เมื่อประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 46 "โจ ไบเดน" ไฟแรง จรดปากกาลงนามคำสั่งแบบไม่หยุดพัก ทั้งการเซ็นยกเลิกคำสั่งอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ และการทำตามสัญญาที่เคยให้ไว้เมื่อตอนหาเสียง

ซึ่งหนึ่งในนั้นมี "นโยบาย" ที่น่าสนใจอย่าง Buy American

มันน่าสนใจอย่างไร?

มาติดตามกับ The Answer

…แน่นอนว่า นโยบายนี้มีที่มาไม่ธรรมดา จนถึงมีการเปรียบเปรยว่าเป็น "ลัทธิ" ที่ถูกปลุกโดยฝ่ายบริหาร และเคยเกิดคลื่น "ลัทธิ Buy American" ก่อนหน้านี้มาแล้ว 3 ครั้ง

Photo: REUTERS
Photo: REUTERS

...

จากคำบอกเล่าของศาสตราจารย์ ดาน่า แฟรงค์ ประจำมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานตา ครูซ และผู้เขียนหนังสือ Buy American: เรื่องราวที่ไม่ได้เปิดเผยของชาตินิยมทางเศรษฐกิจ ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1999

ไล่เรียงได้ว่า...

ครั้งแรกเกิดในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 นำโดย "วิลเลียม แรนดอล์ฟ เฮิร์ซ" บุคคลที่มีอิทธิพลในวงการหนังสือพิมพ์

โดยลัทธิ Buy American เกิดขึ้นมาจากการต่อต้าน "ภัยเหลือง" (Yellow Peri) ที่เป็นแรงงานชาวญี่ปุ่น

ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นช่วงทศวรรษที่ 1970 และ 1980 กับการต่อต้าน "ตลาดรถยนต์ญี่ปุ่น"

และครั้งที่ 3 ลัทธิ Buy American เกิดขึ้นภายใต้คณะบริหารอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ที่ต่อต้านและเรียกเก็บภาษีการนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นๆ โดยพุ่งเป้าไปที่ "จีน" เป็นหลัก

Photo: REUTERS
Photo: REUTERS

นอกเหนือจากคำบอกเล่าของ "แฟรงค์" แล้ว มีข้อมูลที่ค้นพบว่า ลัทธิ Buy American ที่ก่อเกิดจาก "อคติ" นี้ มีการขับเคลื่อนผ่านนโยบายของคณะบริหารสหรัฐอเมริกามานานแล้ว จนเรียกได้ว่า "ฝังรากลึก" ในความเชื่อของชาวอเมริกันที่ว่า "สินค้าที่ผลิตโดยชาวอเมริกันนั้นมีคุณภาพเหนือกว่าใคร!"

เช่นเหตุการณ์เมื่อปี 1789 ที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ พิถีพิถันในการคัดสรรผ้าทอพื้นเมืองที่ผลิตในอเมริกา แทนที่จะนำเข้าจากอังกฤษ เพื่อที่จะนำมาตัดสูทสวมใส่ในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง

แต่ตลอด 228 ปีที่ผ่านมา ลัทธิ Buy American นี้ ก็ไม่ถูกหยิบยกมาเป็นการขับเคลื่อนหลักอะไรมากนัก จนมาถึงอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ที่ปลุกขึ้นมาใหม่ ด้วยการให้คำมั่นสัญญาในพิธีเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมกราคม 2017 และเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายว่า Buy American, Hire American ทั้งซื้อสินค้าอเมริกันและจ้างงานอเมริกัน

และในปี 2021 นี้ Buy American ก็กลับมาอีกครั้งภายใต้คณะบริหารไบเดน ที่ทำตามสัญญาที่เคยให้ไว้เมื่อตอนหาเสียง

Photo: AFP
Photo: AFP

...

สรุปสั้นๆ คำนิยาม Buy American ของไบเดนได้ว่า เขาจะทำให้ Buy American เกิดขึ้นได้จริง และจะปิดช่องโหว่ทางกฎหมายที่อนุญาตให้บริษัทต่างๆ จ้างงาน และผลิตสินค้านอกฝั่ง ที่เรียกว่า Offshore ขณะเดียวกันก็จะปรับปรุงสิทธิพิเศษให้กับการผลิตในประเทศด้วย

พร้อมกับสร้างความมั่นใจให้ชาวอเมริกันว่า Buy American ของไบเดนนั้น จะสร้างอนาคตที่สดใสให้กับบรรดาบริษัทผู้ผลิต ธุรกิจต่างๆ และเหล่าแรงงาน ผ่าน "การผลิตสินค้าในอเมริกาโดยแรงงานอเมริกา"

หาก Buy American เป็นไปอย่างราบรื่น ก็จะร้อยเข้ากับพันธสัญญาอื่นๆ ที่ไบเดนได้ให้ไว้อย่าง "การลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตอเมริกัน" รวมถึงพลังงานสะอาดและห่วงโซ่อุปทานที่กำลังวิกฤติอยู่ขณะนี้ นอกจากนั้นยังมีเรื่องของการจ่ายค่าตอบแทนที่จะเติบโตสูงขึ้น และพัฒนาความเท่าเทียมทางเชื้อชาติ

จากที่ว่ามานี้ Buy American ในแบบฉบับไบเดน เหมือนจะเป็นนโยบายทางเศรษฐกิจปกติธรรมดา แต่ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์แล้วกลับเห็นว่า "นี่เป็นเกมการเมืองของลัทธิคุ้มครอง หรือ Protectionism มากกว่า"

ทำไมพวกเขาถึงคิดแบบนั้น?

โรเบิร์ต ลอว์เรนซ์ ศาสตราจารย์ด้านการลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ ประจำวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เคนเนดี หยิบยกหลักฐานที่บ่งชี้ว่า ผู้ผลิตอเมริกันจำนวนมากไม่ได้ต้องการการคุ้มครองจาก Buy American และมองว่า "ลัทธิคุ้มครอง" ไม่ได้ขับเคลื่อนโดยภาคอุตสาหกรรม แต่ขับเคลื่อนโดย "ฝ่ายบริหาร"

Buy American ในยุคอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ เรียกได้ว่ายุ่งเหยิงที่สุดก็ว่าได้ เพราะเป็น Buy American ที่มี "การเมือง" ในและนอกประเทศเข้ามาผสมปนเป การตั้ง "กำแพงภาษี" ที่เหมือนว่าจะเป็นผลดีต่อประเทศ เพราะได้รับการสนับสนุนจากสหภาพแรงงานมากมาย แต่กลับได้รับการต่อต้านมากมายจากผู้นำของบริษัทอเมริกันมากกว่า 300 แห่ง ตั้งแต่ผู้ค้าปลีกอิเล็กทรอนิกส์ แบรนด์แฟชั่น ไปจนถึงผู้ให้บริการสื่อสตรีมมิง โดยให้เหตุผลว่า การตั้งกำแพงภาษีเหล่านี้อาจทำลายธุรกิจทีละน้อยๆ ด้วยการเพิ่มต้นทุนให้กับพวกเขา

...

อีกหนึ่งมุมมองจาก เอริก โบฮีม แห่งนิตยสารเสรีนิยม Reason คาดการณ์กรณีเลวร้ายที่สุดจาก "ภาษีอะลูมิเนียม" ที่ทำให้ "ต้นทุนสูงขึ้น" คือ ต้นทุน 690 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 20,000 ล้านบาท จะสร้างงานแค่ 300 ตำแหน่ง และนั่นจะส่งผลอย่างแน่นอน เริ่มจากกำไรลดลง และเป็นไปได้อาจถึงขั้นต้องเลิกจ้าง

แต่นั่นเป็นแค่การคาดการณ์เท่านั้น ในความเป็นจริง Buy American อาจสร้างงานได้จริง และสร้างรายได้ให้กับอเมริกามหาศาลก็เป็นได้ เพราะคณะบริหารไบเดนให้สัญญาแล้วว่า Buy American สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนและมีคุณภาพ

และชาวอเมริกันเองก็พร้อมจะสนับสนุนอุตสาหกรรมของชาวอเมริกันอย่างเต็มที่ โดยผลสำรวจแสดงให้เห็นว่า ประมาณ 2 ใน 3 ของชาวอเมริกันยินยอมที่จะจ่ายเพิ่มขึ้นสำหรับสินค้าที่ชาวอเมริกันผลิตมากกว่าสินค้านำเข้า กับความคิดที่ว่า การซื้อสินค้าอเมริกันถือเป็นการส่งเสริมการจ้างงานชาวอเมริกันด้วยเช่นกัน

แต่ก็น่าสนใจที่ว่า ไม่ว่าพรรคไหนจะได้เป็นรัฐบาลก็ตาม สหรัฐอเมริกาก็ไม่ทิ้งนโยบาย Buy American เลยซะทีเดียว หรือนี่จะเป็นอย่างที่บอกไว้ว่า ความภาคภูมิใจใน "สินค้าที่ผลิตโดยอเมริกัน" มันฝังรากลึกไปแล้ว.

...

ข่าวน่าสนใจ: