พลาโต (Plato : 427-347 ปี ก่อน ค.ศ.) เป็นนักปรัชญากรีกโบราณ

เขาเป็นหนึ่งในสาม ของสุดยอดนักคิด นักปรัชญากรีกโบราณ ที่ความคิดคำสอน ยังมี "ความหมาย" ถึงปัจจุบัน โดยอีกสองคน คือ โสกราตีส (Socrates) และ อริสโตเติล (Aristotle)

พลาโต เป็นศิษย์คนเด่นที่สุดของ โสกราตีส ผู้ยอมรับโทษตาย แต่ไม่ยอมปฏิเสธความคิดที่มั่นใจว่า ถูกต้องของตน และเป็นอาจารย์ของ อริสโตเติล ผู้ได้ชื่อเป็นนักวิทยาศาสตร์เต็มตัวคนแรกของโลก

ผู้เขียนชอบสะสมและศึกษาข้อคิดคำคมของนักคิด นักปรัชญา และนักวิทยาศาสตร์มานาน ตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียน ไม่ว่าจะไปที่ไหน ผู้เขียนจะพกสมุดบันทึกเล่มเล็กๆ ติดตัวไปด้วยเสมอ และเมื่อได้พบกับข้อคิด คำคมดีๆ ก็จะจดไว้ทันที และก็เป็น "ขุมทรัพย์ทางปัญญา" ที่มีคุณค่าต่อชีวิตของผู้เขียนตลอดมา

หนึ่งในข้อคิดคำคมของพลาโต ที่ผู้เขียนชอบมากเป็นพิเศษ คือ "การชนะใจตนเอง เป็นที่สุดแห่งชัยชนะ"

ข้อคิดคำคมนี้ มาจากหนังสือ The Laws ของพลาโต เป็นบทสนทนาระหว่าง "สามผู้อาวุโส" เพื่อค้นหากฎระเบียบ (บทบัญญัติหรือรัฐธรรมนูญ) สำหรับการปกครอง แมกนีเชีย (Magnesia) ซึ่งเป็นอาณานิคมใหม่ของกรีก

แล้วข้อคิดคำคมนี้ของพลาโต เกี่ยวข้องกับเรื่อง "การเดินทางของชีวิต...ที่สุดแห่งชัยชนะ" ของเราวันนี้ อย่างไร?

ในความคิดของผู้เขียน ข้อคิดคำคมของพลาโตนี้ มิใช่จะ "ใช้ได้"  เฉพาะกับความหมายใหญ่ของปรัชญา ดังในหนังสือ The Laws หากยังใช้ได้อย่างวิเศษ กับชีวิตมนุษย์คน

ธรรมดาทุกคน และทุกยุคสมัย

...

การเดินทางของชีวิตมนุษย์ทุกคน เริ่มต้นตั้งแต่วินาทีแรกที่คลอดจากครรภ์แม่ และก็ต้องส่งเสียงร้องจ้า ....

ถ้าไม่ร้อง พยาบาลก็จะยกเท้าขึ้น แล้วตีก้น ให้ร้อง

ถึงแม้จะมีคำอธิบายอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ว่า พยาบาลต้องตีก้น เพื่อให้เด็กร้อง ก็เพื่อขจัดเสลดที่อาจติดอยู่ในคอของทารกแรกคลอด

แต่ก็เป็นความเข้าใจที่ติดอยู่ในความคิดความรู้สึกของผู้คนว่า สาเหตุที่ เด็กส่งเสียงร้อง ก็เพราะรู้ตัวว่า "ชีวิต คือการต่อสู้" 

ถึงแม้ว่า ในช่วงวัยเด็กเล็กก่อนเข้าโรงเรียน เด็กเองจะไม่รู้สึกถึงการต่อสู้ของชีวิต เพราะมีคุณพ่อคุณแม่เฝ้าปกป้องดูแลตลอดเวลา

จนกระทั่งเมื่อเด็กต้องออกจากบ้านไปโรงเรียน อาจจะก่อนอนุบาลเสียอีกนั่นแหละ เด็กจะเริ่มรู้สึกว่า ชีวิตคือการต่อสู้ อย่างน้อยก็ต้องแสดงออกเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ หรือแสดงอาการ เมื่อถูกขัดใจ

เมื่อเด็กเริ่มออกจากบ้าน เพื่อเข้าโรงเรียน การเดินทางของชีวิตที่ต้องเผชิญกับการต่อสู้ในรูปแบบต่างๆ ก็เริ่มขึ้นจริงๆ

และยิ่งเข้มข้นขึ้น เมื่อจบการศึกษา ไม่ว่าจะจบถึงระดับไหน

แล้วก็เริ่มต้นทำงาน หรือทำหน้าที่ในฐานะเป็นผู้ใหญ่ ที่ต้องรับผิดชอบตนเอง และคนอื่นๆ จนกระทั่งถึงวันสุดท้าย หมดลมหายใจ

จึงลงจากสังเวียนการต่อสู้ เพราะถึงจุดสิ้นสุดการเดินทางของชีวิต

เป็นความจริง ชีวิตของมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะยากดีมีจนเพียงใด ก็ล้วนแต่ต้องเผชิญกับการต่อสู้

แม้แต่คนเกิดมากับ "กองเงินกองทอง" จริงๆ แล้ว ก็ต้องต่อสู้เพื่อการมีชีวิตที่มีคุณค่า มิใช่เกิดมาเพียงเพื่อหายใจ และใช้ชีวิตที่ "น่าเสียดาย" กับโอกาสที่ "สูญเปล่า" 

ถึงแม้เรื่องราวการต่อสู้บนเส้นทางการเดินทางของชีวิตแต่ละคน จะไม่เหมือนกัน เปรียบได้เป็นนิยายชีวิตเกือบเจ็ดสิบล้านเรื่อง สำหรับคนไทยในปัจจุบันทั้งหมดเกือบเจ็ดสิบล้านคน แต่จริงๆ แล้ว ก็มีเพียงไม่กี่เรื่องใหญ่ๆ ที่มนุษย์ทุกคนต้องต่อสู้บนสังเวียนชีวิต

และสำหรับวันนี้ ผู้เขียนขอยกมาแลกเปลี่ยนกับท่านผู้อ่านเพียงสองเรื่อง

หนึ่ง คือ เรื่องของความรัก

อีกหนึ่งคือ เรื่องของ การทำงาน

เริ่มต้นกับเรื่องของ ความรัก!

ความรัก เป็นความมหัศจรรย์ เป็นความสุข เป็นความทุกข์ เป็นบ่อเกิดแห่งความงดงามของชีวิต เป็นความสว่างสดใส เป็นความมืดมิด

มนุษย์เป็นสัตว์โลกชนิดเดียวที่มีความรักอันหลากหลาย ความรักเกิดขึ้นได้หลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นหญิง หรือชาย

แต่ก็เพราะความเป็นสัตว์สังคม ที่มีกฎกติกาแห่งจารีตสังคม ที่มนุษย์จะมี "คู่" อย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือประเพณี ได้เพียงคนเดียว

และก็เพราะ "การแต่งงาน" (ตามกฎหมายหรือประเพณี) หมายถึง ความรับผิดชอบร่วมกัน ทั้งสามีและภรรยา ที่ควรจะทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างเพื่อกันและกัน

ซึ่งหมายความว่า การแต่งงาน จึงควรจะเกิดขึ้น เมื่อทั้งสองฝ่ายคือ ทั้งหญิงและชาย "พร้อม" ทั้งในปัจจัยฐานะทางเศรษฐกิจ และความรู้สึก ความมั่นใจซึ่งกันและกัน

แต่ก็เพราะความรู้สึกในเรื่องความรัก เกิดขึ้นกับทั้งหญิงและชาย ตั้งแต่เมื่อยังเป็นวัยรุ่น หรือยังไม่มีความพร้อมทางด้านความรับผิดชอบ โศกนาฏกรรมแห่งความรัก จึงเกิดขึ้นได้เสมอ
แล้ว "การชนะใจตนเอง เป็นที่สุดแห่งชัยชนะ" ของพลาโต จะช่วยเรื่องของความรัก ได้อย่างไร?

...

สำหรับผู้เขียน ยอมรับว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ "เกิดขึ้นได้" 

ทำอย่างไร ?

อย่างตรงๆ ง่ายๆ สำหรับผู้เขียน คือ ถ้ายัง "ไม่พร้อม" ก็ต้องไม่ยอมแพ้ต่ออารมณ์ความรู้สึก ที่ "รู้แก่ใจ" ว่า ไม่ถูกต้อง

อย่างแน่นอน มิใช่ว่า หญิงชายทุกคนจะได้มีชีวิตรัก ที่จบลงอย่าง "happy ending" 

เมื่อ "รอ" ความพร้อมไม่ได้ ก็มีทางออกเสมอ ที่การชนะใจตนเอง ก็จะยังรักษาความรู้สึกที่ "ภาคภูมิใจในความรักที่มี" ให้คงอยู่ตลอดไปได้

ดังเช่นเรื่องราวความรักระหว่าง "เพลิน" กับ "ระพินทร์" ในนิยาย "สงครามชีวิต" ของ "ศรีบูรพา" ที่มิได้จบลงแบบ "happy ending" แต่ก็อยู่ในใจของผู้อ่านตลอดมา

กุหลาบ สายประดิษฐ์ เจ้าของนามปากกา ศรีบูรพา
กุหลาบ สายประดิษฐ์ เจ้าของนามปากกา ศรีบูรพา

แล้วชีวิตความรัก หลังการแต่งงานล่ะ ?

...

ในระยะแรกๆ ของชีวิตแต่งงาน ทุกสิ่งทุกอย่างจะงดงาม สดใส และรื่นรมย์

แต่เมื่อเวลาผ่านไป ชีวิตคู่ก็อาจจะเริ่มเปลี่ยนไป เป็นความชินชา ความไม่ใส่ใจ ความเลือนหายไปของสิ่งดีๆ ของอีกคนหนึ่ง

ถ้ายังไม่สายเกินไป "การชนะใจตนเอง" ของ พลาโต จะเป็น "น้ำทิพย์" ช่วยชีวิตคู่ได้อย่างวิเศษ

การชนะใจตนเองสำหรับชีวิตคู่ อย่างตรงๆ ของผู้เขียน ก็คือ การสำรวจตนเอง พยายามเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แล้วทุ่มเทความพยายาม ในการเอาใจใส่อีกคนหนึ่ง นึกถึง “ความรู้สึกดีๆ"  "สิ่งดีๆ" ของอีกคนหนึ่ง

ที่สำคัญ จะพูด จะทำอะไร ก็ให้นึกถึงจิตใจของอีกคนหนึ่งเสมอ

ความพยายามในการที่จะรักษาชีวิตคู่หลังการแต่งงานนี้ มิใช่เรื่องง่าย เพราะต้องอาศัยการชนะใจตนเอง ที่อาจจะ "หลงลืม" ไปพักหนึ่ง

ถ้าไม่ยกธงขาวเสียก่อน ผู้เขียนเชื่อว่า ก็จะได้พบกับชัยชนะยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลได้

จากเรื่องของความรัก มาดูเรื่องของ การทำงาน ...

เมื่อเป็นผู้ใหญ่ พ้นวัยการเป็นนักเรียนนักศึกษา ทุกคนต้องทำงาน

...

การทำงานที่รวมถึง การทำงานประกอบอาชีพ และการทำงานที่ไม่ใช่การประกอบอาชีพโดยตรง เช่น แม่บ้าน หรือพ่อบ้าน (สำหรับครอบครัวยุคใหม่ที่ภรรยา หรือคุณแม่ เป็นฝ่ายออกทำงาน สามีหรือคุณพ่อ ทำหน้าที่ดูแลบ้าน)

ในข่วงชีวิตคนไทยปัจจุบัน ที่มีอายุเฉลี่ยประมาณ 77 ปี ช่วงชีวิตยาวนานที่สุด ก็คือ ช่วงชีวิตการทำงาน

อย่างแน่นอน ทุกคนล้วนอยากเป็นคนทำงาน อย่างมีความสุข

ที่สำคัญ ความสำเร็จขององค์กร หรือสถาบันทุกชนิด ก็ขึ้นอยู่กับ "อารมณ์ ความรู้สึก" ของคนทำงานอย่างที่สุด

แล้วการชนะใจตนเอง จะช่วยเรื่องการทำงานได้อย่างไร?

อย่างตรงๆ การชนะใจตนเอง สำหรับเรื่องการทำงาน หมายถึงการชนะใจตนเองเพื่อที่จะได้ "ทุ่มเท" ทั้ง "ใจและกาย" ให้กับงาน

สำหรับคนที่มีความพอใจกับงานที่ทำอยู่แล้ว การชนะใจตนเองในเรื่องนี้ ก็เพียงแต่ต้องพยายามรักษาระดับความทุ่มเทให้กับการทำงานอย่างเต็มที่ต่อไป ซึ่งมักจะเป็นเรื่องที่ "ไม่ยาก"  ....

แต่ที่ "ยาก" ก็คือ คนทำงานที่ไม่ชอบงานที่ทำ หรือไม่ถนัด

ทางออกขั้นต้น ก็คือ การเลือกหางานใหม่ โดยในระหว่างที่เลือกหางานใหม่อยู่ ก็ต้องชนะใจตนเอง ด้วยการ "ไม่หุนหัน" "ประชด" "ทำร้าย" ที่ทำงานเก่า

แต่ทางออกดีที่สุด และท้าทายที่สุด คือ การชนะใจตนเอง ด้วยการสำรวจตนเอง ปรับปรุงตนเอง พยายามทุ่มเทให้กับงาน

ยิ่งถ้าทำงานเป็นประเภท "จ่ายสิบ" แต่ทำให้ "ยี่สิบ!" ก็จะยิ่งเห็นความแตกต่างในเชิงบวกได้อย่างดี และรวดเร็ว โดยไม่ต้องเปลี่ยนงาน

อย่างแน่นอน การทำงาน ต้องมีทั้งคนทำงาน และหัวหน้างาน

สำหรับหัวหน้างาน การชนะใจตนเอง ก็มีความสำคัญพอๆ กับคนทำงาน
หลักง่ายๆ แต่สำคัญ สำหรับหัวหน้างานก็คือ ต้อง "ชนะใจตนเอง" ที่จะไม่หลงตัว หลงอำนาจ ...

ตระหนักแก่ใจเสมอว่า งานต้องมีทั้งหัวหน้างาน และคนทำงาน

เตือนสติตนเองเสมอว่า ความสำเร็จ ความก้าวหน้าของงาน ขึ้นอยู่กับอารมณ์ความรู้สึกของคนทำงาน ซึ่งขึ้นอยู่กับตนเอง ในฐานะเป็นหัวหน้างานอย่างสำคัญ

ความรัก การทำงาน เป็นเพียงสองเรื่องใหญ่ที่ผู้เขียนยกมาแลกเปลี่ยนกับท่านผู้อ่าน เพราะจริงๆ แล้ว เวทีชีวิตมีเรื่องราวมากมาย ทั้งเรื่องดูเล็กๆ ที่ไม่น่าเป็นสาระ และเรื่องใหญ่มหึมา เกี่ยวกับ "ชะตา" ของคนทั้งโลก

ที่สำคัญ ถ้าท่านผู้อ่านรู้สึกว่า วิธีการชนะใจตนเอง ที่ผู้เขียนยกมากล่าวถึงนั้น ท่านเองก็ไม่ปฏิเสธว่า "ดี" 

แต่ก็คงมีอยู่เฉพาะในโลกของจินตนาการแบบ "อุดมคติ"  คือ นวนิยาย เท่านั้น

หนักขึ้นไปอีก คนที่พยายามทำ ก็อาจถูกมองเป็น "คนขลาด" เป็นคน "ไม่สู้ชีวิต"

ผู้เขียนก็ไม่ปฏิเสธว่า เผินๆ ก็ดูเป็นเช่นนั้น และยอมรับว่า "การชนะใจตนเอง" เป็นเรื่องยาก และยิ่งยากอย่างที่สุด คือ การชนะใจตนเอง ถึงระดับเป็นที่สุดแห่งชัยชนะ

"การชนะใจตนเอง" จึงเป็นหนึ่งในเรื่อง "ยาก แต่ดี!" ที่ผู้เขียนพยายามยึดปฏิบัติ และนำมาแบ่งปันกับทุกท่านในวันนี้

แล้วท่านผู้อ่านล่ะครับ คิดเรื่องนี้อย่างไร ?

อ่านเพิ่มเติม