ความฝันอันแสนเพริศแพร้วเกินจินตนาการของเหล่าเกมเมอร์ที่จะได้เล่นเกมระดับ AAA ในแบบไร้กำแพงทางเทคโนโลยีขวางกั้น บางทีมันอาจจะกลายเป็นฝันค้าง
"One place for all the ways we play"
"เล่นครบจบที่เดียวในทุกรูปแบบการเล่น"
มอตโต้อันแสนภาคภูมิของ "สเตเดีย" (Stadia) คู่แข่งอันไฉไลเป็นบ้า ที่ว่ากันว่าจะเข้ามาช่วงชิงตลาดวิดีโอเกม มูลค่า 16,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่มีขาใหญ่อย่างโซนี่ (SONY), นินเทนโด (NINTENDO) และไมโครซอฟท์ (MICROSOFT) ปักหลักปักฐานครอบครองอยู่
สเตเดีย (Stadia) คืออะไร?
สเตเดีย คือ ผู้ให้บริการเกมผ่านระบบคลาวด์ (Cloud) แบบเหมาจ่ายรายเดือน หรือเรียกง่ายๆ ว่า พวกเขาคือ เน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ในโลกของวิดีโอเกม เพียงแต่มันเป็นการเล่นเกมในคุณภาพระดับเดียวกับเครื่องคอนโซล (Console) โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีฮาร์ดแวร์ (Hardware) มาวางให้รกเกะกะห้อง
อ้อ...เกือบลืมบอกไป ผู้เป็นเจ้าของคือ กูเกิล (Google) นะรู้ยัง?
...
โดยจุดขายของสเตเดียที่ทำให้คนทั้งโลกถึงกับร้อง Wow ออกมาดังๆ คือ เกมเมอร์สามารถทั้งสตรีม (Stream) และเล่นเกมได้ในทุกๆ หนแห่ง ผ่านสมาร์ทโฟน เว็บเบราว์เซอร์ หรือไวเลส ผ่านโครมแคสต์ (Chromecast)
โดยมียอดค่าสมัครใช้บริการที่ถูกแสนถูก เพียง 129.99 เหรียญสหรัฐ (4,213 บาท) หลังจากนั้น "คุณ" จะได้ Stadia controller อุปกรณ์เชื่อมต่อ Chromecast dongle และบัตรผ่านอายุ 3 เดือน สำหรับการเล่นกับเพื่อนบนโลกออนไลน์มาเป็นของแถม
หรือหาก "คุณ" คิดว่า 129.99 เหรียญสหรัฐ อาจจะดูพรีเมียมไป Google มีทางเลือกที่ดีกว่านั้น คือ สเตเดีย โปร (Stadia Pro) ที่จ่ายเพียง 9.99 เหรียญสหรัฐ (324 บาท) ต่อเดือน ซึ่ง "คุณ" สามารถเหมาจ่ายเล่นเกมได้เหมือนกัน เพียงแต่ "เกม" ที่เล่นจะเป็นแบบความคมชัดต่ำ (Lower resolution)
ฟังๆ ดูเหมือนน่าเหลือเชื่อว่า มันจะเป็นไปได้จริงมากน้อยแค่ไหน?
หากแต่การรีวิวของสำนักข่าวชื่อดังหลายแห่งก่อนหน้านี้ ต่างล้วนแล้วแต่ออกปากชม "สเตเดีย" กันทั่วหน้า เช่น ไม่จำเป็นต้องเสียเวลารอการ Install games อันแสนน่าเบื่อ หรือการแทบจะหลับคาคอนโซลเมื่อต้องรอการดาวน์โหลดเกมระดับ AAA
นอกจากนี้ การทดสอบเล่นเกมที่มีกราฟิกสุดโหด ผลลัพธ์การทำงานของระบบคลาวด์อันยอดเยี่ยม ยังทำให้พบ "การหน่วงเพียงเล็กน้อย" ในระหว่างการเล่นทดสอบบนมือถืออีกด้วย
เพียงแต่...ทั้งหมดที่ว่าไปนี้ ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า สถานที่ที่คุณเล่นต้องมีระบบอินเทอร์เน็ตที่ "แรงชัดจัดเต็มตลอดระยะเวลาการเล่นของคุณเท่านั้น!"
ฟังดู Wow เอามากๆ ใช่ไหม? งั้น "เรา" ไปกันต่อ...
หากแต่มาถึงปี 2021 อนาคตของโปรเจกต์สเตเดีย เริ่มอยู่ภายใต้เครื่องหมายคำถาม หลังผู้กุมโปรเจกต์แห่งความทะเยอทะยานอย่างที่สุดนี้ อย่าง กูเกิล (Google) ตัดสินใจปิด บริษัท สเตเดีย เกม แอน เอนเตอร์เทนเมนท์ (Stadia Games and Entertainment) หรือ SG&E ทั้งๆ ที่เพิ่งเปิดตัวมาได้เพียงเกือบ 2 ขวบปี และยังไม่มีเกมแม้แต่เกมเดียวออกมาให้กับสเตเดีย
"ใช้ทั้งระยะเวลาและงบประมาณจำนวนมาก เพื่อการสร้างสรรค์เกมที่ดีที่สุดเท่าที่เคยสร้างมา นับแต่นี้ต่อไป เราจะโฟกัสไปที่การร่วมมือกับ นักพัฒนาจากภายนอก เพื่อให้มีเกมพร้อมใช้งานบนสเตเดียต่อไป"
นี่คือ บทสรุปการปิดฉากบริษัทที่ถูกกูเกิลเนรมิตขึ้นมาในปี 2019 เพื่อสร้างเกมเอ็กซ์คลูซีฟป้อนให้กับ "สเตเดีย" เพื่อเอาไว้สู้กับ “คู่แข่ง”
หากแต่ นักวิเคราะห์ในตลาดวิดีโอเกม ไม่ได้มองแบบนั้น...
Joost van Dreunen ผู้เชี่ยวชาญและนักวิเคราะห์วงการเกมจาก New York University Stern School of Business มองทะลุถึงข้อเท็จจริงในแบบตรงไปตรงมาว่า
"18 เดือนที่ผ่านมา กูเกิลได้ลงทุนในราคาแสนแพง แต่กลับไม่มีข้อพิสูจน์ใดเลยที่จะเดินหน้าต่อได้อย่างสมเหตุสมผลทุกอย่างจึงยุติลง"
เอาล่ะ...แม้ว่า ฟีล แฮร์ริสัน (Phil Harrison) รองประธานของสเตเดีย จะยืนยันว่า การปิดสตูดิโอพัฒนาเกมแห่งนี้ เพื่อมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาแพลตฟอร์ม และเทคโนโลยีสตรีมมิงเป็นหลัก และการันตีว่า บรรดาสมาชิก (Subscription) ซึ่งเริ่มเข้ามาใช้บริการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2019 จะยังคงสามารถเล่นเกมบนสเตเดียได้ต่อไป รวมถึงจะเชิญชวนนักพัฒนาเกม นำคอนเทนต์มาลงให้สเตเดียมากขึ้น
...
แต่คำถามที่ตามมา คือ กูเกิลยังจะจริงจังกับสเตเดียต่อไปได้อีกนานแค่ไหน?
โดยเฉพาะเมื่อ DNA เกมไม่ได้อยู่ในสายเลือดของบริษัท Big Tech เหล่านี้
ความพยายามกลุ้มรุมฉีกเค้กอันแสนหอมหวนในตลาดเกมของเหล่า Big Tech อย่างกูเกิล แอมะซอน แอปเปิล และเฟซบุ๊ก ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ถูกประเมินจากบรรดานักวิเคราะห์ว่า ยังไม่ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยเหตุเพราะยักษ์ใหญ่เหล่านี้ ไม่ได้มี DNA เกมอยู่ในสายเลือด
ทำให้เมื่อต้องเผชิญหน้ากับความจริงที่แสนโหดร้ายที่ว่า วงการเกมนั้น ต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก และระยะเวลา (เวลาที่เกมจะถูกพัฒนาจนเสร็จสมบูรณ์ โดยเฉพาะเมื่อเป็นเกมระดับ AAA) ที่อาจจะมากกว่า และเหนืออื่นใด คือ ผลลัพธ์ที่ได้ ซึ่งอาจจะถึงขั้นบาดเจ็บสาหัส หากเกมที่สู้อุตส่าห์ซุ่มพัฒนามาอย่างยาวนานประสบความล้มเหลวในแง่ของยอดขาย หรือหากในยุคปัจจุบัน คือ การรวมตัวของเหล่าเกมเมอร์ จนกระทั่งกลายเป็นคอมมูนิตี้ขนาดมหึมา
โดยที่ผ่านมา เมื่อต้องพบกับความล้มเหลว ซึ่งแทบไม่เคยพบเจอมาก่อนในอีกโลกหนึ่ง เหล่ายักษ์ใหญ่เหล่านี้ มักจะตัดสินใจ "ถอนตัว" ไปแบบง่ายๆ
...
ไม่เชื่อก็ลองดู การจำยอมกล้ำกลืนปิดมิกเซอร์ (Mixer) บริการไลฟ์สตรีมเกม ที่ทำเอาไมโครซอฟท์สูญเงินไปหลายล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว หรือโปรเจกต์เกมบล็อกบัสเตอร์เขย่าโลก อย่างคลูซีเบอร์ (Crucible) ที่แอมะซอน หมายหมั้นปั้นมือว่า จะฮิตระเบิดและทำเงินทำทองแบบกินยาวๆ ได้เหมือนเกมฟอร์ทไนท์ (Fortnite) แต่สุดท้ายมันกลับล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง และเงียบหายไปกับสายลม ก่อนจะปิดตัวเองไปแบบเงียบๆ โลกไม่จำ เมื่อเดือนตุลาคมปี 2020 เป็นตัวอย่าง (เปิดตัวเดือนพฤษภาคม 2020)
ไม่ต่างจากกรณีเฟซบุ๊ก เกมมิ่ง (Facebook Gaming) ที่เปิดตัวอย่างอลังการในปี 2018 พร้อมวางเป้าหมายอย่างยิ่งใหญ่เอาไว้ว่า ด้วยศักยภาพเครือข่ายโซเชียลมีเดียขนาดมหึมา จะช่วยให้พิชิตธุรกิจไลฟ์สตรีมเกมได้ไม่ยากเย็น แต่แล้วความจริงวันนี้ คือ สถิติการเข้ารับชมคอนเทนต์เกมที่วาดหวังไว้ มันต่ำกว่าผู้ครองแชมป์สตรีมเกมตลอดกาลอย่างทวิทช์ (Twitch) เอามากๆ
สถิติชั่วโมงการรับชมไลฟ์สตรีมเกม เดือนเมษายน 2019
- เฟซบุ๊ก เกมมิ่ง อยู่ที่ 86 ล้านชั่วโมง
- ทวิทช์ อยู่ที่ 750 ล้านชั่วโมง
ส่วนเดือนเมษายน 2020
- เฟซบุ๊ก เกมมิ่ง อยู่ที่ 291 ล้านชั่วโมง
- ทวิทช์ อยู่ที่ 1,491 ล้านชั่วโมง
(ข้อมูลจาก StreamElements)
"ยักษ์ใหญ่เหล่านี้ เปรียบดั่ง เรือบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่ ที่มักเจอมรสุมในช่วงหันหางเสือเรือ หลังจากเลือกเส้นทางเดินไปข้างหน้าได้แล้ว"
Joost van Dreunen สรุป
...
เอาล่ะ...แม้สเตเดียจะยังดูมีอนาคต มีเกมระดับ AAA อย่าง Red Dead Redemption 2 และ Final Fantasy XV มาลงให้ ถึงแม้ว่ามันจะเทียบไม่ได้เลยกับคลังเกมฮิตของเพลย์สเตชันที่มีเกมระดับ AAA มากกว่า 800 เกมก็ตาม
แต่การไร้แรงดึงดูดเหล่าเกมเมอร์จากเกมเอ็กซ์คลูซีฟ ในแบบเดียวกับที่เพลย์สเตชัน 4 ใช้จนประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม และมันกำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้งกับเพลย์สเตชัน 5 จะทำให้สเตเดียมียอดจำนวนสมาชิก ซึ่งถือเป็นรายได้หลักเพิ่มขึ้นได้อย่างไร?
โดยเฉพาะเมื่อในปัจจุบัน ที่นอกเหนือไปจาก 3 บิ๊กเบิ้ม อย่างโซนี่ นินเทนโด และไมโครซอฟท์ ซึ่งกำลังทำสงครามกันอย่างดุเดือดในสมรภูมิ Next Gen แล้ว ผู้เล่นรายใหม่ที่ใหญ่บิ๊กเบิ้มไม่แพ้กันอย่างแอมะซอน (Amazon) แอปเปิล (Apple) และเฟซบุ๊ก (Facebook) กระโดดลงมาเพื่อหวังแชร์เค้กชิ้นงามมูลค่านับหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐนี้พร้อมๆ กัน
ความสำเร็จของสเตเดียหรือเหล่าผู้ให้บริการ Cloud Gaming Service ล้วนแล้วแต่ต้องพึ่งปัจจัยสำคัญ คือ จำนวนสมาชิกรายเดือน ที่ปัจจุบัน ต้องยอมรับว่า ตลาดเต็มไปด้วยการแข่งขันที่รุนแรงมากๆ ฉะนั้น ข้อเสนอที่จะนำไปสู่การเพิ่มฐานจำนวนสมาชิกได้ แน่นอนว่า มันย่อมต้องขึ้นกับ 1.ราคา 2.ความเสถียรของการให้บริการ และ 3.คอนเทนต์ดึงดูดใจ
"แม้ข้อเสนอในปัจจุบันของสเตเดีย มันอาจจะไม่ได้อยู่ในกลุ่มเดียวกับ ข้อเสนอที่มีการแข่งขันกันสูงมากๆ อย่างกลุ่มตลาดคอนโซล แต่สิ่งสำคัญที่ไม่อาจปฏิเสธได้ สำหรับกลยุทธ์ธุรกิจบุฟเฟต์เกม นั่นก็คือ หากลูกค้าพลิกเปิดแคตตาล็อกแล้วไม่พบอะไรที่ดูเตะตามากพอ มันจะทำให้สเตเดียแตกต่างหรือมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ซึ่งสามารถบ่งบอกถึงความเป็นตัวตนของสเตเดียที่อยู่เหนือคู่แข่งไปได้อย่างไรกัน?"
ผู้เชี่ยวชาญและนักวิเคราะห์วงการเกมจาก New York University Stern School of Business สรุปปิดท้าย
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก: เทพอมร แสงธรรมาพิทักษ์
ข่าวที่น่าสนใจ:
- แกะรอยอวสาน "ผ่าพิภพไททัน" จุดพีคดำมืด หรือ "เอเรน" คือบทสรุป
- เมื่อ MacBook กลายร่างเป็น iPhone ปฏิวัติอารยธรรม Apple
- เทียบกลยุทธ์ราคา PlayStation 5 (PS5) VS Xbox ซื้อเครื่องไหนคุ้ม?
- ย้อนปฏิบัติการกู้ภัยใต้พิภพ 33 ชีวิต ติดเหมืองชิลี 69 วัน 22 ชั่วโมงระทึก
- แกะรอยความเสี่ยง "วัคซีนโควิด" หลังฉีดให้มนุษย์ชุดแรกทั่วโลก