“โดยสถิติจากทั่วโลกมีการทิ้งขยะลงทะเลประมาณ 8 ล้านตันต่อปี เทียบเท่ารถ 10 ล้อ 8 คัน ต่อนาที ภายภาคหน้าในท้องทะเลจะมีปริมาณขยะมากกว่าปริมาณปลา ขยะพลาสติกที่ลอยมาเกยตื้นประมาณ 20% อีก 80% จมอยู่ใต้ทะเล ซึ่งไม่มีคนเก็บและไม่รู้จะเก็บอย่างไร ด้วยปริมาณขยะที่เยอะแบบนี้ พวกเราคงไม่สามารถเก็บทั้งหมดขึ้นจากทะเลได้ นอกจากคนไทยต้องช่วยกันเปลี่ยนพฤติกรรม”
ฟังดูอาจจะเหลือเชื่อกับประโยคดังกล่าวที่ ดร.ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย หรือ ดร.อาร์ม หัวหน้าอาสาสมัคร Trash Hero ปัตตานี องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรที่ร่วมกับอาสาสมัครอีกเกือบ 2 พันคอยเก็บขยะตามหาดต่างๆ บางครั้งก็ออกเรือไปเก็บขยะในทะเล พูดด้วยน้ำเสียงจริงจังกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์เพื่อให้คนไทยตระหนักถึงมหันตภัยร้ายขยะทางทะเล
และจากบทสนทนาต่อจากนี้ เชื่อว่าคนไทยทั้งประเทศต้องตะลึง ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้ และรีบเปลี่ยนพฤติกรรมเลิกใช้พลาสติก และงดทิ้งขยะลงทะเลและแหล่งน้ำอย่างแน่นอน...
ผลกระทบจากขยะ กินอาหารทะเลทุกชนิด เสมือนกินพลาสติกเข้าร่างกาย เสี่ยงเป็นมะเร็ง โครโมโซมเพศเพี้ยน
...
เนื่องจากขยะทะเลที่กลุ่ม Trash Hero ปัตตานี เก็บได้ คือ พลาสติกทุกรูปแบบ เช่น หลอดดูดน้ำ ถุง ขวดน้ำ ซึ่ง ดร.อาร์ม ยืนยันว่าเป็นขยะที่อันตรายกับโลกที่สุด เนื่องจากพลาสติกเหล่านั้นต้องใช้เวลานาน 500 ปีในการย่อยสลาย
อีกทั้งพลาสติกต่างๆ หากปล่อยทิ้งนานไปจะแตกย่อยเป็นชิ้นเล็กๆ ผงเล็กๆ ซึ่งไม่รู้จะเก็บอย่างไรเพราะมองไม่เห็น สุดท้ายแพลงก์ตอนกิน นกทะเลกินแค่ 6 กรัมก็ตาย เพราะย่อยไม่ได้ ใช้วิธีขย้อนออกมา และพบว่า 90% นกทะเลมีขยะพลาสติกในท้อง
นอกจากนี้ขยะพิษที่ถูกทิ้งลงในทะเลยังสามารถสะสมความเป็นพิษในสิ่งแวดล้อมและสายใยอาหารในระบบนิเวศ และสัตว์จำนวนมากตายจากการกินขยะ เพราะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นอาหาร หรือเศษแหอวน เชือกที่รัดพันทำให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมไม่สามารถขึ้นมาหายใจได้ด้วย
“มีผลวิจัยออกมาว่าปลาอายุ 90 วัน เมื่อผ่าดูในท้องพบว่ามีพลาสติกสูงสุด 267 ชิ้น ผลกระทบ คือ ตอนนี้ถ้าใครกินอาหารทะเลทุกชนิด เปรียบเสมือนกินพลาสติกเข้าไปด้วยแน่นอน 100% ไม่สามารถหนีได้ การกินพลาสติกสะสมเรื่อยๆ ส่วนประกอบของพลาสติกจะส่งผลให้มีปัญหาทางโครโมโซมด้านเพศ และเสี่ยงเกิดมะเร็งได้” ดร.อาร์ม มีสีหน้ากังวลเมื่อเล่าถึงจุดนี้
แพทย์พิษวิทยา ย้ำกินสัตว์ทะเลมีสารพิษ มีโอกาสทำให้เกิดอันตรายกับสุขภาพแน่นอน
ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งยังระบุผลกระทบจากขยะในทะเลต่อสิ่งแวดล้อมด้วยว่า นอกจากนี้ขยะจะลดและบดบังความสวยงามของพื้นที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติ ทำให้เกิดมลภาวะเป็นพิษต่อแหล่งท่องเที่ยว อีกทั้งขยะบางประเภทยังก่อให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์ เช่น ขยะที่มีคม และขยะพิษ
ผู้สื่อข่าวสอบถามจาก พญ.ธัญจิรา จิรนันทกาญจน์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม ผู้เชี่ยวชาญด้านพิษวิทยา อาชีวเวชศาสตร์ และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม รพ.ศิริราช ยืนยันว่า หากทิ้งขยะพิษ เช่น สารเคมี แบตเตอรี่ มากๆ เข้าก็จะมีสารพิษ หรือโลหะหนักสะสมในท้องทะเล หากสัตว์ทะเลกินเข้าไป หรือกินน้ำที่ปนเปื้อนก็อาจมีการสะสม ส่งผลเสียต่อคนที่กินสัตว์ทะเลเป็นอาหารได้
...
ส่วนถุงพลาสติก หากย่อยสลายจนเป็นสารเคมีแล้ว สัตว์ทะเลกินเข้าไปก็มีการศึกษาที่รายงานว่าพบการสะสมของสารเคมีจากพลาสติกในสัตว์ทะเลชนิดต่างๆ คนที่กินสัตว์ทะเลได้รับสารเหล่านั้นเข้าสู่ร่างกายได้ ส่วนจะเสี่ยงเป็นโรคอะไรนั้น ต้องทราบว่าสัตว์ทะเลที่คนกินเข้าไปมีสารเคมี สารพิษ หรือโลหะหนักชนิดใดสะสมอยู่
ถึงเวลาแล้วที่คนไทยต้องร่วมด้วยช่วยลดขยะทางทะเล ทำง่ายๆ เริ่มที่ตัวเรา
สำหรับแนวทางป้องกันและแก้ไขนั้น ดร.อาร์มแนะว่า คนไทยควรเลิกใช้พลาสติกดีที่สุด และหยุดทิ้งขยะลงทะเล เช่น เมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา และบาหลี อินโดนีเซีย ประกาศห้ามใช้พลาสติกแล้ว
“มันต้องแก้ด้วยการเลิกใช้พลาสติก เข้าร้านสะดวกซื้อไม่เอาถุงพลาสติกใส่ของ ไม่ใช้หลอดดูด ใช้กระบอกน้ำแทนขวด ซึ่งทาง Trash Hero กำลังรณรงค์อยู่ เป็นกระบอกน้ำสเตนเลส คนเริ่มใช้กันมากขึ้น หากใครใช้กระบอกน้ำนี้ก็จะมีจุดเติมน้ำดื่มฟรี ในเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล แต่ยังไม่มีการห้ามใช้พลาสติก”
สาเหตุที่มีขยะทะเลเกลื่อนกลาดนั้น ดร.อาร์ม ระบุว่านอกจากคนทิ้งขยะลงทะเล ลงแม่น้ำ แล้วยังเป็นผลเกี่ยวเนื่องจากการทิ้งขยะในถังขยะที่บ้านด้วย เพราะวันนึงขยะนั้นอาจมาอยู่ในทะเลได้ เช่น ฝนตกครั้งหนึ่งขยะที่มีน้ำหนักเบาก็ไหลลอยไปตามสายน้ำ ไปอยู่ในกองขยะ บังเอิญเกิดพายุ น้ำท่วมก็หลุดลอยไปตามท่อระบายน้ำ ลงสู่แม่น้ำ แล้วค่อยๆ ลอยลงสู่ทะเล
...
ขยะทะเลสารพัดชนิด แม้แต่ไม้จิ้มลูกชิ้น พบแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่
งานจิตอาสาลงพื้นที่เก็บขยะของกลุ่ม Trash Hero ปัตตานีที่ ดร.อาร์มเป็นหัวหน้าจะนัดรวมพลกัน ไปเก็บในหลายพื้นที่ ทุกวันพุธ ตอนบ่าย เช่น หาดรูสะมิแลในเขตเทศบาล เป็นหาดโคลน แต่ขยะเยอะ เพราะใกล้ปากแม่น้ำ แหลมตาชีที่มีหาด 2 ข้าง ยาวข้างละ 20 กว่ากิโล ปัจจุบันปัตตานีเก็บขยะมาแล้ว 70 ครั้ง ใน 65 สัปดาห์ มีคนมาร่วมเก็บรวม 2,611 คน ได้ขยะรวม 9,154.8 กก. ถือเป็นค่าเฉลี่ย 37.3 คนต่อสัปดาห์ หรือ 132.7 กก. ต่อสัปดาห์ คิดแล้วต่อคนต่อครั้งเราเก็บขยะได้ 5.5 กก.
...
นอกจากเก็บขยะทะเลใน จ.ปัตตานีแล้ว ยังรวมพลกันไปเก็บในจังหวัดอื่น เช่น เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล เก็บทุกเช้าวันจันทร์ ส่วนเช้าวันเสาร์ไปเก็บที่ จ.สงขลา ทำให้เรียนรู้ได้ว่าขยะทะเลในแต่ละที่แตกต่างกัน อย่างสงขลาเจอถุงมือยางเยอะ อ่าวนาง จ.กระบี่ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ สะอาด แต่ก็มีขยะ คือ ขี้บุหรี่ ก้นบุหรี่ ตามใต้ต้นไม้ ริมทะเล สำหรับปัตตานีเขตเจอถุงพลาสติก ถุงขนม ถ้วยกาแฟ
“ในปัตตานีขยะประเภทขวดเครื่องดื่มเยอะมาก ถุงพลาสติก ถุงขนม ไม้จิ้มลูกชิ้น บางท้องที่ก็มีหน่วยงานของรัฐมาช่วยพวกเรา เช่น เป็นสปอนเซอร์หาถุงขยะให้ มาช่วยเก็บตอนท้าย ช่วยยกขยะขึ้นรถ บางทีเก็บขยะได้ 4-5 ร้อยกิโลก็เอารถคันใหญ่มาช่วยดัมพ์ชัก จุดไหนที่มีนักท่องเที่ยว แต่ไม่มีถังขยะ กลุ่มเราก็แนะนำให้จัดหาถังขยะมาตั้ง ซึ่งเขาก็ให้ความร่วมมือกันดี Trash Hero เราเป็นองค์กรที่ไม่รับบริจาคเงิน แต่รับเป็นของ เช่น ถุงขยะ ถังขยะ ถุงมือผ้าเคลือบยางเพื่อใช้เก็บขยะ ที่คีบขยะ หรือเป็นแรงมาช่วยกันเก็บขยะ” ดร.อาร์ม เริ่มมีรอยยิ้มระหว่างสนทนากัน เนื่องจากความร่วมมือของคนในพื้นที่มีมากขึ้นๆ
คืนชีพขยะทะเล นำมารีไซเคิลเพิ่มมูลค่า สร้างรายได้ให้ชุมชน
จุดเริ่มต้น สนใจขยะทางทะเล ดร.อาร์ม บอกกับผู้สื่อข่าวว่าเนื่องจากสอนภาควิชาเทคโนโลยียางและโพลิเมอร์ ที่ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และสนใจด้านสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว อีกทั้งงานวิจัยที่ทำอยู่ส่วนใหญ่ 1 ใน 3 ทำเกี่ยวกับการรีไซเคิลขยะจากทะเล ซึ่งทำมา 6 ปีแล้ว อย่างทางหลีเป๊ะ เก็บขยะโฟมได้เยอะก็นำไปรีไซเคิลทำเป็นเรือพาย สำหรับปัตตานีนำมาแปรรูปเป็นรองเท้าทะเลจร ส่วนขยะอื่นๆ ก็แยกแก้วกับขวดพลาสติกให้ อบต. เอาไปรีไซเคิลตามกระบวนการของเจ้าหน้าที่เทศบาล หรือแยกไปขาย
“ผมริเริ่มทำรองเท้าทะเลจรโดยเอาขยะมากมายมาแปรรูปเป็นรองเท้าขยะที่เก็บได้รวม 469.2 กก. จะทำรองเท้าได้ 600-700 คู่ นอกจากเป็นการลดจำนวนขยะในท้องทะเลไทยแล้ว เงินที่ได้จากการขายรองเท้ายังนำมาใช้รักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่างยั่งยืนต่อไป และสิ่งสำคัญอีกอย่างคือ ช่วยสร้างรายได้ให้กับแม่บ้านในสามจังหวัดชายแดนใต้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงได้อีกด้วยครับ” ดร.อาร์มกล่าวถึงนวัตกรรมใหม่ด้วยความรู้สึกภูมิใจและดีใจ
Trash Hero เป็นองค์กรที่มีในทั่วโลก เช่น อินโดนีเซีย พม่า เซี่ยงไฮ้ จีน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย (ลังกาวี) เช็ก นิวยอร์ก คองโก ส่วนในไทยมี 20 พื้นที่ คือ เชียงใหม่ กรุงเทพฯ จันทบุรี ประจวบฯ มี 5 กลุ่ม (หัวหินบางสะพาน บ้านกรูด สามร้อยยอด ปราณบุรี),สมุย สุราษฎร์ธานี, เกาะพงัน, เกาะเต่า, เกาะลันตา, อ่าวนาง สงขลา ปัตตานี ตรัง ฯลฯ ปีนึงนัดรวมประชุมกันครั้งหนึ่ง
ในแต่ละจังหวัดจะมีอิสระว่าจะเก็บขยะกันที่ไหน วันใด เวลากี่โมง ซึ่งใน ในทุกวันมีกลุ่มอาสาสมัคร Trash Hero เก็บขยะทางทะเลที่หนึ่งที่ใดอยู่แล้ว ใครที่อยากช่วยเก็บขยะ หากไปเที่ยวทะเลที่ใดก็เสิร์ชในเฟซบุ๊กได้ เช่น ไปเที่ยวหัวหิน ค้นหา Trash Hero หัวหิน แล้วโทรติดต่อ นัดเจอกันตามที่ประกาศไว้ในหน้าเพจ
อย่างไรก็ตาม การขจัดปัญหาขยะทางทะเลให้หมดสิ้นจะสำเร็จได้ หากคนไทยร่วมด้วยช่วยกัน “ไม่ทิ้งขยะ” นอกจากคนไทยจะได้กินอาหารทะเลที่ปลอดสารพิษแล้ว ยังช่วยให้ไม่ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณ ในการจัดเก็บ หรือกำจัดขยะอีกด้วย