคลิกเข้ามาดูรวมกันเกินกว่า 19,000 ล้านวิว
มันจึงนำมาสู่ “คำถาม” สำหรับเรื่องนี้ว่า แม้ศาลจะมีคำสั่งห้ามไม่ให้คณะลูกขุนในคดีนี้ อ่านหรือดูอะไรที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้บนสื่อสังคมออนไลน์ แต่การที่ไม่มีการจำกัดบริเวณคณะลูกขุน และยังอนุญาตให้เก็บรักษาโทรศัพท์มือถือของตัวเองเอาไว้ได้นั้น มันเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจาก #justiceforjohnnydepp จะไม่มีผลใดๆ ต่อ “คณะลูกขุน” เลยแม้แต่น้อย
...
ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหลังจากนี้ :
ตามความเห็นของบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย เชื่อว่า กระบวนการขับเคลื่อนเพื่อปกป้องสิทธิผู้ถูกล่วงละเมิด ผ่าน #MeToo อาจหยุดชะงักลง เนื่องจากบรรดาผู้ที่ตกเป็นเหยื่ออาจเห็น “แรงกระแทก” บนโลกโซเชียลมีเดียที่โหมกระหน่ำเข้าใส่ แอมเบอร์ เฮิร์ด แบบไม่ลืมหูลืมตา ไม่ว่าจะเป็นทั้ง Meme, การแสดงออกถึงความเกลียดชัง, ตรรกะที่บิดเบี้ยวที่มาในรูปแบบสารพัดทฤษฎีต่างๆ นานาที่เกินกว่าจะสามารถจินตนาการได้ถึง เพื่อหวังจะแก้ต่างคำให้การของนักแสดงสาว นั้นอาจทำบรรดาเหยื่อเกิดอาการลังเลและไม่กล้าที่จะออกมาเรียกร้องสิทธิของตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคู่กรณีเกิดเป็นคนดังที่มีกลุ่มผู้สนับสนุนเหนียวแน่น เช่น จอห์นนี เดปป์ ก็เป็นได้.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :