"ฉันจะบอกเป็นครั้งแรกเลยนะ...รู้ไหมฉายาในโลกมาเฟียของฉันคืออะไร? ในภาษาเกาหลี มันคือ แมวที่อิ่มแปล้ ถ้ามันจับหนูมา มันจะเล่นกับหนูทั้งวัน ก่อนที่จะเขมือบ ไอ้โจรที่ฆ่าพ่อแม่บุญธรรมของฉันตอนเด็ก พอฉันกลายเป็นมาเฟีย ฉันตามรังควานมันถึง 2 ปี แล้วไอ้เวรนั่น ก็พยายามฆ่าตัวตาย ฉันพามันไปรักษาในโรงพยาบาลที่ดีที่สุด และให้มันออกมา และวันที่มันออกมา ฉันเลี้ยงอาหารมื้อที่ดีที่สุด และฆ่ามันตายทันที"

และ...อีกหนึ่งวรรคทองอันควรค่าแก่การจดจำ

"ฉันมีกฎอยู่ข้อหนึ่ง การตายที่ไม่เจ็บปวดถือเป็นการให้พร ต่อไปนี้ ฉันจะให้ 2 สิ่งกับพวกแก ความละอายใจที่ยิ่งกว่าความตาย แล้วก็...การตายอย่างช้าๆ ที่จะต้องสัมผัสถึงความเจ็บปวด"

2 Dialogue อันน่าชวนขนหัวลุกเสียวสันหลังวาบ และสุดเข้ากันกับซีนเปิดตัว ด้วยท่าหันหลังโยนไฟแช็ก "เผาไร่องุ่น" จนวอดวายวินาศสันตะโร ที่มุ่งหมายสื่อถึงความเป็นตัวตนที่ชัดเจนที่สุด สำหรับ "ทนาย" ผู้สร้างปรากฏการณ์แห่งปี 2021

Vincenzo Cassano หรือ "วินเชนโซ่ ทนายมาเฟีย" ซีรีส์เกาหลีทุนสร้างสูงลิ่ว 20,000 ล้านวอน!

คอนซีลเยเร (Consigliere) ผู้แข็งแกร่งและสุดเหนือชั้น แต่มาพลาดท่าให้กับ "ทริก" ของ 18 มงกุฎระดับฟลอร์ๆ จนแทบสูญสิ้นลาย จากนั้นเรื่องราวทั้งหมดของซีรีส์ก็ "พลิกผัน" ไปจากการ "เปิดตัวสุดอลัง" ในช่วงต้นเรื่องแบบชนิดเหนือความคาดหมายทั้งปวง!

ว่าแต่...ตกลงในความเป็นจริง มาเฟียอิตาลีเป็นแนวดุดัน หรือเต็มเปื้อนไปด้วยความรื่นภิรมย์ ในแบบที่ "เรา" ได้เห็น "ซง จุงกิ" (Song Joong Ki) รับบท "วินเชนโซ่ กาซาโน" ในซีรีส์วินเชนโซ่ ทนายมาเฟีย กันแน่นะ?

...

ต้นกำเนิด "มาเฟีย" (Mafia)?

มาเฟีย คือ เครือข่ายของกลุ่มอาชญากรรมที่ถือกำเนิดขึ้นบนเกาะซิซิลี (Sicily) ประเทศอิตาลีในช่วงศตวรรษที่ 19

เบื้องต้นแม้ว่าจะยังไม่รู้ถึงต้นกำเนิดที่ชัดเจนของคำว่า Mafia แต่ เซลวิน ราบ (Selwyn Raab) อดีตนักข่าวสายสืบสวนของหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทม์ และผู้เขียนหนังสือตีแผ่วงการมาเฟียอย่าง Five Families: The Rise Decline และหนังสือ Resurgence of America’s Most Powerful Mafia Empires ตั้งข้อสังเกตว่า คำว่า "Mafia" น่าจะเป็นคำที่มาจากคำว่า "Mafioso" สำนวนสแลง ซิซิลี-อาหรับ ที่มีความหมายว่า

"ทำหน้าที่เป็นผู้ปกป้องความเย่อหยิ่งของผู้มีอำนาจ"
"acting as a protector against the arrogance of the powerful"

โดยแต่เดิมนั้น คำว่า Mafioso ไม่ได้ถูกใช้เรียกกลุ่มอาชญากร แต่มันถูกใช้เรียกกลุ่มคนที่ขบถต่ออำนาจการปกครองในอดีต อย่างไรก็ดี ในเวลาต่อมา เมื่อกลุ่มคนเหล่านี้มีความกล้าแข็งมากขึ้น บางกลุ่มได้แยกตัวออกไปจัดตั้งเป็นกองกำลัง เพื่อรีดไถเงินค่าคุ้มครองจากบรรดาเจ้าของที่ดิน และในที่สุดก็ค่อยๆ พัฒนาไปสู่การก่ออาชญากรรมในรูปแบบต่างๆ ถึงขนาดสร้างเครือข่ายที่สามารถครอบงำได้ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง และเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปว่า "มาเฟียซิซิลี" และได้ข้ามเข้าไปแผ่อิทธิพลในประเทศสหรัฐอเมริกาช่วงปี 1920 ด้วย

อย่างไรก็ดี ภายในแก๊งมาเฟียจะมีจรรยาบรรณ และความจงรักภักดีอันเป็นประเพณีเก่าแก่ที่สมาชิกทุกคนต้องยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ที่เรียกว่า "โอเมอร์ตา" (Omerta) หรือ "รหัสแห่งความเงียบ" นั่นก็คือ การที่สมาชิกทุกคนจะต้อง "เงียบ" และ "ปฏิเสธ" ความร่วมมือใดๆ ที่จะนำไปสู่การให้ข้อมูลหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการก่ออาชญากรรมใดๆ กับเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเด็ดขาด!

การปกครองในระบอบ "มาเฟีย"

เว็บไซต์สำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐอเมริกา (Federal Bureau of Investigation) หรือ FBI เปิดเผยโครงสร้างการปกครองในระบอบมาเฟีย หรือที่คนทั่วๆ ไปมักเรียกว่า "โครงสร้างครอบครัว" (Family Structure) เอาไว้ดังต่อไปนี้...

     1. บอส (Boss) หรือดอน (Don)

...

เจ้านายสูงสุดขององค์กร ผู้ทำหน้าที่ "ตัดสินใจ" ขั้นสุดท้ายในทุกๆ กรณี ไม่ว่าจะเป็นข้อพิพาทการเงิน หรือแม้กระทั่งชะตาชีวิตของสมาชิกในองค์กร

    2. คอนซีลเยเร (Consigliere)

เพื่อนคู่ใจ ผู้กุมความลับของครอบครัว และที่ปรึกษาผู้ใกล้ชิดของ "ดอน" มักทำหน้าที่เป็น "คนกลาง" ในกรณีพิพาทต่างๆ เช่นเดียวกับการเป็น "ตัวแทน" ไปเจรจากับครอบครัว (แก๊งอื่นๆ) และแน่นอนยังรวมไปถึงการประสานงานกับเครือข่ายต่างๆ ที่ให้ผลประโยชน์กับองค์กรด้วย

"คอนซีลเยเร" เป็นเพียงหนึ่งในสมาชิกน้อยคนขององค์กรที่สามารถ "โต้แย้ง" กับ "ดอน" ในเรื่องการตัดสินใจขั้นสุดท้ายต่างๆ ได้ อีกทั้งยังมีหน้าที่คอยกำกับให้คนในครอบครัวมี "ภาพลักษณ์" ที่ดีในสังคมให้มากที่สุดด้วย

ทั้งนี้ "คอนซีลเยเร" โดยปกติ คือ บุคคลที่ห้ามครอบครัวอื่น "แตะต้อง" อย่างเด็ดขาดด้วย

     3. อันเดอร์บอส (Underboss)

ผู้มีอำนาจสั่งการในลำดับที่ 2 ขององค์กร โดยมากมักเป็นสมาชิกในครอบครัว เช่น "ลูกชาย" ซึ่งจะได้รับการดูแลเป็นอย่างดี เพื่อเตรียมสืบทอดอำนาจต่อจาก "ดอน" ในกรณีที่เริ่มอายุมากขึ้น ป่วย หรือมีความเสี่ยงที่จะต้องเข้ารับโทษในคุก

     4. คาโปเรจิเม (Caporegime) หรือ Capo

ตำแหน่งนี้ หากเทียบกับยศทหารก็คือ ยศร้อยเอก (Captain) ผู้สั่งการทหารหน่วยปฏิบัติการกลุ่มย่อยในแนวหน้า โดยตำแหน่ง Capo นี้จะมากหรือน้อย มักขึ้นอยู่กับว่า ภายในครอบครัวแก๊งมาเฟีย มีจำนวนสมาชิก (ลูกชาย) และธุรกิจรายรับของแก๊งว่ามากหรือน้อยเพียงใด

โดย Capo สามารถเก็บเงินในส่วนที่ตัวเองหาได้เอาไว้ส่วนหนึ่ง ก่อนจะส่งมอบต่อให้กับอันเดอร์บอส และบอส ผู้รับเงินคนสุดท้ายต่อไป

...

     5. โซลเดอร์ (Soldier)

ตำแหน่งระดับต่ำที่สุดขององค์กร เป็นหน่วยงานระดับปฏิบัติการ ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือก่ออาชญากรรมในรูปแบบต่างๆ ด้วยเหตุนี้ จึงต้องเป็นผู้ทำพิธีสาบานตนและยึดถือจารีต โอเมอร์ตา (Omerta) อย่างเคร่งครัดที่สุด

     6. สมาชิกทั่วๆ ไป (Associate)

ไม่ใช่สมาชิกที่แท้จริงขององค์กร เป็นเพียงคนที่ "ทำงานร่วมกับองค์กร" ในสาขาอาชีพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้า ตำรวจ หรือแม้กระทั่งนักการเมือง โดยมีหน้าที่ส่งเงินส่วนแบ่งของรายได้ที่มาจากการทำผิดกฎหมายของตัวเองไปยังผู้บังคับบัญชา อย่างไรก็ดีหาก "ใคร" สามารถทำงานได้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย อาจได้รับการเลื่อนขั้นให้เข้าสู่ตำแหน่งโซลเดอร์ได้!

เอาล่ะ "เรา" ทำความรู้จักกับ "โลกมาเฟีย" กันไปพอสมควรแล้ว ทีนี้ในซีรีส์ "พ่อทนายหนุ่มหน้าหวาน" มีอะไรที่น่าสนใจอีกบ้าง?

ทำไม "วินเชนโซ่ กาซาโน" ต้องเป็น "ซง จุงกิ"?

"การแสดงอันยอดเยี่ยมที่สามารถถ่ายทอดมุมมองอันหลากหลายของตัวละครเอกในซีรีส์ The Innocent Man ซึ่งมีตั้งแต่ความไร้เดียงสา ความโดดเดี่ยว หรือแม้กระทั่งด้านมืด ทำให้ ซง จุงกิ คือ เพื่อนร่วมงานที่ยอดเยี่ยม และเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้ร่วมงานกับผู้ที่สามารถสร้างสมดุลของซีรีส์ ที่มีทั้ง "ความจริงจัง" และ "ความขบขัน" ในเวลาเดียวกันได้อย่างสุดลงตัว"

...

คิม ฮีวอน (Kim Hee-won) ผู้อำนวยการสร้างซีรีส์ฟอร์มยักษ์ กล่าวถึงการตัดสินใจเลือก "ซง จุงกิ" ให้มารับบท คอนซีลเยเร ที่มีทั้งความแข็งแกร่งและขี้เล่นอย่างสุดเหลือเชื่อในคนคนเดียวกัน

เกิดอะไรขึ้นบ้าง หลังเกิดปรากฏการณ์ "ทนายมาเฟีย"?

การจัดอันดับชื่อเสียงและความนิยมของศิลปิน Kpop หรือ (Brand Reputation Ranking) ที่ถูกจัดทำขึ้นโดยสถาบันวิจัยชื่อเสียงองค์กรแห่งเกาหลีใต้ (Korea Institute of Corporate Reputation) ที่ใช้การรวบรวมข้อมูลและการวิเคราะห์มาจากการมีส่วนร่วม การออกสื่อ การเป็นพรีเซ็นเตอร์ และการรับรู้ของสาธารณะ ของนักแสดง 50 คนที่ปรากฏตัวในซีรีส์ที่ออกอากาศระหว่างวันที่ 5 เมษายน ถึง 5 พฤษภาคม

พบว่า "ซง จุงกิ" ครองตำแหน่งอันดับหนึ่ง โดยมีดัชนีอยู่ที่ 8,830,758 นอกจากนี้ Vincenzo ยังเป็น Keywords ที่ถูกค้นหามากที่สุดในโลกออนไลน์ด้วย

นอกจากนี้ ความโด่งดังของซีรีส์วินเชนโซ่ยังเป็นแรงหนุนชั้นดีให้กับ CJ ENM บริษัทสื่อบันเทิงชั้นนำของเกาหลีใต้ และเจ้าของช่องเคเบิลทีวี tvN ซึ่งเป็นช่องที่ออนแอร์ซีรีส์วินเชนโซ่อีกด้วย

โดยผลประกอบการไตรมาสแรกปีนี้ (ปี 2021) ของ CJ ENM มีผลกำไรจากการดำเนินการ (Operating Profit) ทำสถิติสูงถึง 93,600 ล้านวอน หรือเพิ่มขึ้นถึง 135.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของเมื่อปีที่ผ่านมา ในขณะที่ กำไรสุทธิ (Net Profit) มีตัวเลขสูงถึง 81,000 ล้านวอน หรือเพิ่มขึ้น 168.6% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับเมื่อปีที่ผ่านมา

ส่วนบริษัทผลิตละครโทรทัศน์ Studio Dragon ผู้สร้างซีรีส์ Vincenzo (และอยู่ในเครือของ CJ ENM) ได้แจ้งผลประกอบการไตรมาสแรกที่มี "ผลกำไร" สูงถึง 17,900 ล้านวอนหรือเพิ่มขึ้น 53.6% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของเมื่อปีที่ผ่านมา

ซีรีส์วินเชนโซ่ ทนายมาเฟีย คือ Black Comedy?

การถือกำเนิดของ Dark Hero ที่ห่างไกลจากขนบของซีรีส์เกาหลีโดยทั่วไป การข้ามเส้นของศีลธรรม หรือแม้กระทั่งการใช้ความรุนแรงตามแบบแผนของมาเฟีย เข้าต่อสู้กับอำนาจที่ไม่เป็นธรรม กลายเป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวาง ถึงแม้ความโหดเหี้ยมตามแบบฉบับมาเฟียอันน่าตกตะลึงที่ว่านี้ จะถูกเจือลงด้วยมุกตลกที่สลับกันเข้ามาเกือบตลอดเวลาก็ตาม

ด้วยเหตุนี้ ซีรีส์ Vincenzo จึงถูกสื่อในเกาหลีใต้ เรียกว่า Black Comedy!

โดย "ซง จุงกิ" ให้สัมภาษณ์กับสื่อของเกาหลีใต้ในประเด็นนี้ หลังการออนแอร์ตอนสุดท้ายของซีรีส์ ซึ่งมีการใช้ศาลเตี้ยลงโทษคนร้ายอย่างเหี้ยมเกรียม จนเรตติ้งพุ่งทะลุ 14.6% เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า...

"ผมไม่คิดว่า วิธีการของวินเชนโซ่มันดูเหี้ยมโหดมากเกินไปนักนะ เพราะผมคิดว่า เราควรลงโทษผู้ที่กระทำการเลวร้ายในทุกวิถีทาง และทุกแม้ว่า มันจะเป็นตัวละครที่ถูกสมมติขึ้น แต่ผมก็รู้สึกพอใจมาก กับวิธีการที่ใช้ลงโทษเหล่าคนร้ายในซีรีส์นี้"

ส่วนในมุมมองของผู้สวมบทบาททนายมาเฟีย มองว่า ตัวละครนี้เป็นฮีโร่ หรือไม่นั้น "ซง จุงกิ" ยอมรับว่า ในมุมมองของเขา วินเชนโซ่คงยากที่จะถูกเรียกได้ว่าเป็น "ฮีโร่" ได้

"มันก็คงเป็นอย่างที่วินเชนโซ่พูด เขาเป็นเพียงขยะที่กำจัดขยะด้วยกันเท่านั้น"

End credit

Spoiler Alert!!!
อาจมีเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของซีรีส์ วินเชนโซ่ ทนายมาเฟีย

อะไรคือ Easter Eggs ที่บางที "คุณ" อาจพลาดไปในซีรีส์ Vincenzo?

     1. วินเชนโซ่ ไม่ได้ถ่ายทำในประเทศอิตาลี

เนื่องจากข้อจำกัดในการเดินทาง อันเป็นผลพวงมาจากการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ทำให้ทีมงานและนักแสดงไม่สามารถเดินทางไปถ่ายทำในสถานที่จริงในประเทศอิตาลีได้ (ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นในตอนแรกของซีรีส์ รวมถึงซีนเผาไร่องุ่นอันสุดลือเลื่อง ทั้งหมดมันถูกเฉลยว่า เป็นการใช้คอมพิวเตอร์กราฟิก หรือ CG ทั้งสิ้น

     2. ชื่อของต้นไม้ในกระถางที่สำนักกฎหมายฟางข้าว เป็นชื่อของตัวละครในซีรีส์ที่ "ซง จุงกิ" เคยแสดงในอดีต

กระถางที่ 1 ซึ่งมีชื่อว่า พุงโฮ (Poong-ho) มาจาก จี พุงโฮ (Ji Poong-ho) นักสเกตน้ำแข็งบทบาทการแสดงแรกๆ ของ ซง จุงกิ ในซีรีส์ Triple เมื่อปี 2009

กระถางที่ 2 ซึ่งมีชื่อว่า มารู (Ma-ru) มาจาก ตัวละครที่เขารับบทนำเป็นครั้งแรก ที่มีชื่อว่า "คัง-มารู" นักศึกษาแพทย์ผู้ฉลาดล้ำลึกในซีรีส์ The Innocent man ในปี 2012

กระถางที่ 3 ชีจิน (Si-Jin) มาจากยูชีจิน ตัวละครที่เขาแสดงนำ ในซีรีส์ Descendants of The Sun เมื่อปี 2016 ซึ่งบทนี้เองที่ส่งให้เขากลายเป็นนักแสดงแถวหน้าของเอเชีย

กระถางที่ 4 อึน-ซอม (Eun-seom) มาจาก อึน-ซอม ตัวละครที่เขาแสดงนำ ในซีรีส์ Arthdal Chronicles เมื่อปี 2019

     3. ตัวละคร ชนชั้นขยะปฏิวัติจักรวาล (Space Sweepers) แฝงตัวเข้ามาในซีรีส์

ใน EP.8 ทนายหน้าหล่อของเรา แอบใช้นามแฝงว่า แทโอ (Tae Ho) ในภารกิจขัดขวางไม่ให้มีการร่วมลงทุนกับ "บาเบลกรุ๊ป" ซึ่งชื่อ "แทโอ" นี่คือชื่อของตัวละครที่เขารับบทนำในภาพยนตร์ ชนชั้นขยะปฏิวัติจักรวาลในปีนี้ นั่นเอง!

     4. การปรากฏตัวเป็น Cameo ของ 2 สมาชิก 2PM "นิชคุณ" และ "ชานซอง"

ในเมื่อมี "แทคยอน" (Taecyeon) รับบทเด่นในซีรีส์แล้ว การจะมีสมาชิก 2PM มาปรากฏตัวอีกสัก 2 คนมันย่อมดีอยู่ไม่น้อย ด้วยเหตุนี้ ใน EP.12 ขณะที่ "จุนอู" ตัวร้ายที่รับบทโดย "แทคยอน" กำลังดูซีรีส์ในโทรทัศน์ ซึ่งมีการสนทนาระหว่าง 2 ตัวละคร เรื่องการเปิดตัวในฐานะทายาทที่แท้จริง พ่อหนุ่ม 2 คนที่เห็นแวบๆ ในทีวี ก็คือ "นิชคุณ" และ "ชานซอง" นั่นเอง

     5. เมื่อ "บัณฑิตหน้าใส" ขอปรากฏตัวในซีนเรียกเสียงฮามากที่สุดซีนหนึ่งของซีรีส์

EP.15 ทนายมาเฟียของเรา ถูกขอร้องแกมบังคับให้ต้องรับหน้าที่เป็น "ร่างทรง" ที่มีชื่อว่า "ยอริม" (Yeo-rim) อันสุดแสนฮา เพื่อหลอกลวงเจ้าของธุรกิจหนังสือพิมพ์ ซึ่งชื่อ "ยอริม" ที่ว่านี้ มันก็คือ "ชื่อเล่น" ของตัวละคร "กู ยงฮา" ที่ "ซง จุงกิ" เคยรับบทเด่นในซีรีส์ Sungkyunkwan Scandal หรือ บัณฑิตหน้าใสหัวใจว้าวุ่น เมื่อปี 2010 นั่นเอง.

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

ข่าวน่าสนใจ: