• นับตั้งแต่ 28 ก.พ. ถึง 6 มิ.ย. 2564 ผู้เข้ารับวัคซีนโควิด-19 มีอาการไม่พึงประสงค์รุนแรง รวม 18 ราย แบ่งเป็น แพ้รุนแรง 17 ราย และชา 1 ราย
  • อาการไม่พึงประสงค์ที่ สปสช. จ่ายชดเชยส่วนใหญ่นอนโรงพยาบาล เกินกว่า 50% มีอาการชา บางส่วนชานานเกิน 2 เดือน
  • ภาวะลิ่มเลือดหลังเข้ารับวัคซีนแอสตราเซเนกา มีโอกาสเกิดเพียง 1 ในล้าน หรือ 4 ในล้านโดส เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นยากมาก

ในยามที่ประชากรไทยเริ่มทยอยเข้ารับวัคซีนโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจนถึงวันที่ 6 มิถุนายน 2564 สิ้นสุดปลายสัปดาห์ รวมทั้งวัคซีนซิโนแวค (Sinovac) และวัคซีนแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) อยู่ที่ 4,218,094 โดส แน่นอนว่า หลังเข้ารับวัคซีนแล้ว...ก็ย่อมพบ "อาการไม่พึงประสงค์" หรือ "ผลข้างเคียง" อื่นๆ ตามมา

"ผลข้างเคียง" หรือที่เรียกว่า Side Effect นั้น กำลังส่งสัญญาณอะไร?

ทั้งนี้ "ผลข้างเคียง" โดยทั่วๆ ไปที่คุณจะประสบหลังเข้ารับวัคซีนโควิด-19 จะมีลักษณะอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง ซึ่งนั่นเป็นสัญญาณว่า ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายคุณกำลังตอบสนองต่อวัคซีนโควิด-19 ที่เข้าไปภายใน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "แอนติเจน" (Antigen) เพื่อเตรียมต่อสู้กับไวรัส โดยปกติแล้วจะหายเองในอีกไม่กี่วันถัดมา

องค์การอนามัยโลก (WHO) มองว่า สัญญาณของ "ผลข้างเคียง" เล็กน้อยถึงปานกลาง กำลังแสดงให้ประชากรโลกทั้งหลายเห็นว่า วัคซีนโควิด-19 กำลังทำงาน แต่นั่นก็ไม่ใช่ว่า "การไม่พบผลข้างเคียงเลย" จะหมายความว่าวัคซีนไม่มีประสิทธิภาพแต่อย่างใด เพียงแค่ร่างกายของแต่ละคนมีการตอบสนองต่อวัคซีนแตกต่างกัน

...

ดังนั้น "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" จึงอยากให้ "คุณผู้อ่านไทยรัฐออนไลน์" ที่เข้ารับวัคซีนโควิด-19 ลองรีเช็ก "ผลข้างเคียง" ของตัวเองดูอีกสักครั้ง หรือคนที่กำลังจะเข้ารับวัคซีนโควิด-19 ในเร็วๆ นี้ พร้อมไขข้อสงสัยการยื่น "ชดเชย" จากอาการไม่พึงประสงค์ กับ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

รีเช็ก "ผลข้างเคียง" หลังฉีดวัคซีนโควิด-19

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า วัคซีนโควิด-19 ทุกชนิดมีโอกาสเกิด "ผลข้างเคียง" หลังการฉีดทั้งสิ้น โดยส่วนใหญ่มีอาการเล็กน้อยหรือปานกลาง และจะหายเองภายในอีกไม่กี่วันถัดมา ประกอบด้วย อาการปวดบริเวณที่ฉีดวัคซีน, ไข้, อ่อนเพลีย, ปวดหัว, ปวดกล้ามเนื้อ, หนาวสั่น และท้องเสีย

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ผลข้างเคียงรุนแรงมากหรือระยะยาวจะเป็นไปไม่ได้เลย...

นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว ถึงต้องนั่งสังเกตอาการ ณ สถานที่เข้ารับวัคซีน 15-30 นาที เพราะอาจพบ "ผลข้างเคียง" ที่ไม่คาดคิดหรือภาวะสุขภาพอื่นๆ เช่น ภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน เป็นต้น

และด้วย ณ เวลานี้ ประเทศไทยดำเนินการฉีดวัคซีนโควิด-19 อยู่ 2 ยี่ห้อ คือ ซิโนแวค และแอสตราเซเนกา จึงอาจมี "ผลข้างเคียง" บางอย่างที่เกิดขึ้นแตกต่างกัน จึงขอไล่เรียงดังนี้

1) คนฉีดวัคซีนซิโนแวค

จากรายงานเบื้องต้น พบว่า 17-21% ของคนที่เข้ารับวัคซีนซิโนแวคทั้งหมด มีอาการปวดบริเวณที่ฉีดวัคซีนและปวดกล้ามเนื้อ

โดยส่วนใหญ่หลังเข้ารับวัคซีนจะเกิดการตอบสนองของร่างกายไม่รุนแรงมากและจะหายได้เองภายใน 2 วัน ซึ่งจากการทดลองระยะที่ 1 ของวัคซีนซิโนแวค พบว่า ผู้เข้ารับวัคซีนที่ "ผลข้างเคียง" พัฒนาไปเป็นอาการ "ภูมิแพ้ผิวหนัง" ลุกลามเป็นแนวยาว มีเพียง 1 เคสเท่านั้น แต่ก็สามารถรักษาได้ด้วยยาต้านฮิสทามีนและสเตียรอยด์ ก่อนจะหายได้ภายใน 3 วัน

ขณะที่ อาการตอบสนองทั่วร่างกายที่มากกว่าแค่ปวดบริเวณฉีดวัคซีน ประกอบด้วย อ่อนเพลีย, ท้องเสีย และกล้ามเนื้ออ่อนแรง แต่หากคุณพบอาการไม่พึงประสงค์อื่นๆ ที่นอกเหนือจากนี้ เช่น อาการบวมภายในปากหรือคอ และหายใจลำบาก ต้องรีบพบแพทย์โดยด่วน เพราะนี่เป็นสัญญาณการตอบสนองของอาการแพ้ชนิดรุนแรง

...

ดร.ซุมยา สวามินาธาน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้ความเห็นผ่านทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ว่า กรณีพบอาการตอบสนองหลังฉีดวัคซีนซิโนแวค เช่น อาการแพ้รุนแรง ตั้งแต่โดสที่ 1 แนะนำว่าไม่ควรฉีดวัคซีนชนิดเดียวกันในโดสที่ 2

"ตอนนี้ยังไม่มีคำแนะนำการฉีดวัคซีนโดสที่ 3 เพราะกำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาว่า การฉีดวัคซีนครั้งหนึ่ง (ครบจำนวน 2 โดส) จะมีประสิทธิผลนานแค่ไหน และการบูสเตอร์หรือเข็มกระตุ้นนั้นควรเป็นลักษณะอย่างไร"

2) คนฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา

"ผลข้างเคียง" ของวัคซีนยี่ห้อนี้ค่อนข้างได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ เนื่องจากพบว่า คนที่เข้ารับวัคซีนมีอาการพัฒนาไปสู่ "ภาวะลิ่มเลือด"

นั่นเลยทำให้บางประเทศหยุดฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาชั่วคราว เพื่อดำเนินการสอบสวน "ภาวะลิ่มเลือด" ที่เกิดขึ้นกับผู้เข้ารับวัคซีน ก่อนจะลงความเห็นว่า "ผลข้างเคียง" ดังกล่าวเป็นอาการที่พบได้ยากมากๆ

ดร.ซุมยา ชี้ว่า โอกาสเกิดเพียง 1 ในล้าน หรือ 4 ในล้านโดสเท่านั้น เพราะฉะนั้น กรณีวัคซีนแอสตราเซเนกาจึงเสนอให้ใช้ 2 โดส มีช่วงระยะเวลาระหว่างโดสอยู่ที่ 8-12 สัปดาห์ ซึ่งจากกรณีที่มีการฉีดวัคซีนคละชนิด เช่น เข็มที่ 1 วัคซีนแอสตราเซเนกา และเข็มที่ 2 วัคซีนไฟเซอร์ จริงๆ แล้ว ควรใช้วัคซีนชนิดเดียวกัน โดย WHO แนะนำว่า หากโดสแรกเป็นวัคซีนแอสตราเซเนกา โดสที่ 2 ก็ควรเป็นวัคซีนแอสตราเซเนกาเช่นเดียวกัน

...

ปัจจุบัน ในยุโรปกลับมาดำเนินการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาอีกครั้งแล้ว แต่บางประเทศก็ยังเข้มงวดกับการใช้แค่เฉพาะผู้สูงอายุเท่านั้น

ส่วน "ผลข้างเคียง" อื่นๆ ของวัคซีนแอสตราเซเนกาที่พบได้ยากนอกเหนือจาก "ภาวะลิ่มเลือด" ประกอบด้วย เคสอาการอักเสบเฉียบพลันรอบๆ ไขสันหลัง, เคสภาวะโลหิตจางที่เกิดจากการแตกทำลายของเม็ดเลือดแดง และเคสไข้สูง

ขณะที่ "ผลข้างเคียง" ทั่วๆ ไป ประกอบด้วย อาการปวดบริเวณฉีดวัคซีน, อาการกดเจ็บเล็กน้อย, อ่อนเพลีย, ปวดหัว, ปวดกล้ามเนื้อ, หนาวสั่น และไข้ โดยการตอบสนองส่วนใหญ่นั้นเป็นอาการเล็กน้อย และหายได้ประมาณภายใน 1 วันหลังเข้ารับวัคซีน

แล้วอาการไม่พึงประสงค์แบบไหน...ถึงจะยื่น "ชดเชย" ได้?

เลขาฯ สปสช. เกริ่นตอนต้นว่า ทางศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้มีการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนแก่ สปสช. โดยส่วนหนึ่งเป็นกรณีอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดหลังจากเข้ารับวัคซีนโควิด-19 และการเตรียมการสนับสนุนค่าเสียหายเบื้องต้นที่ไม่ต้องรอ หมายความว่า หากฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วเกิดอาการไม่พึงประสงค์ ผู้ได้รับความเสียหายสามารถขอรับค่าชดเชยได้ ด้วยการยื่นเรื่องมายังคณะอนุกรรมการฯ ที่มี 13 ทีมทั่วประเทศ โดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 5 วัน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนทุกคนมาเข้ารับวัคซีนจำนวนมากและเพียงพอ

...

ส่วนกรณีที่เกิดข้อคำถามว่า อาการไม่พึงประสงค์หรือ "ผลข้างเคียง" แบบไหนถึงจะยื่นชดเชยได้?

"ทาง สปสช. ไม่ได้มีการกำหนดว่าอาการใดยื่นได้ อาการใดยื่นไม่ได้ หากผู้เข้ารับวัคซีนมีความสงสัยว่า หลังฉีดแล้วมีอาการที่คาดว่าจะเกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด-19 ก็สามารถยื่นเรื่องมาได้ตลอด"

เลขาฯ สปสช. อธิบายเพิ่มเติมว่า การยื่นเรื่องกรณีพบอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ง่ายที่สุด คือ ไปที่สถานที่ที่คุณเข้ารับวัคซีนโควิด-19 เพื่อปรึกษาแพทย์และพิจารณาเบื้องต้นว่าอาการที่เกิดขึ้นมีความเกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด-19 จากนั้นก็จะดำเนินการพิจารณาการเยียวยา ซึ่งต้องเรียนว่า วัคซีนโควิด-19 ทั้งหมดที่ใช้ขณะนี้นั้นยังเป็นวัคซีนที่ใช้ในภาวะฉุกเฉิน เพราะฉะนั้น เราจึงต้องมีกระบวนการในการติดตามอาการไม่พึงประสงค์ การที่คุณมีอาการใดๆ เกิดขึ้น แล้วคุณสงสัย อย่ารีรอที่จะพบแพทย์

"รัฐบาลได้เตรียมงบประมาณในการเยียวยาคุณในกรณีที่อาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีนโควิด-19 โดยอนุกรรมการฯ จะช่วยกันพิจารณาว่าใช่หรือไม่อย่างไร บางกรณีไม่จำเป็นต้องรอผลถึงขนาดว่าต้องสิ้นสุด เราก็สามารถชดเชยความเสียหายหรือเยียวยาเบื้องต้นได้ ซึ่งเป็นงบประมาณเยียวยาเบื้องต้นที่ยังไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิดหรือพิจารณาเหตุสุดวิสัยเบื้องต้น แล้วจากนั้นจะมีทีมไปติดตามว่า อาการที่เกิดขึ้นกับคุณนั้นเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่"

เลขาฯ สปสช. ยืนยันอีกว่า หากคุณไม่แน่ใจว่าใช่อาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีนโควิด-19 จริงหรือไม่ ให้ติดต่อแพทย์แล้วส่งเรื่องมาก่อนได้เลย โดยตลอดที่ผ่านมา การดำเนินการเบื้องต้นอาการมีตั้งแต่เป็นไข้, ปวดแผล หรือชา หรือบางรายต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล

"ตอนนี้รับเรื่องในส่วน สปสช. จะแตกต่างจากจำนวนที่แท้จริง คือ ในช่วง 2 สัปดาห์แรกที่เริ่มเปิดให้มีการส่งเรื่องเข้ามา จนถึงเมื่อวานนี้ (2 มิ.ย. 64) มีการรับเรื่องมาแล้วประมาณ 250 ราย และชดเชยไปแล้วประมาณ 150 ราย โดยอาการไม่พึงประสงค์ที่มีการชดเชยไป ส่วนหนึ่งเป็นผู้ที่ต้องนอนโรงพยาบาล และเกินกว่า 50 ราย มีอาการชา บางส่วนมีอาการชาแล้วเป็นนานเกินเดือนหรือ 2 เดือน เพราะบางรายก็มีอาการตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ นอกนั้นเป็นอาการคลื่นไส้, อ่อนเพลีย และอาเจียน เป็นต้น"

ทั้งนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ได้ตรวจสอบข้อมูลของ สปสช. ล่าสุด ณ วันที่ 6 มิถุนายน 2564 หรือช่วง 3 สัปดาห์หลังเปิดรับเรื่องยื่นขอชดเชยที่เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 พบว่า มีผู้ยื่นเรื่องทั้งหมด 344 ราย โดยทาง สปสช. ดำเนินการจ่ายชดเชยแล้ว 239 ราย รวม 3,016,700 บาท และรอข้อมูลอีก 61 ราย ไม่จ่าย 44 ราย ในส่วนกรณีการเสียชีวิตนั้น สปสช. ดำเนินการจ่ายแล้ว 4 ราย แบ่งเป็น จ.ปทุมธานี 1 ราย, แพร่ 1 ราย, สงขลา 1 ราย และตาก 1 ราย

สำหรับวงเงินการชดเชยอันเนื่องมาจากวัคซีนโควิด-19 นั้น แบ่งเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ

1. กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร ชดเชยไม่เกิน 4 แสนบาท

2. กรณีสูญเสียอวัยวะหรือพิการ ชดเชยไม่เกิน 2.4 แสนบาท

3. กรณีเจ็บป่วยที่ต้องรับรักษา ชดเชยไม่เกิน 1 แสนบาท

โดยทาง สปสช. ระบุว่า ระยะเวลาการยื่นคำร้องนาน 2 ปี นับแต่ทราบความเสียหาย ซึ่งจะพิจารณาจ่ายตามมติอนุกรรมการฯ

ขณะที่ ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2564 นั้น พบว่า ผู้มีอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงจากการเข้ารับวัคซีนโควิด-19 รวมทั้งหมดมี 18 ราย แบ่งเป็น แพ้รุนแรง 17 ราย และชา 1 ราย

อย่างไรก็ตาม WHO เน้นย้ำว่า หลังจากเข้ารับวัคซีนโควิด-19 แล้ว ร่างกายของคุณอาจจะต้องใช้เวลาในการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นสัปดาห์ ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่อาจมีการติดเชื้อก่อนหรือหลังรับวัคซีน และป่วยโควิด-19 นี่เป็นเพราะวัคซีนโควิด-19 ยังไม่มีเวลาเพียงพอในการเตรียมการป้องกัน หมายความว่า หลังรับวัคซีนแล้ว พวกคุณก็ยังต้องสวมหน้ากาก, ล้างมือ และเว้นระยะห่างทางสังคมอยู่เช่นเดิม.

ผู้เขียน: เหมือนพระอาทิตย์

กราฟิก: Jutaphun Sooksamphun

ข่าวน่าสนใจ: