- ถ้อยคำของ "โจ ไบเดน" ที่ขอร้องชาวอเมริกันยุติขัดแย้ง และปรองดองกัน มีความคล้ายคลึงกับสุนทรพจน์อดีตประธานาธิบดี "อับราฮัม ลินคอล์น" ผู้รวมสหรัฐอเมริกาเป็นหนึ่งเดียวเมื่อกว่า 150 ปีก่อน
- "โจ ไบเดน" เซ็นคำสั่งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาแล้วกว่า 17 คำสั่ง หลังเข้าทำงานได้เพียง 2 วัน
- อดีตประธานาธิบดี "โรนัลด์ เรแกน" คือ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ลงนามคำสั่งประธานาธิบดีมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ภายใน 8 ปี รวม 381 ฉบับ
20 มกราคม 2021 ประเทศสหรัฐอเมริกา กำลังก้าวย่างสู่การเริ่มต้นยุคใหม่ ภายใต้การนำของชายวัย 78 ปี ที่มีชื่อว่า "โจ ไบเดน"
หากแต่ฉากหลังท่ามกลางการเฉลิมฉลองแสดงความยินดีปรีดานั้น มันกลับถูกแฝงเร้นไปด้วยซากศพของชาวอเมริกันนับแสนที่เสียชีวิตจาก Covid-19 รวมถึงความขัดแย้งทางการเมืองภายในที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ บนดินแดนที่ถูกเรียกขานว่า "เสรีภาพ" แห่งนี้
...
โดยหลักฐานที่เป็นประจักษ์ถึงความขัดแย้งภายในที่ว่านั้น คือ ปรากฏการณ์อดีตประธานาธิบดีคนแรกในประวัติศาสตร์ไม่ยินยอมไปปรากฏตัวในพิธีสาบานตนของประธานาธิบดีคนใหม่
หนำซ้ำ ยังไม่...แม้แต่จะเอ่ยชื่อของผู้ที่จะเข้ามาแทนที่ตัวเองในทำเนียบขาวแม้แต่คำเดียว แม้ในฉากสุดท้ายของหัวโขนในฐานะผู้นำที่มีอำนาจมากที่สุดในโลก
"Come together and end the uncivil war"
"มาร่วมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และยุติสงครามกลางเมือง"
คำร้องขออย่างสุภาพ และเป็นไปด้วยความจับใจที่ถือเป็นใจความสำคัญที่สุดในสุนทรพจน์อย่างเป็นทางการครั้งแรกในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผู้มีบุคลิกสุภาพ อ่อนโยน จนดูราวกับเป็นคุณลุงผู้ใจดี ซึ่งเป็นภาพที่ตัดกับอดีตประธานาธิบดีคนที่แล้วอย่างสิ้นเชิง
"เราต้องยุติสงครามกลางเมืองระหว่างสีแดง (เดโมแครต) และสีน้ำเงิน (รีพับลิกัน), คนชนบทและคนเมือง, อนุรักษนิยม และเสรีนิยม
เราสามารถทำมันได้! หากเราเปิดจิตวิญญาณของเราแทนที่หัวใจอันหยาบกร้าน หรือหากเราแสดงออกซึ่งความอดทน อ่อนน้อม และเอาใจเขามาใส่ใจเรา"
...
ถ้อยคำร้องขอยุติความขัดแย้ง ความปรองดอง และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในชาติ ณ ปี 2021 นี้ แทบจะไม่แตกต่างไปจากสุนทรพจน์ของ อดีตประธานาธิบดี อับราฮัม ลินคอล์น ผู้รวมประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นหนึ่งเดียวเมื่อกว่า 150 ปีก่อน
"พวกเราหาใช่ศัตรูของกันและกัน แต่เป็นสหายกัน และถึงแม้ความเชื่ออาจทำให้เราบาดหมางกัน แต่มันจะไม่สามารถตัดขาดความรัก และสายสัมพันธ์ของเราไปได้"
อ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้ว "คุณ" คิดเหมือนกันไหมว่า บางทีประเทศๆ หนึ่งแถวๆ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ปัจจุบันอุดมไปด้วยความปริแยก และลุกลามแทรกซึมไปทั่วถึงทุกอณูของสังคม แม้แต่สถาบันที่เล็กที่สุดในสังคมอย่าง "ครอบครัว" ก็ควรจะนำสุนทรพจน์แบบเดียวกันนี้มาบอกเล่าให้กับคนในประเทศนั้นได้รับฟังกันบ้างนะ!
เอาล่ะ...เราไปกลับไปที่ประเทศสหรัฐอเมริกากันต่อดีกว่า!
อะไรคือ "ความเปลี่ยนแปลง" หลัง "ยุคใหม่" ของสหรัฐฯ
มันเริ่มต้นทันที หลังประธานาธิบดีคนที่ 46 ก้าวเท้าเข้าสู่ห้องทำงานรูปไข่ในทำเนียบขาว 17 คำสั่งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ถูกเซ็นเพียงใน 2 วันแรกของการทำงาน
...
9 คำสั่ง ถูกเซ็นในวันที่ 20 มกราคม หลังพิธีสาบานตน
8 คำสั่ง ถูกเซ็นในวันที่ 21 มกราคม
ซึ่งในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา มีประธานาธิบดีสหรัฐฯ น้อยคนมากที่ฟิตจัดถึงขั้นไฟลุกได้ขนาดนี้
โดยหากไม่นับมิสเตอร์ "โจ ไบเดน" แล้ว อดีตผู้นำสหรัฐฯ ที่ลงนามคำสั่งประธานาธิบดีตั้งแต่วันแรกที่เข้าทำงาน คือ อดีตประธานาธิบดี บิล คลินตัน ในปี 1993 หรือเมื่อ 28 ปีก่อน และคำสั่งประธานาธิบดีที่ว่านั้น ยังเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างระเบียบด้านจริยธรรมของผู้ได้รับการแต่งตั้งเท่านั้นเสียด้วย!
...
ในขณะที่อดีตประธานาธิบดีคนอื่นๆ นั้น กว่าที่จะลงนามในคำสั่งประธานาธิบดีฉบับแรกก็ปาไปโน่นเลย 2-3 สัปดาห์เป็นอย่างต่ำ!
นอกจากนี้ 17 คำสั่งของประธานาธิบดี โจ ไบเดน เพียงใน 2 วันแรกของการทำงานนั้น มันยังเกือบเท่ากับจำนวน 1 ใน 3 ของคำสั่งประธานาธิบดีที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามในช่วงปีแรกของการทำงานด้วย (ปี 2017 อดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามในคำสั่งประธานาธิบดีไปทั้งสิ้น 55 ฉบับ)
ด้วยเหตุนี้...นอกเสียจากท่านประธานาธิบดีคนใหม่ วัย 78 ปี จะเป็นผู้ที่ทำให้ "โดนัลด์ ทรัมป์" ต้องระเห็จออกจากทำเนียบขาวแล้ว
บางที...สถิติเดิมที่ท่านผู้นำทรัมป์ทำไว้ในฐานะผู้นำสหรัฐฯ ที่ออกคำสั่งประธานาธิบดีมากที่สุดในช่วง 4 ปีแรกของการงาน (รวม 212 ฉบับภายใน 4 ปี) ก็อาจจะถูกทำลายลงได้เช่นกัน
ส่วนอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ออกคำสั่งมากที่สุดเป็นลำดับที่ 2 ในช่วง 4 ปีแรกของการทำงาน คือ อดีตประธานาธิบดี จอร์จ บุช โดยทำสถิติไว้รวมทั้งสิ้น 166 ฉบับ ในระหว่างการดำรงตำแหน่งเมื่อปี 1989-1993 โดยในปีแรกของการทำงานออกคำสั่งไปทั้งสิ้น 31 ฉบับ
สำหรับประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ลงนามในคำสั่งประธานาธิบดีมากที่สุดในประวัติศาสตร์ คือ...
1. อดีตประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน (381 ฉบับ ภายในเวลา 8 ปี)
2. อดีตประธานาธิบดี บิล คลินตัน (364 ฉบับ ภายในเวลา 8 ปี)
3. อดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช (291 ฉบับ ภายในเวลา 8 ปี)
▸ 9 คำสั่ง หักหน้า "โดนัลด์ ทรัมป์"
ในจำนวนคำสั่งประธานาธิบดี 17 ฉบับ ของผู้นำคนใหม่นั้น มีถึง 9 ฉบับที่เป็นการยกเลิกคำสั่งของอดีตประธานาธิบดีที่เพิ่งข่มใจเก็บของออกจากทำเนียบเสียด้วย
อะไรคือ การยกเลิก 9 คำสั่งของอดีตท่านผู้นำทรัมป์ที่ว่านั้นบ้าง?
1. ยกเลิกการถอนตัวจากการเป็นหนึ่งในสมาชิกขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO
2. ยกเลิกการถอนตัวจากความตกลงปารีส (Paris Climate Accord) เพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อน
3. ยกเลิกโครงการ Keystone XL ท่อส่งน้ำมันยักษ์ข้ามพรมแดนจากแคนาดาสู่โรงกลั่นในสหรัฐฯ รวมถึงตรวจสอบคำสั่งประธานาธิบดี ของ "โดนัลด์ ทรัมป์" ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ย้อนหลังอีกกว่า 100 คำสั่ง
4. ยกเลิกคำสั่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษา (1776 Commission) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากอดีตประธานาธิบดี "โดนัลด์ ทรัมป์" ให้ผลักดันการศึกษาว่าด้วยความรักชาติ หลังถูกกล่าวหาว่าจัดทำรายงานที่ส่งผลให้เกิดความอคติทางเชื้อชาติ
5. ยกเลิกคำสั่งห้ามบุคคลผู้ไร้สัญชาติเข้าไปรวมอยู่ในการสำรวจสำมะโนประชากรสำหรับผู้แทนรัฐสภา
6. ยกเลิกคำสั่งห้ามชาวมุสลิมที่ถือหนังสือเดินทางจาก 7 ประเทศ เดินทางเข้าประเทศสหรัฐอเมริกา
7. ยกเลิกคำสั่งขยายขอบเขตการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อสกัดกั้นผู้ลักลอบเข้าเมือง
8. ยกเลิกคำสั่งประกาศภาวะฉุกเฉินที่นำไปสู่การระดมทุนสร้างกำแพงตามแนวชายแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโก เพื่อสกัดกั้นผู้หลบหนีเข้าเมือง
9. ออกคำสั่งให้สำนักงานการบริหาร และงบประมาณของทำเนียบขาวแห่งสหรัฐฯ (Office of Management and Budget หรือ OMB ปรับปรุงหลักเกณฑ์และข้อบังคับ รวมถึงยกเลิกบางหลักเกณฑ์ที่อดีตประธานาธิบดี "โดนัลด์ ทรัมป์" อนุมัติไปก่อนหน้านี้ด้วย
ส่วนคำสั่งประธานาธิบดีอีก 8 ฉบับ ประกอบด้วย
10. ขอให้ชาวอเมริกันร่วมมือร่วมใจกันสวมหน้ากากอนามัยเป็นระยะเวลา 100 วัน (100 Days Masking Challenge) และในเวลาที่ต้องไปติดต่อสถานที่ราชการจะต้องปฏิบัติตามมาตรการ "เว้นระยะห่างทางสังคม" และสวมหน้ากากอนามัยอย่างเคร่งครัด
11. แต่งตั้งผู้ประสานงานกลางในการต่อสู้กับการแพร่ระบาด Covid-19 ซึ่งจะทำหน้าที่ขึ้นตรงกับประธานาธิบดี
12. ขยายระยะเวลาพักการชำระหนี้ทั่วไปจนถึงวันที่ 31 มีนาคม
13. ขยายระยะเวลา หรือหยุดพักการชำระหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษาไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน
14. ป้องกันการแบ่งแยกเพศ และเพศสภาพในสถานที่ทำงาน
15. สนับสนุนโครงการคุ้มครองทางกฎหมายแก่คนหนุ่มสาวผู้อพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายพร้อมครอบครัวเมื่อยังวัยเยาว์ (Deferred Action for Childhood) หรือ DACA
16. ขยายระยะเวลาการเนรเทศ และการอนุญาตทำงาน สำหรับผู้อพยพชาวไลบีเรีย ไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน
17. ให้ผู้บริหารที่ได้รับการแต่งตั้งลงนามในข้อกำหนดการปฏิบัติตนตามมาตรฐานทางจริยธรรม
เหตุใดจึงต้องเร่งร้อนรัวเซ็นคำสั่งประธานาธิบดีถึง 17 ฉบับ หลังก้าวเท้าเข้าทำเนียบขาว?
นักวิเคราะห์การเมืองมองตรงกันว่า แอ็กชั่นเล่นใหญ่ของไบเดนในครั้งนี้ เป็นความต้องการสื่อสารกับชาวอเมริกันอย่างตรงไปตรงมาว่า "วันใหม่ของสหรัฐอเมริกาได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว" โดยเฉพาะ 2 ประเด็นหลักที่ชาวอเมริกันทั้งชาติฝากความหวังไว้
1. การแก้ไขปัญหา Covid-19
การเผชิญหน้ากับผลกระทบในวงกว้างทั้งทางเศรษฐกิจ และสังคม จากภาวะการแพร่ระบาดโรค Covid-19 คือ แรงกดดันที่ผู้นำสหรัฐฯ ต้องเผชิญอย่าชนิดหลีกเลี่ยงไม่ได้ ฉะนั้น สิ่งที่จะทำให้ชาวอเมริกันเชื่อได้สนิทใจว่า วันใหม่ได้เริ่มต้นขึ้นแล้วจริง คือ การแก้ไขปัญหาที่รวดเร็วและตรงจุด ซึ่งแทบไม่เคยพบเห็นจากผู้นำคนก่อน (มิสเตอร์ทรัมป์)
ด้วยเหตุนี้ ไบเดนจึงตัดสินใจเลือกทำเนียบขาวเป็นศูนย์กลางในการประสานงานกับรัฐต่างๆ เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพในการทำงาน รวมถึง จะทบทวนหรือยกเลิกข้อกำหนดด้านสาธารณสุขต่างๆ ที่เคยออกมาในสมัยทรัมป์ หากเห็นว่า ข้อกำหนดดังกล่าวสร้างความเสียหายให้กับภาวะแวดล้อม หรือระบบสาธารณสุขที่จะให้บริการแก่ประชาชนด้วย
2. การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งภายในชาติ
ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ใช้อำนาจในฐานะประธานาธิบดีเป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองอย่างกว้างขวางในชนิดที่แทบไม่เคยปรากฏมาก่อน
ประธานาธิบดี โจ ไบเดน และทีมที่ปรึกษา จึงอุทิศเวลา 3 เดือนก่อนเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ เพื่อเร่งหาทางออกในประเด็นให้จงได้ เพราะเหตุผล ไม่ต่างจากข้อแรก ผู้นำคนใหม่มีเวลาน้อยมากๆ อีกเช่นกันในการแสดงฝีมือให้ชาวอเมริกันเชื่อว่า "วันใหม่ได้มาถึงแล้ว"
ด้วยเหตุนี้ การพุ่งชนไปที่ "เป้าหมายแรกๆ" อันเกิดจากโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองของมิสเตอร์ทรัมป์ จึงต้องเกิดขึ้นชนิดทันทีทันใด เพื่อให้ชาวอเมริกันได้เห็นผลที่เป็นรูปธรรมอย่างชนิดที่เรียกว่า Full HD เต็มๆ สองตา
ไม่ว่าจะเป็นการจัดลำดับความเท่าเทียมทางเชื้อชาติ หรือทบทวนนโยบายที่เป็นการส่งเสริมการเหยียดเชื้อชาติอย่างเป็นระบบ ซึ่งเกิดขึ้นจากน้ำมือของท่านผู้นำทรัมป์ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา.
ผู้เขียน: นายฮกหลง
กราฟิก: เทพอมร แสงธรรมาพิทักษ์
ข่าวน่าสนใจ:
- ความงดงามประชาธิปไตย ไฉนเรียกจลาจล เมื่อสังคมอเมริกันพูดได้ไม่เท่ากัน
- เมื่อวัคซีน Covid-19 ต้องใช้ 3 อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ การันตี
- "โจ ไบเดน" ถึงเวลาบทพิสูจน์ความเก๋า พลิกวิกฤติสหรัฐอเมริกา
- แกะรอยอวสาน "ผ่าพิภพไททัน" จุดพีคดำมืด หรือ "เอเรน" คือบทสรุป
- รอยร้าว GOT-JYP สัญญา 7 ปี กับกฎหมายที่เปิดช่องตีจาก