• เผยเบื้องหลังทวงคืน ทับหลังปราสาทหนองหงส์ และปราสาทเขาโล้น ทับหลังทรงคุณค่าที่หายไปตั้งแต่ปี 2508

  • หลักฐานภาพถ่าย หัวใจสำคัญทำให้ได้คืน ผนวกกับเข้าข้อกฎหมายไทย พ.ร.บ.วัตถุโบราณ 2504 และสหรัฐฯ ไล่บี้ฟอกเงิน

  • ลุยต่อ! เดินหน้าทวงคืน ประติมากรรมสัมฤทธิ์ จากกรุพระประโคนชัย กระจายอยู่ในพิพิธภัณฑ์เกือบทุกรัฐของอเมริกา

33 ปีมาแล้ว (ปี พ.ศ. 2533) ประเทศไทยได้รับ “ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์” กลับคืนจากสถาบันศิลปะแห่งชิคาโก สหรัฐอเมริกา ตอนนั้นคนไทยต่างดีใจที่สามารถทวงคืน “สมบัติ” ชาติได้สำเร็จ

สังคมตื่นตัว พี่แอ๊ด คาราบาวถึงกับแต่งเพลง “เอาไมเคิล แจ็คสัน คืนไป เอาพระนารายณ์คืนมา...”

แต่เมื่อมาถึงยุคนี้ สยามประเทศอย่างไทยสามารถทวงคืนสมบัติชาติอีก 2 ชิ้น คือ “ทับหลังปราสาทหนองหงส์” ที่บ้านโนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ และ “ทับหลังประสาทเขาโล้น” จ.สระแก้ว จากสถาบันศิลปะ “ชอง มูน ลี” (Asian Art Museum, Chong-Moon Lee) รัฐแคลิฟอเนียร์ สหรัฐฯ หลังจากหายไปตั้งแต่ปี 2509 หรือเมื่อ 55 ปีก่อน

แต่สิ่งที่แตกต่างคือ อารมณ์ความรู้สึกของคนไทย ไม่ได้ตื่นเต้นอย่างในยุคก่อน ทั้งที่เป็นศิลปวัตถุล้ำค่าไม่แตกต่างจาก “ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์” เลย...

...

ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดี และหัวหน้ากลุ่มสำนึก 300 องค์ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย เล่าเบื้องหลังการทวงคืนทับหลังทั้ง 2 ชิ้นว่า ทับหลัง 2 ชิ้น เป็นส่วนหนึ่งของการทวงคืนกรุพระจากปราสาทปลายบัด 2 ที่อยู่ใน อ.ประโคนชัย ระหว่างที่กำลังขุดค้นข้อมูลเรื่องนี้ น้องเจ้าของเพจ “ท่องเที่ยวไปกับนายเอก” ได้ไปเจอทับหลังที่พิพิธภัณฑ์ “ชอง มูน ลี”

เขาก็ถามเราว่าทับหลังชิ้นนี้เป็นของ “ปราสาทหนองหงส์” จริงไหม.. เมื่อได้เห็นก็บอกได้ทันทีว่า “ใช่...เพราะเคยเข้าไปบูรณะอยู่ ทำให้มีข้อมูลชุดทับหลังอยู่”

“เมื่อเจอทับหลังชิ้นแรกเป็นของปราสาทหนองหงส์ เราจึงเข้าไปดูที่พิพิธภัณฑ์ดังกล่าว และก็พบทับหลังอีกชิ้น ซึ่งเป็นของปราสาทเขาโล้น” ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดี กล่าว

อาจารย์ทนงศักดิ์ บอกกับผู้เขียนว่า สิ่งที่เป็นหลักฐานสำคัญของทับหลังทั้ง 2 ชิ้น คือ หลักฐานภาพถ่าย โดยของปราสาทหนองหงส์ เป็นภาพถ่ายโดยกรมศิลปากร ส่วน “ปราสาทเขาโล้น” ปรากฏในหนังสือ “ศิลปลพบุรี” เป็นของ ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล

ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก สำนึก 300 องค์
ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก สำนึก 300 องค์

ขณะที่ ผศ.ดร.กังวล คัชชิมา อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เล่าความสำคัญของทับหลังทั้ง 2 ชิ้นว่า ความจริงคือทับหลังทั้ง 2 ชิ้น ถูกนำออกไปจากประเทศไทยนานแล้ว แต่คนไทยโดยมากจะรู้จักแค่ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ เพราะกว่าจะเรียกร้อง ทวงคืนนำกลับมาได้ใช้เวลานานมาก

“คนไทยไม่ค่อยรู้จักศิลปะเหล่านี้ มองแค่ว่า มันเป็นแค่ก้อนหินแกะสลัก บ้านเรามีเยอะแยะ ไม่ได้มีแค่ชิ้นเดียวสักหน่อย”

แต่หารู้ไม่ว่า..ก้อนหินเหล่านี้คือ “ทรัพย์สมบัติทางวัฒนธรรม” ของบรรพบุรุษที่เขายังเหลือไว้ให้เราเห็น มันคือหลักฐานว่าเราอาศัยในดินแดนนี้นับพันปี ร่องรอยเหล่านี้บ่งบอกว่าคนในสมัยโบราณใช้ชีวิตอยู่อย่างไร มีความเชื่อแบบไหน เขาติดต่อทำมาค้าขายกับใคร รับวัฒนธรรมจากไหน แล้วมาปรับเปลี่ยนให้เข้ากับวิถีชีวิตอย่างไร ซึ่งก็คล้ายกับคนยุคนี้ที่มีการรับวัฒนธรรมมาจากประเทศต่างๆ และมาปรับให้เข้ากับสังคมของตัวเอง

“ซากหินเหล่านี้คนบางคนในสมัยก่อนอาจจะยังมองไม่เห็นคุณค่า แต่พวกฝรั่งไม่ได้เห็นแบบนั้น เขาให้ความสำคัญ นำกลับไปบ้านเขา เมื่อนำกลับไปกลายเป็นว่าของเหล่านี้กลายเป็นของมีราคามากขึ้น เขาก็พยายามเอากลับไปมากขึ้น เราจึงเริ่มหันมาศึกษาและหันมามอง”

ฟังๆ อาจารย์กังวลเลกเชอร์แล้วก็รู้สึกเศร้าๆ นะครับ แต่มันก็คือความจริงที่ต้องยอมรับ

ผศ.ดร.กังวล คัชชิมา
ผศ.ดร.กังวล คัชชิมา

...

เบื้องหลังการทวงคืน ที่ผ่านการเรียนรู้

อาจารย์ทนงศักดิ์ เล่าขั้นตอนการทวงคืนทับหลังหนองหงส์-เขาโล้น และวัตถุโบราณชิ้นอื่นว่า โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว...ในอดีตกว่าเราจะทวงทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ นั้นยากมาก ใช้เวลานานมาก แถมเบื้องหลังยังมีต่อรองแลกเปลี่ยน หรือแม้กระทั่งขอซื้อคืน ถือเป็นเรื่องยุ่งยากมาก

แต่ปัจจุบันมันเปลี่ยนไป รัฐบาลสหรัฐฯ ได้พยายามลดการทุจริต และการฟอกเงิน ด้วยการนำโบราณวัตถุไปบริจาคพิพิธภัณฑ์ เพื่อนำมาใช้ลดหย่อนภาษี ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญที่เขา “ยอมไม่ได้” จึงเดินหน้ามีการตรวจสอบจริงจัง

“พวกเราเรียนรู้กระบวนการทวงคืนจาก “เจสัน เฟลซ์” นักข่าวสืบสวนสอบสวนของแอลเอไทม์ ซึ่งเขาได้เคยติดตามเรื่องนี้ บวกกับการเรียนรู้วิธีทวงคืนสมบัติจากนานาชาติ ซึ่งเขาก็ทำสำเร็จโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย “เฟลซ์” ได้แนะนำให้เรารู้จักกับเจ้าหน้าที่กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (Department of Homeland Security) ทำให้เราประสานงานกับทางสหรัฐฯ ได้สำเร็จ จากนั้นก็ได้ประสานกับทางการไทย ด้วยการตั้งคณะกรรมการทวงคืนฯ”

ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์
ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์

...

ของที่ถูกขโมยไปถือเป็นของผิดกฎหมาย เราอาศัยช่องว่าตรงนี้แหละ เพื่อให้ประเทศไทยได้ประโยชน์ ซึ่งเราพยายามทำมาโดยตลอดแต่ไม่สำเร็จเสียที กระทั่งถึง สมัยนายกฯ ตู่ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) นี่แหละ ท่านก็เลยสั่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ซึ่งก็ทำงานอยู่หลายปีจนได้ข้อมูลต่างๆ แล้วส่งไปที่สหรัฐฯ กระทั่งทำสำเร็จ...

ขณะที่ อ.กังวล เสริมว่า สิ่งที่สำคัญสุดของการทวงสมบัติชาติ คือ “รูปถ่าย” ซึ่งต้องมีหลัง พ.ศ. 2504

ประเด็นของเรื่องนี้คือ ถ้าศิลปวัตถุเหล่านี้ถูกขนย้ายออกจากประเทศไทยก่อนปี 2504 เราจะทวงคืนไม่ได้ เพราะยังไม่มีกฎหมายรองรับ (พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เริ่มบังคับใช้เมื่อปี 2504 และปรับปรุงในปี 2535)

“ถึงแม้จะมีหลักฐานว่าเป็นของเรา ถ้าเขาขนออกไปก่อนปี 2504 ก็ทวงไม่ได้ แต่ในทางกลับกัน หากเราพิสูจน์ได้ว่าศิลปวัตถุยังอยู่ในประเทศไทย ในช่วงปี 2504 แต่จู่ๆ ไปปรากฏที่อื่น จะอนุมานว่าเขาอาจจะนำออกไปอย่างผิดกฎหมาย เพราะถ้าขนส่งอย่างถูกกฎหมายต้องมีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรจากกรมศิลปากร” อ.กังวล กล่าวอย่างหนักแน่น

...

ทับหลังปราสาทหนองหงส์ - เขาโล้น ศิลปะเก่านับพันปี

สำหรับข้อมูลพื้นฐานของทับหลังที่ปราสาทหนองหงส์และเขาโล้น อาจารย์กังวล บอกว่าเป็นศิลปะยุคแบบบาปวน ในศตวรรษที่ 16 อายุประมาณ 1 พันปี เรียกว่าก่อนมีประเทศไทยด้วยซ้ำ โดยศิลปะของทับหลังหนองหงส์ ตรงกลางภาพเป็นภาพสลักพระยมทรงกระบือ ซึ่งเป็นเทพประจำทิศใต้ เพราะฉะนั้นทับหลังแผ่นนี้ควรจะตั้งอยู่ด้านทิศใต้ของปรางค์ประธาน

ส่วนทับหลังที่ปราสาทเขาโล้น เป็นภาพสลักเทพ ซึ่งไม่มีอะไรเป็นเครื่องแสดงว่าเป็นเทพองค์ไหน เพราะในการกำหนดว่าเป็นภาพของเทพองค์ไหน ดูได้ 2 อย่างคือ อาวุธที่ถือ และพาหนะที่ทรง

ต้องทวงคืนอีก! ประติมากรรมสัมฤทธิ์ประโคนชัย

ถึงแม้เราจะได้คืนทับหลังสำคัญทั้ง 2 ชิ้นแล้ว แต่สิ่งที่จะต้องคืนต่อ คือ ประติมากรรมสัมฤทธิ์ กรุพระประโคนชัย จากปราสาทปลายบัด 2 ซึ่งถูกลักลอบขุดค้นเอาออกไป ประมาณปี 2508 โดยต้องทวงคืนทั้งหมดกว่า 30 รายการ

อาจารย์ทนงศักดิ์ ชี้ว่าสาเหตุที่เราทราบปีที่ชัดเจน เพราะเหตุการณ์ทั้งหมดถูกตีพิมพ์โดยหนังสือพิมพ์ของอังกฤษ โดยระบุว่า “มีประติมากรรมสัมฤทธิ์อยู่ระหว่างชายแดนกัมพูชาและประเทศไทย” แต่ยังไม่มีใครระบุได้ว่ามาจากแหล่งไหน จนกระทั่ง นางเอ็มมา บลังเกอร์ เขียนบทความเมื่อปี 2514 โดยอ้างว่า ได้ภาพมาจากบริษัทที่ทำการซื้อขาย โดยระบุพิกัดว่า ได้นำมาออกมาจากประเทศไทย

โดยที่ผ่านมา เราก็สันนิษฐานว่าอาจจะมาจากแหล่งอื่น เช่น “ปราสาทละลมทม” แต่เมื่อตรวจสอบที่ปราสาทดังกล่าว ก็พบว่าตัวปราสาทเป็นหินทราย ซึ่งแตกต่างจากศิลปะที่ถูกขโมยไป

กระทั่ง ในช่วงปี 2542-2543 นางเอ็มมา ได้กลับเข้ามาในประเทศไทย และได้ตรวจสอบหลักฐานต่างๆ และเชื่อว่า พระพุทธรูปที่มาจากกรุที่หายไป หายไปจากปราสาทปลายบัด 2 ซึ่งทางเราเองก็ได้ตรวจสอบเอกสารต่างๆ ก็เชื่อว่าเป็นเช่นนั้น

โดยมีรายงาน ภาพถ่าย โดยระบุว่า มีการซื้อขายออกไปโดยบริษัทประมูลของชาวต่างชาติ นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานเป็นจดหมายขอบคุณจากพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ที่ได้ประมูลพระสัมฤทธิ์ไป โดยระบุว่า “ขอบคุณที่แนะนำให้รู้จักประติมากรรมสัมฤทธิ์ดีๆ ที่อยู่ในประเทศไทย”

จากหลักฐานทั้งหมด ทำให้เรามั่นใจว่า พระสัมฤทธิ์ที่ถูกตั้งโชว์ในพิพิธภัณฑ์ในสหรัฐฯ เป็นของไทย เราจึงประสานกับทางการ มีการตั้งคณะกรรมการฯ และมีมติให้ทวงคืน!

อาจารย์ทนงศักดิ์ ระบุว่า จากสำรวจโบราณวัตถุของเราที่กระจายอยู่ในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ในสหรัฐฯ พบว่ามีประมาณ 30 รายการ ซึ่งเป็นของกรุประโคนชัยมากที่สุด ที่เหลือจะมีทับหลังจากปราสาทพนมรุ้ง, เสาติดผนังปราสาทพนมรุ้ง, ทับหลังปราสาทหินพิมาย, เทพประจำทิศเหนือ ปราสาทพนมรุ้ง ซึ่งทำจากหินทราย เป็นต้น

ผู้เขียน : อาสาม

กราฟิก : Sriwan Singha

ขอบคุณข้อมูลและภาพ : เฟซบุ๊ก สำนึก 300 องค์ 

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ