คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ความพยายาม "กระแทกกระทั้น" ถึงความเหลื่อมล้ำในสังคม การทุจริตคอร์รัปชัน เรื่อยไปจนถึงกระบวนการในระบบยุติธรรม ผ่าน "ตัวเอก" สีเทาๆ ผู้ใช้ศาลเตี้ย ซึ่งก้าวข้ามเส้นแบ่งทางศีลธรรม เข้าพิพากษาเหล่าวายร้าย ในระยะนี้ของวงการบันเทิงเกาหลีใต้ ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์วินเชนโซ (Vincenzo) ทนายมาเฟีย หรือซีรีส์แท็กซี่จ้างแค้น (Taxi Driver) ได้กลายเป็นพล็อตสุดฮิตที่สร้างอิมแพคถล่มทลาย ไม่ว่าจะในแง่เสียงวิพากษ์วิจารณ์และเรตติ้งที่พุ่งทะลุติดเพดาน

หากแต่การมาถึงของซีรีส์อย่าง The Devil Judge ที่คราวนี้ ให้คาแรกเตอร์นำรับบทเป็น "ผู้พิพากษา" และประกาศตัวอย่างโจ่งแจ้งตั้งแต่ต้นเรื่องเสียด้วยว่า...

"ฉันคืออำนาจ"

และวรรคทองอันสุดแสนประทับจิตอย่าง...

"อำนาจเพียงหนึ่งเดียวที่เรามี เพื่อต่อสู้กับระบบที่ถูกขับเคลื่อนด้วยอำนาจที่ไม่ชอบธรรม คือ พลังของประชาชน"

โอ้โห... มันช่าง "เจิดจ้า" มากล้นเสียเหลือเกินกับ "บางสิ่ง" ที่อาจจะถูกเก็บงำอยู่ในใจชาวเกาหลีใต้มาช้านาน

...

การวางพล็อตให้ใช้กระบวนการพิจารณาคดีในศาลผ่าน Reality show ที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมรู้เห็นการพิจารณาคดี และที่สำคัญคือ สามารถโหวต "บทลงโทษ" เหล่าคนดังที่มีเบื้องหลังไม่ธรรมดา ในแบบสาแก่ใจดียิ่งนัก จนทำให้ซีรีส์ The Devil Judge โด่งดังนั้น บางที...น่าจะเชื่อมโยงกับ "อะไรบางอย่าง" ที่อยู่ในใจของเกาหลีชนก็เป็นได้

อะไรบางอย่างที่อาจจะอยู่ในใจชาวเกาหลีใต้นี้ คืออะไร?

     1. แชโบล (Chaebol) กลุ่มธุรกิจที่มีอิทธิพลอย่างสูงล้นในทุกวงการของเกาหลีใต้
     2. แนโรนัมบุล (Naeronambul) สองมาตรฐาน

กรณีตัวอย่างที่แสนเด่นชัดใน 2 คำที่ว่านี้ คืออะไร?

นายกรัฐมนตรี คิม โบกยอม (Kim Boo-kyum) ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ได้ประกาศตัวสนับสนุนข้อเรียกร้องของกลุ่มแชโบล ที่ต้องการให้ อี แจยง (Lee Jae-yong) วัย 52 ปี ทายาทรุ่นที่ 3 และผู้นำเครือข่ายธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่สุดของประเทศ อย่าง ซัมซุง (Samsung) ที่เพิ่งได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำในข้อหาติดสินบน อดีตประธานาธิบดี พัค กึนฮเย (Park Geun-hye) และคนใกล้ชิดไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สามารถกลับไปทำงานได้ทันที รวมถึงผ่อนคลายเงื่อนไขทัณฑ์บนต่างๆ รวมถึงข้อจำกัดเรื่องการเดินทางไปต่างประเทศ ภายใต้ข้ออ้างที่ว่า วัฒนธรรมการบริหารงานธุรกิจแบบลำดับชั้น (Hierarchical Business culture) ของเกาหลีใต้ ไม่อาจเดินหน้าตัดสินใจการลงทุนในระยะยาวได้ หากปราศจากผู้นำสูงสุดขององค์กร

นายกรัฐมนตรี คิม โบกยอม (คนที่ 2 จากซ้าย)
นายกรัฐมนตรี คิม โบกยอม (คนที่ 2 จากซ้าย)

ทั้งๆ ที่เกาหลีใต้มีกฎหมายห้ามผู้ประกอบการที่ถูกตัดสินว่ามีความผิด กลับไปทำงานเป็นเวลา 5 ปี ยิ่งไปกว่านั้น ผู้นำซัมซุงคนปัจจุบันยังถูกปล่อยตัวหลังอยู่ในเรือนจำในระยะเวลาเพียง 19 เดือน จากคำพิพากษาจำคุก 2 ปีครึ่งอีกด้วย!

โดยนายกรัฐมนตรี คิม โบกยอม ให้เหตุผลที่สนับสนุนข้อเรียกร้องดังกล่าวว่าเป็นเพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้มี "เหตุจำเป็นมากพอ" สำหรับให้ "ผู้นำซัมซุง" กลับไปทำงานเพื่อใช้เครือข่ายพลังอำนาจทางธุรกิจของซัมซุง ผลักดันการฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ

ส่วนเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ผู้มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ได้รับการ "ละเว้นทางกฎหมาย" เร็วเกินไปหรือไม่นั้น นายกรัฐมนตรีของเกาหลีใต้กล่าวว่า ไม่ควรมองประเด็นนี้ด้วยมุมมองที่ "ใจแคบ" มากจนเกินไป!

อย่างไรก็ดี การแสดงท่าทีสนับสนุนผู้นำซัมซุงในแบบชนิด "ออกนอกหน้า" เช่นนี้ ทำให้เกิดกระแสต่อต้านขึ้นอย่างกว้างขวาง พร้อมกับชี้ว่าการกระทำดังกล่าวกำลังเป็นการก้าวข้าม "หลักนิติธรรม" ของประเทศเกาหลีใต้

แต่อะไรมันก็คง "ไม่น่าเจ็บปวด" เท่ากับทั้งหมดนี้ "เกิดขึ้น" ภายใต้การให้คำมั่นสัญญา "ปฏิรูปแชโบล" (Chaebol Reform) ของประธานาธิบดี มุน แจอิน ผู้นำเกาหลีใต้คนปัจจุบัน รวมถึง...การชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งบนแผ่นดินเกาหลีใต้ เพื่อขับไล่อดีตประธานาธิบดี พัค กึนฮเย ที่มีชื่อว่า การประท้วงแสงเทียน (The Candlelight Demonstration) เพิ่งผ่านพ้นไปเพียง 4 ปีเศษ เสียด้วยสิ!

1. แชโบล (Chaebol)

การปฏิรูปแชโบลที่เป็นเพียงลมปาก

...

เหตุการณ์ประท้วงเรียกร้องปฏิรูปแชโบล เมื่อปี 1998
เหตุการณ์ประท้วงเรียกร้องปฏิรูปแชโบล เมื่อปี 1998

"เราจะทำตามสัญญา" เรื่องการปฏิรูปแชโบล หลังการเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดี มุน แจอิน ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า นอกจากจะเป็นไปอย่าง "เชื่องช้า" และแทบไม่มีอะไรคืบหน้าแล้ว หนักข้อไปว่านั้น คือ ผู้นำเกาหลีใต้คนปัจจุบันยังโน้มเอียงไปในทางดำเนินนโยบายเพื่อสนับสนุนพลังอำนาจของกลุ่มแชโบลต่อไปเสียอีกด้วย

ทั้งๆ ที่ในช่วงแรกๆ ของการรับตำแหน่งนั้น ผู้นำเกาหลีใต้ทำทีเหมือนจะเอาจริงเอาจัง เรื่องการปราบปรามการคอร์รัปชันในวงราชการและนักการเมืองที่เชื่อมโยงกับกลุ่มแชโบล จนทำให้พรรคประชาธิปไตยแห่งเกาหลี (Democratic Party of Korea) ของท่านประธานาธิบดีพิชิตการเลือกตั้งท้องถิ่นได้หลายต่อหลายครั้ง อันเป็นผลมาจากความคาดหวังในการให้ "คำมั่นสัญญา" ที่ว่านั้นเอง (เอ๊ะ...นี่ไม่ใช่เหตุการณ์ในประเทศๆ หนึ่ง แถวๆ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช่ไหมนะ!)

...

อะไรคือ สิ่งที่พิสูจน์ข้อกล่าวหานี้?

กฎ 3-5 ที่ยังคงอยู่

ประธานาธิบดี มุน แจอิน ผู้นำเกาหลีใต้คนปัจจุบัน
ประธานาธิบดี มุน แจอิน ผู้นำเกาหลีใต้คนปัจจุบัน

"กระบวนการยุติธรรมของเกาหลีใต้" ถูกจับตามาเนิ่นนานแล้วว่า มักจะเลือก "ผ่อนปรน" บทลงโทษให้กับเครือญาติในตระกูลแชโบล จนกลายเป็นวลีติดปากของคนเกาหลีใต้ที่เรียกว่า "กฎ 3-5" หรือ ติดคุกจริง 3 ปี จากบทลงโทษ 5 ปี โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงลักษณะในการก่ออาชญากรรมใดๆ รวมถึงมักจะได้รับการยกเว้นโทษ หากไม่มีการทำผิดเพิ่มเติมในช่วงเวลานั้นๆ ภายใต้เหตุผล "การผ่อนปรนโทษเดิมๆ" ที่ว่า คนในตระกูลแชโบลสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ

ซึ่งเจ้า "กฎ 3-5" นี้ ได้รับการคาดหมายอย่างสูงจากชาวเกาหลีใต้ทั้งมวลว่า มันจะต้องถูก "ทำให้หมดไป" หลังการให้คำมั่นสัญญาปฏิรูปแชโบล

...

ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในเกาหลีใต้ คือ หลังถูกศาลชั้นต้นตัดสินจำคุก 5 ปี ในข้อหาติดสินบนเมื่อปี 2017 ผู้นำที่ใหญ่ที่สุดของกลุ่มแชโบล ได้รับการปล่อยตัวในอีก 1 ปีต่อมา หลังศาลอุทธรณ์ยกฟ้องข้อหาส่วนใหญ่และให้รอลงอาญา และแม้ศาลฎีกาจะมีคำสั่งให้ไต่สวนคดีนี้ใหม่จากแรงกดดันของประชาชนชาวเกาหลีใต้ และมีคำพิพากษาให้ต้องกลับไปรับโทษจำคุกอีกครั้ง แต่ในท้ายที่สุด นอกจากจะได้รับการลดโทษเหลือ 2 ปีครึ่ง ในปี 2018 แล้ว ก็ยังได้รับการปล่อยตัวก่อนพ้นกำหนดโทษอยู่ดี

อิทธิพลของกลุ่มแชโบลที่ยังครอบงำวงการสื่อมวลชนอย่างเด่นชัด

แม้ว่าเกาหลีใต้จะมีกฎหมายห้ามกลุ่มแชโบลถือครองหุ้นในกลุ่มสื่อสารมวลชน แต่การถือครองอำนาจทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ของประเทศเอาไว้ ย่อมทำให้มีอิทธิพลต่อสื่อบางสำนักได้เช่นกัน สิ่งเหล่านี้ฉายภาพได้เด่นชัด เมื่อสื่อบางสำนักที่ว่านี้ ได้แสดงท่าทีอย่างโจ่งแจ้งว่า สนับสนุนการปล่อยตัวก่อนพ้นกำหนดโทษของ "อี แจยง" ผู้นำซัมซุง อย่างชนิดไม่จำเป็นต้องแคร์ความเห็นของประชาชนด้วย

อี แจยง ผู้นำซัมซุง
อี แจยง ผู้นำซัมซุง

2. แนโรนัมบุล (Naeronambul) สองมาตรฐาน

การปฏิรูปเพื่อปราบปรามการทุจริตในวงราชการและนักการเมืองที่ไม่เกิดขึ้นจริง?

องค์กรแห่งความหวังที่กลายเป็นเพียงฝันสลาย

การก่อตั้งสำนักงานสอบสวนการทุจริตสำหรับเจ้าหน้าที่ระดับสูง (Corruption Investigation office for High-Ranking Officials) หรือ CIO ซึ่งมีอำนาจถึงขนาดสามารถสืบสวนการทุจริตของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทางราชการทั้งในอดีตและปัจจุบัน ซึ่งในที่นี้รวมถึงฝ่ายนิติบัญญัติ อัยการ ผู้พิพากษา นายกรัฐมนตรี ประธานาธิบดี เรื่อยไปจนกระทั่งถึงเหล่าเครือญาติและคู่สมรสได้ เมื่อเดือนมกราคมปี 2021 ถือเป็นอีกหนึ่งความหวังครั้งใหญ่ของชาวเกาหลีใต้

แต่แล้วเมื่อเริ่มต้นการทำงานในโลกแห่งความเป็นจริง CIO กลับเป็นองค์กรที่มีอำนาจจำกัด นั่นเป็นเพราะสามารถดำเนินการสอบสวนและดำเนินคดีได้กับบุคคลในระดับอัยการ ผู้พิพากษา และเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงเท่านั้น

โดยหากเป็นเจ้าหน้าที่ในระดับที่สูงกว่า CIO จะต้องส่งมอบหลักฐานจากการสืบสวนที่ได้มา ไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อให้เป็นผู้ตัดสินใจว่าจะเริ่มต้นกระบวนการฟ้องร้องหรือไม่

นอกจากนี้ การสอบสวนรวมถึงการใช้อำนาจในการฟ้องร้องบางกรณี ยังต้องมีการดึงเอาอัยการเข้ามามีส่วนร่วมจึงจะสามารถทำได้อีกด้วย

และช่องว่างที่เกิดขึ้นนี้เอง ทำให้ "บางคดี" ที่เชื่อมโยงถึงนักการเมืองและข้าราชการระดับสูง CIO กลับไม่สามารถทำงานไปจนสุดทางได้

การปราบปรามการทุจริตที่ถึงทางตัน (เช่นเคย) เมื่อเป็นคดีคนใกล้ตัว?

ยุน ซอกยอล
ยุน ซอกยอล

เมื่อประธานาธิบดี มุน แจอิน แต่งตั้ง ยุน ซอกยอล (Yoon Seok-youl) หนึ่งในบุคคลซึ่งได้รับความเชื่อถือเรื่องการปราบปรามการทุจริตจากชาวเกาหลีใต้เข้าทำหน้าที่อัยการสูงสุด เมื่อกลางปี 2019 ผู้นำเกาหลีใต้ได้รับเสียงชื่นชมจากทั่วทุกสารทิศ พร้อมกับการตั้งความหวังเอาไว้อย่างสูงส่งว่า หัวหอกแห่งการปฏิรูปเพื่อปราบปรามคอร์รัปชันผู้นี้ จะทำให้ทุจริตกินสินบาทคาดสินบนหมดไปจากประเทศได้

แต่แล้ว...เมื่ออัยการสูงสุดเริ่มต้นการสืบสวนคดีที่เชื่อมโยงถึงรัฐมนตรียุติธรรมและคนในครอบครัว ซึ่งเป็นพันธมิตรคนสำคัญของผู้นำเกาหลีใต้ ซึ่งเอาล่ะแม้เบื้องต้น จะทำให้พันธมิตรคนสำคัญของผู้นำเกาหลีใต้ยอมลาออกจากตำแหน่งได้ก็จริง

แต่เมื่อมีการแต่งตั้งรัฐมนตรียุติธรรมคนใหม่เข้ามาทำหน้าที่การทำงานของอัยการในคดีนี้ก็ถูกแทรกแซง หนำซ้ำ ยุน ซอกยอล (Yoon Seok-youl) ยังถูกรัฐมนตรียุติธรรมคนใหม่ ตั้งข้อหาทุจริตและประพฤติมิชอบถึง 4 กระทง จนกระทั่งถูกออกคำสั่งให้ "พักราชการเป็นเวลาถึง 2 เดือน" โดยที่ ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ลงนามรับรองในวันเดียวกับที่คำสั่งดังกล่าวมาถึงทำเนียบบลูเฮาส์เสียด้วย

อย่างไรก็ดี พฤติกรรมดังกล่าวได้สร้างความไม่พอใจให้กับเกาหลีชนทั้งมวล และนำไปสู่คะแนนนิยมในตัวประธานาธิบดี มุน แจอิน ที่ลดลงเหลือเพียง 29% ในเดือนเมษายน ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ และจนปัจจุบันก็ไม่มีทีท่าว่าจะกระเตื้องขึ้นได้อีก ทั้งๆ ที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีกำลังจะมีขึ้นในเดือนมีนาคมปี 2565 ที่จะถึงนี้แล้ว

ยุน ซอกยอล
ยุน ซอกยอล

อ่อ... "เรา" ลืมบอกคุณไป จำชื่อ ยุน ซอกยอล (Yoon Seok-youl) คนนี้เอาไว้ให้ดีๆ เพราะหลังการปะทะกับประธานาธิบดี มุน แจอิน จนโกยคะแนนนิยมได้อย่างล้นหลามแล้ว เขาเพิ่งประกาศตัวลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ในสมัยหน้า และกำลังมีคะแนนนิยมสูงลิ่วในทุกๆ โพลเสียด้วย!

ถึงแม้ว่า...ตัวเขาเองและบรรดาคนใกล้ชิด หรือแม้กระทั่งคนในครอบครัวจะเข้าไปมีส่วนพัวพันกับคดีปฏิบัติหน้าที่มิชอบ คดีทุจริตรับสินบนและฉ้อโกงหลายๆ คดี และบางคดีกำลังถูกสืบสวนโดย CIO ก็ตาม! (อ้าว...เป็นงั้นไป!)

ทั้งหมดที่ว่า ไปนี้อาจจะเป็น "ภาพสะท้อนสิ่งที่อยู่ในใจ" ของชาวเกาหลีใต้ ซึ่งพร้อมจะปะทุออกมาเปรี้ยงปร้างได้ในทุกครั้งเมื่อมีอะไรมากระทบ ไม่เว้นแม้แต่ "ซีรีส์ทางโทรทัศน์" ตราบใดที่อำนาจทางเศรษฐกิจของกลุ่มแชโบลที่เริ่มก่อตัวมาตั้งแต่ทศวรรษ 60 และยังคงแผ่ขยายออกไปอย่างไม่หยุดยั้ง ยังคงสามารถควบคุมการขับเคลื่อนความเป็นไปของประเทศเกาหลีใต้เอาไว้ได้!

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก: sathit chuephanngam

ข่าวน่าสนใจ: