เคยสังเกตไหม..ว่าเดี๋ยวนี้มีคนต่างชาติมาตั้งรกรากในประเทศไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้บ้านเมืองเราจะมีเรื่องเน่าๆ ที่ไม่ค่อยโสภามากมาย แต่หากใครมาอยู่อาศัย ได้มาพักแรม ได้เจอผู้คนในประเทศนี้ “ส่วนใหญ่” ก็จะประทับใจไม่รู้ลืม
แต่...ใช่ว่าทุกคนจะสามารถอาศัยอยู่ใน “สยามเมืองยิ้ม” นี้ได้ทุกคน บางคนทำผิดกฎหมาย ผิดจารีตประเพณี ยิ่งเป็นภัยต่อความมั่นคงด้วยแล้วยิ่ง “ไม่เป็นที่ต้องการ” ของทุกประเทศ รวมถึงไทยแลนด์ด้วย
เมื่อเร็วๆ นี้ กลุ่มนักสิทธิมนุษยชนได้มีการพูดถึงกรณี ฝรั่งรายหนึ่งได้พยายามต่อสู้เพื่อที่จะได้กลับมาอยู่เมืองไทยอีกครั้ง หลังได้มีบุคคลเข้าร้องเรียนว่าเขาถูก “เนรเทศ” ให้พ้นประเทศ เนื่องจากมีเหตุทะเลาะกับเพื่อนบ้าน ซึ่งถึงขั้นลงไม้ลงมือกัน และศาลพิพากษาว่าเขามีความผิดฐาน “บุกรุกยามวิกาล” และ ทำร้ายร่างกาย จึงลงทัณฑ์ด้วยการลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน แต่โทษให้รอลงอาญาไว้ 1 ปี
...
ร้องขอ สำนักคุ้มครองสิทธิมนุษยชนช่วยเหลือ เป็นห่วงลูกชายและลูกสาวเยาว์วัย
นางพรนภา มีชนะ ผอ.กลุ่มงานคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 6 สำนักคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า คุณศักดิ์ศรี เกิดผล ได้เข้ามาร้องกับเราเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2559 หลังจากมีคดีทะเลาะวิวาทกับเพื่อนบ้านและบุกรุกจนทำให้ถูกเนรเทศ สิ่งที่เป็นห่วงที่สุด คือ ความเป็นอยู่ของเด็กๆ หลังจากพ่อเขาไม่อยู่ก็มีปัญหาอื่นตามมา เด็กชายมีคุณศักดิ์ศรี อุปการะ ส่วน เด็กหญิงอยู่กับป้า ซึ่งได้รับร้องเรียนว่ามีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมใกล้เคียง
ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก หรือ อนุสัญญาว่าด้วยเรื่องสิทธิเด็ก จะมองที่ประโยชน์สูงสุดของตัวเด็ก คุณจอห์นน่าจะมีโอกาสเข้ามาอุปการะเลี้ยงดู ด้วยเหตุนี้ เราจึงประสานไปยัง กระทรวงมหาดไทย ผู้แทนสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ผู้แทนกรมกิจการเด็กและเยาวชน รวมไปถึงตัวแทนฝั่งของผู้ร้อง มาร่วมพูดคุยกันถึงทางออกและแนวทางช่วยเหลือ เมื่อวันที่ 22 ก.พ.ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของกระบวนการ ทั้งนี้ เราเข้าใจว่า ตม. ก็มีกระบวนการขั้นตอนเช่นกัน อย่างไรก็ดี เราไม่ได้ขออะไรที่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ของเรา และคงต้องเป็นไปตามกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม ทีมข่าวได้สอบถามเรื่องนี้ไปยัง คุณศักดิ์ศรี เกิดผล หรือ “เม้าส์” เพื่อนของนายจอห์น เดวิด ยัง ที่คอยช่วยเหลือและดูแลลูกๆ ของนายจอห์น ตอนที่อยู่เมืองไทย ซึ่ง พี่เม้าส์ ได้เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับเพื่อนชาวต่างชาติรายนี้ว่า...
นายจอห์น คือ ฝรั่งชาวอังกฤษ ได้เริ่มมาตั้งรกรากอยู่ในภูเก็ต โดยเปิดร้านอาหารร่วมกับเพื่อนชาวต่างชาติ ซึ่งจอห์นมีภรรยาเป็นคนไทย 2 คน คนแรก มีลูกด้วยกันคือ แจ็ค(นามสมมติ) ปัจจุบัน อายุ 14 ปี แล้ว ส่วนลูกกับภรรยาคนที่ 2 ชื่อ แคธี่ (นามสมมติ) ลูกสาว อายุ 7 ปี
“กับภรรยาคนแรกนั้น เธอได้เอ่ยปากอยากจะแต่งงานกับจอห์น แต่ด้วยประสบการณ์การสร้างครอบครัวที่ไม่ประสบความสำเร็จมาแล้วที่ต่างประเทศ จอห์นจึงปฏิเสธ จากนั้นภรรยาคนแรกของจอห์นจึงตัดสินใจเลิกรากับเขาและได้สามีใหม่และไปอาศัยอยู่ต่างประเทศ ส่วนตัวจอห์นก็ต้องรับหน้าที่ดูแลลูกชาย”
คุณศักดิ์ศรี ค่อยๆ เล่าเรื่องของจอห์นทีละน้อย.... เมื่อได้ภรรยาใหม่ และได้เริ่มเปิดธุรกิจร้านอาหารสไตล์ “สปอร์ตบาร์” คือมีบอล มีสนุก ให้ดูซึ่งทำธุรกิจด้วยความถูกต้อง นอกจากนี้ จอห์น ได้เช่าบ้านอยู่ไม่ไกลจากร้านอาหารเขา
แต่ประเด็นปัญหาเริ่มจากตรงนี้ เมื่อจอห์นอาศัยอยู่ในบ้านเช่าและใกล้กันก็มีบ้านอีกหลังซึ่งเจ้าของคือคู่กรณี เป็นคนไทยมีสามีเป็นชาวต่างชาติ ด้วยความระหองระแหงกันระหว่างภรรยาคุณจอห์นและหญิงข้างบ้านทำให้มีปากเสียงกันบ่อยครั้ง..
วันหนึ่งซึ่งวันนั้นตรงกับวันฮาโลวีน (31 ต.ค.52 เข้าวันที่ 1 พ.ย.52) ประมาณ 02.30 น. นายจอห์นได้เดินทางกลับมาที่บ้าน หลังได้ยินเสียงเพลงจากข้างบ้านเปิดเสียงดัง ซึ่งเข้าใจว่าเป็นการจัดงานเลี้ยง นายจอห์น เห็นว่าลูก ๆ เข้านอนแล้วจึงเข้าไปขอให้ลดเสียงเพลง และด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีปากเสียงกระทั่งถึงขั้นลงไม้ลงมือกัน
...
จากบันทึกของตำรวจและแพทย์ ระบุว่า คู่กรณีหญิงได้รับบาดเจ็บ นิ้วก้อยมือขวาบวม เหยียดไม่สุด แพทย์ได้วินิจฉัยว่า เอ็นข้อมือนิ้วก้อยฉีกขาด ส่วนนายจอห์นแขนขวาหัก นอกจากนี้ก็มีแผลตามร่างกาย
ศาลตัดสินทำผิด 2 ข้อหา บุกรุกยามวิกาล และทำร้ายร่างกาย สุดท้ายถูกเนรเทศ เป็นบุคคลไม่พึงประสงค์
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายคู่กรณีหญิงได้เข้าแจ้งความในข้อหาบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืนโดยไม่มีเหตุอันควร และทำร้ายร่างกาย ต่อมา ศาลได้พิพากษาให้นายจอห์น มีความผิดข้อหาบุกรุก โทษจำคุก 2 ปี ปรับ 5,000 บาท ฐานทำร้ายร่างกาย จำคุก 1 ปี ปรับ 2,000 บาท แต่จำเลยคดีรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุให้บรรเทาโทษให้กึ่งหนึ่ง จึงคงจำคุกที่ 1 ปี 6 เดือน ปรับ 3,500 บาท แต่เมื่อพิเคราะห์รายงานสืบเสาะแล้วเห็นว่านิสัยรวมทั้งความประพฤติของจำเลยไม่ปรากฏข้อเสียหายร้ายแรง ประกอบอาชีพสุจริต เห็นควรให้โอกาสจำเลย และไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอการลงโทษไว้ มีกำหนด 1 ปี ตามมาตรา 29 มาตรา 30 คดีไม่มีการอุทธรณ์จึงถึงที่สุดแล้ว
นางศักดิ์ศรี เล่าต่อว่า ต่อมา สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ได้มีคำสั่งเนรเทศ และขึ้นบัญชีดำเป็นบุคคลห้ามเข้ามาในอาณาจักรไทย 5 ปี ด้วยเหตุดังกล่าว ทำให้ลูกชายและลูกสาวขาดคนเลี้ยงดู โดยมีปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ลูกชาย มีปัญหากับเด็กวัยรุ่นใกล้บ้าน ถูกขู่จะฆ่า เขาจึงหนีออกจากบ้าน ไปนอนอยู่ริมชายหาด 2 คืน ตำรวจมาพบส่งกลับบ้าน ขณะที่ แคธี่ก็อยู่กับป้าซึ่งสภาพแวดล้อมไม่ค่อยดี โดยเป็นผับบาร์ เมื่อเด็กหญิงไปโรงเรียนก็มีอาการซึมเศร้า เก็บกด มีวันหนึ่งก็ร้องไห้ ครูจึงเข้าไปถามเด็กจึงตอบว่าเขาคิดถึงพ่อมาก ขณะที่แม่แคธี่ ก็ได้ไปมีสามีใหม่ย้ายไปอยู่ที่พัทยา
...
“ครูของแจ็คนั้น ชื่อครูมายด์ ซึ่งเป็นชาวออสเตรเลีย ประกอบกับตนรู้จักกับครูใหญ่ของโรงเรียนนานาชาติแห่งนี้ จึงทำให้เราได้เจอกัน จึงทำให้ดิฉันได้ทราบเรื่องนี้ ทางคุณครูจึงขอร้องให้เราช่วยเลี้ยงดูเด็กชาย เราจึงช่วยเหลือเพราะเราสงสารเด็กและพ่อเขา และได้เข้าร้องเรียนกับกลุ่มสิทธิมนุษยชนเพื่อให้การช่วยเหลือเด็กๆ ด้วย”
จากนั้น เด็กๆ ได้เขียน จดหมายกราบบังคมทูลขอความเป็นธรรมแก่บิดา ส่งถึง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งในเรื่องนี้ คุณหญิงอารยา พิบูลนครินทร์ ราชเลขานุการในพระองค์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ตอบกลับมา มีใจความว่า
ในเรื่องนี้ขอให้สำนักงานคุ้มครองสิทธิช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนพิจารณาสอบข้อเท็จจริงแล้ว ได้รายงานว่า นายจอห์น เดวิด ยัง บิดาถูกศาลจังหวัดภูเก็ตพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกในความผิดฐานบุกรุกและทำร้ายร่างกาย ศาลให้รอลงอาญา 1 ปี ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3618/2556 ซึ่งเป็นความผิดที่ไม่เกี่ยวกับความผิดด้านความมั่นคงหรือเป็นภัยต่อสังคมแต่อย่างใด กรณีดังกล่าวทำให้นายจอห์น ตกเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้เข้ามาในราชอาณาจักรตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองกำหนด แต่นายจอห์น หรือผู้แทนสามารถยื่นคำร้องต่อผู้บัญชาการตรวจคนเข้าเมืองเพื่อจะได้พิจารณาสั่งการให้ในคำร้องขออนุญาตเข้ามาในราชอาณาจักร โดยนำข้อมูลข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์สำหรับตนเองไปแสดงต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่อประกอบการพิจารณาและดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
...
คุณศักดิ์ศรี อ้างว่า ที่ผ่านมา จอห์น ได้บริจาคเพื่อการกุศลมาโดยตลอด มีการส่งเงินเพื่อช่วยเด็กในการเรียนหนังสือจนจบปริญญาตรีก็มี หรือช่วยเหลือช่วงเกิดเหตุสึนามิ แต่...ที่ผ่านมาคุณจอห์นไม่เคยเก็บเอกสารเหล่านี้
อ้างไม่มีที่อยู่ในต่างแดน ไปอังกฤษไม่ได้ อยู่ไทยก็ไม่ได้ ชีวิตกลายเป็นคนเร่ร่อน
ส่วนประวัติที่ผ่านมา จอห์น เคยเป็นผู้จัดการของบริษัทบัตรเครดิตแห่งหนึ่งในภาคพื้นยุโรปและอเมริกา เขาเดินทางไปมาโดยตลอด ไม่ได้อาศัยอยู่ในอังกฤษมานานมากแล้ว มีหลายคนถามทำไมไม่ส่งลูกไปอังกฤษ คุณจอห์นบอกว่าไม่ได้อยู่ที่นั่นนานแล้ว อีกทั้งยังไม่มีช่องทางทำมาหากิน กลับกัน หากเขากลับมาที่เมืองไทย คุณจอห์นเขายังมีธุรกิจ สามารถหาเงินได้ ขณะเดียวกัน เด็กทั้ง 2 คนก็ไม่สามารถไปอยู่อังกฤษได้ เนื่องจากไม่มีพาสปอร์ตอังกฤษ เพราะกฎหมายอังกฤษระบุว่า เด็กอังกฤษที่เกิดในต่างแดนจะต้องไปทำพาสปอร์ตที่ประเทศที่เกิด ด้วยเหตุนี้ เด็กๆ จึงไปอยู่ที่อังกฤษไม่ได้
“ปัจจุบัน เด็กๆ ได้เดินทางไปอยู่กับพ่อซึ่งเหมือนคนเร่ร่อน ไปบาหลี 10 วัน มาเลเซีย 10 วัน บ้างก็ไปสิงคโปร์ โดยดิฉันเป็นคนพาเด็กทั้ง 2 คน ไปส่งกับพ่อเขาที่ต่างประเทศ ตอนนี้ดิฉันเพิ่งได้รับอีเมลจากจอห์น ว่าเงินทองเริ่มจะหมด เพราะไม่ได้ทำงาน ลูกก็ไม่ได้เรียนหนังสือ จะเอาลูกกลับอังกฤษก็ไม่ได้ จะเข้ามาเมืองไทยก็ไม่ได้” พี่เม้าส์ กล่าวแล้วทอดถอนใจ...
นายวัชรชัย พงษ์นุช ทนายความของนายจอห์น กล่าวว่า หลังจากถูกคำสั่งห้ามไม่ให้เข้าอาณาจักรแล้ว คุณจอห์นได้มีการร้องขอความเป็นธรรมกับหลายหน่วยงาน เนื่องจากเขามีภาระต้องดูแลลูก โดยได้ทำหนังสือไปยังสำนักงานสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ คุณจอห์นยังนำเรื่องนี้ไปฟ้องศาลปกครอง กรณีเจ้าหน้าที่รัฐออกคำสั่งห้ามเข้าประเทศโดยมิชอบ ต่อมาศาลปกครองสงขลาได้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งห้ามเข้าประเทศดังกล่าว กระทั่งทางอัยการได้ขออุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งยังไม่มีคำตัดสินออกมา
“ปัจจุบันคุณจอห์นยังต้องอาศัยอยู่ที่ประเทศมาเลเซีย ทั้งนี้ วันพฤหัสที่ผ่านมา (16 มี.ค.) ได้มีการทำหนังสือส่งไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เรื่องขอเข้าประเทศชั่วคราว และคาดว่าจะได้คำตอบกรณีนี้ ไม่เกิน 7 วัน ซึ่งก็ไม่ทราบว่าผลจะเป็นอย่างไร ส่วนคดีที่อยู่ที่ศาลปกครองสูงสุด คงต้องรอให้ศาลพิจารณาและวินิจฉัยต่อไป”
นายจอห์น เดวิด ยัง เข้ามาอยู่เมืองไทยและทำมาหากินมาแล้วกว่า 20 ปี มีกิจการเป็นของตัวเอง มีลูกที่ต้องดูแลเลี้ยงดูให้เติบใหญ่ ส่วนการร้องขอเข้ามาอาศัยในเมืองไทยจะเป็นอย่างไรคงต้องรอดูกันต่อไป เพราะทุกอย่างอยู่ในกระบวนการของกฎหมายแล้ว สำหรับ ตอนหน้า ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะนำหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาของ ตม. มานำเสนอ ส่วนจะมีอะไรบ้างนั้น โปรดติดตามต่อพรุ่งนี้...
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์รายงาน