นี่มันเครื่องอะไรกันแน่?

ทำไมหน้าตามันเหมือน อ่างล้างมือจัง

คำถามชาวเน็ต หลังแรกเห็น เครื่องนับเหรียญต้นแบบของธนาคารไทยพาณิชย์ ที่จะนำมาใช้ในอนาคต

ตกลงเป็นเครื่องนับเหรียญจริงหรือ? มันสามารถทำอะไรได้บ้าง? และมันถูกสร้างขึ้นมาเพราะอะไร? แรงบันดาลใจอะไรกัน ที่ทำให้เครื่องนับเหรียญมีลักษณะคล้ายอ่างล้างมือ มันถูกออกแบบมาเพื่อ?

เราไปฟังทุกคำตอบจากปากของ นายสุวิชชา สุดใจ หรือ คุณทอม กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ดิจิทัล บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด ผู้ออกแบบเครื่องนับเหรียญ หรือ Coin Machine ที่อาจจะดูแปลกหูแปลกตาไปสักหน่อย ให้ครบถ้วนทุกกระบวนความ

“ไอ้วงกลมๆ ที่เห็น ซึ่งชาวเน็ตส่วนหนึ่งแซวว่า ทำไมเครื่องนี้เหมือนอ่างล้างมือนั้น จริงๆ คือ จุดที่สำคัญที่สุดของเจ้าเครื่องนี้เลยก็ว่าได้นะครับ เพราะมันถูกออกแบบมา เพื่อเปลี่ยนวิธีการเดิมๆ ของเครื่องแนวหยอดเหรียญในประเทศไทยเรา ที่ส่วนใหญ่ใช้วิธีค่อยๆ หยอดทีละเหรียญ ซึ่งเสียเวลาในการใช้บริการมาก ไปเป็นวิธี เทเหรียญทั้งหมดที่ต้องการลงไปให้เครื่องนับได้ในคราวเดียว ซึ่งไอ้เจ้าวงกลมๆ ที่ว่าถูกออกแบบมาเพื่อรองรับเหรียญเอาไว้ไม่ให้ตกหล่นเวลาเทลงไป” คุณทอม เฉลยปริศนา ที่ชาวเน็ตสงสัยนักสงสัยหนา ให้ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ได้รับฟัง

...

มองแรง! เห็นครั้งแรกนึกว่า อ่างล้างมือ มากกว่า เครื่องนับเหรียญ แบบนี้ถือว่าดีไซน์ไม่ว้าวใช่ไหม?

คนไทยเราครีเอทีฟดีนะครับ! มักจะมีมุกสนุกสนานมาเล่นกันตลอด ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะแรกเห็น อาจจะรู้สึกแปลกหูแปลกตาไปหน่อยก็ได้นะครับ แต่หากพอมาลองใช้ อาจจะติดใจในความสะดวกสบาย ที่สามารถเทเหรียญทั้งหมดลงไปในคราวเดียวก็ได้นะครับ พูดจบ คุณทอมก็หัวเราะอย่างอารมณ์ดี

โจทย์ที่ได้รับจากธนาคารไทยพาณิชย์ สำหรับการออกแบบเครื่องนับเหรียญคืออะไร?

ไม่มีเลยครับ! เพราะ Inovation หากมีการจำกัดความคิดปุ๊บ มันก็จะกลายเป็นโลกของการปฏิบัติ ไม่ใช่โลกของ Innovation

และที่สำคัญ Inovation นั้น ไปจำกัดกรอบความคิด หรือตั้งสเปกก่อนไม่ได้!

ฉะนั้นสิ่งที่เราคิดค้นขึ้นมานี้ จึงมาจากการเฝ้ามองพฤติกรรมผู้บริโภค แล้วเอาไปผสมผสานกับเทคโนโลยี จนกระทั่งเกิด Inovation ขึ้น คุณทอมกล่าวอย่างหนักแน่น

ทาง SCB มองไปที่พฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบัน ที่ส่วนใหญ่มักจะไม่นิยมพกเหรียญไปทำธุรกรรมต่างๆ เพราะไม่สะดวกสบาย อีกทั้งหากนำไปใช้บริการกับทางธนาคาร อาจต้องถูกคิดค่าบริการ ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีการทำวิจัยจึงพบว่า จากเหรียญทั้งหมดที่มีในประเทศไทย 2.5 หมื่นล้านเหรียญ หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 5 หมื่นล้านบาทนั้น จะมีถึง 10% หรือประมาณ 5,000 ล้านบาท ที่หายไปจากระบบ ไม่รู้ว่าไปอยู่ที่ไหน และไม่มีการหมุนเวียนกลับมาในระบบ

และหากใครยังไม่ทราบต้นทุนในการผลิตเหรียญแต่ละเหรียญนั้น มีมูลค่าสูงกว่า ค่าเงินที่ระบุอยู่ในตัวเหรียญนั้นๆ เสียอีก ดังนั้นเมื่อมีจำนวนเหรียญที่หายไปจากตลาด กรมธนารักษ์ ก็ต้องมีความจำเป็นผลิตเหรียญออกมาทดแทนให้เพียงพออยู่เรื่อยๆ  ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณของประเทศไปโดยใช่เหตุ

วัตถุประสงค์หลักในการออกแบบคือ?

มันก็เริ่มมาจากการเฝ้ามองพฤติกรรมของผู้บริโภคอีกเช่นกัน เพราะไม่ว่าจะใช้เหรียญหรือแบงก์ เวลามาใช้บริการที่ธนาคาร เราพบว่าลูกค้าต้องเสียเวลาไปกับการนับเหรียญหรือธนบัตรพอสมควร ยกตัวอย่างเช่น หากเป็นเหรียญ ก็ต้องให้พนักงานธนาคารช่วยนับ รวมทั้งอาจต้องเสียค่าบริการในส่วนนี้ด้วย หรือหากเป็นกรณี ธนบัตร แม้ปัจจุบันจะมีเครื่องนับ แต่พอนับเสร็จทางพนักงานก็ต้องนั่งนับให้ลูกค้าได้เห็นเพื่อความมั่นใจอีกรอบ หรือเอาง่ายๆ เลย ในชีวิตประจำวัน การใช้บริการนั่งรถไฟฟ้าแต่ละครั้ง กว่าที่จะไปต่อแถวแลกเหรียญ ได้เหรียญมาก็เอาไปหยอดทีละเหรียญ แลกตั๋ว ล้วนแล้วแต่ทำให้เสียเวลาสำหรับผู้ใช้บริการไปส่วนหนึ่งทั้งสิ้น

ด้วยเหตุนี้ การออกแบบเครื่องนับเหรียญจึงมุ่งเน้นไปที่ ออกแบบอย่างไรให้มี Function เอื้อให้ผู้บริโภคใช้งานได้ง่ายสะดวก และประหยัดเวลาที่สุด ฉะนั้นลืมไปเลยกับเครื่องหยอดเหรียญแบบเก่าๆ ที่แสนเชื่องช้าต้องค่อยๆ ทยอยหยอดทีละเหรียญๆ เพราะเครื่องนี้ คุณสามารถเทเหรียญทั้งหมดลงไปให้มันนับ หรือฝากธนาคารได้ในคราวเดียวกัน และในอนาคตเราจะพัฒนาให้มันสามารถเป็นเครื่องเหรียญแลกแบงก์ หรือ แบงก์แลกเหรียญ หรือแม้กระทั่ง ทอนเงิน ได้ในเครื่องเดียวต่อไปด้วย

...

อะไรคือแรงบันดาลใจในการออกแบบ Coin Machine ตัวนี้

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะช่วงก่อนหน้านี้อยู่ต่างประเทศ เวลาขับรถไปใช้บริการขึ้นทางด่วน สังเกตเห็นเครื่องรับเงินอัตโนมัติที่มีลักษณะคล้ายๆ ตระกร้าเอาไว้บริการ ซึ่งเจ้าเครื่องที่ว่านี้ ลูกค้ามีความสะดวกในการใช้บริการมาก เพราะมันมีพื้นที่มากพอที่จะเอื้อให้ลูกค้าสามารถโยนเหรียญเข้าไปจนครบค่าบริการได้เลย ไม่ต้องมานั่งหยอดทีละเหรียญๆ ให้เสียเวลา

ระยะเวลาในการออกแบบ

เมื่อรวมๆ กับระยะเวลาในการทำวิจัยเรื่องพฤติกรรมของผู้บริโภค และการค้นคว้าเทคโนโลยีแล้ว ก็ประมาณ 1 ปี จนกระทั่งได้เครื่องต้นแบบนี้ออกมา

ต้นทุนต่อเครื่อง

ขออนุญาตยังไม่แชร์นะครับ พูดจบ คุณทอมก็หัวเราะอย่างอารมณ์ดี

เนื่องจากเครื่องนี้ ยังเป็นเพียงเครื่องต้นแบบอยู่ เพราะอย่างที่ทราบๆ กัน เครื่องต้นแบบส่วนใหญ่ มันต้องผ่านการลองผิดลองถูกมาพอสมควร กว่าที่จะได้เครื่องที่สามารถใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ในการออกแบบ อย่าง ไอโฟน เครื่องแรกของโลก ต้นทุนจริงๆ ของมัน ก็อยู่ที่ประมาณ 1 หมื่นเหรียญสหรัฐฯ แต่พอมีการผลิตออกมาเรื่อยๆ  ต้นทุนต่อเครื่องก็จะค่อยๆ ลดลงเองตามธรรมชาติ

ประสิทธิภาพเครื่อง

เกือบๆ 100% แล้วครับ เพราะล่าสุดจากการทดลอง บรรดาเหรียญแปลกปลอมต่างๆ เครื่องจะสามารถป้องกันสิ่งแปลกปลอมได้ผลดี และเอากันถึงขนาดลองนำกุญแจใส่ลงไปในเครื่องดู ก็ไม่พบว่าเครื่องได้รับความเสียหายแต่อย่างใด.