เปิดต้นปี 2564 กับการตั้งข้อสังเกตที่ทำให้เกิด "คำถาม" สะพัดไปทั่วโลก ว่า "มหาเศรษฐีพันล้าน" ที่มักปรากฏตัวออกสื่อบ่อยๆ นั้น ในเวลานี้ "เขาหายไปไหน?"
บางคนอาจจะนึกออกแล้วว่า "เขาคนนั้น" คือใคร
ส่วนคนที่ยังนึกไม่ออก... ชื่อของเขาก็คือ "แจ็ค หม่า!"
ซึ่งหนึ่งในการคาดเดาสาเหตุการหายตัวไป... ว่ากันว่าเป็นเพราะมหาเศรษฐีพันล้าน "แจ็ค หม่า" ผู้นี้ ริอ่านงัดข้อกับ "ผู้มีอำนาจ" ของจีน จนเกิด "ข่าวลือ" ว่า "เขาถูกอุ้มหาย!"
เกริ่นมาแค่นี้...ก็พอมองออกแล้วว่า ความสัมพันธ์ระหว่างตัวเขาและ "ผู้มีอำนาจ" ของจีน นับจากนี้คงไม่อาจหวานชื่นได้ดังเดิม เรียกว่า "ปลาหมอตายเพราะปาก" โดยแท้
เรื่องราวเป็นมาอย่างไร... หาคำตอบกับ The Answer
ข้อสังเกตการหายตัวไปของ "แจ็ค หม่า" เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันแรก (1 ม.ค.) ของปี 2564
เมื่อ Financial Times รายงานว่า ตำแหน่ง "ผู้ตัดสิน" ของ "แจ็ค หม่า" ในรายการ Africa’s Business Heroes ตอนสุดท้ายที่ออนแอร์ วันที่ 14 เดือนพฤศจิกายน 2563 กลับเป็นผู้บริหารคนอื่นของ "อาลีบาบา" (Alibaba) มารับหน้าที่แทน รวมถึงหน้าเว็บไซต์รายการก็ถอดภาพของเขาออก ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้น วันที่ 12 ตุลาคม 2563 "แจ็ค หม่า" แสดงออกชัดเจนมากว่า เขาตั้งตารอคอยที่จะพบผู้แข่งขันรอบสุดท้ายมากแค่ไหน
...
จากนั้นผ่านไป 2 วัน ในวันอาทิตย์ที่ 3 มกราคม 2564 หลังสื่อหลายสำนักย้อนไทม์ไลน์ข่าวและเทปรายการก็พบว่า "แจ็ค หม่า" ไม่ปรากฏตัวต่อสาธารณชนเป็นเวลานานกว่า 2 เดือนแล้ว
ต่อมา วันจันทร์ที่ 4 มกราคม 2564 Alibaba ชี้แจงกับ CNN Business ว่า เหตุที่ไม่ได้เข้าร่วมในตอนสุดท้าย เพราะมีตารางงานทับซ้อนกัน
ส่วนคำถามที่ว่า ตอนนี้ "แจ็ค หม่า" อยู่ที่ไหน?
Alibaba ก็ขอปฏิเสธที่จะให้ความคิดเห็นใดๆ...
ซึ่งครั้งสุดท้ายที่ปรากฏตัว คือ งานสัมมนาที่เซี่ยงไฮ้ เมื่อปลายเดือนตุลาคม 2563 และนี่ก็อาจเป็นชนวนเหตุสำคัญที่ทำให้เขาหายไป...
นั่นเพราะ "แจ็ค หม่า" วิจารณ์ "ผู้มีอำนาจ" กำกับระบบการเงิน ว่าไม่มีความเหมาะสมเพียงพอที่จะทำหน้าที่กำกับและควบคุมนวัตกรรมเทคโนโลยีของจีน ด้วยการเปรียบพวกเขาเป็น Old People’ Club หรือ "สมาคมคนแก่!"
การไม่ปรากฏตัวต่อสาธารณชนของ "แจ็ค หม่า" หมายรวมถึงการเคลื่อนไหวบนโซเชียลมีเดียด้วย โดยจากการไล่ย้อนดูแล้ว พบว่า "สงบเงียบ" มาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 จากนั้นไม่กี่สัปดาห์ต่อมา การเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก หรือ "ไอพีโอ" (IPO) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มูลค่า 37,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1 ล้านล้านบาท ของ "แอนท์กรุ๊ป" (Ant Group) บริษัทให้บริการการเงินในเครือ Alibaba ซึ่งเป็นหนึ่งในความฝันของเขาเช่นกัน ก็ถูก "ผู้มีอำนาจ" (กำกับดูแล) ขัดขวาง
สำหรับ Ant Group นั้น มีการระบุในหนังสือชี้ชวนเมื่อปี 2563 ว่า "แจ็ค หม่า" เป็นผู้มีอำนาจสูงสุด และหากการเสนอขาย IPO ครั้งนี้สำเร็จ มูลค่าทรัพย์สินของเขาจะเพิ่มขึ้นเท่าทวี
แต่สุดท้าย...กลับไม่เป็นดั่งฝัน
คงสงสัยใช่ไหมว่า "ครั้งสุดท้ายที่ 'แจ็ค หม่า' ปรากฏตัวต่อสาธารณะ...เขาพูดอะไร?"
"สิ่งที่เราต้องการ คือ สร้างระบบการเงินที่แข็งแกร่ง และต้องไม่สร้างความเสี่ยงให้กับระบบการเงิน แต่การจะสร้างสรรค์สิ่งใหม่โดยที่ไม่มีความเสี่ยงเลยก็เป็นการฆ่านวัตกรรมเช่นกัน ในโลกใบนี้ ไม่มีนวัตกรรมไหนที่ปราศจากความเสี่ยง"
"ระบบการเงินในวันนี้ คือ มรดกของยุคอุตสาหกรรม พวกเราต้องสร้างขึ้นมาใหม่สำหรับรุ่นต่อไปและคนหนุ่มสาว ต้องปฏิรูประบบปัจจุบัน"
จากถ้อยคำด้านบน ประกอบกับการเปรียบเปรย "ผู้มีอำนาจ" ว่าเป็น "สมาคมคนแก่!" ที่กำกับดูแลด้วยชุดความคิดแบบ "โรงรับจำนำ" แถมเยาะเย้ยบรรดาข้าราชการจีนว่า การควบคุมความเสี่ยงแบบที่ทำอยู่นี้มีแต่ทำให้นวัตกรรมเสียหาย ก็สร้างความเดือดดาลให้กับ "ผู้มีอำนาจ" เหล่านั้นไม่น้อย เพราะไม่กี่วันต่อมา "แจ็ค หม่า" และผู้บริหาร Ant Group ก็ถูกหมายเรียก...ว่ากันว่า "สี จิ้นผิง" ประธานาธิบดีจีน ให้อำนาจโดยตรงในการดำเนินการเลยทีเดียว
แล้วหลังจากนั้น อาณาจักร Alibaba ของ "แจ็ค หม่า" เป็นอย่างไร?
...
:: อาณาจักร "อาลีบาบา" ในวันนี้เสี่ยงแค่ไหน?
แน่นอนว่า หลังจากถูกเรียกสอบสวน Ant Group ก็ออกมาระบุว่า บริษัทตระหนักถึงคำแนะนำและการช่วยเหลือจาก "ผู้มีอำนาจ" (กำกับดูแล) ขณะที่ Alibaba ก็ให้คำปฏิญาณเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2563 ว่า บริษัทจะให้ความร่วมมืออย่างแข็งขันในการไต่สวนกฎหมายป้องกันการผูกขาดครั้งนี้
การเปิดไต่สวนกฎหมายป้องกันการผูกขาด ที่มีเป้าหมายหลัก คือ Alibaba ยักษ์ใหญ่อี-คอมเมิร์ซ จากข้อกล่าวหาที่ว่า อาณาจักรอันยิ่งใหญ่นี้มีพฤติการณ์การผูกขาด
และนั่นคือ ผลลัพธ์ที่อาณาจักร Alibaba ได้รับหลัง "พ่อปลาหมอ" เอ๊ย!! "แจ็ค หม่า" ออกมาวิจารณ์กฎระเบียบทางการเงินของฝ่ายบริหาร
ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อวันจันทร์ที่ 4 มกราคม 2564 หลังมีรายงานข่าวการหายตัวไปของ "แจ็ค หม่า" และการเปิดไต่สวนกฎหมายป้องกันการผูกขาด หุ้นของ Alibaba ในตลาดฮ่องกง ก็ร่วงลงถึง 2.15%
แม้เหมือนว่าจะได้รับผลกระทบ แต่ดูๆ แล้วแรงกดดันที่ "แจ็ค หม่า" สร้างไว้ ก็เหมือนไม่ได้กระทบกับ Alibaba มากนัก เพราะหากย้อนไปช่วงเดือนตุลาคม 2563 ที่เขาออกมาวิพากษ์วิจารณ์หนักหน่วง หรือเดือนพฤศจิกายนที่ถูกสกัด IPO ของ Ant Group สถานะหุ้น Alibaba ก็ไม่ได้ต่ำที่สุดในรอบ 52 สัปดาห์ และแม้วันที่ 7 มกราคม 2564 หุ้น Alibaba จะร่วงทันทีหลังคณะบริหารทรัมป์เตรียมเพิ่มรายชื่อบริษัทจีนในบัญชีดำ แต่วันที่ 8 มกราคม ก็กลับมาเป็นบวก มีมูลค่าตลาด 630,410 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 19 ล้านล้านบาท ณ เวลา 23:05 น. (เวลาไทย) ราคาอยู่ที่ 235.05 ดอลลาร์สหรัฐฯ (~7,074 บาท) (+4.05%)
...
ในส่วน Alibaba เองมีความสำคัญอย่างมีนัยต่อจีน เพราะหากจีนมีความฝันว่าจะเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลกและก้าวเป็นผู้ทรงอิทธิพลของโลก Alibaba ก็อาจเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนฝันให้เป็นจริงได้
เราต่างรู้กันอยู่แล้วว่า Alibaba เป็นแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซรายใหญ่ มียอดขายออนไลน์รวมประจำปีมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 30 ล้านล้านบาท และยังเป็นพันธมิตรที่สำคัญกับแบรนด์ดังระดับโลก เช่น Nike และ Starbucks ดังนั้น การโจมตี Alibaba ก็อาจสร้างผลกระทบต่อจีนได้พอสมควร ที่พอจะเห็นภาพตอนนี้ คือ การที่รัฐบาลจีนพยายามระมัดระวังการไต่สวนฯ เพื่อหลบหลีกข้อครหาที่อาจทำให้เป็นผลเชิงลบต่อภาพลักษณ์ เพราะตอนนี้ จีนเองก็เริ่มลำบากจากการที่บริษัทอเมริกันจำนวนมากเตรียมเคลื่อนย้ายไปปักฐานการผลิตที่ประเทศอื่นๆ หลังจากสงครามการค้ายังยืดเยื้อ
เรียกได้ว่า Alibaba เป็นบริษัทที่มีระดับอำนาจในตลาดและได้เปรียบการแข่งขันมากที่สุดในจีน หรือเทียบเท่ากับอเมซอน (Amazon) ในสหรัฐอเมริกา
ในไตรมาสล่าสุด รายได้ Alibaba เติบโตอย่างก้าวกระโดด 30% อยู่ที่ 22,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 689,000 ล้านบาท และรายได้การดำเนินงานก็เพิ่ม 44% อยู่ที่ 4,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 132,000 ล้านบาท ขณะที่ ธุรกิจ Cloud-Computing ก็มีการเติบโต 60% อยู่ที่ 2,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 66,000 ล้านบาท
ก่อนจากกันไป... ขอทิ้งท้ายด้วยเรื่องราวของมหาเศรษฐีพันล้านคนนี้ แม้ไม่รู้ว่าวันนี้เขาจะอยู่ที่ไหนก็ตาม?
...
:: แจ็ค หม่า ครูสอนภาษาอังกฤษ สู่ "มหาเศรษฐีพันล้าน"
"แจ็ค หม่า" เป็นชาวจีนโดยกำเนิด มาจากครอบครัวยากจนในหางโจว เมืองทางตะวันออกของจีน โดยเริ่มต้นชีวิตการทำงานด้วยการเป็น "ครูภาษาอังกฤษ"
อาจพูดได้ว่า เขาคือ คนยุคแรกๆ ที่นำอินเทอร์เน็ตมาใช้ในจีน และเริ่มเปิดบริษัทเกี่ยวกับเทคโนโลยีแห่งแรกในช่วงกลางทศวรรษ 1990
ก่อนที่ปี 2542 "แจ็ค หม่า" จะร่วมก่อตั้ง Alibaba Group แหล่งช็อปปิ้งออนไลน์ ที่ดึงดูดความสนใจตั้งแต่แรกเห็นและได้รับการสนับสนุนจาก Glodman Sachs รวมถึง SoftBank ของญี่ปุ่น จากนั้นก็ค่อยๆ เติบโตจนกลายเป็นยักษ์ใหญ่ที่มีสาขาหลายแห่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ
โดย Alibaba เปิดขายหุ้นแก่สาธารณะครั้งแรกในตลาดนิวยอร์กเมื่อปี 2557 ซึ่งในครั้งนั้น นับได้ว่าเป็น IPO ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ระดมทุนได้ถึง 231,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 7 ล้านล้านบาท
การเติบโตของ Alibaba ส่งผลให้ "แจ็ค หม่า" เป็นหนึ่งในบุคคลที่รวยที่สุดในโลก ด้วยความมั่งคั่งสุทธิประมาณ 50,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 2 ล้านล้านบาท
ก่อนที่ในปี 2562 เขาจะประกาศลาออกจากตำแหน่งประธาน Alibaba แต่หลังจากนั้น เขาก็ยังปรากฏตัวออกสื่อให้เราได้เห็นหน้าค่าตาอยู่เป็นประจำ
และในส่วนของการท้าทาย "ผู้มีอำนาจ" ในจีน แม้จะเป็นมหาเศรษฐีพันล้านหรือนักธุรกิจใหญ่ที่ไหน ก็ไม่อาจห้าวหาญมาสาดถ้อยคำวิจารณ์ได้ง่ายๆ เพราะเรื่องราวคล้ายๆ กันนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว "แจ็ค หม่า" ไม่ใช่รายแรก ถึงแม้สุดท้าย การหายไปของเขาอาจจะพลิกล็อกกลับมาว่า ป่วยหรือแค่อยากเก็บตัวเงียบ...ก็ตาม.
The Answer โดยทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์
ข่าวน่าสนใจ :
- Ant Group IPO อลเวง เมื่อ "แจ็ค หม่า" พูดไม่เข้าหูฝ่ายบริหาร "สี จิ้นผิง"
- โควิด-19 ปฏิวัติโลจิสติกส์ ช้าตกขอบ กรณีศึกษา "ไช่เหนี่ยว"
- "หยวนดิจิทัล" GAME CHANGER ท้าชนยักษ์ใหญ่ ลดอำนาจผูกขาด ดอลลาร์
- 10 อาชีพดาวรุ่ง ดาวร่วง ปี 2021 เผยทักษะงานแห่งอนาคต
- มรดกโควิด-19 ซอมบี้เกลื่อน หนี้ล้น เปลี่ยน "เศรษฐกิจโลก" ตลอดกาล
ข้อมูลอ้างอิง :
- อัตราแลกเปลี่ยน 29.97 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ณ วันที่ 7 มกราคม 2564