ในที่สุด...ก็ถึงเวลาที่ชาวอเมริกันรอคอย เมื่อ "โจ ไบเดน" ก้าวสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 46 อย่างเต็มภาคภูมิ จากนโยบาย "อเมริกาต้องมาก่อน!" (America First!) ก็เปลี่ยนเป็น "อเมริกากลับมาแล้ว!" (America is Back!)

แน่นอนว่า การประกาศกลับมาครั้งนี้ของ "อเมริกา" เป็นเหมือนแสงสลัวแห่งความหวัง

เพราะตลอดปี 2563 ที่ผ่านมา เรียกได้ว่าเป็นปีที่ชาวอเมริกันประสบความยากลำบากมากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์เลยก็ว่าได้ ทั้งมรสุมโควิด-19 ที่ชาวอเมริกันเสียชีวิตมากถึง 400,000 ราย ตกงานกว่า 9,400,000 คน ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการเสียชีวิตของ "จอร์จ ฟลอยด์" ที่เป็นชนวนการประท้วง และก่อจลาจลไปทั่วประเทศ

พอมาปีใหม่ 2564 เริ่มต้นได้ไม่กี่วันก็มีเหตุปลุกระดมก่อจลาจลที่อาคารรัฐสภาสหรัฐอเมริกา พยายามเข้าขัดขวางการรับรองคะแนนเสียงคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College Votes) โดยมีหัวเรือใหญ่ คือ "อดีตประธานาธิบดีทรัมป์" ที่ไม่ยอมรับความพ่ายแพ้

แต่สุดท้าย... "ไบเดน" ก็ผ่านพ้นเหตุการณ์เหล่านั้นมาได้!

พร้อมกับคำมั่นสัญญาในฐานะ "ประธานาธิบดีสหรัฐฯ" ว่าจะฟื้นฟูคุณค่าของชาวอเมริกันให้กลับคืนมา ขณะเดียวกันก็จะเอาชนะวิกฤติต่างๆ ที่ทำให้ "อเมริกา" ตกต่ำตลอดปีที่ผ่านมา

และนี่คือ ประเด็นที่น่าสนใจ...หากจะเป็น NEW AMERICA หรือ "อเมริกาโฉมใหม่" ไบเดนจะต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง?

...

ซึ่งก่อนหน้านี้ ไบเดนได้เสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ มูลค่า 1,900,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 57 ล้านล้านบาท โดยภายใต้วงเงินดังกล่าว มีการวางแผนให้ชาวอเมริกันได้รับการฉีดวัคซีนทุกคน, เช็คเยียวยาประชาชนเพิ่มจาก 600 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 17,962 บาท เป็น 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 59,874 บาท และเพิ่มเงินช่วยเหลือการว่างงานอีก 400 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 11,973 บาทต่อเดือน รวมถึงเงินทุนช่วยเหลือแก่โรงเรียนต่างๆ ในการกลับมาเปิดอีกครั้งอย่างปลอดภัย

สำหรับ "อเมริกา" ปีที่ผ่านมา หากลองมองภาพดีๆ แล้ว จะเห็นว่า "มรสุม" ที่กระหน่ำซ้ำเติมมีความคล้ายกับของ "ไทย" ไม่น้อย ทั้งวิกฤติโควิด-19, เศรษฐกิจ, สังคม และการเมือง

และหากคิดจาก "มรสุม" ที่ว่านั้น หากเราอยากจะประกาศก้องว่า ปี 2564 Thailand is Back! ดูบ้างล่ะ!

ในเมื่อ "อเมริกา" เปลี่ยนแล้ว "ไทย" เปลี่ยนบ้างได้ไหม?

คำตอบก็คือ เปลี่ยนได้!

แต่การจะเปลี่ยนให้เป็น "ประเทศโฉมใหม่" ไม่ว่าจะเป็น "อเมริกา" หรือ "ไทย" นักวิชาการอาวุโส "บิลล์ จอร์จ" แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผู้เขียนหนังสือ "เป็นผู้นำไม่ต้องซ้ำแบบใคร" (Discover Your True North) บอกไว้ว่าต้องมองให้ไกลกว่าการแก้วิกฤติฉุกเฉินเหล่านี้

แล้วต้องทำอะไรบ้าง? ..มาติดตามกับ The Answer

ข้อแรก: ต้องสร้าง "แรงงานแนวหน้า"

หลังจากที่สามารถควบคุมโควิด-19 ให้อยู่ภายใต้การควบคุมได้แล้ว ลำดับแรกที่เราควรทำ คือ ให้เกียรติ "แรงงานแนวหน้า" ในฐานะ "ฮีโร่" การแพร่ระบาดครั้งนี้ เพราะว่าตลอดปีที่ผ่านมา พวกเขาเผชิญความยากลำบากมากมาย โดยเฉพาะการลดทอนคุณค่าทางจิตใจ และการกดขี่ค่าแรงในกลุ่มคนที่มีทักษะแต่ไร้ใบปริญญา รวมถึงรายได้ที่ลดลง และตำแหน่งงานที่หายไป จากการที่อุตสาหกรรมการผลิตไม่สามารถขับเคลื่อนได้ตามที่หวัง และมีแรงงานจำนวนมากที่ไม่สามารถปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีได้ทัน

ดังนั้น จึงต้องเร่งฟื้นฟู "ตำแหน่งงาน" และเพิ่มค่าแรง และผลประโยชน์ตอบแทนให้กับพวกเขา

ทั้ง "อเมริกา" และ "ไทย" ยึด "ค่าแรงขั้นต่ำ" เกณฑ์เท่าเดิมมานานหลายปี อย่าง "อเมริกา" อยู่ที่ 7.25 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง หรือประมาณ 217.8 บาทต่อชั่วโมง เลยมีการเสนอว่าควรขยับมาอยู่ที่เริ่มต้น 15 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 449.55 บาทต่อชั่วโมงแทน ขณะที่ "ไทย" เฉลี่ยอยู่ที่ 300 บาทต่อวัน ในกรุงเทพฯ 331 บาทต่อวัน เลยมีการเสนอว่าควรขยับมาเป็น 400 บาทขึ้นไปต่อวันดีหรือไม่ ...จริงๆ ก็ยังน้อยมากเมื่อเทียบกับค่าครองชีพและประเทศอื่นๆ

...

และนอกจากนั้นก็ควรปรับปรุงระบบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐเป็นคนจัดหา ทั้งแบบไม่คิดค่าใช้จ่าย และการศึกษาวิชาชีพหลังระดับมัธยมศึกษา เพื่อให้แรงงานเหล่านั้นสามารถเพิ่มทักษะให้ตรงกับความต้องการในการแข่งขันระดับโลกได้ หรือแม้แต่ชุมชนธุรกิจเองก็ควรจับมือกับหน่วยงานท้องถิ่นในการฝึกอบรมเพิ่มเติมแก่แรงงานเดิมและลูกจ้างใหม่เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับ "งานแห่งอนาคต" เพราะการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะช่วยทำให้ปัญหา "ความเหลื่อมล้ำทางรายได้" นั้นดีขึ้น

ข้อ 2: ปรับปรุง "โครงสร้างพื้นฐาน"

แน่นอนว่า การมองไกลต้องไม่ใช่แค่การปรับปรุงถนนหนทาง, สะพานข้ามต่างๆ หรือทางรถไฟ แต่คือ การทำให้เกิด Energy Grid หรือ "โครงข่ายพลังงานไฟฟ้า" ในระบบขนส่ง ตั้งแต่ "พลังงานทดแทน" (Renewable Energy) และ "พลังงานไฟฟ้า" (Electricity) ให้กระจายไปทั่วประเทศ

รวมถึงการยกระดับ "การสื่อสารบรอดแบนด์" (Broadband Communication) ที่จะทำให้ประชาชนในพื้นที่ชนบทและเมืองเล็กมีความเท่าเทียมในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (High-Speed Internet) ซึ่งหากทำ 2 อย่างนี้ได้ ก็ช่วยให้การทำงานทางไกล หรือ "รีโมต" (Remotely) ทำได้มากขึ้น และต้องเร่งให้เกิดการใช้ "พลังงานลม" (Wind) และ "พลังงานแสงอาทิตย์" (Solar) ให้มากขึ้นด้วย

...

ข้อ 3: การขยายการเข้าถึงการดูแลสุขภาพ

ทุกคนสมควรได้รับการเข้าถึงการดูแลสุขภาพอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นการทำประกันกับบริษัทเอกชน การทำประกันกับหน่วยงานของรัฐ หรือจะเป็นโครงการของรัฐบาลก็ตาม

อย่าง "อเมริกา" เองก็ยังมีกลุ่มที่ไม่สามารถซื้อประกันสุขภาพเหล่านั้นได้ ดังนั้น ไบเดนจึงควรชุบชีวิต "ศูนย์พัฒนาระบบสุขภาพชุมชน" ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาล กลับขึ้นมาอีกครั้ง ส่วน "ไทย" เองนโยบายการดูแลสุขภาพในตอนนี้ แม้จะยังมี "สิทธิบัตรทอง" อยู่ แต่ก็ยังพบปัญหา เช่น ความเหลื่อมล้ำทางการบริการ, ค่ารักษาพยาบาลแพง เหล่านี้ยังเป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องรื้อโครงสร้างมาแก้ให้หมด

แต่นั่นยังไม่พอ เพราะจากโควิด-19 ที่เกิดขึ้นนี้ เห็นได้ว่า "การวิจัยวัคซีน" ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่รัฐบาลต้องเข้ามาดูแลในการจัดหาเงินทุน และเครื่องมือแก่เอกชนเพื่อให้ปริมาณการผลิตที่เพียงพอ

ข้อ 4: การปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ และสภาพอากาศ

ด้วย "ภาวะโลกร้อน" (Global Warming) ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และส่งผลในเชิงลบ ดังนั้น ภาครัฐต้องกระตุ้นให้บริษัทต่างๆ และประชาชนพยายามลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมา หรือเรียกว่า Carbon Footprint ให้น้อยลงกว่าปัจจุบันให้ได้

โดยอาจจะใช้วิธีการเก็บ "ภาษีคาร์บอน" ต่อมาก็จัดหาเงินทุนในการวิจัยแหล่งกำเนิดใหม่ๆ ของ "พลังงานทดแทน" (Renewable Energy) ตั้งแต่พลังงานความร้อน (Biothermal), สาหร่าย (Algae) และพืชอื่นๆ รวมถึงพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar) และพลังงานลม (Wind)

จัดเก็บ "ภาษีคาร์บอน" (Carbon Tax) แล้วดีอย่างไร?

คำตอบคือ อาจเป็นทุนการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ให้เป็น Energy Grid หรือระบบโครงข่ายพลังงานไฟฟ้า โดยต้นทุนที่ลดลงของพลังงานทดแทน (Renewable Energy) รวมกับการเก็บ "ภาษีคาร์บอน" สามารถเปลี่ยนพลังงานพื้นฐานและสภาพเศรษฐกิจให้เป็น "พลังงาน" รูปแบบใหม่ๆ ที่ทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น

...

และสุดท้าย ข้อ 5: ส่งเสริมการทำวิจัย และพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิต

รัฐบาลต้องยกระดับขีดความสามารถการวิจัยและพัฒนา หรือที่เรียกว่า R&D สำหรับเทคโนโลยีใหม่ที่กำลังจะมีบทบาทมากขึ้นในอนาคต เช่น 5G หรือ Generation 5 และการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิต ที่จะทำให้บริษัทต่างๆ และบรรดาแรงงานสามารถแข่งขันในสภาพแวดล้อมการค้าเสรี (Free-Trade) ที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างดุเดือดในอนาคตข้างหน้านี้ได้

จากทั้งหมดที่เอ่ยมา... มีหลายอย่างที่ "ไบเดน" วางเป้าจะเปลี่ยนแปลงแล้ว ซึ่ง "ไทย" ก็ควรจะเปลี่ยนแปลงบ้างใช่หรือไม่? แม้จะมีบางข้อที่เริ่มไปบ้างแล้ว แต่ก็ยังเป็นแบบตะกุกตะกัก ไม่เสมอต้นเสมอปลายสักเท่าไร ภาพยังไม่ค่อยเห็นมากนัก

ฉะนั้น เมื่อ America is Back! แล้ว Thailand is Back! บ้างจะเป็นไร... ถึงแม้ "ผู้นำ" ของเราจะยังเป็น "ลุงตู่" คนเดิมอยู่ก็ตาม.

ข่าวน่าสนใจ: