เศร้าใจนะครับ ที่สังคมไทยต้องเจอกับเหตุ “กราดยิง” ต่อเนื่อง 2-3 ปีติด 3 ใน 4 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิตหลายศพ แต่ 2 เหตุการณ์ เกิดขึ้นภายในไม่กี่สัปดาห์ คือ “สารวัตรคลั่ง” กับ “กราดยิง” ที่ จ.เพชรบุรี
2 เหตุการณ์ จบลงด้วยความตาย ด้วยการถูกวิสามัญ แต่ผลลัพธ์จาก 2 เหตุการณ์นี้ สังคมมองแตกต่างกัน เพราะ “เหยื่อ” จากสารวัตรคลั่ง คือ การทำให้ชาวบ้านใกล้เคียงหวาดผวา แต่กราดยิงเพชรบุรี สังเวยชีวิตคู่อริและผู้เกี่ยวข้อง 3 ศพ และมีผู้บาดเจ็บ 2 ราย
คำถามคือ เพราะอะไร เหตุ “กราดยิง” มักเกิดซ้ำ และในระยะเวลาใกล้เคียงกัน?
คำตอบของคำถามนี้ ศ.พล.ต.ท.ดร.พิศาล มุขแจ้ง อดีตหัวหน้าอาจารย์วิชาอาชญาวิทยา โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน กล่าวกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ว่า “มาจากพฤติกรรมเลียนแบบ”
ศ.พล.ต.ท.ดร.พิศาล อธิบาย ว่า สิ่งที่สื่อหรือสังคมควรทำคือ ต้องไม่นำเสนอข่าวว่าคนร้ายเป็นฮีโร่ ทุกคนต้องไม่เห็นด้วยกับการกระทำเช่นนี้ ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงและใช้กำลังในการแก้ปัญหา ต้อง “ตำหนิ” คนที่ก่อเหตุ
...
ถอดบทเรียน “กราดยิง” เพชรบุรี ไม่ใช่คนคลั่ง แต่คือ “ฆาตกร”
ศ.พล.ต.ท.ดร.พิศาล กล่าวว่า เคสที่เกิดขึ้นนี้ ทราบว่ามีแนวโน้ม จะก่อเหตุนานแล้วผู้ก่อเหตุมีลักษณะนิสัยชอบดื่มสุรา และพอเมาก็มักมีปัญหากับชาวบ้านใกล้เคียง ทำให้ชาวบ้านตรงนั้น บางคนทนไม่ได้ก็ย้ายหนีออกไป ส่วนคนที่อยู่ก็เป็นนักศึกษา มาเช่าบ้าน (ผู้เสียชีวิต 2 ศพ)
ฉะนั้น สิ่งที่เจ้าหน้าที่ต้องทำ คือ การ “ป้องกัน” ไม่ควรมองข้ามเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น เหตุทะเลาะวิวาท ระหว่างบ้านใกล้เรือนเคียง เป็นไปได้ ถ้าดูพฤติกรรมไม่น่าไว้วางใจ อาจจะต้องมีการตรวจอาวุธ ตรวจค้น
สิ่งสำคัญคือ “อาวุธ” ที่ปัจจุบัน มีการขออนุญาตครอบครองปืนง่ายเกินไป ส่วนตัวมองว่า ไม่อยากให้ชาวบ้านครอบครองปืนง่ายๆ นอกจากนี้ ยังปล่อยปละเรื่องการซื้อขายกระสุน สามารถสั่งซื้อได้ทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งควรจะมีกฎหมายมาควบคุมว่า ประชาชนสามารถือครองเครื่องกระสุนได้กี่นัด
สังเกตไหม แม้ตำรวจจะมีจำนวนมาก มีปืนจำนวนมาก แต่ผู้ก่อเหตุ ก็มีกระสุนอยู่เป็นร้อยๆ นัดเช่นกัน...ดังกับมี “คลังแสง” ในบ้าน นี่คืออีกจุดหนึ่งที่เป็นเรื่องอันตราย
วิเคราะห์ปฏิบัติการ กราดยิง เพชรบุรี
สำหรับ ปฏิบัติการครั้งนี้ ศ.พล.ต.ท.ดร.พิศาล ประเมินว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจถือว่าทำได้ดี เพราะ...
1.เริ่มใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก
2.คำนึงถึงความปลอดภัยของทุกคน ทุกฝ่าย คือ ตัวประกัน ประชาชนบริเวณใกล้เคียง เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน รวมไปถึงคนร้าย...
“คนร้ายเคสนี้ ไม่ใช่คนคลั่งทั่วไป แต่คือ “อาชญากร” เพราะเขาฆ่าไปหลายศพ 2 ศพแรก คือฆ่าคู่กรณี และพยาน การยิงของผู้ก่อเหตุ หากเป็นการ “กราดยิง” หรือ ยิงมั่ว เขาจะเรียก Active Shooter แต่รายนี้ไม่ใช่ เพราะจากพยานในเหตุการณ์ ระบุว่า มีการไล่ผู้ไม่เกี่ยวข้องออกไป
หากเข้าลักษณะ Active Shooter จะไม่สามารถเจรจาได้ สิ่งที่เจ้าหน้าที่ต้องทำคือ การระงับเหตุให้เร็วที่สุด ป้องกันไม่ให้ไปก่อเหตุที่อื่น
เคสนี้แตกต่าง คือ เขาฆ่าคน 3 ศพ จากนั้นหนีไปขังตัวเอง ซึ่งตามหลักอาชญาวิทยา สามารถเจรจากับคนร้ายได้ แต่...คนร้ายประเภทนี้ เท่าที่อ่านพฤติกรรมจากโซเชียลมีเดีย ด้วยการโพสต์รูปเมนเผาศพ โพสต์ข้อความวัน “มรณะ” พูดถึงแต่เรื่องการตาย
แต่เขาไม่กล้าฆ่าตัวตาย เขาต้องการตายโดยให้ตำรวจเป็นคนยิงตาย ภาษาอาชญาวิทยาเรียกว่า “Suicide by Cop” เป็นการฆ่าตัวตายด้วยมือตำรวจ ซึ่งเชื่อว่าคนร้ายรู้อยู่แล้วว่าจะต้องจบด้วยการตาย
...
มองประเทศ “ญี่ปุ่น” ประเทศปลอด “อาวุธปืน” และความปลอดภัย
ครูโรงเรียนนายร้อยตำรวจ กล่าวถึง ญี่ปุ่น ถือเป็นประเทศที่มีการป้องกันอาชญากรรมดีที่สุดในโลก เพราะประเทศเขามีการควบคุมอาวุธปืน ประชาชนขออนุญาตครอบครองอาวุธปืนได้ยากมาก ส่วนมากจะขอได้เฉพาะนักกีฬายิงปืน หรือ ใช้ในการล่าสัตว์ เท่านั้น คนที่ครอบครองปืนได้ จะทำให้จิตใจมันฮึกเหิม พอไม่มีปืน คนก็สงบเสงี่ยมเจียมตัว ส่วนมากคนที่มีปืน ก็ไม่ได้ใช้ป้องกันตัว ส่วนมากก็เพื่อไปทำร้ายคนอื่น
ส่วนสิ่งที่ตำรวจต้องทำ
1.การจัดทำแผนเผชิญเหตุ ในระดับ สน. อำเภอ หรือ จังหวัด
2.ตั้งชัดบริหารสถานการณ์วิกฤติ ยกตัวอย่าง หากเกิดในพื้นที่ใด จะทราบทันทีว่า “ใคร” คือ ผบ.เหตุการณ์ โดยต้องมีองค์ความรู้ในการรับมือ
3.จัดชุดเจรจาต่อรอง ที่เป็นมืออาชีพ ประจำสถานีตำรวจ หรือ จังหวัด จะมีหน่วยงานที่อบรมหลักการเจรจาคือ กองบัญชาการศึกษา ซึ่งที่ผ่านมามีการอบรมค่อนข้างน้อย ปีละ 40 คน
4.จัดชุดปฏิบัติการ เช่น หน่วยปฏิบัติการพิเศษจังหวัด (นปพ.) นเรศวร 261 หรือ อรินทราช 26
5.ชุดสนับสนุนต้องมีความพร้อม หากมีเหตุวิกฤติ หน่วยใดจะทำหน้าที่ปิดล้อมที่เกิดเหตุ สนับสนุนเรื่องประปา ไฟฟ้า ดับเพลิง ต้องเตรียมความพร้อม ชุด อส. ชุดพยาบาล
...
การป้องกันของคนในสังคม
ศ.พล.ต.ท.ดร.พิศาล กล่าวสรุปว่า 1.สังคมหน่วยเล็กที่สุด คือ สถาบันครอบครัว ต้องดูว่า สมาชิกในบ้านมีพฤติกรรมน่าสงสัยหรือไม่ เช่น เครียด เก็บตัว สะสมอาวุธ ถ้าพบเห็นก็ต้องแจ้งตำรวจ ถ้ามีอาการทางจิต ก็ส่งตัวรักษา ป้องกันก่อนเกิดเหตุ
2.ตำรวจต้องให้ความสนใจกับเหตุเล็กน้อยมากกว่านี้ อย่าละเลย การทะเลาะวิวาทในชุมชน ต้องตรวจค้น จับกุม
3.รณรงค์ให้มีการแก้ไขกฎหมาย เกี่ยวกับอาวุธปืน และ การซื้อขายเครื่องกระสุน ซึ่งเรื่องนี้ สังคมอาจจะต้องเป็นผู้พิจารณาว่า เช่น การทำประชาพิจารณ์ เกี่ยวกับสังคมปลอดอาวุธปืน
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ