ขี้นชื่อว่า “ผัก” สีเขียวๆ คนไม่กินผักคงร้องอี๋ เพราะคิดว่าความเขียวจะทำให้มีรสขมและเหม็นเขียว แต่สำหรับ “คะน้าเม็กซิโก” หรือมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “ผักไชยา” หรือ “ผักชายา” หลายคนคงเคยรับประทานพืชนิดนี้มาแล้ว เพราะนอกจาก ใบกรุบกรอบ ไม่มีรสขม ไม่มีกลิ่นเหม็นเขียว ยังมีรสอร่อยใช้แทนผงชูรส และคุณค่าทางอาหารสูง มีประโยชน์มหาศาลอย่างไร เรามาติดตามเรื่องราวผักบ้านๆ อย่าง “คะน้าเม็กซิโก…ต้นไม้แสนอร่อย” จากนางวสุนธรี เสรีสุชาติ นักโภชนาการชำนาญการพิเศษ สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กันเลยดีกว่าค่ะ

: คุณค่าทางโภชนาการ ผักไชยา สูงกว่าผักใบเขียวอื่นๆ 3 เท่า :

“ผักไชยา” มีชื่อภาษาอังกฤษเรียกว่า “Chaya Spinash” ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cnidoscolus chayamansa McVaugh เป็นผักพื้นถิ่นในประเทศเม็กซิโก แถบรัฐยูกาตัง เป็นพืชในวงศ์เดียวกันกับ มันสำปะหลัง ยางพารา ลักษณะต้นผักไชยา เป็นทรงพุ่ม สูง 3 เมตร ลักษณะของใบเหมือนใบเมเปิ้ล แต่สำหรับคนไทยมองคล้าย “ใบมะละกอ” จึงมีชื่อเรียกผักชนิดนี้อีกว่า “มะละกอกินใบ” ผักไชยา ปลูกง่าย โตเร็ว โดยตัดยอดอ่อนเสียบลงดิน อีกประมาณ 2-3 สัปดาห์กิ่งจะเริ่มแตกใบอ่อน และไม่ค่อยมีแมลงรบกวน

...

คุณค่าทางโภชนาการผักไชยาสูงกว่าผักใบเขียวอื่นๆ 2-3 เท่า และมีโปรตีนสูง ธาตุเหล็กสูง รวมถึงปริมาณแคลเซียมสูงกว่าผักโขมหลายเท่า โดยใบคะน้าเม็กซิโก 100 กรัม จะได้คุณค่าทางโภชนาการ ดังนี้ น้ำ 85.3%, คาร์โบไฮเดรตรวม 4.2%, โปรตีน 5.7%, ไขมัน 0.4%, ใยอาหาร 1.9% และยังมีแร่ธาตุต่างๆ เช่น แคลเซียม 199.4 มก., โพแทสเซียม 217.2 มก., ฟอสฟอรัส 39.0 มก., เหล็ก 11.4 มก. วิตามินซี 164.7 มก. (กินสดๆ) และวิตามินเอ 0.085 มก.

: ผักไชยา ช่วยป้องกัน 4 โรคฮิต คนรักสุขภาพใช้แทนผงชูรส  :

นอกจากนี้ยังมีสาระสำคัญที่พบในคะน้าเม็กซิโก คือ สารกลุ่ม ฟลาโวนอยด์ (flavonoid) และ กรดฟีนอลิก (phenolic acids) สารในกลุ่ม ซาโปนิน (Saponin) และ อัลคาลอยด์แท้จริง ( alkaloids) จากการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาพบว่าคะน้าเม็กซิโกมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ช่วยปกป้องหลอดเลือดและหัวใจ ต้านอนุมูลอิสระ ลดน้ำตาลในเลือด และลดไขมันในเลือด และอีกสรรพคุณโดดเด่นของคะน้าเม็กซิโกที่โดนใจคนรักสุขภาพ และผู้ป่วยโรคไตที่ต้องลดปริมาณโซเดียม ใช้ผักไชยาแทนการใช้ผงชูรส คนไทยจึงเรียกกันอีกชื่อว่า “ต้นผงชูรส” เพราะในต้นและใบไชยา มีลักษณะรสหวานธรรมชาติคล้ายดั่งการปรุงอาหารที่ใส่ผงชูรสเพื่อให้อาหารมีรสกลมกล่อม

: ด้านมืดผักไชยา ใช้ผิดวิธี เสี่ยงได้โทษ :

ส่วนที่นิยมนำมารับประทานคือ “ใบ” และ “ยอดอ่อน” ซึ่งมีรสชาติคล้ายกับคะน้า ไม่มีรสขม ไม่เหม็นเขียว สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายเมนูเช่นเดียวกับผักคะน้าหรือผักทั่วๆ ไป เช่น ใส่ในน้ำซุปต่างๆ แกงส้ม ผัดน้ำมันหอย ลวกจิ้มกับน้ำพริกต่างๆ ต้มจืดหมูผักไชยา ผัดกับไข่ หรือเนื้อสัตว์ต่างๆ

...

จากข้อมูลประโยชน์ของผักไชยาที่มีคุณค่ามหาศาล เชื่อได้ว่าหลายคนคงอยากหามาปลูกและมาปรุงลิ้มลองรสชาติ แต่มีข้อระวังในการนำมารับประทาน คือ ห้ามรับประทานแบบสดๆ เพราะใบและยอดมีสารพิษกลุ่มไฮโดรไซยานิก ไกลโคไซด์ (hydrocyanic glycosides) ทำให้ระบบทางเดินอาหารระคายเคืองได้ ดังนั้นการจะนำผักไชยามารับประทานต้องปรุงผ่านความร้อน 15-20 นาที เพื่อสารพิษดังกล่าวถูกทำลายสลายหายไป และผู้ที่ผิวแพ้ง่ายต้องระวังยางของต้นสัมผัสผิวอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองได้ด้วยเช่นกัน

ประโยชน์มากมายขนาดนี้ ใครที่ยังไม่เคยลิ้มลองแนะนำว่าช่วงโควิดที่ต้องช่วยกันหยุดเชื้อเพื่อชาติ ให้คุณลองหามาปลูกไว้ที่บ้านสักพุ่มสองพุ่ม หรือสั่งซื้อออนไลน์ รับรองว่าได้รับประทานอาหารจานอร่อยรสนัวๆ โดยไม่ต้องง้อผงชูรส แถมยังสุขภาพดีอีกด้วย

: ข่าวน่าสนใจ :

...