ไม่รู้ว่าจนถึงปี 2021 นี้ "คุณ" ยังจดจำความรู้สึกแรกของ "ตัวเอง" ในวันที่เปิดอ่านมังงะที่ทั้งชักนำและลากพา "ห้วงความรู้สึก" ของ "คุณ" ดำดิ่งลงสู่ความมืดมิดจนสุดปลายปรโลก อย่าง "เบอร์เซิร์ก" นักรบวิปลาส (Berserk) กันได้อยู่หรือไม่?

และหากก่อนอ่าน "เบอร์เซิร์ก" ในตอนนั้น "คุณ" มักคุ้นอยู่แต่กับการรับพลังด้านสว่างของมังงะที่เต็มไปด้วยความสดใส อบอุ่น และมิตรภาพ ราวกับแสงอรุณของเช้าวันใหม่ อย่างโดราเอมอน หรือกัปตันซึบาสะ หรือดราก้อนบอล "เรา" เชื่อว่า "คุณ" คงหลุดอุทานไม่ต่างกันว่า...

"นี่มันคือ การ์ตูนอะไรกัน _ะ เนี่ย?"

การเปิดเผยด้านมืดมิดของจิตใจมนุษย์อย่างตรงไปตรงมา ไม่ว่าจะเป็นความโง่เขลา อ่อนแอ หวาดกลัว สิ้นหวัง ทรยศหักหลัง กามารมณ์ แรงริษยา ความรุนแรง โหดร้าย ดิบเถื่อนราวกับสัตว์ป่าทั้งหมดนั้นถูกคลุกเคล้าให้เข้ากับความแฟนตาซีเหนือจินตนาการ และแน่นอน ฉากการต่อสู้ที่สุดเร้าใจ โดยมีฉากหลังที่สุดเข้ากันอย่าง "ยุโรปยุคกลาง"...ยุคแห่งความโสมมยุคหนึ่งของมนุษยชาติ!

หากแต่...การนำเสนอที่ "แปลกแยก" ไปจากมังงะในยุคนั้น (พอสมควร) กลับ "Touch ใจ" สาวก (ซึ่งแน่นอนว่าส่วนใหญ่เป็นมนุษย์ผู้ชาย) เข้าอย่างจัง!

ด้วยเหตุนี้ "มังงะดาร์กแฟนตาซี" จากฝีมือของอาจารย์เคนทาโร มิอุระ (Kentaro Miura) เรื่องนี้ จึงสามารถครองยอดขายรวมมากกว่า 50 ล้านก๊อบปี้ (ยอดรวมทั้งเวอร์ชันกระดาษและอิเล็กทรอนิกส์) โดยได้รับการแปลหลายภาษาสำหรับการจัดจำหน่ายใน 20 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งยังถูกนำไปทำเป็นอนิเมะซีรีส์ทางโทรทัศน์ ภาพยนตร์ และวิดีโอเกม มากมายนับไม่ถ้วน

...

หากแต่มาถึงวันนี้ หาก "คุณ" คือ "สาวกผู้อดทน" ในแบบฉบับที่ "รับได้ทุกเงื่อนไข" กับการ "รอคอย" ของมังงะอายุยืนยาว 32 ปี ที่กลั่นกรองออกมาจาก "มันสมองและภาพงานศิลปะ" ของอาจารย์เคนทาโร มิอุระ หนึ่งในศิลปินมังงะผู้ย่ิงใหญ่ของญี่ปุ่นที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก

"เรา" คงต้อง...ยอมรับความจริงกันแล้วว่า มันคงเป็นเรื่องยากที่จะได้เห็น "ตอนจบที่แท้จริง" ของมังงะด้านมืดที่ติดตามกันมาตั้งแต่ "หัวเกรียน" จนวันนี้ "ผมเริ่มสองสี" กันแล้ว

นั่นเป็นเพราะอย่างที่ "เรา" รับทราบโดยทั่วกัน อาจารย์เคนทาโร มิอุระ ได้จาก "พวกเรา" ไปอย่างกะทันหัน ด้วยวัยเพียง 54 ปี เมื่อเวลา 14.48 น. ของวันที่ 6 พฤษภาคม ตามการแถลงอย่างเป็นทางการของสำนักพิมพ์ฮะกุเซ็นฉะ (Hakusensha)

คำถามคือ มังงะที่เริ่มตอนแรกในนิตยสารการ์ตูนบวกนางแบบกราเวียร์อย่าง "Young Animal" (ในอดีตใช้ชื่อว่า Monthly Animal House) ตั้งแต่ปี 1989 และปัจจุบันมีฉบับรวมเล่มถึงเล่มที่ 40 และยังไม่อวสาน จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร ในเมื่อ...บิดาผู้ให้กำเนิดไม่ได้อยู่บนโลกใบนี้แล้ว?

และจนถึงปัจจุบัน (24 พ.ค. 2021) ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนจากทางสำนักพิมพ์ฮะกุเซ็นฉะ ว่า มังงะอายุยืนยาวมาถึง 32 ปี เรื่องนี้จะ Move on อย่างไร?

จะหยุดแค่เพียงเท่านี้ เพื่อให้การผจญภัยของนักรบรับจ้างผู้มีดาบเบ้อเร่อเป็นอาวุธ อย่าง "กัส" (Guts) เป็นตำนานขึ้นหิ้งในแบบที่ไม่จำเป็นที่ต้องมี "ตอนอวสาน" หรือจะเดินหน้าต่อไป โดยให้ "คนที่ต้องมีจิตใจหาญกล้า" มากพอ ในแบบ "ทำดีก็แค่เสมอตัว" แต่หากเกิดพลาดขึ้นมาก็ "ตกนรก" ทั้งเป็น มาสานงานต่อให้จบ

ตอนนี้ "เรา" ทำได้เพียง "รอ" เหมือนเช่นที่ "อดทนรอคอย" กันมาได้ถึง 32 ปีเข้าให้แล้ว!

อย่างไรก็ดี ในห้วงระยะเวลาสำหรับการ "รอคอย" ที่ยาวนานนี้ บรรดาสาวกเคยคิดถึง "บทอวสาน" ของมังงะเรื่องนี้กันบ้างหรือไม่?

"คำตอบ" คือ "มีแน่นอน" เพียงแต่ทั้งหมดที่ "คุณ" กำลังจะได้อ่านนี้ เป็นเพียง "ความเห็น" จากบรรดา "กลุ่มสาวก" เท่านั้น ไม่ได้มาจากอาจารย์เคนทาโร มิอุระ แต่อย่างใด

(หมายเหตุ: ในการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Le Figaro เมื่อปี 2017 อาจารย์เคนทาโร มิอุระ ยอมรับว่า การตัดสินระหว่างกัสและกรีฟิสกำลังจะมาถึงในไม่ช้า และตอนจบของเบอร์เซิร์กเองก็ใกล้จะมาถึงแล้วเช่นกัน แต่หากบอกว่ายังเหลือเนื้อเรื่องอีกประมาณ 1 ใน 4 มันก็อาจจะดูน้อยเกินไปสักหน่อย)

Spoiler Alert อาจมีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของเบอร์เซิร์ก

1. กรีฟิส (Griffith) เป็นฝ่ายชนะ

บุรุษผู้มีฉากหน้าที่สุดสมบูรณ์แบบ และเป็นตัวการที่ทำให้เกิดฉาก "ถวาย" ที่อืม...สุดที่ใจผู้อ่านจะทานทนไหว (จริงๆ) โดยหลังการทรยศหักหลังที่สุดร้าวรานครั้งนั้นทำให้กรีฟิสกลายเป็นเฟมุโต้ หนึ่งใน 5 God Hand และศัตรูที่กัสต้องการล้างแค้นให้จงได้

...

โดยบทสรุปที่ให้กรีฟิสเป็นฝ่ายชนะนี้ จะนำโลกเกิดสันติภาพภายใต้การปกครองของราชาองค์ใหม่ที่แม้จะดูน่าเคลือบแคลง แต่ก็สามารถผสมผสานมนุษย์และปิศาจให้อยู่ร่วมกันได้

อย่างไรก็ดี "การจบ" แบบนี้ ย่อมไม่ใช่ฉากจบในแบบที่สาวกเดนตายส่วนใหญ่ปรารถนาอย่างแน่นอน

2. ปิศาจเป็นฝ่ายชนะ

แม้เวลาจะผ่านมาเนิ่นนานถึง 32 ปี แต่เราได้รับรู้พลังหรือตัวตนของ God Hand ทั้ง 5 เพียงน้อยนิด อาจจะมีข้อยกเว้นอยู่บ้างกับกรณีของเฟมุโต้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพลังที่มากล้น จนกระทั่งพระเอกของเรายังแทบแตะต้องไม่ได้

ฉะนั้น มนุษย์ธรรมดาที่แม้จะล้นปรี่ไปด้วยพลังและความบ้าดีเดือดด้วยแรงแค้น ย่อมไม่มีทางที่จะเอาชนะผู้มีพลังอำนาจเหนือมนุษย์ และอยู่เบื้องหลังการควบคุมประวัติศาสตร์โลกได้อย่างแน่นอน และ God Hand จะเป็นผู้ควบคุมโลกต่อไป

3. กัสเป็นฝ่ายชนะ

นี่คือ บทสรุปที่ทุกคนอยากเห็น และอยากให้มันเป็น นั่นก็คือ ความพยายามล้างแค้นของกัสประสบความสำเร็จ บดขยี้กรีฟิสจนแหลกเป็นผุยผงไปพร้อมๆ กับการฟื้นคืนสติของแคสก้า และโลกก็กลับคืนสู่ความสงบสุข ราวกับเทพนิยายในฝัน (แต่หากใครอ่านมังงะเรื่องนี้มานาน คงคิดเหมือนๆ กันว่า มันจะเป็นไปได้หรือ?)

4. ทุกฝ่ายพ่ายแพ้

ว่ากันว่า นี่คือตอนจบในแบบที่ "สาวก" เชื่อว่า "มีความเป็นไปได้มากที่สุด" เมื่อพิจารณาจากเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นในแฟรนไชส์ นั่นคือ การต่อสู้ครั้งใหญ่จะนำพามาซึ่งความสูญเสีย ซึ่งในกรณีนี้อาจหมายถึงการเผชิญหน้ากันครั้งสุดท้ายระหว่างกองกำลังของกัสและกรีฟิส ที่แน่นอนว่า ต้องการทำลายล้างอีกฝ่ายให้สิ้นซาก

โดยบทอวสานเช่นนี้ หากเกิดขึ้นจริง อาจเป็นความต้องการสื่อถึงประเด็นที่ว่า การทำลายล้างกันและกันด้วยความคลั่งแค้นนั้น ไม่มีทางส่งผลดีกับใครในระยะยาวแน่นอน

...

"กัส" เป็นฝ่ายชนะ แต่บทสรุปสุดท้าย คือ "แพ้"

ตอนจบในลักษณะนี้ คือ กัสสามารถสังหารกรีฟิส และอาจจะรวมถึง God Hand ทั้งหมดได้สำเร็จ แต่การกระทำของเขาทำให้โลกขาดไร้ซึ่งผู้มีพลังอำนาจในการผสานมนุษย์และปิศาจเข้าด้วยกัน และนั่นอาจนำมาซึ่งสงครามที่ไม่มีวันสิ้นสุดระหว่างมนุษย์และปิศาจต่อไป และต่อๆ ไป

ส่วนหากท่านใดที่อุตส่าห์อ่านมาถึงบรรทัดนี้ ก็ยังคงงวยงงอยู่ดีว่า... "ไอ้ผู้ชายพวกนี้ มันกำลังคุยกันเรื่องอะไร?"

งั้นเดี๋ยว "เรา" มาค่อยๆ ทำความรู้จักกับมังงะแห่งความมืดมิดนี้กันทีละเล็กทีละน้อยแล้วกัน

"เคนทาโร มิอุระ" คือใคร?

อาจารย์เคนทาโร มิอุระ เกิดเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 1966 จังหวัดชิบะ ประเทศญี่ปุ่น มีความเป็นศิลปินมาตั้งแต่กำเนิดเลยก็ว่าได้ เพราะพ่อและแม่ของอาจารย์พบรักและแต่งงานกัน ขณะที่กำลังเรียนอยู่ที่ Musashino Art University หรือ MAU มหาวิทยาลัยด้านศิลปะชื่อดังของญี่ปุ่น จากนั้นคุณพ่อของอาจารย์ได้เข้าทำงานเกี่ยวกับวงการโฆษณา ส่วนคุณแม่เป็นอาจารย์สอนวิชาศิลปะ

โดยอาจารย์ฉายแววแห่งความเป็นอัจฉริยะมาตั้งแต่วัยเยาว์ เพราะอายุได้เพียง 10 ขวบ ก็สามารถสร้างมังงะซีรีส์เรื่องแรกที่มีชื่อว่า มิอุระเรนเจอร์ (Miuranger) มาให้เพื่อนร่วมชั้นเรียนได้อ่านกันเล่นๆ ได้แล้ว แถมเมื่อเริ่มสร้างผลงานชิ้นที่ 2 ที่มีชื่อว่า The Way to the Sword ก็สามารถวาดการ์ตูนโดยใช้หมึก India Ink ได้ด้วยตัวเอง

ขณะที่เมื่อเริ่มเรียนในระดับชั้นมัธยมต้น ฝีมือของอาจารย์รุดหน้าถึงขนาดสามารถใช้เทคนิคการวาดภาพแบบมืออาชีพ ผลิต "โดจิน" (Doujin) หรือการ์ตูนที่ผู้อ่านวาดขึ้นมาเอง โดยมีเนื้อหาอ้างอิงมาจากมังงะ หรืออนิเมะ เรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นหลัก เพียงแต่เนื้อหาอาจจะไม่ตรงกับมังงะ หรืออนิเมะต้นฉบับออกมาได้อีกด้วย

...

เรียกได้ว่า อาจารย์มีทั้งความจริงจังและความเป็นอัจฉริยะเพื่อเกิดมาเป็น Mangaka หรือศิลปินมังงะอย่างแท้จริง!

มังงะเบอร์เซิร์ก (Berserk) คืออะไร?

หลังการ "ชิมลาง" เข้าสู่อุตสาหกรรมมังงะในช่วงเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยนิฮอน (Nihon University) เอาล่ะ แม้อาจได้รับผลลัพธ์ที่ออกมา "ไม่สู้ดีนัก" แต่ก็ได้บ่มเพาะฝีมือของตัวเองให้รุดหน้าจนกลายมาเป็น "ดาวรุ่ง" ที่น่าจับตาคนหนึ่งของวงการ

หลังจากสามารถคว้าปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยนิฮอนในปี 1989 ได้สำเร็จ ด้วยอายุเพียง 24 ปี อาจารย์เคนทาโร มิอุระ นำประสบการณ์ที่บ่มเพาะมา ค่อยๆ ก่อร่างสร้างจักรวาลมังงะที่มีชื่อว่า Berserk ที่มีตัวเอกชื่อว่า "กัส" ซึ่งน่าจะได้รับแรงบันดาลใจมาจากอัศวินชาวเยอรมัน ผู้มีแขนขวาปลอมเป็นเหล็ก และมีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ช่วงศตวรรษที่ 16 ที่มีชื่อว่า กอตซ์ ฟอน เบอร์ลิชิงเก (Götz von Berlichingen) เข้าไปทีละเล็กทีละน้อย ในนิตยสาร Monthly Animal House ปัจจุบันใช้ชื่อ "Young Animal" จนกระทั่งมันมาโด่งดังเป็นพลุแตก เมื่อเนื้อเรื่องดำเนินเข้าสู่ความดิบเถื่อนและมืดมิดในภาค The Golden Age Arc ช่วงปี 1992

การวางตัวเอกของเรื่องให้ดูเป็น "สีเทา" และยึดถือ "ความโดดเดี่ยว" เป็นที่ตั้งท่ามกลางโลกแฟนตาซีที่สุดโหดและดิบเถื่อน สลับกับการต่อสู้กับปิศาจที่ถูกออกแบบมาอย่างโดดเด่น สามารถช่วยแก้เลี่ยนกับเนื้อเรื่องด้านมืดมิดได้เป็นอย่างดี และยังกลายมาเป็นเสน่ห์ที่สุดโดดเด่นอีกจุดหนึ่ง ซึ่งไม่อาจปฏิเสธได้ของมังงะดังเรื่องนี้

นอกจากนี้ "งานภาพ" คือ อีกหนึ่งเอกลักษณ์ที่ยากจะลอกเลียนของมังงะเรื่องนี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็น ฉากแอ็กชั่นที่เต็มไปด้วยรายละเอียดและทรงพลัง การออกแบบปิศาจ อาวุธ หรืออาคารสถานที่ ที่สามารถแสดงรายละเอียดในระดับมิลลิเมตรของหน้ากระดาษได้

ซึ่งความสุดพิถีพิถันในด้านงานภาพนี้เอง แม้มันจะได้เรียกเสียงชื่นชมได้อย่างล้นหลาม แต่มันก็แลกมาด้วยปัญหาด้านสุขภาพของอาจารย์เคนทาโร มิอุระ ที่มักจะลงมือวาดด้วยตัวเองเกือบทั้งหมดมาโดยตลอดเช่นกัน!

ซึ่งการมุ่งมั่นและทำงานอย่างหนักของอาจารย์ เป็นที่เลื่องลือในวงการ โดยอาจารย์เคยยอมรับว่า ทำงานเฉลี่ยถึงวันละ 15-16 ชั่วโมง โดยไม่มีวันหยุด และไม่มีผู้ช่วย

ซึ่งการเริ่มมีปัญหาด้านสุขภาพนี้เองที่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ในระยะหลังๆ "เรา" จึงได้เริ่มอ่านเบอร์เซิร์กช้าลง และช้าลงเรื่อยๆ จนกระทั่ง ณ เวลานี้ เราอาจไม่มีวันได้อ่านตอนอวสานจากมันสมองของอาจารย์ผู้เป็นอีกหนึ่งตำนานท่านนี้อีกต่อไปแล้ว.

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก: เทพอมร แสงธรรมาพิทักษ์

ข่าวน่าสนใจ: