ในตอนที่แล้ว ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ชวน รศ.ดร.ดำรงค์ ฐานดี นักวิชาการอิสระ สาขาเกาหลีศึกษา มาเล่าเบื้องหลังความสำเร็จการใช้ Soft Power ของประเทศเกาหลีใต้ ที่ทุกวันนี้ทำอุตสาหกรรมบันเทิงไปไกลระดับโลกแล้ว นอกจากนี้ยังลากอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ได้ผลพลอยได้ไปด้วยมากมาย

อ่านเนื้อหา เบื้องหลัง “Soft Power” กอบกู้เศษซาก สู่มหาอำนาจวัฒนธรรมเกาหลีใต้ 

คราวนี้หันกลับมาดู “ประเทศไทย” กันบ้าง กูรูเกาหลีใต้ ได้วิเคราะห์ปัญหาการใช้ Soft Power ของไทย ทั้งที่วัฒนธรรมอันดีมากมาย อาหารขึ้นชื่อ ศิลปิน หรือภาพยนตร์ดีๆ แต่ก็ไปได้ไม่ถึงไหน...

รศ.ดร.ดำรงค์ กล่าวถึงกรณี “มิลลิ-ดนุภา คณาธีรกุล” ว่า “ผมไม่รู้ว่าคนในรัฐบาลจะชอบไหม ร้องเพลงไป กินข้าวเหนียวมะม่วงไป แถมยังมีเนื้อหาเพลงด่ารัฐบาลอีก ทั้งนี้การทำ Soft Power มันก็ต้องหารือ และเก็บข้อฟีดแบ็กกลับมาด้วย อันไหนเป็นสิ่งดี ก็นำข้อมูลมาพัฒนาต่อ เรื่องไหนไม่ดี ก็ต้องนำข้อมูลกลับมาแก้ไข เพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ดียิ่งขึ้น โดยเราต้องฟีดแบ็กตรงๆ เพื่อให้ศิลปินเข้าใจ ไม่ใช่ว่าจะด่ากันเองอย่างเดียว ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ต้องดูจากคนในต่างประเทศด้วย ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลควรมีข้อมูลเพื่อนำข้อมูลมาใช้สนับสนุนในวันข้างหน้า”

ส่วนตัวผมมองว่า สิ่งที่ “มิลลิ” กล้าที่จะฉีกแนว เพราะต่างประเทศที่เข้ามาเมืองไทยก็ต่างชื่นชอบ “ข้าวเหนียวมะม่วง” อยู่แล้ว แต่ยังไม่มีใครเคยทำ ด้วยการร้องเพลงไป กินข้าวเหนียวมะม่วง การ “ฉีกกรอบ” ก็ย่อมส่งผลมีคนชอบและไม่ชอบ แต่อย่างน้อย “มิลลิ” และทีมงาน ก็พยายามทำ

...


4 เหตุผล ทำไม Soft Power สไตล์ไทย ลุ่มๆ ดอนๆ

สำหรับเหตุผลที่ Soft Power ไทยไม่ค่อยประสบความสำเร็จ รศ.ดร.ดำรงค์ วิเคราะห์ว่า ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลทหาร หรือประชาชน เวลาจัดตั้งรัฐบาลก็มักจะชวนเพื่อนมาเป็นรัฐมนตรี ถามว่า มีการผลักดัน Soft Power หรือไม่ คำตอบคือ “มี...แต่น้อย” ที่เจริญรุ่งเรือง เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ก็เป็นฝีมือภาคประชาชน และเอกชน เป็นคนลงมือทำมาโดยตลอด

“ในขณะที่ รัฐบาลเอง ก็กลับมาฉกฉวยประโยชน์จากเอกชนที่เดินหน้าผลักดัน Soft Power ไทย แต่คนในรัฐบาลไม่ได้ทำประโยชน์เท่าใดนัก..”

แล้วรัฐบาลที่ผ่านมา ทำอะไร... รศ.ดร.ดำรงค์ ให้ความเห็นว่า รัฐบาลไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เลย สิ่งที่คิด คือ จะเกิดปฏิวัติซ้อนเมื่อไหร่ โครงการนี้ทำท่าจะสำเร็จ ต้องทำลายมัน

“รัฐบาลไทยหลายรัฐบาล คิดแต่เรื่องตัวเอง ไม่ได้ทุ่มเทเพื่องานของประเทศชาติ ถามว่าเป็นแบบนี้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรือไม่ ก็ไม่ถึงขนาดนั้น แต่ลักษณะภาพรวมที่เห็น มันเป็นเช่นนั้น”

ที่มาภาพ : IG MILLI (@phuckitol)
ที่มาภาพ : IG MILLI (@phuckitol)

ปัญหาที่เกิดขึ้น มันมีต้นตอ... สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะข้าราชการประจำ กลายเป็นลูกน้องพรรคการเมือง สิทธิขาดทั้งหมดจึงขึ้นอยู่กับฝ่ายการเมือง ดังนั้นหาก นายกรัฐมนตรีดี รัฐมนตรีดี งานของฝ่ายราชการที่เกี่ยวกับ Soft Power ก็จะดี แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ส่วนใหญ่เขาไม่ค่อยสนใจเรื่องเหล่านี้

รศ.ดร.ดำรงค์ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการสนับสนุนหลายๆ โครงการที่เกี่ยวกับ Soft Power เช่น ลงทุนหนัง หรือละคร สมมติว่ามีงบ 100 ล้านบาท แต่เงิน 100 ล้านไม่ได้ลงทุนในหนังหรือละคร กลับรั่วไหลไปตามเบี้ยบ้ายรายทาง ยกตัวอย่างว่า “ถนน 1 เส้น” จะใช้งบประมาณ 40 ล้านบาท งบมาถึงจริงๆ จะถึง 20 ล้านหรือไม่ นี่คือตัวอย่างที่เกิดขึ้นในเมืองไทย

“งานที่ออกมา ถามว่ามันจะได้ดีได้ยังไง ในเมื่อเงินที่อนุมัติมา กว่าจะมาถึงก็ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย หน่วยงานที่รับมา หากผลงานไม่ดี ก็จะถูกต่อว่าอีก ทั้งที่โดนหักก่อนจะถึงไปเยอะ”

...

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ ภาคเอกชน รู้สึกเหนื่อยและหน่ายกับการทำงานภาครัฐ ถ้าหน่วยงานไหนทำงานดี บางหน่วยงานจะขัดแข้งขัดขา เพราะกลัวได้ดีเกินหน้าเกินตา กลัวจะได้คะแนนเสียงจากประชาชน หรือเป็นปากเป็นเสียงเขย่ารัฐบาล

โดยสรุป คือ ปัญหา Soft Power ไทย ไม่ค่อยไปไหน เพราะ 4 ปัจจัย คือ

1. ผู้บริหารประเทศไม่ให้ความสำคัญ
2. ปัญหาคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นระหว่างทาง
3. ภาคเอกชนเหนื่อยหน่ายกับการทำงานภาครัฐ
4. กลัวได้ดีเกินหน้า จึงขัดแข้งขัดขา

เทียบประเทศเกาหลีใต้ ฝ่ายการเมืองเปลี่ยน แต่แรงสนับสนุนไม่เปลี่ยน เพราะได้ประโยชน์ทั้งประเทศ!

“แตกต่างจากประเทศเกาหลีใต้ ถึงแม้ฝ่ายการเมืองจะมีการเปลี่ยนแปลง ฝ่ายรัฐบาลเปลี่ยนฝั่ง แต่งานด้านนี้เขาก็พร้อมสนับสนุน และเดินหน้าไปด้วยกัน” นักวิชาการอิสระ สาขาเกาหลีศึกษา เน้นย้ำก่อนอธิบายเพิ่มเติมว่า

ปัจจุบัน นักการเมืองของเกาหลีใต้ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้าน หรือรัฐบาล ก่อนเลือกตั้ง เขาเดินทางไปเยี่ยมชมกับบริษัทบันเทิงต่างๆ เลย ถามว่ามีสิ่งไหนที่รัฐบาลจะสามารถช่วยได้ เรียกว่าขนาดยังไม่ได้เป็นรัฐบาล เขาก็ยังไปหาข้อมูลเพื่อผลักดันอุตสาหกรรมบันเทิง และเขาสนับสนุนตั้งแต่ปี 1970 (ปี 2540) เป็นต้นมา

...

ถามว่าเกาหลีใต้...มีคอร์รัปชันไหม คำตอบ คือ มี...แต่เขาเอาเรื่องงานเป็นหลัก

แนะรัฐบาลดัน Soft Power ไทยสู่ “อาเซียน”

รศ.ดร.ดำรงค์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีผลงาน หนัง ละคร เพลงมากมาย ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านเราก็ชอบผลงานของไทย สิ่งที่ไทยควรทำก็คือ การตั้งศูนย์กลางในภูมิภาคนี้ เช่น ผลงานเพลง ก็ควรทำสตูดิโอใหญ่ที่สุดในอาเซียน เพื่อให้ตลาดเพลงจากเพื่อนบ้านเข้ามาใช้งานในบ้านเรา ซึ่งถ้าเป็นประเทศเกาหลีใต้เขาอาจจะให้เข้ามาใช้แบบปลอดภาษีเลยก็ได้ เพราะถือว่าเป็นการสนับสนุนให้ประเทศไทยได้ดี

ที่ผ่านมาเรามี Soft Power หลายชนิดที่ไประดับโลก แต่จุดเริ่มต้นกลับไม่ได้มาจากคนไทย...

Soft Power ที่เป็นตำนานของเมืองไทย ก็คือ “ต้มยำกุ้ง” จุดเปลี่ยนของ “ต้มยำกุ้ง” มาจากนักโภชนาการชาวต่างชาติ 2 คน คนหนึ่งเป็นฝรั่ง ส่วนอีกคนเป็นชาวญี่ปุ่น โดยอาหารแต่ละประเทศมาเปรียบเทียบทำวิจัย จากนั้นเอาผลการวิจัยมาเขียนลงในวารสารที่มีชื่อเสียงระดับโลก ตีพิมพ์ทั่วโลก

...

“ปรากฏว่า จากการทำวิจัยของเขา พบว่า “ต้มยำกุ้ง” มีคุณค่าทางโภชนาการสูงสุด แถมอร่อยมาก ซึ่งคนไทยกินมาหลายชั่วอายุคน แต่ไม่มีใครไปโฆษณา รัฐบาลก็ไม่สนใจ แต่เมื่อมีการตีพิมพ์วารสารดังกล่าว ปรากฏว่า ต่างชาติก็แห่มาชิม เป็นที่มาของ “ร้านอาหารไทย” ที่ไปเปิดทั่วโลก ขยายสาขามากขึ้น นี่คือ Soft Power ของไทย รัฐบาลทำได้แค่ฉกฉวย แต่ก็ทำอะไรไม่ได้มาก” รศ.ดร.ดำรงค์ กล่าาวทิ้งท้าย.

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน


อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ