ไม่รู้สมัยนี้ยังเป็นแบบเมื่อก่อนหรือไม่...เมื่อถามเด็กผู้ชายทีไรว่า “โตขึ้นอยากเป็นอะไร” คำตอบแรกๆ มักตอบว่า “ตำรวจ” หรือไม่ก็ “ทหาร”
ถึงแม้ว่าในโลกแห่งความเป็นจริงนั้นภาพลักษณ์ของตำรวจ ทหาร ในสายตาชาวบ้านทั่วไปไม่ค่อยดีนัก ซึ่งก็ปฏิเสธได้ยากจริงๆ โดยเฉพาะอาชีพ “ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์” จะโดนหนักกว่าเขาเพื่อน เพราะมีต้นทุนทางสังคมต่ำ แต่...ทุกครั้งที่มีปัญหา เราก็ยังคงต้องเรียกหาให้เขามาช่วยอยู่ดี
ในหลายปีที่ผ่านมา เกิดคดีใหญ่ขึ้นในกรุงเทพฯ หลายคดี ไม่ว่าจะเป็น คดีปล้นรถขนเงิน คดีฆ่าเจ้าพ่อคาเฟ่ คดีฆ่าโบกปูน หรือแม้แต่คดีสุดซับซ้อนอย่างโกงเงิน ทุกคดีที่เอ่ยมาล้วนต้องพึ่งตำรวจฝีมือดีในการไล่ล่าหาตัวคนร้าย ซึ่งในวันนี้ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะขอนำเสนอ ตำรวจฝีมือดี 1 นาย ที่มีดีกรีทำคดีเหล่านี้มาแนะนำให้รู้จัก นั่นไม่ใช่ใครที่ไหน เขาผู้นี้คือ “พี่ก้อง” พ.ต.อ.จิรภพ ภูริเดช ผกก.1 บก.ป.
สายเลือดทหาร พี่ชายขับเครื่องบินรบ แต่เลือกพิทักษ์สันติราษฎร์
...
พ.ต.อ.ดร.จิรภพ ภูริเดช ผกก.1 บก.ป. เล่าย้อนความหลังให้ฟังว่า ตอนเป็นนักเรียน เตรียมทหารรุ่น 34 นักเรียนนายร้อยรุ่น 50 จบปริญญาโท คณะ MIS Management Information System (การบริหารข้อมูลสารสนเทศ โดยใช้คอมพิวเตอร์) Central Michigan University สหรัฐอเมริกา จบปริญญาเอก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะเทคโนโลยีและนวัตกรรม
ตอนเรียนมัธยม ที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน ไม่ค่อยมีใครอยากเป็นทหาร ตำรวจ เพราะว่าทุกคนอยากเป็นวิศวะ, หมอ, คอมพิวเตอร์ ส่วนตัวเองชอบเรียนคำนวณ กระทั่งพอ ม.4 คุณพ่อให้ไปลองสอบเตรียมทหาร แต่ไม่บังคับว่าต้องเลือกเหล่าไหน คือคุณพ่อผมเป็นทหารเรือ ชื่อ พล.ร.อ.สมภพ ภูริเดช พ่อเคยเป็นผู้การเรือรบหลวงต่างๆ ส่วนพี่ชายก็เป็นทหารอากาศ เป็นนักบินไอพ่น F5 F16 แต่ละคนก็เท่ระเบิด
“หลังจากไปสอบ พี่ก็คิดเลยว่าคงไม่เลือกทหารเรือแน่ๆ ตัดออกไปก่อนเลย ส่วนตัวชอบความตื่นเต้น รู้สึกว่าตัวเองเหมาะกับการขับเครื่องบินไอพ่นมากกว่า แต่...ลองคิดอีกที คือต้องเรียนยาว จบ 8 ปี ยังไม่ได้หมายความว่า ต้องได้เป็นนักบินไอพ่น F16 ทันที รู้สึกว่าโอกาสไม่แน่นอน แต่หากเป็นทหารอากาศแล้ว ไม่ได้เป็นนักบินไอพ่น ก็ไม่อยากเป็น เมื่อคำนึงโอกาสต่างๆ แล้วจะได้เป็นอย่างที่คาดหวังรึไม่ เลยคิดว่าอาชีพที่ตื่นเต้นรองลงมาก็คือการเป็นตำรวจ จึงเลือกสอบเป็นตำรวจ”
การเรียนไม่น้อยหน้า จบนอกด้านเทคโนโลยี นำมาปรับใช้พัฒนาตามล่าคนร้าย
แรกก้าวสู่อาชีพตำรวจ ผู้กำกับก้องบอกว่า ได้เข้าบรรจุในตำแหน่ง รองสารวัตรฝ่ายปฏิบัติการที่ 3 กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (บก.ปปป.) จากนั้นได้ลาไปเรียนต่อปริญญาโทที่ประเทศสหรัฐอเมริกา นรต.เราเรียนกฎหมายกับรัฐศาสตร์เป็นหลัก ส่วนตัวชอบคำนวณกับคอมพิวเตอร์ ไปเรียนคณะ MIS (Management Information System) การบริหารข้อมูลสารสนเทศ บริหารโดยใช้คอมพิวเตอร์ เรียนกึ่งๆ ระหว่างธุรกิจกับคอมพิวเตอร์ สิ่งที่ได้มาจากการเรียน 2 ปี ได้ 2 ภาษา คือภาษาอังกฤษ และภาษาคอมพิวเตอร์ จากนั้นเรียนจบกลับมาปี 2544 ก็เอากลับมาใช้ ก็มาลงกองปราบฯ เลย อยู่แผนก 2 กอง 1 ถ้ามีคดีอะไรเกี่ยวกับต่างประเทศเราก็ได้ทำ ส่วนของคอมพิวเตอร์เราก็นำเอามาใช้ให้เข้ากันงานด้านสืบสวน ณ วันนั้นก็เอาเทคโนโลยีใหม่ๆ นำมาใช้ในกอง 1 สมัยนั้น ทำให้มีการประมวลวิเคราะห์ข้อมูลได้ง่ายขึ้น
“สมัยนั้นอยู่กองปราบฯ ได้ทำงานร่วมกับพี่ๆ ตำรวจมากฝีมือหลายคน มีประสบการณ์พอสมควร กระทั่งขึ้นเป็นสารวัตร ได้ไปติดยศ พ.ต.ต. งานสืบสวนท่องเที่ยว รับทำคดีสำคัญๆ เกี่ยวกับงานอาชญากรรมด้านสืบสวน ซึ่งก็ได้นำวิชาสืบสวนจากกองปราบฯ ไปใช้ในคดีต่างๆ โชคดีที่เรามีเทคนิค มีองค์ความรู้ไปพอสมควร ทำให้งานในคดีอาชญากรรมที่เกาะภูเก็ตซึ่งมีไม่มากนักได้ง่ายขึ้น หน้างานหลักจะทำคดีอาชญากรรม - คดีต่างชาติโดยตรง ไม่ค่อยได้ทำเชิงบริการดูแลนักท่องเที่ยวเหมือนตำรวจท่องเที่ยวทั่วไป”
นายตำรวจหน้าตาดี มีดีกรีเป็นนักเรียนนอก กล่าวต่อว่า จากนั้นก็ขึ้นรองผู้กำกับท่องเที่ยวที่ภูเก็ต และได้ขึ้นเป็น ผู้กำกับท่องเที่ยวภูเก็ต ก่อนจะโยกกลับมาเป็น ผกก.1 บก.ป. เมื่อปี 2557 ถือเป็นเกียรติประวัติความภาคภูมิใจของตำรวจคนหนึ่งที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลตำแหน่งสำคัญใน บช.ก. ตั้งใจจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้
...
เปิดผลงานด้านสืบสวน จับคดีใหญ่ ไล่หาคนร้ายหรือตัวจอมบงการ
ช่วง 2 ปีในตำแหน่งผู้กำกับกอง 1 พ.ต.อ.จิรภพ ทำคดีสำคัญหลายดคี ซึ่งเจ้าตัวเผยว่า จริงๆ คือมีหลายคดี เพราะกอง 1 รับผิดชอบพื้นที่นครบาลและเขตรอยต่อ แต่ที่ประชาชนให้ความสนใจนั้น ได้แก่
1. คดียักยอกเงินของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) คดีนี้ออกหมายจับผู้ต้องหาได้ 14 คน จับกุมตัวได้หมดแล้ว
2. คดีหลอกลวงผู้เสียหายหลายรายซื้อหุ้น IPO
3. คดีปล้นรถขนเงิน บริษัทโพรเกรส กันภัย จก. (เหตุเกิดโลตัส พระราม 1)
4. คดีการเสียชีวิตของ นายชูวงษ์ แซ่ตั๊ง ซึ่งคดีนี้ถูกแบ่งออกเป็น 2 คดี ประกอบด้วย คดีปลอมเอกสารโอนหุ้น และคดีฆาตกรรมนายชูวงษ์
5. คดียิงนายสมยศ สุธางค์กูร เจ้าพ่อพระราม 9 คาเฟ่
...
พูดถึงสิ่งที่เราทำในคดีต่างๆ นี้หน่อย ว่าการทำงานเป็นอย่างไร วิธีไขคดีมีวิธีคิดอย่างไร ถึงจะหาตัวคนผิดมาดำเนินคดีให้ได้ พ.ต.อ.จิรภพ กล่าวว่า สำหรับงานที่ซับซ้อนและเป็นคดีดังให้ประชาชนตั้งข้อสงสัยมากที่สุด คงหนีไม่พ้นคดีโอนหุ้น และการตายของนายชูวงษ์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างนำสำนวนสอบสวนเพิ่มเติมส่งอัยการ
“คดีนี้ (เสี่ยชูวงษ์) ในฐานะที่เป็นผู้สืบสวน-สอบสวนเอง ก็ค่อนข้างมั่นใจในพยานหลักฐานหลายๆ อย่าง เรามีพยานหลักฐานประกอบทั้งหมด โดยเฉพาะสิ่งที่ผู้ต้องสงสัยให้การ รวมทั้งข้อมูลหลักฐานต่างๆ พอนำมาพิสูจน์แล้ว มันก็ไม่ใช่อย่างที่เขาให้ปากคำ เขาพูดไม่สอดรับกับความเป็นจริง เรามีทุกอย่างมาหักล้างในสิ่งที่เขาพูด ซึ่งก็ถือว่าเรามาถูกทางแล้ว แม้ว่าในทีแรกกระแสสังคมจะเชื่อในสิ่งที่เขาพูด แต่วันนี้คิดว่าสิ่งที่ตำรวจกำลังพิสูจน์อยู่มันทำให้ประชาชนเชื่อได้ ตัวผมเองและทีมงานพอใจสำหรับการทำคดีนี้ เพราะตำรวจทำดีที่สุดแล้ว หลังจากนั้นก็รอศาลตัดสิน”
แต่หากย้อนไปเมื่อสมัยเป็นท่องเที่ยวภูเก็ต ก็มีคดีเยอะพอสมควร โดยเฉพาะคดีเกี่ยวกับพวกธุรกรรมการเงิน พวกแก๊งสกิมเมอร์ ลักลอบดูดข้อมูล เป็นแก๊งคนไทยก่อเหตุ โดยน่าเชื่อว่ามีชาวต่างชาติร่วมมือ มีวงเงินเสียหายเป็นพันล้าน ซึ่งก็จับได้ แล้วก็มีคดีฆ่าข่มขืนนักท่องเที่ยวต่างชาติ และอีกหลายๆ คดี ซึ่งถ้าเปรียบเทียบแล้ว คดีมันไม่ได้มีเยอะ หรือมีมาให้ทำทุกวันเหมือนอยู่ที่กองปราบฯ
...
ผู้กำกับหนุ่มหล่อวัย 42 ปี กล่าวต่อว่า การทำงานในฐานะตำรวจกองปราบฯ นั้นต้องยอมรับว่างานค่อนข้างยุ่ง (ยิ้ม...เล็กน้อย) คดีค่อนข้างเข้ามาเยอะ ประชาชนที่เดือดร้อนหรือมองไปทางไหนก็มืด 8 ด้าน เขาก็ไว้ใจที่จะมาพึ่งเรา หวังให้เราช่วยทำความจริงให้ปรากฎ ยุติธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งเจ้าหน้าที่ทุกคนยินดีต้อนรับทุกระดับชั้น แต่ถ้าถามว่าตอนนี้คือคดีอะไรที่เกิดขึ้นเยอะที่สุด น่าจะเป็นคดีแอบอ้างสถาบัน นำไปสู่การต้มตุ๋นฉ้อโกงสารพัดรูปแบบ มิจฉาชีพจัดฉากกันเป็นเรื่องเป็นราว เหยื่อผู้เสียหายที่หลงเชื่อก็มาก มีกลโกงหลอกล่อสารพัดวิธี มูลค่าความเสียหายนับไม่ถ้วน
ในส่วนการสืบสวนคดีอาชญากรรมที่ผ่านมา ใช้วิธีพื้นฐานของตำรวจบวกกับจินตนาการความน่าจะเป็น และประสบการณ์ที่เรามี จนนำไปสู่การจับกุม เช่น เคสอิสราเอลฆ่าโบกปูน ที่สามารถจับได้ภายใน 24 ชม. ทีมงานลงพื้นที่ตามปกติ เมื่อมีการนำสืบไปจนถึงตัวผู้ต้องหา ก็ขอหมายเข้าไปค้นบ้านแล้วเจอศพโบกปูน
ล่าสุด หลังจากที่ผู้บัญชาการสอบสวนกลาง ได้สั่งให้ตำรวจใน บช.ก.จับผู้ต้องหาเกี่ยวกับคดีทางเพศนั้น ถือเป็นการบูรณาการของกอง 1 บก.ป. ร่วมกับ บก.อื่นๆ ใน บช.ก.ที่รับผิดชอบกรุงเทพฯ ซึ่งจับได้ 50 กว่าหมาย ถือว่าเยอะเป็นอันดับ 1 ถ้าเทียบกับทุกภาคทั่วประเทศ ทำงานร่วมกันหลายหน่วย ระดมจับตามหมายค้างคดีเกี่ยวกับทางเพศ จากนั้นจะมีการแถลง ทำเป็นนิทรรศการ ซึ่งต้องยอมรับว่าผู้ต้องหาทุกคดีมีความเสี่ยงต่อการกระทำผิดซ้ำหมด แต่ความผิดเกี่ยวกับเพศก็น่าจะสูงกว่าคดีอื่นๆ ทั่วไป ผู้บัญชาการเลยระดมเรื่องนี้ก่อน
พัฒนาบุคลากร คืองานสำคัญ ตำรวจยิ่งเก่ง ประชาชนยิ่งอุ่นใจ
ส่วนงานบริหารงานบุคคลนั้น พ.ต.อ.จิรภพ อธิบายว่า ทางกองปราบฯ ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาบุคลากรและทีมงานให้มีประสิทธิภาพ เพราะหากตำรวจในสังกัดเรายิ่งเก่งมากเท่าไร ประชาชนก็ยิ่งอุ่นใจ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาประยุกต์ใช้กับการทำงานของตำรวจ
"ในโลกยุคปัจจุบันเราปฏิเสธความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีไม่ได้ เราต้องตามให้ทัน และใช้เทคโนโลยีช่วยเหลืองานของเราให้มากที่สุด ในส่วนตัวพี่เองนั้น ส่วนหนึ่งให้ความสำคัญกับหมายจับค้างเก่า ตอนเรียนปริญญาเอกเลยได้ศึกษาถึงปัจจัยต่างๆ ที่นำไปสู่ความสำเร็จในการติดตามจับกุมผู้ต้องหาจากนักสืบที่เก่งๆ และนำมาประยุกต์กับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยพัฒนาเป็นเครื่องมือที่ช่วยเหลืองานของตำรวจรุ่นใหม่ๆ ให้สามารถทำงานได้ง่ายขึ้น ซึ่ง AI (Artificial Intelligence) เหล่านี้ จะยกระดับประสิทธิภาพการทำงานของตำรวจได้มากขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคต ทางกองปราบฯ จึงให้ความสำคัญต่อการพัฒนาบุคลากรให้มีประสิทธิภาพ และเท่าทันต่อเทคโนโลยีในโลกยุคปัจจุบัน"
ที่ผ่านมา ได้มีการฝึกอบรมพัฒนาผู้ใต้บังคับบัญชา เราจัดให้มีโครงการขึ้นมาเสมอ อาทิ 1.โครงการโรงเรียนสืบสวนของ บก.ป. 2.อบรมข้าราชการตำรวจในสังกัดด้านต่างๆ โดยเชิญทั้งวิทยากรจากภายในประเทศและต่างประเทศมาให้ความรู้ 3.ฝึกอบรมยุทธวิธีตำรวจทุกวันพุธ 4.ฝึกการใช้อาวุธปืนพกสั้น 5.ทำเว็บไซต์ กก.1.บก.ป. (www.csdsub1.com) 6.พัฒนาศูนย์ปฏิบัติการ (ศปก.กก.1 บก.ป.) ฯลฯ
“โรงเรียนสืบสวนกองบังคับการปราบปราม พี่มีส่วนในการร่างโครงการเสนอผู้บังคับบัญชา โดยทุกวันจันทร์ช่วงบ่าย เราจะนำคนที่ชำนาญในด้านต่างๆ มาสอนให้กับผู้ใต้บังคับบัญชา เดิมทีคิดทำเฉพาะกอง 1 กระทั่งทางผู้การฯ เห็นก็ชอบ เลยมากันทั้ง บก. พอผู้บัญชาการได้ยินก็รู้สึกว่ามันได้ความรู้จริง จึงนำมาทำกันทั้ง บช. ใครสมัครใจอยากมาฟังเราก็ยินดี เหมือนเราเป็นวิทยาทาน เจ้าหน้าที่ที่มาพูดให้ความรู้เราจะกำหนดไว้เลย ว่าวันนี้พูดเรื่องอะไร อาทิตย์นี้พูดเรื่องอะไร โครงการมี 1 ปี พูดทุกวันจันทร์ช่วงบ่าย เน้นเรื่องการสืบสวน ดูกล้องวงจรปิด เชตข้อมูลระบบต่างๆ ในการนำไปสู่การจับกุมผู้ต้องหา”
หน้าที่ของตำรวจไทย...
สำหรับผมคิดว่า ตำรวจที่ดี อันดับแรกคือต้องทำหน้าที่ของตัวเองที่รับผิดชอบให้ดีที่สุดก่อน อย่าเพิ่งไปเริ่มทำอย่างอื่น เช่น เป็นตำรวจแล้วไปปลูกข้าว หรือไปทำกิจกรรมอื่นๆ ที่มันไม่สอดคล้องกับงานเรา ตำรวจที่ดีคือต้องให้ความเป็นธรรมกับประชาชน ตรงไปตรงมา ทำงานด้วยความตั้งใจ ไม่ต้องออกแอ็กชั่นเยอะ และส่งผลดีให้กับประชาชนมากที่สุด อีกส่วนหนึ่งคือการพัฒนาร่างกาย พัฒนาศักยภาพ การออกกำลังกายของตำรวจ จะเห็นได้ชัดว่านายตำรวจที่สหรัฐอเมริกาค่อนข้างตัวใหญ่ดูแข็งแรง พร้อมรับทุกสถานการณ์ ส่วนตำรวจไทยทุกวันนี้ เท่าที่เห็นกันคือตัวเล็กมาก ดังนั้นจึงคิดว่าการออกกำลังกายให้แข็งแรงพร้อมลงพื้นที่ปฏิบัติงานจึงเป็นเรื่องที่ควรทำ
“ในฐานะตำรวจคนหนึ่ง อยากจะทำงานให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ ประชาชนที่หนีร้อนมาพึ่งเรา ให้เราช่วยเหลือ เราช่วยได้ และไม่เกรงกลัวต่ออิทธิพลมืดใดๆ เราพร้อมจะทำทุกอย่างให้คลี่คลายโปร่งใสด้วยความเป็นธรรมอย่างแท้จริง” พ.ต.อ.จิรภพ กล่าว
สุดท้าย ทีมข่าวถามว่า การทำงานที่ผ่านมามีอะไรเป็นหลักยึดและพัฒนางานจนประสบความสำเร็จ พ.ต.อ.จิรภพ กล่าวว่า "พี่มีครอบครัวเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ แต่ถ้าถามถึงไอดอลของพี่ “พี่มีคุณพ่อเป็นไอดอล คุณพ่อพี่เป็นผู้การเรือ เป็นนักรบ - นักสู้ เรือหลวงที่ว่าดังๆคุณพ่อพี่เป็นผู้การเรือมาหมดแล้ว ครอบครัวพี่จึงเป็นแรงบันดาลใจพลักดันให้เราประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน”
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน