“โควิดระบาดรอบใหม่ในรอบ 1-2 เดือนที่ผ่านมา ถ้าปิดวัด ญาติโยมก็ขาดการยึดเหนี่ยวจิตใจ ในช่วงที่มีความทุกข์ทั้งกายและใจ ความปลอดภัยสำคัญเช่นเดียวกัน ญาติโยมต้องการยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นทางสะเดาะเคราะห์ ขอพรให้ชีวิตผ่านเรื่องเลวร้ายในสถานการณ์โควิด”

พระอาจารย์เสี่ยกือ ฝ่ายประชาสัมพันธ์วัดมังกรกมลาวาส หรือ วัดเล่งเน่ยยี่ บอกเหตุผลกับทีมข่าวฯ ที่ไม่ปิดวัดเล่งเน่ยยี่ นับตั้งแต่โควิด-19 ระบาดเมื่อ มี.ค. 63 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน นั่นเพราะ “วัดเล่งเน่ยยี่” คือที่พึ่งทางใจของคนไทย และเป็นวัดที่คนนิยมมาแก้ปีชง

 

สำหรับปีชง 2564 หรือ ปีนักษัตร ปีฉลู ได้แก่ ปีมะแม หรือคนที่เกิดตรงกับปี พ.ศ.2474, 2486, 2498, 2510, 2522, 2534, 2546, 2558 ซึ่งเป็นปีชง (100%)

และปีชงร่วม ได้แก่ ปีฉลู, มะโรง, จอ หรือคนที่เกิดปี พ.ศ.2465, 2468, 2471, 2477, 2480, 2483, 2489, 2492, 2495, 2501, 2504, 2507, 2513, 2516, 2519, 2525, 2528, 2531, 2537, 2540, 2543, 2549, 2552, 2555, 2561

...

: มาตรการเข้ม แม้แต่ปากกา ป้องกันโควิด :

สำหรับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในวัดเล่งเน่ยยี่ เพื่อความปลอดภัยของผู้ที่มาแก้ปีชง ทีมข่าวฯ ลงพื้นที่ เห็นการทำงานของเจ้าหน้าที่วัดเล่งเน่ยยี่หลายฝ่ายทำงานกันอย่างหนัก ตั้งแต่จุดคัดกรอง

นอกจากต้องให้ผู้มาวัดใส่แมสก์ วัดอุณหภูมิ ล้างมือด้วยก๊อกน้ำระบบอัตโนมัติเพื่อลดการสัมผัสแล้ว ปากกาที่ใช้สำหรับเขียนชื่อก่อนเข้าวัด และเขียนชื่อ นามสกุล เพื่อสะเดาะเคราะห์ แก้ปีชง ก็ให้แยกไว้ในกล่องที่ใช้แล้ว และหลัง 16.00 น. ที่วัดปิด จะนำมาทำความสะอาดฆ่าเชื้อ พ่นแอลกอฮอล์ รวมถึงบริเวณภายในวัดทั้งหมด นอกจากนี้ทุกวันศุกร์จะปิดบริการเพื่อทำความสะอาดวัด

ในการลดความแออัด เว้นระยะห่างทางสังคม จะมีการจำกัดให้เข้าไปไหว้ขอพร แก้ปีชงครั้งละ 50 คน งดไหว้ด้านในวัด แต่เปิดบริเวณเฉพาะด้านนอกวัด ไหว้พระ จุดธูปทำบุญได้ตามปกติ

: ขั้นตอนแก้ปีชง สูงวัย อยู่ไกล ญาติทำแทน :

สำหรับขั้นตอนการแก้ปีชงยุคโควิด หลังผ่านการคัดกรองแล้ว ไปรับชุดสะเดาะเคราะห์ เขียนชื่อ-นามสกุล วันเดือนปีเกิด เวลาเกิดคนปีชง ถ้าไม่รู้ให้เขียนคำว่า “ดี” 

หลังจากเขียนแล้วให้นำชุดสะเดาะเคราะห์ไปไหว้ “องค์ไท้ส่วยเอี๊ย” ให้ท่านคุ้มครองตลอดปี บอกชื่อ-นามสกุล อายุ วันเดือนปีเกิด อธิษฐานจิตตามรายละเอียดในใบแดง จากนั้นนำชุดสะเดาะเคราะห์ปัดออกตั้งแต่หัวจนถึงเข่า 12 ครั้ง เชื่อว่าจะช่วยปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกไป และมีความเชื่อว่าคนเกิดปีชงที่นำดวงมาฝาก “องค์ไท้ส่วยเอี๊ย” ให้ท่านช่วยคุ้มครอง เกิดความราบรื่น ความสุข ความเจริญตลอดปี 

จากนั้นนำชุดสะเดาะเคราะห์นี้ใส่ตะกร้า เจ้าหน้าที่วัดจะนำไปไว้ใต้ฐานให้พระคุ้มครองตลอดปี ปลายปีจะนำมาสวดและเผา กรณีผู้สูงอายุต้องการแก้ปีชง ไม่สามารถมาวัดเองได้ ก็ให้ญาติทำแทน โดยนำเสื้อของผู้แก้ปีชงมาเป็นตัวแทนได้ หากอยู่ต่างประเทศ ต่างจังหวัด ถ้าไม่สะดวก บางคนเป็นญาติไม่สะดวกมาวัดเล่งเน่ยยี่ สามารถสะเดาะเคราะห์แก้ชงด้วยวิธีอื่น หรือยกมือไหว้อาราธนาถึงองค์เทพที่ต้องการสื่อของวัดเล่งเน่ยยี่ที่บ้านได้

...

“ปล่อยนก ปล่อยปลา ทำบุญโลงศพ ทำบุญสิ่งที่คิดว่าสร้างบุญสร้างกุศล เช่น ไปถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสามเณร ตักบาตร ทำความดีต่อสังคม อันนั้นถือเป็นการแก้ชงภายในจิตใจเราด้วย” พระอาจารย์เสี่ยกือ แนะนำ

: 3 ความรู้สึก หลังแก้ปีชง :

ตลอดทั้งวันทีมข่าวฯ นั่งเฝ้าสังเกตการณ์ มีผู้คนมาวัดเล่งเน่ยยี่ และมาแก้ปีชงเรื่อยๆ และให้ความร่วมมือกับมาตรการป้องกันโควิดด้วยดี “รัชกร วัชวงศ์” ช่างตัดผม ร้าน Little Less Fox บอกความรู้สึกกับทีมข่าวฯ หลังแก้ปีชงว่า มั่นใจในความปลอดภัย แก้ปีชงแล้วรู้สึกสบายใจ

“เป็นคนไทย ก็ต้องไหว้พระ ทำบุญ รู้สึกดีขึ้น รู้สึกสบายใจ ทีแรกคิดว่าจะมาดีไหม เพราะกลัวคนเยอะ แต่เคยเห็นวัดวางมาตรการป้องกันดี เลยมาดีกว่า”

...

ด้าน “กานต์ติมา ธีรภัทรเวช” ฟรีแลนซ์เอ็กซ์ตร้า วัย 27 ปี จากสมุทรปราการ บอกตนนั้นชงประมาณ 10% แต่พี่สาวชง 100% แก้ปีชงแล้วรู้สึกสบายใจ รู้สึกดี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับการกระทำของเราด้วย ว่าเราทำดีขนาดไหน สำหรับมาตรการป้องกันโควิดของวัดเล่งเน่ยยี่ เธอบอกว่า

“วัดอื่นไม่เข้มงวดขนาดนี้ วัดนี้เข้มงวดมาก ถ้าในสถานการณ์โควิดระบาดแบบนี้เป็นเรื่องดีมากๆ ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย ทำให้คนอื่นไม่ระแวง ว่าเฮ้ยอย่าใกล้เรานะ"

ส่วน นายธีรัช ลิ้มลาภดีชนินทร์ ครูสอนพละที่ปทุมธานี ซึ่งเดินทางมาแก้ปีชงร่วม เพราะเกิดปีฉลู บอกขั้นตอนรวบรัด กระชับ จำกัดจำนวนคน เพื่อความปลอดภัย ตามมาตรการถือเป็นการดี และการได้แก้ปีชงถือเป็นที่พึ่งทางใจ.

: ข่าวน่าสนใจ :