ท่ามกลางความขุ่นเคืองของแฟนคลับ และข่าวลือที่แพร่สะพัดออกมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งมีการยืนยันในช่วงเย็นของวันที่ 11 ม.ค. 64 ราคาหุ้นของ 1 ใน 3 ยักษ์ใหญ่ผู้ครอบครองอุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีใต้อย่าง "เจวายพี เอนเตอร์เทนเมนต์" (JYP Entertainment) ที่ผันผวนมาตลอดทั้งวัน ก็ปรับตัวดิ่งลงเหว โดยปิดตลาดที่ 36,200 วอน หรือลดลง -2.95%
และจากวันนั้น...จนถึงปัจจุบัน ราคาหุ้นของยักษ์ใหญ่แห่งวงการบันเทิงเกาหลี ก็ยังคงมีความผันผวนอย่างต่อเนื่อง
โดย... (18 ม.ค.) หุ้น JYP เปิดตลาดที่ 35,950 วอน -0.83% ในรอบ 5 วันที่ผ่านมา วันนี้ดิ่งลงหนักมากที่สุด
อะไรคือสิ่งที่สั่นคลอนอาณาจักรบันเทิงมูลค่า 741,000,000 ดอลลาร์สหรัฐแห่งนี้?
Come and get it! GOT7!
อันนยองฮาเซโย กัซเซบึนอิมนีดา
"สวัสดีครับ พวกเรา GOT7"
ถ้อยคำเปิดตัวทักทายของพวกเขาต่อเหล่าด้อมผู้น่ารักที่ได้รับฟังจนชินหู
หากแต่นับจากนี้ต่อไป... เหล่าอากาเซ่ (Ahgase) จะไม่มีโอกาสได้โบก "อากาบง" (แท่งไฟเชียร์) เป็นคลื่นทะเลสีเขียวให้กับเหล่าชายผู้โชคดีทั้ง 7 อีกต่อไปแล้ว หลังเจบี, มาร์ค ตวน, แจ็คสัน, จินยอง, ยูคยอม, ยองแจ และแบมแบม ตัดสินใจยุติความสัมพันธ์ที่ดำเนินมายาวนานถึง 7 ปี กับ JYP และจากนั้นก็เกิดแฮชแท็กอันร้อนแรงอย่าง "GOT7 Forever" ก็ท่วมท้นโลกโซเชียลมีเดีย ท่ามกลางคราบน้ำตาของเหล่า "อากาเซ่"
อย่างไรก็ดี การแสดงครั้งสุดท้ายในฐานะ GOT7 ภายใต้ร่มธงของ JYP ในงาน Golden Disc Awards ครั้งที่ 35 ไม่ใช่จุดสิ้นสุดในฐานะ "ศิลปิน" ของชายผู้โชคดีทั้ง 7 แน่นอน นั่นเป็นเพราะในระยะหลังๆ เห็นได้ชัดว่า แต่ละคนเริ่มมีความชัดเจนในเส้นทางที่กำลังจะเดินนับจากนี้ต่อไป
...
แบมแบมและแจ็คสัน มีฐานแฟนคลับอันมั่นคงในตลาดบ้านเกิด (ประเทศไทยและจีน)
จินยอง กำลังรุ่งในฐานะนักแสดงซีรีส์ K-Dramas
ส่วนเจบี, ยูคยอม และยองแจ กำลังไปได้สวย หลังได้โชว์ทักษะการแต่งเพลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
"7 ปีที่ผ่านมาถือเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิต แต่ไม่มีอะไรที่กำลังจะถึงจุดสิ้นสุด เพราะมันกำลังจะเริ่มต้น และพวกเรากำลังจะเดินหน้านำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดต่อไป" มาร์ค ตวน หนึ่งในสมาชิก ทวีตบอกกล่าวถึงการเริ่มต้น!
สำหรับบางคน ข่าวการลาออกจาก JYP ของ GOT7 แต่ยังคงทำงานร่วมกันต่อไปนั้น อาจเป็นเรื่องที่น่าเซอร์ไพรส์ เพราะโดยปกติแล้วเมื่อมีการประกาศยุบวงศิลปิน K-POP มักเลือกทางเดิน 3 ทาง คือ
1. แยกย้ายกัน
2. เซ็นสัญญากับต้นสังกัดเดิมต่อไปอีก 7 ปี
3. ยกวงไปเซ็นสัญญากับบริษัทใหม่
(หมายเหตุ: คณะกรรมการการค้ายุติธรรมเกาหลี (Korea Fair Trade Commission) หรือ KFTC ออกข้อกำหนดเอาไว้ว่า สัญญาที่ศิลปินเกาหลีทำกับต้นสังกัดห้ามมีอายุยาวนานเกินกว่า 7 ปี บังคับใช้ตั้งแต่ปี 2014)
หากแต่กรณี GOT7 พวกเขาตัดสินใจเลือกที่จะทำงานร่วมกันแบบครั้งคราว โดยที่แต่ละคนแยกออกไปมีผลงานเดี่ยวในสังกัดของตัวเองนั้น ถือได้ว่าเป็นแนวทางเดียวกับที่ศิลปินรุ่นพี่ในตำนานอย่าง ชินฮวา (Shinhwa) เคยแผ้วทางกันไว้ก่อนหน้านี้มาแล้ว
แต่สิ่งที่แตกต่างออกไป คือ GOT7 สามารถยุติความสัมพันธ์กับต้นสังกัดเดิม เพื่อไปสู่การเดินทางบทใหม่ ที่ดูจะราบรื่นและไม่เกิดความโกลาหลวุ่นวาย หรือเต็มไปด้วยไฟแห่งความเคียดแค้น เหมือนเช่นที่วงรุ่นพี่เคยประสบมาเสียด้วย เนื่องจากชายผู้โชคดีทั้ง 7 ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย ตามมาตรา 8 แห่งสัญญามาตรฐานสำหรับศิลปินวัฒนธรรมป๊อปที่มีนักร้องเป็นศูนย์กลาง (Standard Exclusive Contract for Pop Culture Artists (singers-centered) ของ KFTC ที่ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า ต้นสังกัดมีสิทธิ์ในเครื่องหมายการค้า ซึ่งครอบคลุมทั้ง ชื่อ, ภาพถ่าย, ภาพบุคคล, ลายมือ และอื่นๆ หรือแม้กระทั่งชื่อจริง, ชื่อที่ใช้ในวงการบันเทิง, ชื่อเล่น ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็นการสร้าง จดทะเบียน หรือใช้สิทธิ์ข้างต้นในฐานะทรัพย์สินทางปัญญา แต่เมื่อสัญญาสิ้นสุดลง สิทธิ์ข้างต้นจะต้องโอนคืนกลับไปเป็นของศิลปิน
...
และอาจจะเป็นเพราะเหตุนี้ก็เป็นได้ เราจึงได้เห็นปรากฏการณ์สะท้อนความสัมพันธ์ที่ "ปริแยก" ระหว่าง JYP และ GOT7 ที่แลเห็นได้อย่างเด่นชัด ก่อนที่จะมีการประกาศข่าวไม่ต่อสัญญาอย่างเป็นทางการ...
โดย "พัค จินยอง" (Park Jin Young) ประธานผู้แสนโด่งดัง อันฟอลโลว์อินสตาแกรม แบมแบม จินยอง และมาร์ค ตวน ซึ่งปฏิกิริยาของ "พัค จินยอง" ที่มีต่อ GOT7 นั้น ช่างแตกต่างกับอดีตศิลปินที่ผละจากค่ายไปก่อนหน้าอย่าง เรน (Rain) หรือซอนมี (Sunmi) ซึ่งท่านประธานเคยแสดงท่าทีที่สุดเป็นมิตร และพร้อมที่จะให้การสนับสนุนทั้ง 2 คนอย่างชัดเจน
และนับจากนั้น การตอบโต้ของเหล่าสมาชิก GOT7 จึงเริ่มต้น...
ยองแจ นอกจากจะอันฟอลโลว์ท่านประธานตอบโต้แล้ว ยังลบคลิปที่ร้องเพลงคัฟเวอร์ของท่านประธาน JYP รวมถึงลบภาพของตัวเองและสมาชิกภายในวงที่ถ่ายคู่กับประธาน พัค จินยอง ในอินสตาแกรมด้วย
ด้าน แบมแบม ก็จัดการลบภาพคู่กับประธาน พัค จินยอง ออกจากทวิตเตอร์ของตัวเองเช่นกัน นอกจากนี้เมื่อท่านประธานพัคเริ่มอันฟอลโลว์สมาชิก GOT7 "แบมแบม" ยังทวีตส่งภาพเคลื่อนไหว (GIF) ที่แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ให้แฟนคลับรับรู้ได้ว่า ข่าวลือต่างๆ ที่ GOT7 กำลังจะยุติความสัมพันธ์กับต้นสังกัดกำลังจะเป็นจริงในไม่ช้า
...
อะไรคือเหตุผลที่ทำให้ GOT7 ขอยุติความสัมพันธ์กับ JYP?
นับตั้งแต่เริ่มเดบิวต์ในฐานะ GOT7 กับ JYP มาตั้งแต่ปี 2014 พวกเขาทำรายได้ทั้งในเกาหลีใต้ และทั่วโลก ให้กับต้นสังกัดมาอย่างมากมาย โดยเพลงที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในเกาหลีใต้ คือ เพลง Hard Carry ที่ถูกปล่อยออกมาในปี 2016 ในขณะที่ซิงเกิลที่ดีที่สุดอย่าง Just Right และ If You Do สามารถสร้างอิมแพ็คได้อย่างมหาศาลในตลาดดนตรีโลกเมื่อปี 2015 นอกจากนี้ เหล่าเมมเบอร์ยังสามารถสร้างอิทธิพลให้กับวงการบันเทิงได้อย่างหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นทั้งในฐานะนักแสดงทางโทรทัศน์ หรือแฟชั่นไอคอน หรือนักแต่งเพลง
แม้พวกเขาจะเติบโตในฐานะศิลปินและมีการปล่อยผลงานเพลง และจัดคอนเสิร์ตออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งที่ GOT7 มักจะถูกตั้งคำถามเสมอมา คือ เหตุใด GOT7 จึงไม่สามารถผลักดันงานเพลงให้ติดอันดับชาร์ตความนิยมในประเทศบ้านเกิดอย่างเกาหลีใต้ได้?
ทั้งๆ ที่พวกเขาเคยผงาดขึ้นอันดับ 1 ในการจัดอันดับ Hot 100 ของ Billboard Korea จากเพลง Lullaby ในปี 2018 รวมถึงเคยติดชาร์ต World Albums Chart ของ Billboard US จนได้ชื่อว่าเป็นวง K-POP แถวหน้าของวงการก็ตาม
...
และบางที "ประเด็นนี้" อาจนำมาสู่สิ่งที่บรรดา "อากาเซ่" เปิดฉากยิงชุดคำถาม รวมถึงวิพากษ์วิจารณ์ JYP อย่างหนักหน่วงตลอดหลายปีที่ผ่านมาว่า "เหตุใดจึงทุ่มเททรัพยากรให้กับชายผู้โชคดีทั้ง 7 น้อยเกินไป?"
ในระยะหลังๆ มานี้ JYP ถูกกระหน่ำอย่างหนักหน่วงซ้ำแล้วซ้ำเล่า ว่าออกแรงดัน GOT7 น้อยเกินไป โดยสิ่งที่ยืนยันได้อย่างชัดเจน คือ การเปิดตัวอัลบั้มล่าสุดอย่าง Breath of Love: Last Piece เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2020 ไม่มีทั้งทีเซอร์ MV โปรโมตเพลงใหม่เพียงระยะเวลาสั้นๆ มีการจัดกิจกรรมเพื่อสนับสนุนการกลับมาในรอบเกือบ 8 เดือนอย่าง "เบาบาง" เอามากๆ มันย่ำแย่จนถึงขนาดที่ว่า มีการสะกดคำผิดในโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ หากจะพูดกันให้ชัดๆ เลยก็คือ JYP แทบจะไม่ให้ความสำคัญกับ GOT7 ในช่วงเวลาที่ใกล้จะหมดสัญญาเอาเสียเลยก็ว่าได้
และมันน่าจะถือเป็น "ฟางเส้นสุดท้าย" ที่ทำให้ต้องมีการประกาศยุติความสัมพันธ์ในบั้นปลาย
อย่างไรก็ดี แม้ประเด็นเรื่อง "การออกแรงดันน้อยกว่าที่ควรจะเป็น" จะถือเป็นหัวข้อใหญ่ที่ทำให้ความสัมพันธ์ 7 ปีสิ้นสุดลง แต่บรรดานักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังมองไปถึงประเด็นยิบย่อยที่น่าจะถือเป็น "องค์ประกอบ" ที่นำไปสู่ผลลัพธ์ที่เหล่าอากาเซ่ "ไม่พึงปรารถนา"
1. ไร้แนวทางที่ชัดเจนในการจัดการปัญหาซาแซง (Sasaeng)
การตั้งแคมป์หน้าที่ทำการสำนักงานใหญ่ หรือการเที่ยวตามสอดส่องการใช้ชีวิตของเหล่าเมมเบอร์ตามบ้านพักส่วนตัว มันมากมายท่วมท้นเสียจนเมื่อไม่นานมานี้ "ยองแจ" ถึงกับอดรนทนไม่ได้ ต้องออกมาร้องขอให้บรรดา "ซาแซง" จอมก่อกวน ยุติการล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัวหลายต่อหลายครั้งในอินสตาแกรม
แต่ปฏิกิริยาของ JYP สำหรับเรื่องนี้ กลับเต็มไปด้วยความเฉยชา ไม่มีการดำเนินการใดๆ ที่เป็นรูปธรรม นอกจากคำเตือน "ซาแซง" บนหน้ากระดาษที่ไม่มีวันจะได้ผล และประเด็นนี้ได้รับการตอกย้ำแทบจะในวินาทีสุดท้ายก่อนจะหมดสัญญา เมื่อ มาร์ค ตวน ได้ทำการทวีตว่า "Privacy please…" (โปรดเคารพความเป็นส่วนตัว) หลังถูกก่อกวนถึงหน้าบ้านพัก
2. ได้รับการปฏิบัติไม่ต่างจากเครื่องจักรสร้างผลกำไรในต่างแดน
การมีเมมเบอร์ที่ครอบคลุมทั้งประเทศไทย จีน และสหรัฐอเมริกา ทำให้ JYP สามารถใช้งาน GOT7 ผลิตเงินได้อย่างมหาศาลนอกประเทศเกาหลีใต้ ตารางงานต่างประเทศที่ถี่ยิบ ทำให้สมาชิกวงเหนื่อยล้าอย่างหนัก และที่ผ่านมาบริษัทไม่เคยแสดงท่าทีใดๆ ที่จะปรับปรุงตารางงานให้เบาลง โดยเฉพาะปี 2019 การจัดโชว์คอนเสิร์ตได้รับความสนใจในวงกว้าง จนกระทั่งมีผู้เข้ารับชมรวมกันมากกว่า 400,000 คน จนกระทั่ง JYP ได้รับผลกำไรก้อนโต
หากแต่สิ่งที่ GOT7 ได้รับผลตอบแทนจากการทำงานอย่างหนัก คือ การโปรโมตอัลบั้มล่าสุด "แบบขอไปที" เมื่อปลายปี 2020 หนำซ้ำบริษัทยังทุ่มเทความสนใจไปยัง "กลุ่มจูเนียร์" เพื่อหวังผลตลาดในประเทศมากกว่าเสียด้วย จึงไม่แปลกอะไรที่ GOT7 จะถูกมองว่าเป็นเพียง "เครื่องจักรสร้างผลกำไรในต่างแดน"
3. การทำกิจกรรมภายใต้แผนกที่ 2 ของบริษัท
ปี 2018 บริษัท JYP มีการปรับโครงสร้างองค์กร และพวกเขาให้ GOT7 ดำเนินกิจกรรมภายใต้แผนกที่ 2 ของบริษัท ซึ่งนับจากตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา "การผลักดันแบบขอไปที" จึงค่อยๆ ก่อตัวขึ้น ตารางการโปรโมตเริ่มลดลง รวมถึงยังขาดแคลนเนื้อหาในการสร้างแรงดึงดูดเพื่อเพิ่มฐานแฟนคลับอย่างเห็นได้ชัด
หนำซ้ำในปี 2020 ที่โลกต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติ Covid-19 ตารางคอนเสิร์ตในต่างแดนของ GOT7 ซึ่งปกติเคยสร้างผลกำไรสูงสุดให้กับบริษัท ต้องถูกยกเลิกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้บรรดาหนุ่มๆ ต้องพยายามร้องขอไปออกรายการวาไรตี้ต่างๆ เพื่อคงกระแสความนิยมเอาไว้ แต่สิ่งที่ได้รับกลับมาจาก JYP คือ "ความเฉยชา" เราจึงแทบไม่เห็นเมมเบอร์ทั้ง 7 คนไปปรากฏตัวในรายการโทรทัศน์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับรายการเพลงเลยสักรายการ
4. การโปรโมตอัลบั้มใหม่ที่ใช้เวลาเพียง 1 สัปดาห์
30 พฤศจิกายน 2020 GOT7 เปิดตัวอัลบั้มที่ 4 Breath of Love: Last Piece ซึ่งอัลบั้มแห่งการ Comeback นี้ เมมเบอร์ใส่ความตั้งใจสำหรับการสร้างสรรค์ผลงานมาอย่างเต็มเปี่ยม หากแต่สิ่งที่ได้รับจาก JYP คือ แคมเปญการโปรโมตที่มีระยะเวลาเพียง 1 สัปดาห์ ซึ่งน้อยกว่าระยะเวลาในการจัดงานขายสินค้าที่ระลึกเสียอีก แถมยังไม่มีทั้งทีเซอร์ MV หรือแม้แต่การโชว์ตัว ก่อนวันวางจำหน่ายอัลบั้มอีกด้วย
5. การต้องทนรับทัศนคติที่ย่ำแย่ของเหล่าสตาฟฟ์บริษัทในระหว่าง Live กับแฟนคลับ
ที่ผ่านมาเหล่าเมมเบอร์จะพูดคุยกับบรรดาแฟนคลับผ่านแอป V LIVE แต่หลายต่อหลายครั้งที่การสนทนามักจะถูกขัดจังหวะโดยเหล่าสตาฟฟ์ของบริษัท ซึ่งมีอยู่ครั้งหนึ่งเมื่อ "ยูคยอม" กำลังไลฟ์เพื่อกล่าวขอบคุณแฟนคลับที่อุตส่าห์เช่ารถตู้มาประท้วงการบริหารงานของ JYP ที่หน้าอาคารสำนักงานใหญ่ แต่เพียงไม่กี่นาทีต่อมามีคำสั่งให้ยุติการไลฟ์ทันที ซึ่งประเด็นนี้ได้สร้างความไม่พอใจให้กับบรรดาอากาเซ่เป็นอย่างยิ่ง และอาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ในเวลาต่อมา สมาชิก GOT7 มักจะเลือกไลฟ์ผ่านอินสตาแกรมส่วนตัวแทน
เอาล่ะ ทั้งหมดที่ว่าไปนั้น นับจากวันนี้มันคืออดีตที่ผ่านพ้นไปแล้ว การเริ่มต้นใหม่ที่ท้าทายกว่าต่างหากคือประเด็นที่น่าจับตาก้าวต่อไปในวงการบันเทิงของเมมเบอร์ทั้ง 7
จะมีโฉมหน้าอย่างไร และประสบความสำเร็จได้มากน้อยแค่ไหน? บางที "คุณ" อาจคือหนึ่งในผู้ให้คำตอบที่ว่านั้น.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก: เทพอมร แสงธรรมาพิทักษ์
ข่าวน่าสนใจ: