30 ธันวาคม 2020
JANUARY SIXTH, SEE YOU IN DC!
วันที่ 6 มกราคม เจอกันที่ DC!

12.00 น. วันที่ 6 มกราคม 2021
SAVE AMERICA MARCH!
"เราจะเดินเท้ามุ่งหน้าไปยังอาคารรัฐสภา เพื่อแสดงการสนับสนุนบรรดาสมาชิกรัฐสภาผู้กล้าหาญ ทั้งหญิงและชาย"

ชายวัย 74 ปี นามว่า ท่านประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ทั้งทวีตปลุกระดมผ่านโซเชียลมีเดีย และประกาศอย่างฮึกเหิมต่อหน้าฝูงชนผู้ให้การสนับสนุนที่มารวมตัวกันที่ทำเนียบขาว ท่ามกลางเสียงโห่ร้องยินดีอย่างกึกก้อง...

จากนั้นอีกเพียงประมาณ 50 นาทีต่อมา...ก็ได้เกิดเหตุการณ์กะเทาะเปลือก "แม่แบบแห่งประชาธิปไตย" ที่รัฐบาลสหรัฐฯ อุตส่าห์ฉาบเคลือบเพื่ออวดอ้าง และมักจะชอบ "ขีดเส้น" ให้ชาวโลกต้องปฏิบัติตามมาเนิ่นนาน

...

...

วอชิงตันเรียกเหตุจลาจลในฮ่องกงว่า "ขบวนการประชาธิปไตย" แต่เหตุไฉนจึงเรียกขานการชุมนุมที่อาคารรัฐสภาสหรัฐฯ ว่า "ผู้ก่อการจลาจล" กล่าวหารัฐบาลจีน "ลิดรอนเสรีภาพในการพูดและแสดงความเห็นของประชาชน" แต่เหตุไฉน จึงห้ามประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ สื่อสารกับชาวอเมริกัน

"แม้เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจะยังอาจไม่ร้ายแรงเท่ากับที่เกิดในฮ่องกง แต่หากยังพอจำได้ บรรดานักการเมือง หรือผู้นำทางการเมืองของสหรัฐฯ บางคนเคยพูดอะไรบางอย่างที่แตกต่างไปจาก ณ ปัจจุบัน ที่พวกเขากำลังพูดอยู่อย่างสิ้นเชิง!

ในเมื่อคราวก่อนบอกว่า ชาวฮ่องกงที่ออกมาเดินขบวนต่อต้านรัฐบาลจีน "เป็นสิทธิและเสรีภาพ" ไฉน เมื่อชาวอเมริกันออกมาแสดงพลังสนับสนุนประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จึงถูกเรียกว่า "การก่อจลาจลและความรุนแรง" เหตุใดจึงไม่ถูกเรียกขานเช่นกันว่าเป็น "สิทธิและเสรีภาพ" บน "มาตรฐานเดียวกัน" ชาวอเมริกันเหล่านั้นก็ล้วนแล้วแต่ปรารถนาเสถียรภาพ และความมั่นคงเหมือนกันมิใช่หรือ?"

หัว ชุนอิง (Hua Chunying) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน ใช้วาจาเชือดเฉือนใส่ประเทศผู้มักสร้างมาตรฐานสิ่งที่เรียกว่า "เสรีภาพ" ให้กับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะกับประเทศที่ "ไม่เห็นพ้อง" หรือ "ยอมอ่อนข้อต่อคำสั่งให้หันซ้ายหรือขวา"

ในขณะที่ สื่อกระบอกเสียงของรัฐบาลปักกิ่งอย่าง The Global Time จัดการราดเกลือลงใส่บาดแผลของประเทศแห่งเสรีภาพ และภราดรภาพซ้ำ ด้วยคำจั่วหัวคำโตๆ ที่ว่า...

กองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิ (The U.S. National Guard) เคลื่อนกำลังเข้าปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมที่อาคารรัฐสภา นี่คือ การ "ตบหน้า" สิ่งที่ รัฐบาลสหรัฐฯ เคยออกมาพูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคล้ายคลึงกันในประเทศอื่นๆ รวมถึงวิกฤตการณ์ในฮ่องกงก่อนหน้านี้

...

โดยทันทีที่บทความของ The Global Time ชิ้นนี้เผยแพร่ลงบนโซเชียลมีเดีย เรียกวิวได้มากกว่า 100 ล้านวิว ชาวจีนที่ได้อ่านบทความดังกล่าวได้ร่วมกันแสดงทัศนะจิกกัดรัฐบาลสหรัฐอเมริกาอย่างสนุกสนาน โดยส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า สหรัฐฯ กำลังได้ลิ้มรส "ผลกรรม" ความ Double standards ของตัวเอง ซึ่งได้ทำให้เกิดความโกลาหลไปทั่วโลก ภายใต้ข้ออ้างที่ถูกบัญญัติขึ้นเองว่า "เสรีภาพและประชาธิปไตยที่มีเพียงแต่บนหน้ากระดาษ" ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ความเห็นของลูกหลานแดนมังกร ซึ่งติดตาม "เสรีภาพในการแสดงออกของชาวอเมริกัน" ณ อาคารรัฐสภาของสหรัฐฯ ในวันแห่งประวัติศาสตร์อย่างใกล้ชิด ยังต่างพากันแสดงความเห็นจิกกัดแบบแสบๆ คันๆ ใน Weibo หรือ Twitter ของจีน หลายต่อหลายความเห็น แต่ที่ "เผ็ดสุด" น่าจะเป็นการยอกย้อนวรรคทองของ แนนซี เปโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ ที่เคยออกมากล่าวยกย่องการออกมาเดินขบวนประท้วง รวมถึงการเลยเถิดบุกเข้าไปในห้องประชุมสภานิติบัญญัติฮ่องกงของผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลจีนว่า "ภาพอันงดงามที่ได้แลเห็น" ด้วยวลีเสียดสีเผ็ดๆ ที่ว่า...

"คราวนี้ ประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ คงได้รับรสชาติของประสบการณ์สิ่งที่ตัวเองเรียกว่า ความงดงามที่ได้แลเห็นด้วยตัวเองแล้วสินะ!" พร้อมติดแฮชแท็ก "Pelosi experiences the beautiful sight herself."

อืม...คิดว่า "หญิงแกร่งคู่อริของท่านประธานาธิบดีสหรัฐฯ" คงได้เห็นจริงๆ ดั่งที่ลูกหลานแดนมังกรว่าไว้แน่ๆ เพราะแม้กระทั่งที่นั่งในห้องทำงานของ "เธอ" ยังถูกผู้รักเสรีภาพบุกเข้าไปนั่งแอ็กท่าถ่ายรูปได้แบบสบายใจเฉิบ นี่กระมังที่เรียกว่า "ความงดงาม" ของแนนซี เปโลซี

...

แต่เดี๋ยวก่อน คำจิกกัดเพียงเท่านี้อาจจะยังไม่สาแก่ใจในเวลาต่อมา คณะกรรมการพันธมิตรเยาวชนคอมมิวนิสต์จีน (China’s Communist Youth League) ยังได้ปล่อยภาพชุด "ความงดงามที่ได้แลเห็น" ต่างกรรมต่างวาระที่อาคารรัฐสภาของสหรัฐฯ ใน Weibo ออกมาอีกชุดใหญ่ๆ พร้อมแคปชัน "The Most Beautiful Sight" หรือภาพอันแสนงดงามที่สุดของที่สุด

ซึ่งหากละมารยาททางการทูต แล้วหันมาใช้ภาษาตรงๆ ตามแบบที่ชาวบ้านเข้าใจง่ายๆ ก็คือ ปักกิ่งกำลังเล่นเกมนำเหตุการณ์อันแสนน่าอับอายนี้ มาลากวอชิงตันไปตบกลางสี่แยก!

ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนออกมาแสดงปฏิกิริยาไม่พอใจต่อท่าทีของรัฐบาลสหรัฐฯ ในวิกฤติฮ่องกงหลายต่อหลายครั้ง โดยเรียกการกระทำเหล่านั้นว่า "การแทรกแซงกิจการภายใน" ในขณะที่ สื่อกระบอกเสียงหลายสำนักของรัฐบาลจีนต่างพร้อมใจกันค่อนแคะการบังคับใช้กฎหมายของสหรัฐฯ ต่อเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศอย่างกว้างขวาง เพื่อหวังชี้ชวนชาวโลกให้เห็นว่า ปักกิ่งมิได้ทำอะไรเกินเลยกับกลุ่มต่อต้านรัฐบาลจีนในฮ่องกงเช่นที่ สหรัฐฯ พยายามกล่าวหา

โดยในระหว่างการจลาจลของชาวอเมริกันผิวสี เมื่อปี 2020 ฮู ซีจิน (Hu Xijin) หัวหน้าบรรณาธิการของ The Global Time ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาว่า รัฐบาลจีนไม่เคยออกมาแสดงท่าทีสนับสนุนกลุ่มผู้ชุมนุมในสหรัฐฯ แม้แต่เพียงเล็กน้อย ฉะนั้น เราจึงหวังว่าชาวอเมริกันจะรับรู้ได้ถึงความพยายามในครั้งนี้

อย่างไรก็ดี หัวหน้าบรรณาธิการของ The Global Time ยังไม่วายจิกกัดความเป็น Double standards ของคู่อริแห่งยุคไม่ได้อยู่ดี หลังล่าสุดเขาได้ทวีตข้อความว่า...

หากสหรัฐอเมริกาอยู่ในขอบข่ายของประเทศกำลังพัฒนา สื่อมวลชนของสหรัฐฯ เอง จะขนานนามความงดงาม ณ อาคารรัฐสภาของตัวเองว่าเป็น "วอชิงตันสปริง" (Washington Spring) เหมือนเช่นที่เคยใช้นิ้วชี้กราดไปในหลายประเทศที่มีม็อบออกมาต่อต้านรัฐบาล (เฉพาะรัฐบาลของประเทศที่สหรัฐฯ ไม่ชอบหน้า) ด้วยหรือไม่?

พร้อมกับให้คำจำกัดความเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ เมืองหลวงของ United States Of America โดยใช้คำภาษาจีนที่มีความหมายเปรียบเปรยถึงผู้อยู่ใต้อำนาจปกครองที่เดินทางมาช่วยเหลือผู้นำของตนเอง เมื่อผู้นำของตนตกอยู่ในอันตรายเสียด้วย

แต่เดี๋ยวก่อน...หลังจากได้กรีดรัฐบาลสหรัฐฯ จนสาแก่ใจแล้ว The Global Time ยังไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้ ขอบข่ายการเสียดสียังได้รุกคืบเข้าไปที่สื่อโซเชียลมีเดียของสหรัฐฯ เพื่อร้องหา "มาตรฐานเสรีภาพในการแสดงออก" ซึ่งทั้ง 4 ผู้ยิ่งใหญ่แห่งสหรัฐฯ อันได้แก่ Apple, Google, Twitter และ Facebook มักจะนำมาใช้โฆษณาอวดอ้างแก่ชาวโลกเสียเหลือเกินว่า พวกเขามี "มาตรฐานชุมชน" อันสุดแสนบริสุทธิ์ยุติธรรม และปราศจากการครอบงำของทำเนียบขาว (จริงๆ นะ)

โดยบทความของ The Global Time ชิ้นหนึ่ง วิพากษ์วิจารณ์ภาพอันแสนงดงามที่อาคารรัฐสภาสหรัฐฯ ของกลุ่มผู้สนับสนุนประธานาธิบดีทรัมป์ว่า เป็นการกระชากหน้ากากของ 4 ยักษ์ใหญ่ไอทีสหรัฐฯ ให้ชาวโลกได้แลเห็น "Double standards" ที่แฝงเร้นอยู่ภายใต้วาทกรรม "ประชาชนทุกคนควรมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความเห็น" อย่างโจ่งแจ้ง

ที่ผ่านมา Apple, Google, Twitter และ Facebook มักจะชอบ "ขีดเส้นใต้" เน้นย้ำใส่รัฐบาลของประเทศที่แข็งข้อต่อสหรัฐฯ อยู่เนืองๆ ว่า "ห้ามละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน" แต่เหตุไฉน เมื่อถึงคราวที่ท่านผู้นำทรัมป์ของสหรัฐอเมริกาออกมาแสดงความเห็น หรือพยายามสื่อสารกับประชาชนผ่านโลกทวิตภพ, เฟซบุ๊ก หรือสื่อโซเชียลมีเดีย ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของ 4 ผู้คุมกฎแห่งจักรวาลโซเชียล หลังเกิดเหตุการณ์ที่อาคารรัฐสภาสหรัฐฯ ท่านผู้นำทรัมป์จึงถูกออกสารพัดมาตรการที่สุดรุนแรงออกมาสกัดกั้นการสื่อสารกับประชาชน

ก็ไหนเห็นเคยชี้นิ้วบอกประเทศอื่นๆ อยู่ไม่ใช่หรือว่า "ห้ามละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน"

เช่นนั้นแล้ว เหตุใด "ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์" จึงปราศจากสิทธิและเสรีภาพในการพูด หรือแสดงความคิดเห็นเหมือนกับชาวอเมริกันคนอื่นๆ? แผ่นดินสหรัฐฯ คือ ดินแดนแห่งเสรีภาพมิใช่หรือ? และบุคคลคนเดียวกันนี้ คือ ผู้นำของแผ่นดินที่ว่านั้นมิใช่หรือ?

แล้วทำไม Twitter จึงแบนบัญชีทวิตเตอร์ของท่านผู้นำทรัมป์ และผู้ใกล้ชิดอีก 2 คนแบบถาวร

ทำไม Google และ Apple จึงพร้อมใจกัน "ถอด" แอปParler ซึ่งบรรดาผู้นิยมชมชอบท่านผู้นำทรัมป์ใช้ในการสื่อสารกับพวกพ้องทั่วสหรัฐฯ ออกจาก Play Store และ App Store กันล่ะ?

หรือเพราะอะไร Facebook ซึ่งมีมาตรฐานชุมชนอันแสนรัดกุม จึงทั้งตามลบโพสต์และประกาศ "แบน" บัญชีของท่านผู้นำทรัมป์แบบไม่มีกำหนดกันล่ะ?

แต่เดี๋ยวก่อน เพื่อรับฟังความให้รอบด้าน อะไรคือ เหตุผลของทั้ง 4 ยักษ์ใหญ่ไอทีในประเด็นนี้กันบ้างนะ?

Twitter อ้างประเด็นเรื่องความเสี่ยงเรื่องการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรง

Apple เปิดเผยถึงการตัดสินใจครั้งนี้ผ่านนิตยสาร Variety ว่า "เราสนับสนุนการนำเสนอมุมมองที่หลากหลายบน App Store มาโดยตลอด แต่เราไม่มีพื้นที่ในทุกๆ แพลตฟอร์มสำหรับการคุกคาม ความรุนแรง หรือการเคลื่อนไหวที่ผิดกฎหมาย"

Google อธิบายถึงการตัดสินใจว่า เป็นการถอดออกจาก Play Store ชั่วคราว จนกว่านักพัฒนาจะสามารถหาทางกลั่นกรองเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมได้

ในขณะที่ Facebook นั้น มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก โพสต์ชี้แจงเหตุผลด้วยตัวเองว่า มีการละเมิดมาตรฐานชุมชน รวมถึงมีการยุยงปลุกปั่นที่จะนำไปสู่ความรุนแรง

ว่าแต่...แล้วเหตุวุ่นวายโกลาหลต่างๆ ที่เกิดขึ้นนอกแผ่นดินสหรัฐฯ มันมิได้ถูกจุดชนวนมาจากการยุยงปลุกปั่น หรือสร้างให้เกิดความเกลียดชังบนพื้นที่ของผู้คุมกฎทั้ง 4 นี้เหมือนๆ กันหรือ?

เอาล่ะทีนี้ เรากลับไปที่บทความกัดจิก 4 ผู้ยิ่งใหญ่ไอทีสหรัฐฯ ของ The Global Time กันต่อ...

สื่อกระบอกเสียงของรัฐบาลปักกิ่งร่ายตัวอักษรต่อไปว่า ความเคลื่อนไหวดังที่ว่าไปนั้น มันตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับปฏิกิริยาของทั้ง 4 แฟลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ต่อเหตุการณ์จลาจลของกลุ่มผู้ชุมนุมในฮ่องกงเมื่อปี 2019 ซึ่งได้สร้างความโกลาหลบนเกาะอันเคยอุดมไปด้วยความเฟื่องฟูทางการค้ามายาวนานถึงเกือบ 1 ปี

อะไรคือ สิ่งที่ยักษ์ทั้ง 4 ปฏิบัติกับเหตุการณ์ความวุ่นวายบนเกาะฮ่องกง?

นอกเหนือไปจากการอนุญาตให้คำยุยงปลุกปั่นที่นำไปสู่ความรุนแรงทั้งหลาย ยังคงอยู่แ  ละแชร์ออกไปอย่างท่วมท้นแพลตฟอร์มของตัวเองแล้ว กลุ่มผู้ชุมนุมยังสามารถใช้งานแพลตฟอร์มเหล่านั้นเป็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์ที่นำไปสู่การเชิญชวนให้มีการชุมนุมอย่างผิดกฎหมาย รวมถึงยังส่งเสริมให้มีการสนับสนุนให้ฮ่องกงแยกตัวเป็นอิสระจากรัฐบาลจีนอย่างเปิดเผย ท่ามกลางความพยายามที่ "เบาบางมากๆ" ในการหาทางหยุดยั้งพฤติกรรมเหล่านั้น

แต่ที่หนักข้อไปกว่านั้น คือ ในช่วงเดือนสิงหาคม 2019 มีการพบว่า Facebook และ Twitter เริ่มทั้งบล็อกและไล่ลบบัญชีจากประเทศจีน ที่มีการโพสต์ความเห็น "ต่อต้าน" กลุ่มผู้ประท้วงฮ่องกงที่ต่อต้านรัฐบาลจีน หรือแสดงการสนับสนุนเจ้าหน้าที่ตำรวจฮ่องกง หรือแม้กระทั่งโพสต์ธงชาติจีนเสียด้วย

เหตุใด "ชาวจีน" จึงปราศจากสิทธิและเสรีภาพในการพูดหรือแสดงความคิดเห็นเช่นเดียวกับชาวจีนบนเกาะฮ่องกงกันล่ะ ทั้งๆ ที่ผืนแผ่นดินนั้น เป็นแผ่นดินที่เคยถูกชาวตะวันตกใช้กำลังปล้นเอาไปจากชาวจีนมิใช่หรือ?

นอกจากนี้ The Global Time ยังได้ตั้งข้อสังเกตถึงท่าทีของผู้คุมกฎทั้ง 4 ด้วยว่า ในช่วงระหว่างที่ท่านผู้นำทรัมป์เรืองอำนาจ มีหลายครั้งหลายคราที่มีการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความเห็นที่ออกจะเกินเลยจากข้อเท็จจริงไปไกลพอสมควร รวมถึงยังเฉียดเข้าใกล้สิ่งที่ผู้คุมกฎทั้ง 4 เรียกว่า การยุยงปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชังและอาจนำไปสู่ความรุนแรง แต่ผู้คุมกฎทั้ง 4 กลับแทบไร้ซึ่งปฏิกิริยาใดๆ ที่จะพยายาม "หยุดยั้ง" การกระทำของท่านผู้นำทรัมป์

แต่แล้ว เมื่อท่านผู้นำทรัมป์พ่ายแพ้การเลือกตั้ง และใกล้ถึงเวลาที่จะต้องเก็บของออกจากทำเนียบขาว การแสดงความเห็นที่แทบไม่ต่างจากเมื่อครั้งเรืองอำนาจ จึงถูกผู้คุมกฎทั้ง 4 รุกไล่จนแทบไม่มีที่ยืนเช่นนี้

หรือนั่นเป็นเพราะ "เสรีภาพและการแสดงความเห็นย่อมยึดติดอยู่กับผลประโยชน์และราคาที่ต้องแลกเปลี่ยน?" รวมถึง "แท้ที่จริงแล้ว เสรีภาพของสหรัฐฯ เองก็ยังคงถูกครอบงำโดยการเมือง"

หากแต่ "แรงส่อเสียด" จากแดนมังกรหาใช่เพียงความชอกช้ำจากการถูกยอกย้อนอย่างเจ็บแสบแผลเดียวเท่านั้น นั่นเป็นเพราะหลังเกิดภาพ "ความงดงามของประชาธิปไตย" ที่อาคารรัฐสภาสหรัฐฯ แล้ว แม้แต่บรรดาชาวอเมริกันส่วนหนึ่งเองก็ยังตั้งคำถามเอากับ "มาตรฐานของระบบยุติธรรม" บนแผ่นดินแม่ของตัวเอง ซึ่งเต็มไปด้วยองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนผู้รักเสรีภาพต่างๆ มากมายเหลือคณานับด้วยเช่นกัน

เหตุใดการปฏิบัติการของตำรวจที่กระทำต่อกลุ่มผู้ชุมนุมที่อาคารรัฐสภา จึงแตกต่างกับการชุมนุมของกลุ่ม Black Live Matter หรือ BLM ราวฟ้ากับเหว?

"Darkest days in Us history"

ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ โจ ไบเดน เรียกขานวันแห่งความอัปยศบนแผ่นดินอเมริกาด้วยน้ำเสียงสุดขมขื่น ก่อนจะตั้งคำถามตัวโตๆ ใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าระงับเหตุความวุ่นวายที่เกิดขึ้นว่า...

เหตุใด...จึงผ่อนปรนการปฏิบัติกับกลุ่มผู้ให้กับสนับสนุน โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวอเมริกันผิวขาว ผิดกับเมื่อครั้งที่ได้กระทำกับกลุ่มผู้ชุมนุมผิวสี BLM ราวกับอยู่คนละประเทศ และทั้งหมดที่เกิดขึ้นถือเป็น... "สิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้เป็นอย่างยิ่ง"

อะไรคือ "ข้อพิสูจน์" ความ Double standards บนดินแดนแห่งเสรีภาพและอุดมไปด้วยนักสิทธิมนุษยชนที่ว่านั้น

ในระหว่างการชุมนุม BLM อย่างสันติของชาวอเมริกันซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนผิวสี เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2020 เจ้าหน้าที่ตำรวจวอชิงตัน ดี.ซี. จับกุมผู้ชุมนุมมากมายถึง 289 คน แต่ที่ดูเลวร้ายอย่างที่สุด คือ มีการใช้แก๊สน้ำสลายผู้ชุมนุมที่จัตุรัสลาฟาแยต (Lafayette Square) เพื่อเคลียร์เส้นทางให้ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เดินทางออกจากทำเนียบขาว เพื่อไปถ่ายรูปโชว์กับคัมภีร์ไบเบิล ที่โบสถ์เซนต์จอห์น เอพิสโกพัล (St. John’s Episcopal) ในขณะที่ การชุมนุมก่อจลาจลของกลุ่มผู้สนับสนุนท่านประธานาธิบดีที่อาคารรัฐสภา ซึ่งรุนแรงจนถึงขั้นมีการประกาศเคอร์ฟิวทั่วทั้งเมืองหลวง ตั้งแต่ช่วงค่ำของวันที่ 6 ม.ค. จนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 7 ม.ค. กลับมีการจับกุมผู้ก่อเหตุได้เพียง 68 คน (เท่านั้น)

หนำซ้ำ ปฏิกิริยาของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีต่อกลุ่มผู้ชุมนุมที่อาคารรัฐสภายังดูราวกับเป็นพวกพ้องเดียวกันเสียด้วย ยืนยันได้โดยสารพัดคลิปจาก Twitter หรือ TikTok ที่มีการแชร์ออกไปอย่างแพร่หลาย ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นมีคลิปที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังยกสิ่งกีดขวางเพื่อเปิดทางให้กับกลุ่มผู้สนับสนุนท่านประธานาธิบดีเสียด้วย ส่วนอีกคลิปปรากฏภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจลคนหนึ่งกำลังให้การช่วยเหลือกลุ่มผู้ประท้วงด้วยซ้ำไป

เอาล่ะ! แม้ในท้ายที่สุดเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนหนึ่งจะยอมยิงแก๊สน้ำตา และระเบิดควันเพื่อเข้าสลายการชุมนุม หากแต่ท่ามกลางความอลหม่านนั้น กลับปรากฏว่ามีตำรวจอีกจำนวนหนึ่งปฏิบัติตัวด้วยความสุภาพ เพื่อชี้ทางให้กลุ่มผู้ชุมนุมหลบหนีไปขึ้นรถยนต์ หรือเดินทางกลับโรงแรมที่พักของตัวเอง เรียกว่า ตำรวจ DC สุภาพจนน่าแปลกใจเลยก็ว่าได้!

นี่ยังไม่นับรวม ความกระเหี้ยนกระหือรือของท่านผู้นำทรัมป์ในการประกาศใช้กฎหมาย Insurrection Act ที่ให้อำนาจแก่ประธานาธิบดี ส่งกองกำลังจากรัฐบาลกลางร่วม 10,000 นาย ไปปราบปรามการชุมนุมของกลุ่ม BLM ในกรุงวอชิงตัน และอีกหลายเมืองทั่วสหรัฐฯ ก่อนหน้านี้ ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับเหตุวุ่นวายที่อาคารรัฐสภา ที่กว่ากองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิจะปรากฏตัวขึ้น ทุกอย่างก็แทบจะสายเกินไปแล้ว หนำซ้ำ หลังจากอาคารรัฐสภาแทบจะแหลกสลายคามือของผู้ชุมนุม ท่านผู้นำทรัมป์กลับทวีตข้อความตอบรับการกระทำดังกล่าวด้วยถ้อยคำสวยหรูเสียด้วยว่า "I love you"

"I disapprove of what you say, but I will defend to the death your right to say it."
"แม้ฉันจะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่คุณพูด แต่ฉันจะปกป้องสิ่งที่คุณพูดด้วยชีวิต"

"สัญลักษณ์แห่งเสรีภาพ" ที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกา เลกเชอร์ชาวโลกมาตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา หากแต่เมื่อล่วงเลยเข้าสู่ปี 2021 บางทีถ้อยคำอันศักดิ์สิทธิ์นี้ อาจถูกประเทศอื่นๆ นำมาใช้ย้อนศรประเทศแม่แบบแห่งเสรีภาพและประชาธิปไตย เอาซะเองก็เป็นได้!.

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก: เทพอมร แสงธรรมาพิทักษ์

ข่าวน่าสนใจ: