น้ำใจคนไทยยิ่งใหญ่กว่าที่คิด ภายหลังสัปดาห์ที่ผ่านมา น.ส.สุดสวาท หรือ สวย พี่สาวของ “เชฟแต่ง” นายยุทธศักดิ์ ธนวรรณ ยูทูบเบอร์ และ เจ้าของเพจดัง “ครัวแต่งศรีมณีเด้ง By เชฟแต่ง USA” ได้โพสต์ผ่านเพจขอรับบริจาคเงินช่วยเหลือจำนวน 8 ล้านบาท เพื่อพาเชฟแต่ง กลับมารักษาตัวต่อที่ไทยหลังป่วยกะทันหันด้วย “เส้นเลือดในสมองแตก” เพียงลำพังในอเมริกา ดังข่าวเสนอไปแล้ว "เชฟแต่ง" ยูทูบเบอร์ดัง ป่วยหนักที่อเมริกา ต้องใช้เงิน 8 ล้านกลับไทย

: ปิดรับบริจาค คืบหน้าอาการ "เชฟแต่ง" :

ล่าสุดได้ปิดรับบริจาคแล้ว หลังคนไทยทั่วโลก ไม่ว่าจะอเมริกา ประเทศที่เชฟแต่งไปทำงานที่นั่นถึง 16 ปี รวมถึงคนไทยในประเทศไทยเอง มีน้ำใจเมตตาร่วมกันบริจาคเงินคนละเล็กละน้อยจนได้รับเงินบริจาครวมทั้งสิ้น 7,938,965.23 บาท

...

ความช่วยเหลือในครั้งนี้ไม่เพียงสร้างความดีใจให้กับครอบครัวเชฟแต่งเท่านั้น ผู้บริจาคและ FC ต่างดีใจ และรอลุ้นว่าเชฟแต่งจะได้กลับไทยเร็วสุดเมื่อไหร่ ซึ่งพี่สาวของเชฟแต่งได้เปิดเผยข้อมูลกับทีมข่าวฯ ว่า ขณะอยู่ระหว่างการเตรียมการ ทั้งเรื่องเอกสารต่างๆ กับ รพ.ต้นสังกัดที่รักษาเชฟแต่งอยู่ โดยมีเจ้าหน้าที่กงสุลไทยในสหรัฐฯช่วยประสานงานและติดต่อสื่อสาร

"ขอบคุณน้ำใจจากคนไทยทั่วโลกที่ช่วยบริจาคเงิน ขออนุโมทนาบุญให้ทุกท่านจงมีแต่ความสุข ความเจริญ เพื่อความโปร่งใสในการรับบริจาค ขณะนี้ได้ปิดรับบริจาคแล้ว และจะอัปเดตอาการของน้องชายในหน้าเพจตลอดจนกว่าน้องจะหายดี อาการของน้องตอนนี้ดีขึ้น ดูสดใส อ้าปาก กระพริบตา ไม่มีไข้ เริ่มยกแขนได้ ขอบคุณทุกคนมากๆ จากหัวใจแทนน้องชาย" น.ส.สุดสวาทกล่าว

ปาฏิหาริย์ขอรับเงินบริจาคสำเร็จแล้ว สำหรับปาฏิหาริย์ครั้งต่อไปคือการพาเชฟแต่งกลับไทยโดย เครื่องบินพยาบาล (Air Ambulance) ที่ต้องมีค่าใช้จ่ายจำนวนมากเกือบ 8,000,000 บาท จ่ายเป็น ค่าเครื่องบินพยาบาล Air Ambulance, หมอ 1 คน, พยาบาล 1 คน, เชฟแต่งที่ป่วยอยู่, รถพยาบาลทั้งฝั่งไทยและอเมริกา, เครื่องมือเเพทย์ และค่าใช้จ่ายเข้ากักตัว ASQ เป็นเวลา 14 วัน

: เปิดสถิติ คนไทยเจ็บป่วยในต่างประเทศ :

การระดมเงินช่วยเหลือเชฟแต่ง นอกจากแสดงให้เห็นถึงพลังความมีน้ำใจของคนไทยแล้ว ยังมีกลุ่มบุคคลสำคัญ ที่พึ่งแรกของคนไทยผู้ตกทุกข์ได้ยากในต่างประเทศนั่นคือ สถานทูตและสถานกงสุลใหญ่ ที่คอยช่วยเหลือ ประสานงาน เป็นสื่อกลางระหว่างเชฟแต่งกับ รพ. จนกว่าเชฟแต่งจะกลับถึงไทยและเข้ารับการรักษาต่อใน รพ. ในไทยต่อไปซึ่งกรณีเชฟแต่งเป็นอีกภารกิจหนึ่งในการให้ความช่วยเหลือคนไทยที่ตกทุกข์ในต่างประเทศ

เพื่อเป็นความรู้ให้คนไทยในต่างประเทศ ให้หลุดพ้นจากความตกทุกข์ต่างๆ ในต่างประเทศ รวมถึงกรณีเจ็บป่วยและอยากกลับมารักษาตัวต่อที่ไทยจะต้องทำอย่างไร มีขั้นตอนและค่าใช้จ่ายอย่างไรบ้างนั้น ทีมข่าวฯ ได้สอบถามจาก "นายนฤชัย นินนาท" ผู้อำนวยการกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า

ปัจจุบันมีคนไทย 1.3 ล้านคน พำนักอยู่ในต่างประเทศ โดยในสหรัฐฯ มากสุด 490,000 คน รองลงมาคือประเทศเกาหลีใต้ 190,000 คน ทั้งพำนักผิดกฎหมายและถูกกฎหมาย

ในปี 2563 ทางกรมการกงสุล ร่วมกับสถานทูตไทย สถานกงสุลใหญ่ในต่างประเทศให้ความช่วยเหลือคนไทยจำนวน 130,000 คน ในกรณีต่างๆ อาทิ ทรัพย์สินเสียหาย ช่วยเหลือแรงงาน ช่วยเหลือชาวประมง เสียชีวิต ส่งอัฐิกลับ หรือเจ็บป่วย โดยกรณีคนไทยเจ็บป่วยให้ความช่วยเหลือมากเป็นอันดับต้นๆ ถึง 54,000 คน

...

: วิธีขอความช่วยเหลือ เมื่อป่วยในต่างประเทศ :

เมื่อทีมข่าวฯ ขอทราบข้อมูลขั้นตอนให้ความช่วยเหลือคนไทยกรณีเจ็บป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุใดก็ตาม และเข้ารักษาตัวใน รพ. ประเทศนั้นๆ นายนฤชัย ให้ข้อมูลว่า หากไม่มีญาติ ทาง รพ.จะแจ้งมายังสถานทูตหรือสถานกงสุล ทั้งนี้ต้องได้รับการร้องขอจากผู้ป่วย หลังได้รับแจ้งแล้วสถานทูต สถานกงสุลจะส่งเจ้าหน้าที่ไปติดตามอาการ ไปเยี่ยม ไปคุยกับผู้ป่วย ช่วยเจรจากับ รพ. หากเป็นประเทศที่ใช้ภาษาท้องถิ่นก็จะมีล่ามช่วยแปล

จากนั้นจะติดต่อญาติที่เมืองไทยว่าต้องการให้ช่วยเหลืออย่างไร เช่น ส่งกลับ หรืออยู่รักษาต่อ กรณีมีญาติในประเทศนั้นๆ ก็ประสานญาติให้ กรณีมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง สถานทูต หรือสถานกงสุลใหญ่จะช่วยเจรจา ต่อรองตามหลักมนุษยธรรม แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกฎระเบียบแต่ละที่ แต่ละเมือง โดยที่ผ่านมามีหลายกรณีช่วยได้ เช่น ไม่เก็บค่ารักษาพยาบาล ลดค่าพยาบาล

: เปิดขั้นตอนย้ายผู้ป่วยกลับไทยด้วย Air Ambulance :

...

หากคนไทยที่ป่วย หรือญาติ ต้องการพามารักษาที่ประเทศไทย ขั้นตอนการขนย้ายผู้ป่วยมีวิธีใดบ้างนั้น นายนฤชัย เผยว่า  ตอนไม่มีโควิดระบาด สามารถนั่งเครื่องบินพาณิชย์ได้ซึ่งมีหลายสายการบินให้เลือกโดยเจรจาต่อรองเรื่องราคาหากญาติร้องขอ ซึ่งขึ้นอยู่กับอาการป่วยที่ผ่านดุลพินิจของแพทย์ บางรายอาจต้องมีการถอดเก้าอี้นั่งออกหลายที่เพื่อให้นอน บางกรณีจำเป็นต้องมีแพทย์จากต่างประเทศมาส่งถึงไทย หรือแพทย์จากไทยเดินทางไปรับกลับไทยด้วย

กรณีป่วยหนัก ต้องเดินทางด้วยเครื่องบินพยาบาล Air Ambulance เท่านั้น ซึ่งมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ครบ รวมถึงแพทย์ พยาบาล แต่มีค่าใช้จ่ายสูงมากหลายล้านแล้วแต่พื้นที่เดินทาง โดยเฉพาะปัจจุบันที่เกิดการระบาดของโควิด ค่าใช้จ่ายสูงเท่าตัว รวมถึงมีขั้นตอนยุ่งยากมากขึ้นหลายๆ ด้านทั้งเอกสารและการเดินทาง ที่ช่วยประสานงาน ดังนี้ 

1. การติดต่อสายการเครื่องบิน ซึ่งปัจจุบันไม่ได้บินทุกสายการบิน กรณีไม่ป่วยหนัก นั่งเครื่องบินธรรมดากลับ ปรับเบาะ ปรับที่นั่ง สถานทูตช่วยเจรจาได้
2. สถานทูต สถานกงสุลใหญ่ออกเอกสาร COE สำหรับเดินทางเข้าประเทศไทย
3. เอกสารตรวจโควิด
4. เมื่อเข้าไทยแล้ว ต้องกักตัว 14 วัน กรณีมีงบน้อย กรมการกงสุลจะประสานงานกับ รพ. กระทรวงสาธารณสุขว่าจะใช้ รพ.ใดกักตัว และติดต่อหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ติดต่อ ศบค. ตม. 
5. หลังกักตัว 14 วัน ผู้ป่วยจะถูกนำไปรักษาต่อยัง รพ. ที่ญาติจัดหาเอง

...

: เงินไม่พอจ่าย รัฐช่วยได้ กรณีฉุกเฉินเท่านั้น :

สำหรับค่าใช้จ่ายในการเดินทาง นายนฤชัย เปิดเผยข้อมูล ในสถานการณ์การระบาดของโควิดไม่ว่าจะบินด้วยเครื่องบินพาณิชย์ หรือ Air Ambulance มีค่าใช้จ่ายสูงจากเดิมหลายเท่า ต้องจ่ายเงินหลายล้าน วิธีชำระเงิน หากมีญาติอยู่ในประเทศนั้นๆ สามารถนำเงินมาให้กระทรวงการต่างประเทศช่วยประสานให้สถานทูต หรือสถานกงสุลใหญ่ชำระเงินได้

ทั้งนี้กรณีไม่มีเงิน เงินไม่พอชำระ ทางราชการมีระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการใช้จ่ายเงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือคนไทยที่ตกทุกข์ได้ยากในต่างประเทศ พ.ศ. 2562 ญาติหรือผู้ป่วยสามารถยืมจากทางราชการได้โดยไม่เสียดอกเบี้ย ต้องทำสัญญาผ่อนชำระภายใน 2 ปี ซึ่งระเบียบนี้ช่วยในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น ต้องดูวงเงินกู้ยืมอีกที เนื่องจากงบประมาณมีไม่มาก

"จากการช่วยเหลือที่ผ่านมามีทั้งกู้ยืมเพื่อซื้อตั๋วเครื่องบิน ซึ่งมีหลักหมื่นถึงหลายแสน ซึ่งการให้เงินยืมนั้นไม่ได้ให้เงินโดยตรงกับคนไทยที่ขอกู้ ในหลักการจะจ่ายตรงไปยัง รพ. สายการบิน หรือที่พัก จึงเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง กรณียืมแล้วไม่มีกำลังผ่อนใช้ ภายใน 2 ปี ก็ต้องมีการดำเนินการทางด้านกฎหมายต่อไป โดยดูเหตุผลในการที่ผ่อนชำระไม่ได้" นายนฤชัยให้ข้อมูล

: วิธีป้องกัน ไม่ป่วยฉุกเฉินในต่างประเทศ :

อย่างไรก็ตาม หากไม่อยากมีปัญหาการเงิน หรืออาจจะชำระเพิ่มไม่มาก ซึ่งช่วยบรรเทาได้มากกว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายทั้งหมดเอง กรณีป่วยฉุกเฉิน และอาจโชคร้ายต้องกลับด้วยการใช้ Air Ambulance นายนฤชัย แนะนำ สิ่งที่ช่วยได้ หากมีประกันสุขภาพ หรือประกันการเดินทาง ซึ่งหลายประเทศมีการบังคับใช้ แต่ไทยยังเป็นการขอความร่วมมือ

นอกจากนี้ควรมีหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อสถานทูต สถานกงสุลใหญ่ในประเทศนั้นๆ ที่พักอาศัย เพราะเหตุฉุกเฉินเกิดได้ตลอดเวลา ซึ่งสามารถโทรได้ตลอด 24 ชม. และสนับสนุนให้คนไทยอยู่อย่างถูกกฎหมาย หากทำงานผิดประเภทวีซ่า ทำผิดกฎหมายประเทศนั้นๆ จะไม่มีประกันสุขภาพ และสวัสดิการต่างๆ

“กรณีหากคนไทยต้องกลับไทยด้วย Air Ambulance จะจำกัดคน ในการเดินทางเพราะค่าใช้จ่ายสูง จะมีบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล ผู้ป่วย ญาติ ไม่มีเจ้าหน้าที่กระทรวงฯ เดินทางร่วม แต่ก่อนการเดินทาง จนท.สถานทูตให้ความช่วยเหลือทุกขั้นตอน หากญาติร้องขอ ช่วงโควิดระบาด กลับมาจากยุโรป อเมริกา ก็ต้องกักตัว Air Ambulance ไม่ใช่เครื่องบินใหญ่ ไม่สามารถบินตรงได้ ต้องแวะหลายที่ เพื่อเติมน้ำมัน” นายนฤชัยกล่าวทิ้งท้าย

: ข่าวน่าสนใจ :