"เซอร์เบีย" กลายเป็นประเทศเดียวในกลุ่มประเทศบนคาบสมุทรบอลข่านตะวันตก ซึ่งประกอบด้วย เซอร์เบีย, บอสเนีย, มาซิโดเนีย, มอนเตเนโกร และโคโซโว ที่ประสบความสำเร็จเรื่องอัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชนของตัวเองอย่างมีนัยสำคัญ และค่าเฉลี่ยนี้ยังสูงเป็นลำดับต้นๆ ของทวีปยุโรปด้วย
อัตราการฉีดวัคซีนที่ว่านี้สูงขนาดไหน?
22% จากจำนวนประชากร 6.8 ล้านคนของเซอร์เบีย ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 แล้ว ซึ่งถือเป็นค่าเฉลี่ยที่สูงกว่าพลเมืองในสหภาพยุโรปถึง 9%!
และล่าสุด เพื่อให้เป้าหมายการฉีดวัคซีนเข็มแรกให้กับประชาชนครบ 55% ของจำนวนประชากรภายในสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้บรรลุผลสำเร็จ รัฐบาลเซอร์เบียจึงได้ประกาศอัดฉีดเงิน 25 ยูโร ให้กับพลเมืองอายุเกิน 16 ปีขึ้นไปที่มาฉีดวัคซีนเข็มแรก หรือเข็มที่สองภายในห้วงเวลาดังกล่าวด้วย ตามรายงานของสำนักข่าวยูโรนิวส์ (Euronews) เมื่อวันที่ 6 พ.ค. ที่ผ่านมา
หากแต่ที่สร้างความเซอร์ไพรส์ให้กับชาวโลกมากที่สุด คือ การที่เซอร์เบียได้แสดงให้เห็นว่า พวกเขามีปริมาณวัคซีนมากพอถึงขนาดสามารถฉีดวัคซีนให้กับประชาชนของประเทศเพื่อนบ้านได้อีกต่างหาก!
อะไรที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของรัฐบาลเซอร์เบียในการจัดหาวัคซีน?
...
ก่อนหน้านี้ "รัฐบาลเซอร์เบีย" พยายามดิ้นรนหาวัคซีนมาฉีดให้กับประชาชนตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดในเดือนมีนาคม 2020 แล้ว โดยมีการร้องขอความช่วยเหลือไปยังรัฐบาลจีนทันที
หลังพบปัญหาทั้งจากการที่สหภาพยุโรป หรือ "อียู" เริ่มจำกัดการส่งออกอุปกรณ์ทางการแพทย์ และความหวังจากโครงการ Covax ซึ่งเป็นโครงการในการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั้งในรูปแบบให้ฟรีและราคามิตรภาพให้กับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งเซอร์เบียและกลุ่มประเทศบนคาบสมุทรบอลข่านเข้าร่วมโครงการ ยังได้รับ "การปันส่วนวัคซีนที่ล่าช้ามากๆ" จนแทบจะทำให้เซอร์เบียและกลุ่มประเทศบอลข่านตะวันตก ซึ่งส่วนใหญ่มีท่าทีที่ชัดเจนมาโดยตลอดว่า ต้องการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของอียู กลายเป็น "ผู้ถูกลืม"
ซึ่งพอมีการร้องขอความช่วยเหลือไปทางจีนอย่างชัดเจนในเดือนมกราคม 2021 เซอร์เบียจึงกลายเป็นประเทศแรกในยุโรปที่มี "วัคซีนซิโนฟาร์ม" (Sinopharm) จากประเทศจีนมาฉีดให้กับพลเมืองของตัวเอง รวมถึงยังสามารถสั่งซื้อวัคซีนจากแดนมังกรเข้ามาในประเทศได้มากขึ้น และมากขึ้นเรื่อยๆ
แค่นั้นยังไม่พอ รัฐบาลเซอร์เบียยังได้ติดต่อขอซื้อ "วัคซีนสปุตนิก วี" (Sputnik) อีกหลายล้านโดส จากรัฐบาลรัสเซียในเวลาที่ไล่เลี่ยกันเพิ่มเติม ถึงแม้ว่าวัคซีนจาก 2 บริษัทนี้ยังไม่ผ่านการอนุมัติจากสำนักงานยาแห่งสหภาพยุโรป (European Medicines Agency) หรือ EMA ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลและควบคุมทางการแพทย์ของอียูก็ตาม
เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่ามกลางประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงที่ล้วนแล้วแต่ขาดแคลนวัคซีน รวมถึงเกิดความวุ่นวายภายใน "อียู" ที่ต่างสาละวนอยู่แต่กับการหาวัคซีนมาฉีดให้กับคนในประเทศของตัวเอง "เซอร์เบีย" จึงมีจำนวนวัคซีนอยู่ในมือจำนวนมากพอ สำหรับการกระจายฉีดให้กับพลเมืองของตัวเอง
และความสำเร็จในระดับที่สามารถจับต้องได้ของเซอร์เบียนี้เอง ทำให้รัฐบาลของบอสเนีย, มาซิโดเนีย, มอนเตเนโกร และโคโซโว จึงหันไปเดินตามรอยรัฐบาลเซอร์เบีย ด้วยการเปิดรับความช่วยเหลือด้านวัคซีนจากจีนและรัสเซีย รวมถึงพยายามดิ้นรนเพื่อติดต่อขอซื้อวัคซีนจากบริษัทต่างๆ โดยตรงอย่างเร่งด่วน แทนที่จะเฝ้ารอคอย "ความหวัง" ที่ดูจะห่างไกลออกไปทุกทีจากโครงการ Covax โดยเฉพาะเมื่อเกิดการระบาดอย่างรุนแรงในประเทศอินเดีย ฐานการผลิตวัคซีนสำคัญแห่งหนึ่งของโลก
สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศเซอร์เบีย ณ ปัจจุบัน?
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในประเทศเซอร์เบีย อ้างอิงตามข้อมูลของสถาบันเพื่อการสาธารณสุขแห่งเซอร์เบีย (Institute for Public Health) สิ้นสุดวันที่ 6 พ.ค.2021
...
เซอร์เบียมีผู้ติดเชื้อสะสมรวมอยู่ที่ 697,241 คน ขณะที่ จำนวนเสียชีวิตสะสมรวมอยู่ที่ 6,499 ศพ
ส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตรายวันในรอบสัปดาห์ล่าสุด (สิ้นสุดวันที่ 6 พ.ค.2021)
วันที่ 30 เมษายน มีจำนวนผู้ติดเชื้อ 1,613 คน เสียชีวิต 25 ศพ
วันที่ 1 พฤษภาคม มีจำนวนผู้ติดเชื้อ 1,374 คน คน เสียชีวิต 24 ศพ
วันที่ 2 พฤษภาคม มีจำนวนผู้ติดเชื้อ 989 คน เสียชีวิต 23 ศพ
วันที่ 3 พฤษภาคม มีจำนวนผู้ติดเชื้อ 1,249 คน คน เสียชีวิต 23 ศพ
วันที่ 4 พฤษภาคม มีจำนวนผู้ติดเชื้อ 1,304 คน คน เสียชีวิต 24 ศพ
วันที่ 5 พฤษภาคม มีจำนวนผู้ติดเชื้อ 1,402 คน คน เสียชีวิต 22 ศพ
วันที่ 6 พฤษภาคม มีจำนวนผู้ติดเชื้อ 1,366 คน คน เสียชีวิต 21 ศพ
ปัจจุบัน เซอร์เบียมีวัคซีนในมือกี่บริษัท?
ปัจจุบัน สำนักงานยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์แห่งเซอร์เบีย (Serbia Medicines and Medical Devices Agency) อนุมัติให้วัคซีนจาก 4 บริษัท ประกอบด้วย ไฟเซอร์ (Pfizer), แอสตราเซเนกา (AstraZeneca), ซิโนฟาร์ม (Sinopharm) และสปุตนิก วี (Sputnik V) สามารถฉีดให้กับชาวเซอร์เบียได้
...
เดี๋ยวก่อน... 4 บริษัท! ใช่แล้วนอกจากซิโนฟาร์ม และสปุตนิก วี แล้ว...พวกเขายังสั่งซื้อวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์และบริษัทแอสตราเซเนกามาฉีดให้กับประชาชนด้วย และหากใครยังไม่รู้ เซอร์เบียเป็นชาติแรกในยุโรปที่ได้รับมอบวัคซีนของไฟเซอร์ด้วย โดยได้รับมอบลอตแรก 4,875 โดส เมื่อปลายเดือนธันวาคมปีที่แล้ว (2020)
ส่วนวัคซีนของแอสตราเซเนกา เซอร์เบียได้รับลอตแรก 150,000 โดส ตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา และแน่นอนเป็นชาติแรกของยุโรปอีกเช่นเดิม!
เหตุใดการฉีดวัคซีนให้กับเพื่อนบ้านของเซอร์เบียถึงกลายเป็นการเมือง?
แทบไม่ต้องสงสัยเลยว่า การแสดงท่าทีโน้มเอียงไปทางจีนและรัสเซียในวิกฤติโควิด-19 ย่อมนำมาซึ่ง "ความขุ่นเคืองใจ" ให้กับบรรดาชาติตะวันตกเป็นอย่างยิ่งแล้ว หากแต่สิ่งที่น่าจะสร้างความไม่พอใจมากยิ่งขึ้นไปกว่านั้น คือ การที่รัฐบาลเซอร์เบียนำวัคซีนที่มีส่วนหนึ่งไปฉีดให้กับพลเมืองของประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา!
โดยสำนักข่าวยูโรนิวส์รายงานว่า ประชาชนจากประเทศโครเอเชีย, มาซิโดเนีย, มอนเตเนโกร, อัลเบเนีย, บอสเนีย และเฮอร์เซโกวีนาเกินกว่า 20,000 คน และนักธุรกิจชั้นนำในภูมิภาคอีกกว่า 8,000 คนที่ผ่านการลงทะเบียนระบบอิเล็กทรอนิกส์ ตามคำเชิญชวนของสภาหอการค้าแห่งเซอร์เบีย (Serbian Chamber of Commerce) ได้รับการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ของเซอร์เบีย
...
จากนั้นเป็นต้นมา บทวิเคราะห์การเมืองของสื่อตะวันตกต่างดาหน้ามุ่งเป้าโจมตีการกระทำดังกล่าวของรัฐบาลเซอร์เบียอย่างรุนแรง โดยเรียกมันว่าทั้งหมดเป็นเพียง "เกมการเมืองวัคซีน" (Politics in Vaccination) ที่มีจีนและรัสเซียในฐานะผู้บริจาครายใหญ่อยู่เบื้องหลัง เพื่อหวังโกยคะแนนนิยมจากประเทศในคาบสมุทรบอลข่าน
เป็นเหตุให้ "อานา เบอร์นาบิช" (Ana Brnabic) นายกรัฐมนตรีเซอร์เบีย ต้องออกโรงมาตอบโต้เสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว โดยยืนยันว่า สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด คือ...
"ภาพอันแสนงดงามแห่งความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และทั้งหมดที่เกิดขึ้นปราศจากการเมืองเข้ามาแทรกแซง และพวกเขาทั้งหมดไว้วางใจเรา"
อย่างไรก็ดี หลังปล่อยให้จีนและรัสเซียเข้ามามีบทบาทในฐานะ "พระเอก" บนคาบสมุทรบอลข่านมาเนิ่นนานนับตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ล่าสุด "อียู" ได้เริ่มขยับแล้ว โดยเมื่อช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา อียูได้ประกาศว่าจะมีการส่งมอบวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์จำนวน 651,000 โดส กระจายไปให้กับเซอร์เบีย, บอสเนีย, มาซิโดเนีย, มอนเตเนโกร และโคโซโว ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม พร้อมกับยืนยันด้วยว่า อียูยังคงให้ความสำคัญกับภูมิภาคนี้อยู่ต่อไป (ว่าแต่...มาช้าไปหน่อยนะ)
เซอร์เบียทำอย่างไรในการรักษาสมดุลการเมืองวัคซีน ระหว่างจีน, รัสเซีย, สหรัฐฯ และอียู?
นักวิเคราะห์ทางการเมืองมองตรงกันว่า ที่ผ่านมา "รัฐบาลเซอร์เบีย" ชาญฉลาดในการ Balance Power ปัญหายุ่งๆ เรื่องการเมืองวัคซีนกับเหล่าบรรดาชาติมหาอำนาจได้เป็นอย่างดี
เพราะนอกจากเอาใจจีน, รัสเซีย, อียู และสหรัฐฯ ได้อย่างครบถ้วน ด้วยสั่งซื้อวัคซีนจากทั้ง 4 บริษัทแล้ว
ตัวอย่างที่ลอยเด่นให้เห็นชัด คือ การโชว์ภาพนายกรัฐมนตรีของเซอร์เบียผู้ได้รับความเอ็นดูเป็นพิเศษจากสื่อตะวันตก ในฐานะผลผลิตการศึกษาจากสหรัฐฯ ถ่ายรูปฉีดวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์
ในขณะที่ เมื่อคราวได้รับมอบวัคซีนจากจีน ประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ บูจิช (Aleksandar Vucic) ของเซอร์เบีย ที่เรียก ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนว่า "พี่ชาย" ก็เป็นฝ่ายถ่ายรูปฉีดวัคซีนของซิโนฟาร์มบ้างทันที
นอกจากนี้ วาทะหลังการฉีดวัคซีนก็ถือวรรคทองที่น่าจดจำอยู่ไม่ใช่น้อย โดยนายกรัฐมนตรีเซอร์เบียที่กล่าวภายหลังจากได้รับวัคซีนของไฟเซอร์ว่า
"ไม่ว่าวัคซีนจะมาจากจีน, สหรัฐฯ หรืออียู เราไม่แคร์ ตราบใดที่ชาวเซอร์เบียปลอดภัยและได้รับมันโดยเร็วที่สุด สำหรับเรา (เซอร์เบีย) วัคซีนไม่ใช่เรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ แต่มันเป็นเรื่องของดูแลด้านสุขอนามัย"
กุญแจสำคัญของเรื่องนี้ เหตุใดเซอร์เบียจึงได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากรัฐบาลจีน?
การรุกเข้าสู่คาบสมุทรบอลข่านผ่านยุทธศาสตร์โครงการริเริ่ม 16+1 (16+1 initiative) ที่จีนจะเข้าไปผนึกกับ 11 ประเทศสมาชิกอียู และอีก 5 ประเทศยุโรปตะวันออกในคาบสมุทรบอลข่าน (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น 17+1) ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2012 ทำให้จีนก้าวเข้าไปหว่านเม็ดเงินก้อนโตในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ รวมถึงโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นที่ฐานต่างๆ มากมายในหลายประเทศบนคาบสมุทรบอลข่าน และแน่นอน เซอร์เบีย คือ เป้าหมายสำคัญของจีนในฐานะประเทศที่อุดมไปด้วยถ่านหินจำนวนมหาศาล และมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่โตที่สุด โดยคิดเป็น 44% ของ GDP ในภูมิภาคนี้
พอมองออกกันแล้วใช่ไหม? ว่าเหตุใดจีนจึงได้เอาอกเอาใจ "เซอร์เบียเป็นพิเศษ" ในขณะที่ โลกตะวันตกเองก็ไม่ปรารถนาที่จะให้เซอร์เบียก้าวเข้าสู่อ้อมอกของ "คู่แข่ง" ที่ต้องเฝ้าจับทุกฝีก้าว ณ เวลานี้อย่างแน่นอน!
ว่าแต่...เมื่อ "คุณ" สู้อุตส่าห์กวาดสายตาอ่านมาถึงบรรทัดนี้ "คุณ" รู้สึกทึ่งกับการธำรงตนของ รัฐบาลเซอร์เบีย ท่ามกลางแรงผลักให้เลือกข้างผ่านวิกฤติโควิด-19 จากบรรดาชาติมหาอำนาจที่รายล้อม และหนำซ้ำยัง ได้รับประโยชน์จากทั้งสองฝ่าย โดยไม่ทำให้เกิดปัญหา "บัวช้ำน้ำขุ่น" กันบ้างหรือไหม?
End Credit
เซอร์เบียกับวัคซีนท่องเที่ยวมีจริงหรือไม่?
สำนักข่าวยูโรนิวส์รายงานเมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา โดยระบุว่า ตามที่เกิดข่าวลือในโลกโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับการเปิดทัวร์ท่องเที่ยวฉีดวัคซีนสำหรับนักท่องเที่ยวจากตุรกีที่จะเดินทางไปประเทศเซอร์เบียนั้น เบื้องต้น ทางสถานทูตตุรกี ประจำกรุงเบลเกรด และสถานทูตเซอร์เบีย ประจำกรุงอังการา ได้ออกมาปฏิเสธกระแสข่าวดังกล่าวแล้ว โดยชาวตุรกีที่จะได้รับสิทธิในการฉีดวัคซีนของเซอร์เบียมีเพียงเฉพาะชาวตุรกีที่มีถิ่นพำนักในประเทศเซอร์เบียเท่านั้น
นอกจากนี้ สำนักข่าวยูโรนิวส์ยังได้เตือนบรรดาผู้ที่ต้องการเปิดทัวร์ท่องเที่ยวฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 อีกด้วยว่า จนถึงปัจจุบันยังไม่มีรายงานอย่างเป็นทางการจากประเทศใดว่า ได้มีการเตรียมการสำหรับการรองรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางเข้ามาฉีดวัคซีน ฉะนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่า นักท่องเที่ยวบางคนอาจเสียเงินฟรีและต้องผิดหวังกลับบ้านไป
ยกตัวอย่างเช่น บางประเทศที่ระบุชัดเจนว่า ไม่ต้อนรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเข้ามาฉีดวัคซีน อย่าง "สหราชอาณาจักร" ที่จะได้รับวัคซีนผ่านระบบบริการสาธารณสุข และจะต้องรอจนกว่า แพทย์จะเป็นผู้เสนอให้เท่านั้น และในการนัดหมายต้องมีการยืนยันรายละเอียดส่วนบุคคล เช่น ที่พำนัก ด้วย
ขณะเดียวกัน รายงานข่าวชิ้นนี้ยังได้ตั้งคำถามถึง "ทัวร์ฉีดวัคซีน" ด้วยว่า มีความถูกต้องชอบธรรมในประเด็นเรื่องจริยธรรมมากน้อยแค่ไหน?
เพราะแม้ว่า การดำเนินการในลักษณะดังกล่าวสามารถนำไปสู่เป้าหมายร่วมกันของคนทั้งโลกในเรื่องการยุติการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ได้ก็จริง
แต่ในปัจจุบันยังมีผู้คนส่วนใหญ่ในโลกอีกมากมาย โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา ที่ยังคงต้องรอคอยวัคซีนอย่างอดทนจากการที่บรรดาประเทศร่ำรวย พยายามผูกขาดการฉีดวัคซีนให้กับคนในประเทศของตัวเอง โดยการกักตุนวัคซีนเอาไว้ในปริมาณที่เกินพอดี!
ฉะนั้น การทัวร์วัคซีนจึงแทบไม่ต่างอะไรกับการลัดคิวให้กับผู้คนส่วนน้อยที่มีกำลังทรัพย์ และมันอาจนำมาซึ่งปัญหาที่ลุกลามบานปลายได้ในอนาคต
แล้ว "คุณ" ล่ะ เห็นอย่างไรกับประเด็นนี้?
ข่าวน่าสนใจ:
- ความหวัง "โควาซิน" วัคซีนสู้โควิดสายพันธุ์อินเดีย วิกฤติกระทบแผน Covax
- "อินเดีย" วิกฤติ โควิดกลายพันธุ์ ไวรัสปรับตัวสู้อากาศร้อน ต้านวัคซีน
- ไขข้อสงสัย "ลิ่มเลือดอุดตัน" เมื่อวัคซีนแอสตราเซเนกา-จอห์นสันฯ ควรได้ไปต่อ
- เทียบ 7 วัคซีนโควิด Johnson & Johnson ความหวังที่น่าจับตา
- วัคซีนจอห์นสัน & จอห์นสัน เทียบแอสตราเซเนกา โอกาสเกิดลิ่มเลือด 1 ในแสน