การบริจาคเลือด (Blood donation) ถือเป็นการช่วยต่อชีวิตเพื่อนมนุษย์ เพราะมีความสำคัญในการรักษาผู้ป่วยจะไม่สามารถทำได้หากไม่มีเลือดหรือโลหิตไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยผ่าตัด ผู้ป่วยโรคเลือด ผู้ป่วยมะเร็ง รวมทั้งการรักษาโรคอื่นๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคโลหิตจาง โรคธาลัสซีเมีย หรือโรคฮีโมฟีเลีย ที่ต้องใช้เลือดในปริมาณมากและต่อเนื่องตลอดชีวิต หรือแม้กระทั่งผู้ป่วยที่มีอาการแทรกซ้อนจาก COVID-19 ให้ได้อยู่กับบุคคลอันเป็นที่รักต่อไป จึงมีผู้ใจเมตตาบริจาคเลือดเป็นประจำ แต่ปัจจุบันจำนวนเลือดไม่เพียงพอ
: ผู้บริจาคเลือดลดลงครึ่งหนึ่ง เหตุจากโควิดระบาด :
สาเหตุเลือดไม่เพียงพอนั้น จากการสอบถามจาก นางสาวปิยนันท์ คุ้มครอง ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านจัดหาโลหิตและภาพลักษณ์องค์กร ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เปิดเผยข้อมูลว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลทั่วประเทศ โดยเฉพาะโรงพยาบาลใหญ่ๆ หลายแห่งขาดเลือดเข้าขั้นวิฤกตกว่า 340 แห่ง ต้องการเลือดสูงมาก แต่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ไม่สามารถจ่ายเลือดให้ได้อย่างเพียงพอ
...
อันเป็นผลต่อเนื่องจากสถานการณ์การระบาดโควิด COVID-19 Wave 2 ทำให้ผู้บริจาคโลหิตมีจำนวนลดลงทุกแห่งทั่วประเทศ เนื่องจากการเว้นระยะห่างทางสังคมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น ยกเลิกจัดกิจกรรมรับบริจาคโลหิต เนื่องจากบางพื้นที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมการแพร่ระบาด และสถาบันการศึกษาปรับรูปแบบการเรียนการสอนเป็นออนไลน์ ส่งผลให้มีปริมาณโลหิตบริจาคลดลงร้อยละ 50 จากเดิมเคยได้รับบริจาควันละ 1,400 - 1,800 ยูนิต แต่ปัจจุบัน วันละ 700 – 900 ยูนิต เท่านั้น
: 8 รายชื่อกรุ๊ปเลือด ต้องการรับบริจาคเลือด :
การบริจาคเลือดแต่ละครั้งใช้เวลา 15-20 นาที โดย 1 คนบริจาคเลือดได้ 1 ยูนิต ซึ่งปริมาณซีซีจะมากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวของผู้บริจาค นางสาวปิยนันท์ เปิดเผยว่า ขณะนี้เลือดขาดทุกกรุ๊ป โดยปริมาณเลือดในคลัง ณ วันที่ 10 ม.ค. 64 ดังนี้
เลือดกรุ๊ป A พบได้ร้อยละ 21 ได้รับบริจาคเพียง 2,200 ยูนิต มีความต้องการโลหิตอีก 9,200 ยูนิต เพื่อให้เพียงพอ 11,400 ยูนิตต่อเดือน
เลือดกรุ๊ป B พบได้ร้อยละ 34 ได้รับบริจาคเพียง 3,372 ยูนิต มีความต้องการโลหิตอีก 13,728 ยูนิต เพื่อให้เพียงพอ 17,100 ยูนิตต่อเดือน
เลือดกรุ๊ป O พบได้ร้อยละ 38 ได้รับบริจาคเพียง 3,942 ยูนิต มีความต้องการโลหิตอีก 18,858 ยูนิต เพื่อให้เพียงพอ 22,800 ยูนิตต่อเดือน
เลือดกรุ๊ป AB พบได้ร้อยละ 7 ได้รับบริจาคเพียง 735 ยูนิต มีความต้องการโลหิตอีก 4,965 ยูนิต เพื่อให้เพียงพอ 5,700 ยูนิตต่อเดือน
และโลหิต 4 หมู่พิเศษ (Rh-negative) เพราะไม่มีเลือดสำรอง ซึ่งจัดเป็นหมู่โลหิตที่หายาก ได้แก่ กรุ๊ป A- ,B-, O- และ AB- โดยจำนวนประชากร 1,000 คน จะมีหมู่โลหิตอาร์เอ็ชลบ (Rh-) 3 คน หรือคิดเป็น 0.3% เท่านั้น
: ข้อควรปฏิบัติ คนป่วย 10 โรค งดบริจาคเลือด :
สำหรับคุณสมบัติของผู้บริจาคเลือด อายุต้องอยู่ในระหว่างอายุ 17 ปีบริบูรณ์ จนถึงอายุ 65 ปี มีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 48 กิโลกรัมขึ้นไปแล้ว นางสาวปิยนันท์ แนะอีกสิ่งสำคัญ คือ ต้องมีสุขภาพแข็งแรง และต้องไม่มีโรคประจำตัว เหล่านี้ได้แก่ โรครุนแรงเรื้อรังต่างๆ อาทิ โรคหัวใจ โรคปอด โรคมะเร็งทุกชนิด โรคตับ โรตไต โรคเลือดออกง่ายแต่หยุดยาก โรคเบาหวานที่ต้องใช้ยาอินซูลินหรือคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ ผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี โรคมาลาเรีย และผู้ติดเชื้อเอสไอวีหรือซิฟิลิส
...
ส่วนวิธีเตรียมพร้อมก่อนบริจาคเลือด ตามหลักปฏิบัติของสภากาชาดไทย โดยก่อนบริจาคโลหิต 1-2 วัน ควรดื่มน้ำมากๆ เพื่อให้ร่างกายสดชื่น เลือดไหลเวียนได้ดี ,งดดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์, ไม่เล่นกีฬาหรือออกกำลังกายที่เสียเหงื่อมากก่อนบริจาคโลหิต 1 วัน ,รับประทานอาหารก่อนบริจาคโลหิตภายใน 4 ชั่วโมง และ นอนหลับพักผ่อนอย่างน้อย 6 ชั่วโมงขึ้นไป แล้ววิธีการปฏิบัติก่อนมาบริจาคในสถานการณ์การระบาดของโควิด นางสาวปิยนันท์ แนะนำว่า
"หากไม่ให้เกิดปัญหาเลือดขาด วันหนึ่งต้องได้รับบริจาคเลือด ราว 2,200 – 2,500 ยูนิต เท่ากับว่าต้องมีคนมาบริจาควันละ 2,200 - 2,500 คนเพราะ 1 คน บริจาคได้ 1 ถุงคือ 1 ยูนิต ใครที่ต้องการบริจาคเลือด สามารถบริจาคได้ ทุก รพ. ทั่วประเทศ อยู่จังหวัดไหน บริจาคจังหวัดนั้น ช่วงนี้โควิดระบาด ต้องเตรียมตัวเองให้พร้อม 1 เดือนก่อนมาบริจาค โดยคัดกรองตัวเอง ไม่ไปพื้นที่เสี่ยง ไม่สัมผัสผู้เป็นโควิด"
: ลด 50 % สิทธิประโยชน์ผู้บริจาคเลือด :
...
สำหรับใครที่ยังไม่เคยบริจาคเลือด ลองมาบริจาคเลือด เพราะนอกจากต่อชีวิตให้กับผู้อื่นแล้ว ตัวผู้บริจาคเองนั้นก็ได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษลด 50 เปอร์เซ็นต์ในการรักษายามเจ็บป่วยตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการช่วยเหลือในการรักษาพยาบาล (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2558 ระบุไว้ว่า
หากพักรักษาเป็น ผู้ป่วยใน ใน รพ.สังกัดกระทรวงสาธารณสุข จะได้รับสิทธิพิเศษดังนี้
• ผู้บริจาคโลหิต 1 ครั้งขึ้นไป ได้รับการช่วยเหลือค่าห้องและค่าอาหารพิเศษ ตามสิทธิที่สามารถเบิกได้จากหน่วยงานต้นสังกัดก่อน ส่วนที่เกินสิทธิให้เรียกเก็บ 50 เปอร์เซ็นต์
• ผู้บริจาคโลหิต 18 ครั้งขึ้นไป ได้รับการช่วยเหลือค่าห้องและค่าอาหารพิเศษ 50 เปอร์เซ็นต์ ตามอัตราที่กำหนดไว้
สำหรับผู้ที่รักษากับ รพ.ในสังกัดสภากาชาดไทย ได้แก่ รพ.จุฬาลงกรณ์ และ รพ.สมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา สิทธิประโยชน์พึงได้ ดังนี้
สิ่งที่แตกต่างกันระหว่างผู้บริจาคโลหิต 7 ครั้งขึ้นไป คือ เสียค่ารักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยสามัญ ไม่รวมค่ายาและเวชภัณฑ์ แต่ ผู้บริจาคโลหิต 24 ครั้งขึ้นไป ไม่เสียค่ารักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยสามัญ
ทั้งนี้สิ่งที่ได้รับสิทธิประโยชน์เหมือนกัน คือ ถ้าอยู่ห้องพิเศษ ผ่าตัด ผ่าตัดคลอดบุตร เสียค่าใช้จ่าย 50 เปอร์เซ็นต์ กรณีผ่าตัดโดยใช้อุปกรณ์พิเศษ ไม่สามารถใช้สิทธิ์ได้
...
: 4 เรื่องราวดีๆ ไม่คาดคิด หลังบริจาคเลือด :
การบริจาคเลือดนอกจากได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าวแล้ว ยังมีประโยชน์ด้านอื่นๆ ที่คุณอาจไม่เคยรู้อีกมากมาย ซึ่ง นพ.ชวลิต หล้าคำมี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยา บอกเรื่องราวดีๆ ของการบริจาคเลือด ดังนี้
1. ตรวจสุขภาพฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ เนื่องจากการที่จะบริจาคเลือดได้ ต้องผ่านการทดสอบความเข้มข้นของเลือด และซักประวัติให้แน่ใจว่าสามารถบริจาคเลือดได้ ซึ่งผู้บริจาคโลหิตต้องผ่านการ “ตรวจสุขภาพอย่างเคร่งครัด เช่น วัดความดันโลหิต หรือตรวจดูความเข้มข้นของเลือด ซักประวัติด้านสุขภาพค่อนข้างเป็นการส่วนตัวซึ่งผู้บริจาคจะต้องตอบตามความจริง
2. กระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดใหม่ เนื่องจากการบริจาคเลือดเป็นการสละเลือดส่วนเกินที่ร่างกายไม่ใช้ โดยปกติร่างกายแต่ละคนจะมีเลือดประมาณ 17-18 แก้ว แต่ ใช้จริงเพียง 15-16 แก้วเท่านั้น ซึ่งถ้าไม่ได้บริจาคเลือด ตามธรรมชาติของร่างกายก็จะขับเม็ดเลือดที่สลายตัว เพราะหมดอายุทางปัสสาวะและอุจจาระ เช่น เม็ดเลือดแดงมีอายุประมาณ 120 วัน ไปทำลายที่ม้าม แล้วนำกลับมาสร้างใหม่ และเมื่อบริจาคเลือดแล้ว ไขกระดูกจะถูกกระตุ้นการทำงานเพื่อให้มีการสร้างเม็ดเลือดใหม่ ที่มีคุณภาพมาทดแทนส่งผลให้ ระบบไหลเวียนเลือดดีขึ้น สุขภาพแข็งแรงขึ้น เจ็บป่วยน้อยลง ห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ
3. สร้างนิสัยให้มีสุขภาพดีโดยธรรมชาติ ในผู้ที่ตั้งใจจะบริจาคเลือดเป็นประจำทุก 3 เดือน นั่นที่ต้องดูแลสุขภาพร่างกายตัวเองให้สมบูรณ์แข็งแรง ออกกำลังกาย พักผ่อน ไม่เครียด เนื่องจาก การบริจาคเลือดในแต่ละครั้งต้องทิ้งระยะเวลาห่างกันอย่างน้อย 12 สัปดาห์ หรือ 3 เดือน เพราะการบริจาคเลือดในแต่ละครั้งจะสูญเสียเลือดประมาณ 10% ของปริมาณเลือดทั้งหมดในร่างกาย และการทำงานของไขกระดูกในการสร้างเม็ดเลือดขึ้นมาทดแทนเลือดที่ถูกบริจาคไปต้องใช้เวลา 90 วัน เพื่อสร้างเม็ดเลือดให้แข็งแรงและทำงานได้มีประสิทธิภาพกว่าเม็ดเลือดที่บริจาคไป
4. สุขภาพจิตดี ช่วยลดเสี่ยงโรคซึมเศร้า อันเป็นผลเกี่ยวเนื่องจากความรู้สึกทางจิตใจมีความสุขใจ อิ่มเอมใจ รู้สึกมีคุณค่าในชีวิต และทำประโยชน์ต่อผู้อื่นและสังคม
: 5 วิธีดูแลตนเอง 1-2 วันหลังบริจาคเลือด :
ทั้งนี้ร่างกายมีการสูญเสียเลือด เมื่อบริจาคเลือดแล้ว จำเป็นต้องดูแลตัวเองมากขึ้นเป็นพิเศษอย่างถูกวิธีเป็นเวลา 1-2 วัน เพื่อให้ปริมาณลือดในร่างกายกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยหลังบริจาคเลือด นพ.ชวลิต แนะนำว่า
1. หลังบริจาคเลือดเสร็จ นั่งพักผ่อนสักครู่เพื่อเฝ้าระวังอาการผิดปกติ หากมีอาการคล้ายจะเป็นลม หรือรู้สึกผิดปกติ ให้นั่งศีรษะต่ำ หรือนอนราบยกเท้าให้สูงกว่าศีรษะจนกว่าจะรู้สึกดีขึ้นแล้วจึงค่อยกลับบ้าน
2. ดื่มน้ำมากกว่าปกติ เพื่อเพิ่มปริมาณของเหลวในร่างกาย หากร่างกายขาดน้ำจะทำให้ระบบการไหลเวียนของโลหิตไม่ดีและทำให้มีผลกระทบกับส่วนอื่นๆ ของร่างกาย
3. หลีกเลี่ยงกิจกรรม หรือออกกำลังกายที่เสียเหงื่อปริมาณมาก ๆ
4. งดกิจกรรมออกแรง งดหิ้วของหนัก ๆ 24 ชั่วโมงหลังบริจาคเลือดในแขนข้างที่เจาะ
5. รับประทานธาตุเหล็กที่ได้รับจากหน่วยบริจาคเลือดวันละ 1 เม็ด เพื่อป้องกันการขาดธาตุเหล็กติดต่อกัน โดยรับประทานจนกว่าจะหมด และอาจจะเสริมรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง สารอาหารครบถ้วน เช่น เนื้อสัตว์ ธัญพืช
“ยาบำรุงเลือดที่ได้รับหลังบริจาคเลือด ต้องรับประทานจนหมด และดื่มน้ำให้เยอะๆ เพื่อการฟื้นตัวของร่างกาย หากไม่ดูแลตัวเองหลังบริจาคเลือด จะทำให้อ่อนแรง เพลียได้ง่าย ในช่วงโควิด หากไปบริจาคเลือดต้องป้องกันตัวเอง ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่างทางสังคม" นพ.ชวลิตกล่าว
"บริจาคเลือด" อีกหนึ่งความดีที่ทำได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ใครอยากบริจาคเลือดใน กทม. สามารถเช็กข้อมูลหน่วยบริการรับบริจาคเลือดเคลื่อนที่ได้ใน เพจ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย
: ข่าวน่าสนใจ :