คุณจะเชื่อไหมว่า...แม้แต่เพียง "การเล่นดนตรีตามบทเรียนในโรงเรียนสอนดนตรี" จู่ๆ ก็กลับกลายเป็น "ความขัดแย้งใหญ่โต" ระหว่างองค์กรในประเทศญี่ปุ่น โดยมีเรื่องเงินๆ ทองๆ มาข้องเกี่ยว เพียงเพราะคำว่า "การเล่นดนตรีของลูกศิษย์ให้ครูฟังในโรงเรียน ถือเป็นการเล่นดนตรีต่อสาธารณชนหรือไม่?"

เอาละ! งั้นสิ่งแรกที่ "คุณ" ควรท่องให้ขึ้นใจ ก่อนที่จะอ่านในบรรทัดต่อถัดๆ ไป คือ

ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ของญี่ปุ่น ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า ผู้สร้างผลงานมีสิทธิอันชอบธรรมแต่เพียงผู้เดียวในการจัดแสดงบนเวทีหรือการจัดแสดงดนตรีที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผลงานเหล่านั้น "ได้เห็น" หรือ "ได้ยิน" โดยตรงต่อ "สาธารณชน"

และทั้งหมดที่ "คุณ" เพิ่งท่องจบไปนั้น คือ ชนวนเหตุแห่งความขัดแย้งที่ "เรา" จะร่ายยาวต่อไป

คู่ขัดแย้งคือใคร?

     1. โรงเรียนสอนดนตรีในประเทศญี่ปุ่น ที่นำโดย ยามาฮ่า มิวสิก ฟาวน์เดชัน (Yamaha Music Foundation) ซึ่งมีโรงเรียนสอนดนตรีมากกว่า 3,300 แห่งทั่วประเทศ และมีจำนวนนักเรียนทั้งหมดประมาณ 390,000 คน ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มเด็กเล็กประมาณ 280,000 คน

     2. สมาคมเพื่อสิทธิของนักแต่งเพลงและผู้เผยแพร่ของญี่ปุ่น (The Japanese Society for Rights of Authors, Composers and Publishers) หรือ JASRAC สมาคมที่รวบรวมผลงานเพลงลิขสิทธิ์มากที่สุดในประเทศญี่ปุ่นเอาไว้ในมือ และได้ชื่อว่ามีการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ที่สุดเข้มงวดและเหี้ยมโหด

...

อะไรคือ สาเหตุของความขัดแย้ง?

ปี 2017 สมาคมเพื่อสิทธิของนักแต่งเพลงและผู้เผยแพร่ของญี่ปุ่น ได้ประกาศว่าจะมีการเรียกจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงกับโรงเรียนสอนดนตรีทั่วประเทศ โดยจะให้เริ่มจัดเก็บเงินค่าลิขสิทธิ์ตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2018 เป็นต้นไป พร้อมส่งแผนการจัดเก็บค่าธรรมเนียมลิขสิทธิ์ดังกล่าวไปยัง ทบวงวัฒนธรรมญี่ปุ่น (Agency for Cultural Affairs)

โดย ทาคาชิ มิยาอุจิ (Takashi Miyauchi) กรรมการผู้จัดการของ JASRAC อ้างว่า โรงเรียนสอนดนตรีไม่เข้าข่ายเป็น "องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร" ซึ่งจะได้รับการยกเว้นตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ อีกทั้งที่ผ่านมา โรงเรียนสอนดนตรีสามารถสร้างผลกำไรจากการให้นักเรียนและครูสอนดนตรีใช้บทเพลงต่างๆ ฝึกเล่นมาเนิ่นนานมากแล้ว มันจึงเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลที่ควรจะต้องจ่ายค่าตอบแทนที่เป็นธรรมให้กับเหล่าครีเอเตอร์บ้าง

อะไรคือ ข้อเรียกร้องของ JASRAC?

โรงเรียนสอนดนตรีของญี่ปุ่นต้องจ่ายค่าธรรมเนียมลิขสิทธิ์เพลง โดยจะหักเป็นจำนวนเงินสูงถึง 2.5% ของรายได้ค่าเล่าเรียนในแต่ละปี ซึ่งเบื้องต้น ทาง JASRAC คาดว่าน่าจะมีตัวเลขรวมสูงถึงประมาณ 350 ล้านเยน ถึง 1,000 ล้านเยน! (99.5 ล้านบาท - 284.5 ล้านบาท)

ด้วยเหตุนี้...ผู้ประกอบการโรงเรียนสอนดนตรีทั่วประเทศญี่ปุ่นกว่า 250 แห่ง ที่นำโดย ยามาฮ่า มิวสิก ฟาวน์เดชัน (Yamaha Music Foundation) ซึ่งมีเครือข่ายอยู่เกือบประมาณ 9,000 แห่งจากทั้งหมด 11,000 แห่งทั่วประเทศ จึงรวมตัวกันยื่นฟ้องร้องการกระทำ JASRAC ต่อศาลทันที

อะไรคือ ข้อโต้แย้งของโรงเรียนสอนดนตรีในประเทศญี่ปุ่น?

เหล่าโรงเรียนสอนดนตรีในประเทศญี่ปุ่นโต้แย้ง JASRAC ว่า การเล่นดนตรีในโรงเรียนสอนดนตรีนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาและไม่เข้าข่ายการเสนอหรือทำให้งานปรากฏต่อ "สาธารณชน" ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์

นอกจากนี้ หากยินยอมตามข้อเสนอดังกล่าวจะมีผลต่อการพัฒนาวงการดนตรีของญี่ปุ่นในอนาคตอย่างแน่นอน เนื่องจากหากมีการจ่ายค่าลิขสิทธิ์เพลงจะมีผลทำให้ค่าเล่าเรียนมีราคาสูงขึ้น เมื่อค่าเล่าเรียนสูงขึ้น จำนวนคนที่สนใจจะเข้ามาเรียนในโรงเรียนสอนดนตรีก็ย่อมลดลง จนกระทั่งธุรกิจนี้ได้รับผลกระทบตามไปเป็นลูกโซ่

และไม่เพียงโรงเรียนสอนดนตรีทั่วประเทศญี่ปุ่นที่ออกมาต่อต้านข้อเสนอของ JASRAC ทางด้านศิลปินญี่ปุ่นบางคนเอง ก็ยังไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว โดย ฮิคารุ อูทาดะ (Hikaru Utada) เจ้าของเพลงฮิตตลอดกาล อย่าง First Love ยังต้องถึงกับอดรนทนไม่ได้ ทวีตข้อความแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่า

"ยินดีที่จะให้ครูหรือนักเรียนดนตรีสามารถใช้บทเพลงของเธอ ในระหว่างการเรียนการสอนในชั้นเรียนได้ฟรีๆ โดยไม่จำเป็นต้องกังวลว่าจะต้องจ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์แต่อย่างใด"

และแน่นอนเมื่อเกิดความขัดแย้งการต่อสู้ตามกระบวนการกฎหมายจึงตามมา...

อะไรคือ ประเด็นการต่อสู้ทางกฎหมายระหว่าง JASRAC และโรงเรียนสอนดนตรี?

...

ง่ายๆ เลยมีเพียง 2 ประเด็นใหญ่ๆ ที่มีการยื่นเรื่องให้ "ศาล" พิจารณา

     1. การเล่นดนตรีของนักเรียนในโรงเรียนสอนดนตรี เข้าข่ายเป็นการเล่นดนตรี "ต่อสาธารณชน" หรือไม่?

     2. การเล่นดนตรีตามบทเรียนในชั้นเรียน เป็นไปเพื่อการ "รับฟัง" หรือไม่?

คุ้นๆ ใช่ไหม? อ่านมาถึงบรรทัดนี้ "คุณ" นึกถึงข้อความที่ "เรา" ให้ "คุณ" ท่องจำตั้งแต่บรรทัดแรกๆ ได้ไหม? หากจำไม่ได้ ลองท่องจำกันอีกสักครั้ง!

ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ของญี่ปุ่น ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า ผู้สร้างผลงาน มีสิทธิอันชอบธรรมแต่เพียงผู้เดียวในการจัดแสดงบนเวทีหรือการจัดแสดงดนตรีที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผลงานเหล่านั้น "ได้เห็น" หรือ "ได้ยิน" โดยตรงต่อ "สาธารณชน"

อะไรคือ ผลการพิจารณาของ "ศาล"?

เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2020 ศาลเมืองโตเกียว (Tokyo District Court) มีคำพิพากษาในคดีดังกล่าวว่า

     1. โรงเรียนสอนดนตรี ถือเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรหรือไม่?

ศาลเมืองโตเกียว : ผู้ประกอบการโรงเรียนสอนดนตรี มีการบริหารจัดการและดำเนินนโยบายการเรียนการสอนเพื่อแสวงหาผลกำไรจากการใช้บทเพลงต่างๆ นอกจากนี้ ผู้ที่อยู่ในฐานะผู้ใช้งานบทเพลงต่างๆ เป็นหลัก ยังไม่ใช่ "นักเรียน" หรือ "ครูสอนดนตรี" แต่เป็น "โรงเรียนสอนดนตรี" อีกด้วย

     2. การเล่นดนตรีของนักเรียนในโรงเรียนสอนดนตรี เข้าข่ายเป็นการเล่นดนตรี "ต่อสาธารณชน" หรือไม่?

ศาลเมืองโตเกียว : แม้ว่าโรงเรียนสอนดนตรีจะมี "ขนาดเล็ก" แต่ก็มีการเปิดดำเนินการมาต่อเนื่องและเป็นระบบในหลายพื้นที่ ย่อมเป็นเหตุให้มี "นักเรียนหลายคน" จึงเข้าข่ายเป็น "สาธารณชน"

...

     3. การเล่นดนตรีตามบทเรียนในชั้นเรียน เป็นไปเพื่อการ "รับฟัง" หรือไม่?

ศาลเมืองโตเกียว : การที่ครูสอนดนตรี "เล่นเพลง" ให้ "นักเรียนในชั้น" ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของ "สาธารณชน" ได้รับฟังด้วยความพินิจพิเคราะห์ อีกทั้งการที่ "นักเรียน" ต้องรับฟังด้วยความตั้งอกตั้งใจ เพื่อนำไปใช้ในการปรับปรุงทักษะในการเล่นดนตรีของตัวเอง ซึ่งการเล่นดนตรีลักษณะนี้ จึงเข้าข่ายการ "เผยแพร่ต่อสาธารณชน"

ศาลเมืองโตเกียวจึงพิพากษาให้ JASRAC สามารถเรียกเก็บค่าธรรมเนียมลิขสิทธิ์จากผู้ประกอบการโรงเรียนสอนดนตรีในญี่ปุ่นได้

แต่แล้ว...ก็เกิดจุดพลิกผันขึ้นอีกครั้ง!

โดยเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2021 ศาลสูงทรัพย์สินทางปัญญาของญี่ปุ่น (Intellectual Property High Court) ได้แก้ไขคำพิพากษาดังกล่าว ของศาลเมืองโตเกียว

คำพิพากษาศาลสูงทรัพย์สินทางปัญญาของญี่ปุ่นระบุว่า : กลุ่มนักเรียนโรงเรียนดนตรีไม่อยู่ในข่ายที่จะต้องเสียเงินค่าลิขสิทธิ์เพลงในกรณีที่เล่นตามบทเรียนในโรงเรียนสอนดนตรี เนื่องจากระหว่างครูและนักเรียนดนตรีนั้นมีความแตกต่างกัน เพราะนักเรียนไม่อยู่ในฐานะผู้ใช้งานบทเพลงต่างๆ เป็นหลัก เหมือนเช่นครูและโรงเรียนสอนดนตรี และนักเรียนดนตรีเล่นเพลงต่างๆ เพื่อพัฒนาทักษะการเล่นดนตรีของตัวเอง ภายใต้การกำกับดูแลและสั่งการของครูสอนดนตรี

...

ด้วยเหตุนี้ การเล่นดนตรีของนักเรียนในโรงเรียนสอนดนตรี จึงเป็นการเล่นเพื่อให้ "ครูสอนดนตรีบางคน" ได้รับฟัง และไม่เข้าข่าย "เป็นการเล่นต่อสาธารณชน" ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์

อย่างไรก็ดี ในทางกลับกันการเล่นดนตรีให้นักเรียนได้รับฟังของครูสอนดนตรีนั้น ถือเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนและการกำกับดูแลของโรงเรียนสอนดนตรี ซึ่งถือว่าอยู่ในฐานะผู้ใช้งานบทเพลงต่างๆ เป็นหลัก ด้วยเหตุนี้ ศาลสูงทรัพย์สินทางปัญญาของญี่ปุ่นจึงพิจารณาว่า การกระทำของครูสอนดนตรีเข้าข่าย "เป็นการเล่นต่อสาธารณชน" ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ และต้องมีการจ่ายค่าธรรมเนียม เหมือนเช่นคำตัดสินของศาลเมืองโตเกียวในครั้งแรก

หลังเสร็จสิ้นการพิจารณาคดี JASRAC ได้ออกแถลงการณ์ว่า "จะมีการพิจารณาเพื่อหาทางออกที่เหมาะสม รวมถึงมีการยื่นขออุทธรณ์ขั้นสุดท้ายต่อไป"

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา JASRAC ยืนกรานมาโดยตลอดว่า ถูกบรรดาโรงเรียนสอนดนตรีเอารัดเอาเปรียบ ด้วยการตีความกฎหมายลิขสิทธิ์แบบผิดๆ มาโดยตลอด โดยเฉพาะประเด็น "การแสดงและการนำเสนอผลงานต่อสาธารณชน" เพราะแม้ที่ผ่านมา จะไม่เคยมีคำจำกัดความเรื่อง "การแสดงดนตรีต่อสาธารณชน" แต่คำจำกัดความภายใต้กฎหมายย่อมไม่ใช่เพียงเฉพาะการเล่นดนตรีบนเวทีคอนเสิร์ตเพียงอย่างเดียวแน่นอน แต่มันควรบังคับใช้กับธุรกิจทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการเล่นดนตรีที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการอย่างเป็นรูปธรรม.

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก: เทพอมร แสงธรรมาพิทักษ์

ข่าวน่าสนใจ: