"มันเป็นสถานการณ์ที่ซับซ้อนมาก สำหรับวัฒนธรรมคว่ำบาตร (Cancel culture) การรีบร้อนตัดสินใจโดยพิจารณาจากเพียงปริมาณมลพิษในอากาศ มันไปไกลเกินกว่าที่ผมจะสามารถรับประกันได้ว่า จะมีใครสักคนปลอดภัยจากวัฒนธรรมนี้ ตราบใดที่ยังมีคนเต็มใจจะพูดอะไรสักอย่าง
เรื่องนี้มันไม่ได้เกิดขึ้นเพียงกับผม มันเกิดขึ้นกับผู้คนมากมาย หญิง ชาย หรือแม้กระทั่งเด็กๆ ต่างได้รับความเจ็บปวดจากความไม่พอใจต่างๆ นานา หากแต่ที่น่าเศร้า คือ เมื่อถึงจุดหนึ่งแล้ว พวกเขากลับเริ่มคิดว่า สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องปกติ ซึ่งมันไม่ใช่!"
ประโยคด้านบนโน่น หลุดจากปากของ "จอห์นนี เดปป์" (Johnny Depp) นักแสดงมากฝีมือ ที่เพิ่งถูกศาลอังกฤษตัดสินให้แพ้คดีฟ้องหมิ่นประมาทแท็บลอยด์จอมฉาวอย่างเดอะซัน (The Sun) ที่กล่าวหาว่า "ป๋าเดปป์" ทำร้ายร่างกายอดีตภรรยาสาวแซ่บ "แอมเบอร์ เฮิร์ด" (Amber Heard) จนภาพลักษณ์เสื่อมถอย ถูกถอดออกจากแฟรนไชส์หนังฟอร์มยักษ์อย่าง Fantastic Beasts รวมถึงความฝันที่จะได้เห็น "ป๋า" กลับไปรับบท "กัปตันแจ๊ก สแปร์โรว์" ในจักรวาล Pirates of the Caribbean อีกครั้งแทบจะเป็นไปไม่ได้แล้ว
...
หากแต่เรื่องฉาวตามประสาผัวเมียตีกันอีรุงตุงนัง ที่ทำให้ "ป๋า" สูญเสียความโปรดปรานจากฮอลลีวูดไปมากกว่าคำพิพากษาของศาลนั้น มันน่าจะเป็นอะไรที่เรียกว่า "Cancel culture" มากกว่า!
เรื่องราวอื้อฉาวชี้นิ้วโทษกันไปมาระหว่าง "ป๋าเดปป์" และ "แอมเบอร์ เฮิร์ด" เกิดขึ้นตูมตามเอาในช่วงกระแสการขับเคลื่อนพลังหญิง #MeToo กำลังเดือดพล่าน ด้วยเหตุนี้ กัปตันแจ๊ก สแปร์โรว์ จึงถูกทัวร์ลงอย่างหนัก ตราบจนกระทั่ง เมื่อนักแสดงภาพลักษณ์ตลก ประหลาด แต่สุภาพ ตั้งหลักได้และเริ่มนำข้อมูลออกมาฟาดกลับอดีตเมียรักบ้างนั่นแหละ "วัฒนธรรมคว่ำบาตร" จึงเริ่มเบาลง โดยเฉพาะข้อมูล "เทปลับและภาพจากวงจรปิดในลิฟต์"
และใครอยากทบทวนความอลหม่านระหว่างคู่นี้ สามารถกดลิงก์ อ่านได้ในบรรทัดด้านล่างนี้
แล้วอะไรคือสิ่งที่ "เรา" เรียนรู้จากเรื่องยุ่งๆ ในครอบครัวที่ทะลุออกมานอกมุ้ง จนกระทั่งทำให้เกิดปรากฏการณ์วัฒนธรรมคว่ำบาตรครั้งนี้ได้บ้าง?
ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า อิทธิพลของโซเชียลมีเดียในปัจจุบัน โดยเฉพาะเทรนด์ฮิตต่างๆ มีผลต่อความคิดเห็นส่วนบุคคลอยู่ไม่มากก็น้อย ความคิดเห็นของคนส่วนมากที่โน้มเอียงไปในทิศทางใด มักทำให้เกิดความคล้อยตามไปในทิศทางนั้นได้มากกว่า
นอกจากนี้ สิ่งที่เรามักพบเห็นเป็นปกติ คือ เมื่อมีกลุ่มคนที่จำนวนน้อยกว่าพยายามแสดงความเห็นไปในทิศทางตรงกันข้าม หรือพยายามนำเสนอข้อมูลในอีกมุมหนึ่ง ก็มักจะถูกล้อเลียนหรือเลยเถิดไปจนถึงขั้นแสดงทัศนะโจมตีเอาเลยตรงๆ ก็มี
แล้วอะไรที่นำไปสู่การแสดงความเห็นต่าง แล้วเลยเถิดไปสู่การเป็นปรปักษ์?
1. ข้อมูลและความเห็นที่ "รวดเร็ว" และ "แตกต่าง"
แรกเริ่มเดิมทีกระบวนการที่นำไปสู่ "วัฒนธรรมคว่ำบาตร" หรือ "การหยุดสนับสนุนใครบางคนรวมถึงผลงานของคนคนนั้น" มันเริ่มมาจากความพยายามเปิดพื้นที่ให้กับเหล่าเหยื่อที่ถูกปกปิด และผู้ที่ตกเป็นเบี้ยล่างในสังคมได้มีโอกาสเรียกร้อง หรือเปิดเผยข้อมูลในมุมของตัวเองเพื่อให้คนในสังคมวงกว้างได้รับรู้ จนกระทั่งนำไปสู่การลงโทษ "ผู้กระทำ" ที่มีอำนาจหรือสถานะทางสังคมที่เหนือกว่า ซึ่งถือเป็นแนวคิดที่ดี
...
แต่กรณีที่เกิดขึ้นระหว่าง "ป๋าเดปป์" และ "สาวเฮิร์ด" รวมถึงบรรดากลุ่มคนที่ให้การสนับสนุน มีการสาดข้อมูลและความเห็นเข้าใส่กันราวกับอยู่ในสมรภูมิรบ การหลั่งไหลของข้อมูลและความคิดเห็นจำนวนมากในแบบ เขาพูดที เธอพูดที อีกคนพูดที และอีกคนของอีกคนพูดอีกที ซึ่งแทบจะไร้ซึ่งการกลั่นกรอง ทำให้ผู้รับสารเกิดความรู้สึกว่าไม่รู้จะเชื่อใครดี?
และการสาดข้อมูลเข้าใส่กันนี้เอง มันได้พัฒนาไปสู่การแบ่งแยกระหว่างกองเชียร์ของทั้งสองฝ่ายที่ต่างพร้อมจะเชื่อในข้อมูลของฝ่ายตัวเองเท่านั้น รวมถึงไม่ยินดีที่จะเปิดรับข้อมูลจากอีกฝ่ายหนึ่งในที่สุด
2. ผลกระทบจาก Cancel culture?
สิ่งที่ต้องไม่ลืม คือ โซเชียลมีเดียมีกลุ่มคนจำนวนมากมายมหาศาลที่พร้อมจะเผยแพร่ข้อมูล โดยเฉพาะข่าวลือที่ไร้ที่ไปที่มา และไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงได้ในทุกๆ วินาที
แล้วหากข่าวลือเหล่านั้นเกิดไม่ใช่เรื่องจริง แต่อารมณ์ของคุณเกิดความขุ่นมัวไปแล้วกันล่ะ?
การเต็มเปื้อนไปด้วยอารมณ์และบางครั้งขาดการไตร่ตรองข้อมูลให้รอบด้าน ทั้งหมดนี้ย่อมอาจทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า คลื่นสึนามิแห่งความเกลียดชังจากการถูกปลุกปั่นด้วยข้อมูลได้เช่นกัน
...
และกรณีมหาศึกในมุ้งแห่งทศวรรษก็ไม่ต่างกัน เพราะทั้งกัปตันแจ๊ก สแปร์โรว์ และเมร่า แห่งอควาแมน ต่างถูกเกลียดชังจากฝ่ายที่ยืนอยู่ตรงกันข้าม อีกทั้งต่างฝ่ายต่างพยายามกดดันผู้เกี่ยวข้องในธุรกิจภาพยนตร์ให้ยุติการสนับสนุนเส้นทางสู่ดวงดาวของอีกฝ่ายด้วย
โดยเฉพาะในกรณีของป๋าเดปป์นั้น ด้วยความที่เป็นลูกผู้ชายและถือครองสถานะ Megastar มายาวนาน เมื่อถูกกล่าวหาว่าใช้กำลังทำร้ายผู้หญิง แรงปะทะย่อมรุนแรงเป็นเท่าทวี แม้ว่าข้อกล่าวหาบางเรื่องจะไร้หลักฐานที่แน่ชัดและเลื่อนลอยก็ตาม
นอกจากนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่เห็นได้เด่นชัด คือ การเริ่มเปิดฉากกล่าวหาว่าเป็นฝ่ายที่ถูกทำร้ายร่างกายก่อนของ "แอมเบอร์ เฮิร์ด" ยังสามารถทำให้ผู้ที่ได้รับข้อมูลดังกล่าวส่วนใหญ่แทบจะเชื่อไปหมดใจแล้ว ป๋าเดปป์เป็นพวกขี้เมาและใช้ความรุนแรงในครอบครัวจริงๆ ทั้งๆ ที่ในเวลาต่อมา เทปลับของเดปป์สามารถแฉได้ อดีตภรรยาคนสวยก็ใช้ความรุนแรงกับเขาเช่นกัน อีกทั้งรอยช้ำที่กลายเป็นไวรัล ซึ่งนางออกมาฟ้องชาวโลกก่อนหน้านี้ ก็ถูกแฉกลับได้ว่า นางน่าจะโกหกก็ตาม
...
ธรรมชาติของมนุษย์ที่มักเชื่อใครที่พูดเป็นคนแรก เมื่อมันถูกผนวกเข้ากับการไหลของข้อมูลและข่าวลือที่ยากเกินจะต้าน รวมถึงการแยกความจริงได้ยากจากข่าวลือนับล้านๆ ในโซเชียลมีเดีย
และที่สำคัญการปะทุขึ้นของอารมณ์มักทำให้มองข้ามผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ที่ถูกกระทำเสมอ ทั้งๆ ที่ สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อมีความพยายาม "คว่ำบาตร" ใครสักคน มันมักตามมาด้วยการสร้างกลุ่มคนที่กำลังโกรธกริ้วจำนวนมากและยากที่จะถูกสั่นคลอน นั่นเป็นเพราะข้อมูลอีกด้านถูกระบบของโซเชียลมีเดียกางกั้น จนกระทั่งไม่ได้รับมันนั่นเอง เริ่มทำให้ Cancel culture ในระยะหลังๆ เริ่มถูกมองว่า กำลังถูกขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ผิดจากจุดเริ่มต้น
ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดเสียงสะท้อนกลับมาว่า หรือบางที Cancel culture ควรถูกยกเลิก หรืออย่างน้อยควรมีการส่งเสริมให้เกิดการใช้ความไตร่ตรองกับข้อมูลและความเห็นอย่างรอบคอบมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันหรือไม่?
ทำไมจึงควรยกเลิกวัฒนธรรมคว่ำบาตร?
ป้องกันไม่ให้ Cancel culture ถูกเร่งเร้ามากเสียจน "ผู้ที่ถูกคว่ำบาตร" ถูกความเกรี้ยวกราดไล่บี้จนไม่มีแม้โอกาสครั้งที่ 2 หรือครั้งที่ 3 สำหรับการปรับปรุงตัวให้ดีขึ้นจนสามารถกลับเข้าสู่สังคมได้
นอกจากนี้ในอีกมุมมองหนึ่ง การขับเคลื่อน "วัฒนธรรมคว่ำบาตร" ที่สามารถเรียกร้องคนให้เข้ามาร่วมได้จำนวนมากได้ในพริบตาจากเครือข่ายโซเชียลมีเดียในปัจจุบัน ยังถูกมองด้วยว่า เป็นอันตรายต่อ "ระบอบประชาธิปไตย" ซึ่งส่งเสริมการแสดงออกทางความเห็นอย่างหลากหลายและยอมรับในกันและกันหรือไม่?
วัฒนธรรมคว่ำบาตร และระบอบประชาธิปไตย สวนทางกันจริงหรือ?
เป็นเรื่องจริงหรือไม่... ถ้าเช่นนั้น "เรา" ลองมาพยายามหาคำตอบของคำถามที่ว่านี้กันดู...
รอบๆ ข้างของ "คุณ" หลงเหลือใครที่ก้าวผ่านความกลัว และกล้าแสดงความเห็นต่างกับกลุ่มคนจำนวนมากที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามบ้างไหม?
การจงใจล้อเลียนหรือการโจมตีเข้าใส่อย่างตรงไปตรงมา ได้ตัดทอนบทสนทนาเพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนความเห็นบ้างหรือไม่?
และนานแค่ไหนแล้วที่ "คุณ" หลงเหลือความอดทนสำหรับการรับฟังความเห็นที่แตกต่างจากกลุ่มคนที่ "คุณ" รู้สึกว่าอยู่ฝ่ายตรงกันข้ามกันนะ?
"คุณ" มีคำตอบในประเด็นนี้แล้วใช่ไหม?
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก: sat hit chuephanngam
ข่าวน่าสนใจ:
- "เดปป์ - แอมเบอร์" วิวาห์ วิวาท ชีวิตรักใต้เตียงยิ่งกว่าหนังฮอลลีวูด
- สิ้นหวัง มืดมน 32 ปี Berserk กับ 5 ตอนจบทิพย์ แฟนการ์ตูนสายดาร์ก
- "ขยะกำจัดขยะ" ฮีโร่สายดาร์ก Vincenzo Cassano กับจุดกำเนิด "มาเฟียอิตาลี"
- Think Different การต่อเติม Apple ด้วยความแตกต่างสไตล์ Tim Cook
- รีวิวทัวร์อวกาศ Galaxy Far, Far Away 3 อภิมหาเศรษฐี มัสก์-เบซอส-แบรนสัน