ในกรณีที่มีการพบผู้เสียชีวิต "คุณ" คิดว่าสถานที่เกิดเหตุจะ "หลงเหลือ" อะไรอยู่บ้าง? เมื่อเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานได้เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุรวบรวมวัตถุพยานและเคลื่อนย้ายศพครบถ้วนตามกระบวนการแล้ว
คำตอบ กลิ่นเหม็นเน่า คราบเลือด น้ำหนอง หนอน หรืออะไรอื่นๆ ที่ไม่น่าพิสมัยอีก บลา บลา บลา ซึ่งหาก "เรา" ยังฝืนกล่าวต่อไป บางที "คุณ" อาจเบือนสายตาออกไปจากสกู๊ปชิ้นนี้ก็เป็นได้... ฉะนั้น เอาเป็นว่าทั้งหมดที่ไม่ควรกล่าวถึง คือ สิ่งที่หลงเหลือในที่เกิดเหตุ! ก็แล้วกัน
คำถามต่อมา หาก "คุณ" ต้อง "อาศัย" หรือเพียงแค่ "อยู่ใกล้ๆ" กับสถานที่ที่หลงเหลืออะไรแบบนั้น "คุณ" จะทำอย่างไรต่อไป?
ลำดับแรก "คุณ" คิดว่าร่างกายตัวเองพร้อมแค่ไหน สำหรับภารกิจเก็บกวาดและปรับปรุงสถานที่ที่หลงเหลืออะไรแบบนั้นอยู่... และนั่นอาจต้องรวมถึงการประเมิน "สภาพจิตใจ" ของ "คุณ" เองด้วย หาก "ผู้ที่จากไป" เป็นคนที่ "คุณ" ทั้งรักและผูกพัน
ลำดับต่อมา "คุณ" มีเครื่องไม้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ทำความสะอาดที่พร้อมสำหรับ "ภารกิจ" ที่ว่านี้หรือไม่?
เพราะเครื่องมือที่ว่านี้ มันต้องสามารถขจัดกลิ่นเหม็นและเชื้อโรคต่างๆ ไม่ให้หลงเหลืออยู่ในนั้นอีกต่อไป เพราะไม่เช่นนั้นมันอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของ "คุณ" เองได้
...
รวมถึงหลังจากทำความสะอาดเสร็จสิ้นแล้ว "ขยะทางชีวภาพ" เหล่านั้น "คุณ" จะนำมันไปทิ้งไว้ที่ไหน เพราะ "ขยะเหล่านี้" ไม่สามารถนำไปทิ้งตามถังขยะทั่วๆ ไป เพราะมันอาจก่อให้เกิดโรคระบาดร้ายแรงได้!
อ่านมาถึงบรรทัดนี้ มันน่าจะชักเริ่มอีนุงตุงนังไปกันใหญ่โต หากแต่...ที่เราอารัมภบทมาเสียตั้งมากตั้งมายก็เพื่อ "ปูทาง" ไปสู่คำถามที่ว่า... เหตุใดจึงต้องมีบริษัทเก็บกวาดสถานที่เกิดเหตุหลังมีผู้เสียชีวิตแบบซีรีส์ Move to Heaven?
เช่นนั้นแล้ว "เรา" ควรไปฟังการวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญ "สืบจากศพ" อย่าง นพ.สุรณรงค์ ศรีสุวรรณ ผู้อำนวยการกองมาตรฐานนิติวิทยาศาสตร์ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ในประเด็นที่ "เรา" ร่ายยาวมาเสียมากมายนี้กันดีกว่า!
สถานที่เกิดเหตุที่มีผู้เสียชีวิต อะไรคือ สิ่งที่ "คุณ" จะได้พบ?
คำตอบ แน่นอน คือ ผู้เสียชีวิต แต่สิ่งที่ "คุณ" ควรรู้คือ สภาพศพจะแบ่งออกเป็น 3 กรณีใหญ่ๆ คือ...
1. ศพเน่าแล้ว กรณีนี้คือเป็นการเสียชีวิตตั้งแต่ 3-7 วันแรกขึ้นไป สภาพศพมักจะมีน้ำเหลือง น้ำเลือด ซึ่งมีสีคล้ำๆ คล้ายน้ำกาแฟหรือโอเลี้ยง แต่จะมีลักษณะมันๆ เหมือนน้ำมันเครื่อง ซึ่งมักจะไหลเปรอะเปื้อนสถานที่เกิดเหตุ
2. ศพเน่าแห้ง กรณีนี้จะเป็นการเสียชีวิตตั้งแต่ 1-2 เดือนขึ้นไป สภาพศพก็จะเป็นเนื้อแห้งกรัง น้ำเหลือง น้ำเลือดที่ไหลออกมาจากร่างกาย ก็จะแห้งเกรอะกรังติดกับพื้นสถานที่เกิดเหตุไปด้วย
3. ศพที่เพิ่งเสียชีวิตใหม่ๆ กรณีนี้เป็นการพบศพไม่เกิน 8-12 ชั่วโมง หากเป็นการเสียชีวิตปกติจากอาการป่วยก็มักจะไม่มีปัญหาอะไร แต่หากเป็นศพในคดีฆาตกรรมที่เกิดเหตุมักจะเต็มไปด้วยคราบเลือดจำนวนมาก หรือในกรณีที่ผู้ตายป่วยมีโรคประจำตัว เช่น วัณโรค ก็อาจทำให้อาเจียนเป็นเลือดไหลอยู่ในที่เกิดเหตุจำนวนมากได้
นพ.สุรณรงค์ ให้คำตอบกับ "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์"
...
การเก็บกวาดที่เกิดเหตุอย่างเป็นระบบสำคัญมากแค่ไหน?
"จำเป็นสิครับ! การทำความสะอาดสถานที่เกิดเหตุไม่ใช่ว่าทำกันได้ง่ายๆ เพราะอย่างที่บอกไปในกรณีศพเน่า ศพแห้ง หรือศพที่ถูกฆาตกรรม สภาพที่เกิดเหตุอาจเต็มไปด้วยกองเลือด คราบน้ำเหลือง กลิ่นเหม็น ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรค ชุดป้องกันการติดเชื้อ อุปกรณ์พิเศษสำหรับกำจัดเชื้อโรคในอากาศ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง รวมถึงยังต้องมีการคัดแยกและจัดเก็บขยะทางชีวภาพอย่างเป็นระบบด้วยอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐานด้วย"
และอีกหนึ่งภารกิจที่สำคัญสำหรับบริษัทในลักษณะนี้ คือ การช่วยจัดเก็บสิ่งของสำคัญในที่เกิดเหตุให้กับ "ลูกค้า"
"ผมเคยเจออยู่หลายๆ เคสนะ ที่ทายาทของผู้ตายมาติดต่อขอรายงานการเสียชีวิต หลังจากผู้ตายเสียชีวิตไปนานร่วม 2-3 ปีแล้ว พอถามว่าเพราะอะไรจึงเพิ่งมาติดต่อ ก็ได้รับคำตอบว่า พอดีเพิ่งค้นห้องของผู้ตาย (สถานที่เกิดเหตุ) แล้วพบว่า ผู้ตายได้ทำกรมธรรม์เอาไว้ให้กับทายาท โดยสาเหตุที่เพิ่งพบกรมธรรม์ ก็เพราะทายาทยังคงระลึกถึงผู้ตายเลยอยากเก็บสถานที่เกิดเหตุเอาไว้ก่อน พอเวลาผ่านไปและพอทำใจได้ จึงเข้าไปรื้อค้นห้องจนกระทั่งพบกรมธรรม์ดังกล่าว
แต่กลับกัน หากมีบริษัทเก็บกวาดสถานที่เกิดเหตุอย่างเป็นระบบ หนึ่งในการให้บริการของบริษัทเหล่านี้ คือ การตรวจสถานที่เกิดเหตุโดยผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งนอกจากจะช่วยเก็บสิ่งของสำคัญให้กับลูกค้าได้แล้ว ในกรณีที่เป็นเหตุฆาตกรรม การตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุโดยผู้เชี่ยวชาญอาจช่วยให้พบวัตถุพยานเพิ่มเติมในคดี ที่บางทีอาจหลงหูหลงตาเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานด้วยก็เป็นได้!"
...
อะไรคือ บริการคัดเลือก "สิ่งของสำคัญ" ให้กับลูกค้า?
"ผมเคยดูสารคดีบริษัทลักษณะนี้ในประเทศญี่ปุ่น เขาไม่ได้คัดเลือกเพียงสิ่งของสำคัญในแง่ของทรัพย์สินในที่เกิดเหตุให้กับลูกค้า แต่เขาจะมีหลักเกณฑ์ในการพยายามคัดเลือกสิ่งของที่มีมูลค่าทางจิตใจให้กับลูกค้าด้วย เช่น ภาพถ่ายผู้ตาย หรือภาพถ่ายผู้ตายกับครอบครัวในอดีต มาให้ลูกค้าตัดสินใจก่อนด้วยว่าจะให้ทิ้งไปพร้อมกับสิ่งของอื่นๆ หรือไม่?"
การจัดการที่เกิดเหตุอย่างเป็นระบบ ทำความสะอาดเพียงอย่างเดียว หรือจะตัดสินใจรื้อทิ้งก็มีพร้อมให้บริการ?
บริษัทในลักษณะ Move to Heaven นอกจากจะให้บริการทำความสะอาด และค้นหาสิ่งของสำคัญในสถานที่เกิดเหตุแล้ว มักจะครอบคลุมไปถึงการให้บริการปรับปรุงสถานที่เกิดเหตุด้วย
"คือมันไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ที่ลูกค้าบางคนอาจจะยังคงระลึกถึงผู้ตายเมื่อยังได้เห็นสถานที่เดิมๆ หรือบางคนอาจจะยังไม่ลืมฝันร้ายหากสถานที่เกิดเหตุเป็นคดีฆาตกรรม รวมถึงความวิตกกังวลว่าสถานที่เกิดเหตุอาจจะยังปนเปื้อนด้วยขยะชีวภาพ
ด้วยเหตุนี้ ธุรกิจนี้ในต่างประเทศจึงคลอบคลุมไปถึงการให้บริการลูกค้าที่ต้องการรีโนเวตสถานที่เกิดเหตุใหม่ทั้งหมดด้วย หากลูกค้าต้องการ ซึ่งเท่าที่ผมพบข้อมูลของบริษัทในต่างประเทศ เขาจะมีการจ้างบริษัท Supplier เอาไว้เพื่อสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างคลอบคลุมทั้งหมด"
...
ประสบการณ์แปลกการตรวจพิสูจน์ผู้เสียชีวิตที่มีพฤติกรรมนำสิ่งของ (ขยะ) มาเก็บสะสมไว้จนเต็มบ้าน?
"กรณีแบบนี้ถือเป็นผู้ป่วยทางจิตเวชที่เห็นทุกอย่างเป็นทรัพย์สิน เห็นอะไรเป็นต้องเก็บมาให้หมด แม้ยังไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไร แต่ขอเก็บเอามาไว้ก่อนเพราะเชื่อว่า สิ่งของ (ขยะ) น่าจะเอาไปทำอะไรได้สักอย่างได้ในวันใดวันหนึ่ง
ซึ่งส่วนตัวผมเองเคยเจอมาประมาณ 2-3 เคส โดยเคสที่หนักที่สุดคือ มีผู้ตายรายหนึ่งนำขยะมาเก็บไว้จนเต็มบ้านเทาว์เฮาส์ 2 ชั้น เวลาเดินเข้าไปภายในบ้านเพื่อชันสูตรศพ ผมต้องงอตัว เพื่อผ่านกองขยะชั้นล่างที่สูงมาจนถึงระดับหน้าอกเข้าไป ซึ่งกรณีแบบนี้ยิ่งมีความจำเป็นที่ต้องใช้บริการบริษัทแบบ Move to Heaven เข้าไปใหญ่ เพราะนอกจากศพแล้ว ยังมีกองขยะที่ปนเปื้อนจำนวนมากที่ต้องเก็บกวาดอย่างเป็นระบบ" น.พ.สุรณรงค์
ประเทศไทยมีบริษัทแบบ Move to Heaven บ้างหรือยัง?
"เท่าที่ผมทราบ บริษัทที่ทำเกี่ยวกับธุรกิจเก็บกวาดสถานที่เกิดเหตุอย่างเป็นระบบแบบ Move to Heaven ในประเทศไทยน่าจะยังไม่มี!" น.พ.สุรณรงค์ กล่าว
แล้วแบบนี้ ภารกิจ "เก็บกวาด" สถานที่เกิดเหตุในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน เป็นของใครกัน?
หากเป็นในพื้นที่กรุงเทพมหานครก็มักจะใช้เป็นการจ้างวานคนทั่วๆ ไปเป็นคราวๆ ไป แต่หากเป็นบ้านหรือสถานที่เกิดเหตุในต่างจังหวัด ด้วยความที่สังคมไทยเราเป็นสังคมเอื้ออาทรกัน ก็จะได้บรรดาชาวบ้านในพื้นที่มาร่วมไม้ร่วมมือช่วยกันทำความสะอาด แต่หากหาใครมาช่วยไม่ได้จริงๆ ซึ่งส่วนใหญ่พบได้น้อยมากๆ เจ้าของพื้นที่อาจต้องลงมือทำเอง
อย่างไรก็ดี ในประเด็นการเก็บกวาดแบบไทยๆ นี้ น.พ.สุรณรงค์ ได้ตั้งข้อสังเกต รวมถึงอยากชวนให้คนในสังคมได้ลองพินิจพิเคราะห์เอาไว้ 2 ประเด็นใหญ่ๆ
ประเด็นแรก ขยะที่ปนเปื้อนน้ำเลือด น้ำหนอง ของผู้ตาย ทั้งในกรณีศพเน่าและไม่เน่านั้น ในกรณีของชาวบ้านที่อาจไม่มีความรู้ว่า มันคือ ขยะทางชีวภาพ ซึ่งอาจก่อให้เกิดโรคระบาดได้นั้น ได้ผ่านระบบการจัดการที่ถูกต้อง หรือมีการนำไปทิ้งแยกจากขยะธรรมดาๆ หรือไม่?
ประเด็นที่สอง ในสถานที่เกิดเหตุที่มีการปนเปื้อนจากสภาพศพ เช่น พื้นหรือผนังที่มีเลือดหรือน้ำหนองติดอยู่นั้น มีการรื้อทำลาย หรือได้ผ่านกระบวนการทำความสะอาด ด้วยอุปกรณ์ฆ่าเชื้อที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันการติดเชื้อแล้วหรือไม่?
*หมายเหตุ: ข้อมูลประกอบการอ่านปริมาณและการคัดแยกขยะติดเชื้อรายปี ตั้งแต่ปี 2560-2564 จากสำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
ปี 2560 ปริมาณการส่งรวม 22,903,830 กิโลกรัม ตรวจสอบยืนยัน 7,971,632 กิโลกรัม คิดเป็นสัดส่วน 35%
ปี 2561 ปริมาณการส่งรวม 26,307,665 กิโลกรัม ตรวจสอบยืนยัน 18,404,118 กิโลกรัม คิดเป็น 70%
ปี 2562 ปริมาณการส่งรวม 31,348,544 กิโลกรัม ตรวจสอบยืนยัน 19,896,466 กิโลกรัม คิดเป็น 63%
ปี 2563 ปริมาณการส่งรวม 34,021,007 กิโลกรัม ตรวจสอบยืนยัน 19,136,533 กิโลกรัม คิดเป็น 56%
ปี 2564 ปริมาณการส่งรวม 13,790,394 กิโลกรัม ตรวจสอบยืนยัน 718,966 กิโลกรัม คิดเป็น 5% (ณ วันที่เก็บรวบรวม 14 มิ.ย. 64)
สังคมเมืองใหญ่ที่แสนโดดเดี่ยวและคนไทยกำลังจะมีผู้สูงอายุจำนวนมาก คือ ปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้เกิดธุรกิจเก็บกวาดสถานที่เกิดเหตุอย่างเป็นระบบ?
"เท่าที่ทราบ ปัจจุบันในประเทศไทยเรา บริษัทที่ให้บริการรับจ้างฆ่าเชื้อทางชีวภาพก็พอมีอยู่บ้าง เพียงแต่ยังไม่ได้เจาะลงมาถึงขนาดพื้นที่บ้านพักหรือคอนโดที่อยู่อาศัย รวมถึงยังไม่มีระบบการจัดการที่คลอบคลุมการเก็บกวาดที่เกิดเหตุแบบ 100% อย่างที่เราได้เห็นในซีรีส์ Move to Heaven เท่านั้นเอง
อย่างไรก็ดี ส่วนตัวผมเชื่อว่า ภายในอีกไม่เกิน 10 ข้างหน้า น่าจะมีภาคเอกชนที่สนใจมาลงทุนในธุรกิจนี้อย่างแน่นอน นั่นเป็นเพราะปัจจุบันสังคมไทยเราเริ่มเข้าสู่สังคมสูงวัย อีกทั้งยังเริ่มกลายเป็นสังคมเมืองใหญ่ที่ต่างคนต่างอยู่ หรืออยู่อย่างโดดเดียวลำพัง เพราะแต่ละครอบครัวมีจำนวนสมาชิกน้อยลงๆ เรื่อยๆ ทุกที ซึ่งด้วยปัจจัยเช่นนี้ย่อมมีโอกาสสูงมาก ที่ต่อไปประเทศของเราจะพบจำนวนผู้เสียชีวิตเพียงลำพังภายในที่พักอาศัยมากขึ้นเรื่อยๆ
อีกทั้งปัจจุบัน หากใครยังไม่ทราบ จำนวนผู้เสียชีวิตอย่างโดดเดียวโดยที่ญาติไม่รู้ ภายในที่พักอาศัย โดยเฉพาะจากการเสียชีวิตฉับพลันจากโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ เริ่มมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ในกลุ่มผู้มีอายุประมาณ 40-50 ปี ฉะนั้น บางทีข้อมูลเหล่านี้อาจทำให้มีผู้สนใจเข้ามาทำธุรกิจนี้ในประเทศไทยเร็วขึ้นกว่าที่ผมคาดไว้ก็เป็นได้" ผู้อำนวยการกองมาตรฐานนิติวิทยาศาสตร์ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ให้ความเห็นทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจ.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
ข่าวน่าสนใจ:
- ปฐมบท Move to Heaven 5 เรื่องจริงที่น่าสะพรึง แผลใจในสังคมโดดเดี่ยว
- อกหักทั้งญี่ปุ่น เมื่อหนุ่มกลางๆ "เกนซัง" พิชิตใจแฟนสาวแห่งชาติ "งักกี้"
- สิ้นหวัง มืดมน 32 ปี Berserk กับ 5 ตอนจบทิพย์ แฟนการ์ตูนสายดาร์ก
- สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับวัคซีน "ซิโนแวค" วิเคราะห์โดย WHO
- ข้อควรรู้ก่อนฉีดวัคซีน BIBP ของ "ซิโนฟาร์ม" ประสิทธิภาพ-อัตราไม่พึงประสงค์