หลังจากเฝ้ารอคอยกันมานานมากกว่าครึ่งปี ในที่สุด...ปลายปีที่แล้ว (2563) เราก็ได้พบกับสิ่งที่เรียกว่า "ความหวัง" ...นั่นคือ "วัคซีนโควิด-19"
แต่พอในเวลานี้ หลังใช้ชีวิตปี 2564 มาได้ 15 วัน...
"วัคซีน" ที่เป็น "ความหวัง" กลับกลายเป็นสิ่งที่หลายๆ ประเทศ "วิตกกังวล" ในการตัดสินใจว่าจะ "ฉีด" ให้กับประชาชนดีหรือไม่
ทำไมเรื่องราวถึงกลายเป็นแบบนั้น?
มาหาคำตอบกับ The Answer
ปัญหาความ "วิตกกังวล" ในการ "ฉีดวัคซีนโควิด-19" ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับบรรดาประเทศแถบเอเชีย เพราะหากสังเกตจะเห็นได้ว่า แม้ประเทศเอเชียจะมีมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และระบบการติดตามการสัมผัส (Contact-Tracing System) ที่ยอดเยี่ยม แต่กลับพบว่า การฉีดวัคซีนให้กับประชาชนเป็นไปอย่างเชื่องช้า สวนทางกับ "ซีกโลกตะวันตก" ที่แต่ละประเทศต่างรีบเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน
และความเชื่องช้านั้น...ก็อาจนำไปสู่การสูญเสียชีวิตอีกนับล้าน!
ตัวอย่างเช่น "นิวซีแลนด์" ประเทศที่อยู่อันดับต้นๆ ของการจัดอันดับประเทศที่สามารถต่อสู้กับการแพร่ระบาดโควิด-19 และกลับสู่สภาพปกติได้อย่างยอดเยี่ยม ก็พบกับปัญหาไม่กล้า "ฉีดวัคซีน" ให้กับประชาชนเช่นกัน
...
ความกังวลของ "รัฐบาลนิวซีแลนด์" เกิดเป็นข้อถกเถียงในวงกว้าง จนหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านถึงกับทนไม่ไหว ตั้งคำถามจี้นายกรัฐมนตรี "จาซินดา อาร์เดิร์น" ให้ออกมาอธิบายกับประชาชนว่า "ทำไมโครงการวัคซีนของนิวซีแลนด์ถึงได้วิ่งตามหลังประเทศอื่นๆ?" ซึ่งจากไทม์ไลน์คาดว่า จะเริ่มในช่วงครึ่งหลังปีนี้ (2564)
ไม่ต่างกับ "เกาหลีใต้" ที่แม้จะได้รับการยกย่องอยู่บ่อยครั้งว่าเป็นประเทศที่มีการจัดการโควิด-19 อย่างยอดเยี่ยม แต่พอมาถึงขั้น "ฉีดวัคซีน" อัตราการก้าวเดินกลับไม่ทันใจ!
แน่นอน "รัฐบาลเกาหลีใต้" ก็ออกมาแก้ต่างทันทีว่า การก้าวเดินด้วยอัตราเท่านี้...ปลอดภัยกว่า ซึ่งตามแผนแล้วจะเริ่ม "ฉีดวัคซีน" ในเดือนกุมภาพันธ์
ขณะที่ "ฮ่องกง" เอง ถึงจะมีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในแต่ละวันเพียงเล็กน้อย แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีการอนุมัติการฉีดวัคซีนแบบเฉพาะเจาะจงสักที ซึ่ง "รัฐบาลฮ่องกง" บอกเพียงว่า กำลังรอรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อมูลการทดลองทางคลินิก เพื่อใช้ประกอบแผนการขับเคลื่อนการฉีดวัคซีนที่จะเริ่มในเดือนกุมภาพันธ์นี้
ส่วน "ออสเตรเลีย" มีการคาดการณ์ว่า การอนุมัติวัคซีนของไฟเซอร์ (Pfizer) และไบออนเทค (BioNTech) จะเกิดนขึ้นภายในสิ้นเดือนมกราคม และวัคซีนแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) ในเดือนถัดไป ก่อนจะเริ่ม "ฉีดวัคซีน" ในเดือนกุมภาพันธ์
แค่ไม่กี่ประเทศเอเชียที่ว่ามา...เห็นได้ว่า ส่วนใหญ่จะเริ่ม "ฉีดวัคซีน" กันจริงๆ จังๆ ก็รอไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ตรงข้ามกับ "สหรัฐอเมริกา" และ "สหราชอาณาจักร" ที่ประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนแล้วเกือบ 14 ล้านเข็ม หลังเร่งอนุมัติไปเมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา (2563) ส่วน "อิสราเอล" ก็มีการจัดส่งแล้ว 2 ล้านโดส หรือคิดเป็นสัดส่วนการฉีดวัคซีน 22 เข็มต่อ 100 คน
:: ทำไม "ประเทศในเอเชีย" ถึง "กังวล" กันนักกับการ "ฉีดวัคซีนโควิด-19"
ตามจริง...ควรจะรีบดำเนินการไม่ใช่หรือ? เพราะตลอดปี 2563 ที่ผ่านมาก็เฝ้ารอคอยกันมาตลอด
หนึ่งในเหตุผลของ "รัฐบาล" และ "ผู้เชี่ยวชาญทางสาธารณสุข" ในบรรดาประเทศเอเชีย ก็คือ นี่เป็นครั้งแรกที่มีการนำเทคโนโลยี mRNA มาใช้กับ "วัคซีน" เพราะหวังว่าจะเข้าไปผลิตโปรตีนในการพัฒนาภูมิคุ้มกันแอนติบอดี (Antibody) ในร่างกายมนุษย์
...
และอีกอย่างที่สร้าง "ความวิตก" มากที่สุด คือ การพบว่า คนที่ฉีดวัคซีนมีปฏิกิริยา "แพ้" บางอย่าง! ทั้งการช็อกจากอาการแพ้รุนแรง (Anaphylactic) หรือแม้แต่ข้อกังขาเกี่ยวกับการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เกิดขึ้นหลังจากฉีดวัคซีน Pfizer เพียง 16 วัน
การกังวลมากไป แง่หนึ่งก็อาจเป็นผลเสียต่อประชาชนที่เฝ้ารอคอยการฉีดวัคซีน เพราะไม่อยากจมอยู่กับวิกฤติโควิด-19 นานไปกว่านี้ แต่อีกแง่หนึ่ง ก็ถือเป็นการสร้างความมั่นใจในประสิทธิภาพของวัคซีน ซึ่งต้องยอมรับว่า เทคโนโลยีที่ใช้ในวัคซีน Pfizer และ Moderna ไม่เคยใช้ในมนุษย์มาก่อน แม้ว่าจะดูเหมือนว่ามีความปลอดภัย แต่การมีข้อมูลเพิ่มเติมก็ย่อมดีกว่า
อีกหนึ่งข้อกังวลของบางประเทศ ที่บางคนอาจจะมองว่า "กังวลเกินความเกินไปหรือเปล่า?" นั่นก็คือ การที่ "บริษัทยา" เหล่านี้ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายในการเจรจาต่อรอง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเกาหลีใต้ ปาร์ค นึงฮู ออกมาเปิดเผยอย่างตรงไปตรงมาว่า หลายประเทศถูกบีบบังคับเข้าสู่ "สัญญาที่ไม่เป็นธรรม" กับ "บริษัทยา" เหล่านี้ ก่อนจะทิ้งท้ายว่า การรีบเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนก่อนที่จะมีความแน่ชัดในความเสี่ยง ยังไม่จำเป็นสำหรับเกาหลีใต้...
...
ขณะที่ ในมุมมองนักธุรกิจอย่างประธานโรงแรมฮารีลีลา นามว่า "อารอน ฮารีลีลา" อดีตประธานสำนักงานหอการค้าฮ่องกง กลับมองว่า ทุกวันนี้ประชาชนทั่วโลกต่างพยายามเอาชีวิตรอด และตัวเขาคิดว่า ประชาชนที่มีความพร้อมควรได้รับการฉีดวัคซีนทันทีที่เป็นไปได้ ซึ่ง "ความกังวล" ที่มากเกินไปอาจทำให้การตัดสินใจผิดพลาด
อย่างไรก็ตามแต่... ในเวลานี้ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประชาชนในกลุ่มประเทศเอเชียมีความเชื่อมั่นต่อ "วัคซีน" ลดน้อยลง
โดยการสำรวจอิปซอสส์ (Ipsos) ของสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) พบว่า ประชาชนในหลายๆ ประเทศ อาทิ เกาหลีและญี่ปุ่น เป็นต้น ตกลงรับการฉีดวัคซีนลดลง 9% จากเดือนตุลาคม-ธันวาคม
ซึ่งหากย้อนข่าวไปก่อนหน้านี้ จะเห็นได้ว่า แม้ประเทศเอเชียที่ว่ามานี้จะมัว "กังวล" ไม่เริ่มฉีดวัคซีนให้กับประชาชนสักที แต่พวกเขาก็กวาดซื้อวัคซีนมากักตุนไว้ไม่น้อยเลยทีเดียว ซึ่งนั่นอาจส่งผลในอนาคตได้ เพราะพอถึงเวลาที่จะใช้งานจริงๆ วัคซีนเหล่านั้นอาจไม่สามารถใช้ได้หรือบางทีอาจหมดอายุไปก่อน ที่อาจกลายเป็นโศกนาฏกรรม...
...
แต่อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้ว... การฉีดวัคซีนเพื่อหยุดยั้งวิกฤติโควิด-19 ความสำคัญอาจไม่ได้อยู่ที่ว่า มีการดำเนินการเร็วแค่ไหน แต่อาจอยู่ที่ว่า การดำเนินการนั้นจบอย่างเข้มแข็งอย่างไร...
ข่าวน่าสนใจ:
- มรดกโควิด-19 ซอมบี้เกลื่อน หนี้ล้น เปลี่ยน "เศรษฐกิจโลก" ตลอดกาล
- ปี 2564 กับ 4 สิ่งที่ควรตั้งตารอ เมื่อโควิด-19 ทำให้เกิดเร็วขึ้น
- "สมุทรสาคร" จังหวัดเล็กเศรษฐกิจใหญ่ ย้อนสายพันธุ์โควิด-19 ก่อนมาเป็น GH
- "ถุงมือยางมือสอง" ระบาด โควิดป่วนตลาด มิจฉาชีพย้อมแมวขายแถมเชื้อโรค
- ชะตาอาณาจักร "อาลีบาบา" เมื่อยักษ์ถูกบีบ ในภาวะ "แจ็ค หม่า" สาบสูญ