“บ้าน วัด โรงเรียน” หรือ เรียกรวมกันในตัวย่อว่า “บวร”
นี่คือสภาพสังคมไทย ที่ 3 สถาบันหลักรวมกันเป็นชุมชน และทุกๆ วิกฤตการณ์จะร่วมกันฝ่าฟัน และผ่านพ้นไป
ไม่ว่าจะเป็นภัยคุกคามประเภทไหน สถาบันสงฆ์ จะอยู่คอยช่วยเหลือชาวบ้าน ประชาชนมาโดยตลอด
แต่สำหรับ โรคระบาดครั้งนี้ พระ เณร เด็กวัด มัคนายก หรือแม้แต่ สัปเหร่อ...ก็เดือดร้อนไปด้วย
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสได้พูดคุยกับ นายณรงค์ ทรงอารมณ์ ผอ.สำนักพุทธศาสนาแห่งชาติ เล่าเบื้องหลังความเดือดร้อนของพระสงฆ์ รวมไปถึงแนวทางในการต่อสู้โควิดของวัดทั่วประเทศว่า ตั้งแต่การระบาดครั้งก่อน สำนักพุทธฯ ได้ขอความร่วมมือพระสงฆ์ให้ระมัดระวังตัวเอง เพื่อป้องกันโควิด โดยออกจากวัดก็ให้ใส่แมสก์ 2 ชั้น ไม่ให้เดินทางไปในพื้นที่สีแดง รวมถึงการรับกิจนิมนต์ ส่วนพื้นที่ไหน สามารถบิณฑบาตได้ เมื่อกลับเข้ามา ก็ให้ทำความสะอาด ร่างกาย สบง จีวร ทันที
โควิดระลอกใหม่ “พระติดเชื้อ” ไม่เกิน 20 รูป
...
นายณรงค์ เผยว่า ในการระบาดระลอกใหม่นี้ ทางสำนักพุทธฯ ได้เก็บรวบรวมข้อมูลทุกวัน พบว่า มีพระติดเชื้อไม่มาก ไม่เกิน 20 รูป
“ช่วงแรกที่ระบาดในระลอกใหม่ พบการเคลื่อนย้ายของพระ ตัวอย่าง คือ พระจำวัดอยู่วัดหนึ่งในต่างจังหวัด แต่ได้เดินทางมาเรียนหนังสือในพื้นที่สีแดงเข้ม ในกรุงเทพฯ“
แต่เมื่อเรียนเสร็จ ท่านก็กลับวัด โดยไม่ได้ swab (ตรวจโควิดแบบแหย่จมูก) ปรากฏว่านำเชื้อไปติดคนในวัด ด้วยเหตุนี้ ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องการปิดวัด ประสานไปยัง คณะสงฆ์ และสำนักงานพุทธศาสนาจังหวัด (พศจ.) ให้เอื้อเฟื้อภัตตาหาร โดยใช้วิธีการเดียวกับประชาชนทั่วไป นำภัตตาหารมาถวาย โดยหลีกเลี่ยงการสัมผัส
จากนั้น จึงมีนโยบายเพิ่มเติมในช่วงระบาดรุนแรงว่า หากมีการเดินทางไปพื้นที่เสี่ยง จำเป็นต้องกักตัว และตรวจโควิดก่อน จากนั้นเว้นระยะและตรวจซ้ำอีกครั้ง หากมีการตรวจพบว่ามีพระติดโควิด ก็จะประสานไปยัง อสม. (อาสาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง มาทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรค
ยังรอคำตอบ เยียวยาพระสงฆ์ วันละ 60 บาท
นายณรงค์ เผยว่า ที่ผ่านมา สำนักพุทธฯ ได้มีการร้องขอให้รัฐบาลช่วยเหลือพระสงฆ์ โดยให้ช่วยเยียวยา เป็นค่าภัตตาหาร รูปละ 60 บาท เนื่องจากพระบางวัดไม่สามารถบิณฑบาตได้ ทำให้เกิดความเดือดร้อน
“เรื่องนี้ ยังติดขัดอยู่ ในกระบวนการตีความ ประเภทบุคคล ซึ่งยื่นเรื่องไปปีกว่าแล้ว และที่ผ่านมา ได้เข้าชี้แจงคณะกรรมการที่ดูแลเรื่องนี้แล้ว เราเห็นว่า “พระสงฆ์” ก็เป็นเหมือนประชาชนทั่วไป พอมีเหตุการณ์อะไร พระสงฆ์จะให้การช่วยเหลือประชาชน แต่เวลานี้พระสงฆ์เองก็เดือดร้อน ก็อยากได้รับการเยียวยาเช่นเดียวกับประชาชนบ้าง”
พื้นที่สีแดงยังบวชไม่ได้
ผอ.สำนักพุทธศาสนาแห่งชาติ ยังกล่าวถึงเรื่องการบวชในช่วงนี้ว่า เวลานี้การแพร่ระบาดยังหนักหน่วงอยู่ ดังนั้น ในช่วงนี้จึงอยากให้มีการงดเว้นไปก่อน แต่ถ้าอยากจะบวชจริงๆ จะต้องผ่านการตรวจหาเชื้อก่อน ซึ่งเราเข้าใจดีว่ามันอาจจะมี “ค่าใช้จ่าย” ซึ่งปัญหานี้ เราอาจจะให้ใช้แบบประเมินกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งก็ถือว่าใช้ได้
...
จะมีการใช้หลักเกณฑ์คนที่ได้รับวัคซีนมาพิจารณาหรือไม่ นายณรงค์ ยืนยันว่า แม้จะฉีดวัคซีนแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ติดโควิด แต่จะทำให้อาการจากหนักเป็นเบา ทั้งนี้ แนวคิดนี้ถือเป็นแนวคิดที่ดี อาจจะมีการนำมาพิจารณาเพิ่มเติมในเวลาถัดไป
“การฉีดวัคซีน มันดีกว่า แค่ตรวจ Swab อยู่แล้ว เพราะถ้าไม่ฉีดก็มีความเสี่ยงอยู่ทุกวัน”
หลายวันที่ผ่านมา เริ่มฉีดวัคซีนให้พระแล้ว โดยกำลังรวบรวมข้อมูลในส่วนต่างจังหวัดอยู่ แต่ในกรุงเทพฯ ฉีดแล้ว 500 รูป ซึ่งทุกรูปไม่มีผลค้างเคียง
“พระถือเป็นกลุ่มเสี่ยงหนึ่งที่อาจจะติดโควิด เพราะท่านพบปะผู้คนเยอะ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง ชายแดน พม่า ลาว ซึ่งล่าสุด คือได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว”
ผอ.สำนักพุทธฯ ยังเน้นย้ำว่า ถ้าเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม ยังไม่สามารถบิณฑบาตได้ ยกเว้นพื้นที่สีอื่นๆ แต่เมื่อกลับถึงวัดแล้ว ต้องรีบทำความสะอาดร่างกาย ล้างเท้าให้สะอาด
ฌาปนกิจศพผู้ติดเชื้อโควิด ก็คือความเสี่ยง พระ-สัปเหร่อ
...
“ฌาปนกิจศพผู้ป่วยโควิดถือเป็นความเสี่ยงหนึ่งของพระ ซึ่งถือเป็นความจำเป็นการได้รับวัคซีน หากฉีดช้าไป เกิดพระติดเชื้อจำนวนมาก จะส่งผลต่อการ “ฌาปนกิจศพ” ก็อาจจะกลายเป็นเรื่องยุ่งยากได้
“นี่เป็นเหตุผลหนึ่ง ที่ “พระ” ต้องได้รับวัคซีน ส่วนอีกคนก็คือ สัปเหร่อ เพราะในขั้นตอนการฌาปนกิจศพ จำเป็นต้องใช้สัปเหร่อ เพราะสัปเหร่อจะทำหน้าที่บอกขั้นตอนการทำพิธี ซึ่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไม่สามารถทำได้ ที่สำคัญคือ สัปเหร่อ ไม่ได้มีทุกวัด”
ด้วยเหตุนี้ จึงอยากขอความร่วมมือ โรงพยาบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า หากจำเป็นต้องฌาปนกิจศพผู้ป่วยโควิด ขอให้แจ้งมาที่สำนักพุทธฯ ในทุกจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักพุทธฯ ในแต่ละจังหวัดจะเข้ามาอำนวยการติดต่อวัด
“การเผาศพผู้ป่วยโควิด วัดไม่ได้รังเกียจรังงอน แต่ที่ผ่านมาก็มีข้อจำกัดบางประการ อยากจะขอความร่วมมือเจ้าภาพว่า “อย่าเลือกวัด” เพราะที่ผ่านมา บางคนอยากจะนำศพไปเผาที่วัดในภูมิลำเนาตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องสุ่มเสี่ยง ฉะนั้น อยากแนะนำว่า หากมีวัดที่สามารถทำพิธีฌาปนกิจศพได้ ก็ให้ทำการเลย”
จากนั้นก็จะช่วยกันยกเข้าไปเผาในเตาเผา จากนั้น สัปเหร่อ จะดูแลการเผาศพ ควบคุมดูแลการเผา ซึ่งเรื่องนี้คงต้องมีการพูดคุยเรื่องการฉีดวัคซีนให้กับสัปเหร่อด้วย
...
ที่ผ่านมา ได้ยินข่าวว่ามีวัดในกรุงเทพฯ ไม่กี่แห่งที่จะรับฌาปนกิจศพ เรื่องนี้จริงหรือไม่ นายณรงค์ ระบุว่า บางวัดมีข้อจำกัดจริงๆ คือ
1.บางวัดไม่มีเมรุเผาศพ หรือสัปเหร่อ
2.บางวัดเข้าใจผิดว่า “เตาเผา” ไม่สามารถเผาได้ ซึ่งความจริงคือเผาได้ และได้ทำความเข้าใจไปแล้ว (ปัจจุบันมีเตาเผาแบบน้ำมัน เตาไฟฟ้า)
ผอ.สำนักพุทธฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า สภาวะแบบนี้พระยังพออยู่กันได้ ศรัทธาญาติโยมในพื้นที่เขาก็ยังดูแลพระกันอยู่ ถ้าญาติโยมคนไหนเห็นพระลำบาก เห็นวัดวาชำรุดก็อยากให้เข้าไปช่วยเหลือบ้าง ถึงแม้จะรู้ว่าทุกคนกำลังลำบาก ขอแค่พระพออยู่ได้ก็ถือว่าดีที่สุดแล้ว
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ