หลายๆ ประเทศทยอยฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 สำหรับประเทศไทยจากที่เคยกำหนดไว้จะมีการฉีดวัคซีนโควิดกลางปี 64 ล่าสุดมีข่าวดีต้อนรับปีใหม่ ในปลายเดือน ก.พ. 64 นี้ จะได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 2 แสนโดสมาฉีด ปลายเดือนมีนาคม อีก 8 แสนโดส และปลายเดือนเมษายน อีก 1 ล้านโดส รวมทั้งหมดเป็น 2 ล้านโดส จากบริษัทซิโนแวค ไบโอเทค (Sinovac Biotech) ประเทศจีน ด้วยงบประมาณการซื้อของรัฐ

แผนการฉีดวัคซีนโควิด 19 ครั้งแรกในไทยล่าสุดกำหนดเป็น 3 ระยะจะเริ่มฉีดในจังหวัดใดบ้าง ,หลังฉีดตัวชี้วัดประสิทธิภาพของวัคซีนพิจารณาจากอะไร เราไปฟังคำตอบจาก นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และรองประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดหาวัคซีนโควิด-19 เพื่อคนไทย

: เผยรายชื่อ 5 จังหวัดนำร่องฉีดวัคซีนโควิดครั้งแรกในไทยปลายเดือน ก.พ :

วัคซีนป้องกันโควิด-19 ลอตแรกของไทยที่จะได้รับในปลายเดือน ก.พ. 64 นั้น นพ.ศุภกิจ เปิดเผยข้อมูลกับทีมข่าวฯ ว่า การดำเนินการวัคซีนโควิด 19 ครั้งแรกในไทย คณะกรรมการวิชาการเห็นชอบให้ดำเนินการเป็น 3 ระยะ ดังนี้

...

1. ระยะแรก ก.พ.-เม.ย. 64 จำนวน 2 ล้านโดส โดยแบ่งเป็นเดือนกุมภาพันธ์ 2 แสนโดส มีนาคม 8 แสนโดส และเมษายน 1 ล้านโดส โดยฉีด ในพื้นที่การระบาดมากที่สุดก่อนคือ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 5 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร ระยอง ชลบุรี จันทบุรี และตราด  

ฉีดวัคซีนโควิดคนละ 2 เข็ม ห่างกันประมาณ 4 สัปดาห์ โดยฉีดปริมาณ 1 CC -2 CC ต่อครั้งในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า ทั้งภาครัฐและเอกชน , อสม. 8 หมื่นคน, เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรค 2 หมื่นคน และบุคคลทั่วไปที่มีโรคประจำตัวเสี่ยงต่อการเสียชีวิต เช่น โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็ง เบาหวาน และกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป รวม 9 แสนคน หากมีส่วนที่เหลือจะเก็บสำรองไว้กรณีเกิดการระบาดรุนแรงในชุมชนเพื่อยับยั้งการระบาดของโรค เพื่อลดการป่วยที่มีอาการรุนแรงและผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด 19

2) ระยะที่ 2 พ.ค. - มิ.ย.  64 จำนวน 26 ล้านโดส ฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยงทั่วประเทศ 

3) ระยะที่ 3 ช่วงปลายปี 64 ถึงต้นปี 65 จะฉีดให้ประชาชนทั่วไปให้ครอบคลุมมากที่สุด ให้เกิดภูมิคุ้นกันในชุมชน เพื่อตัดวงจรการระบาดของโรค โดยองค์การเภสัชกรรมจะเป็นผู้นำเข้าและขนส่งกระจายไปยังโรงพยาบาลในสังกัดทุกระดับ โรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อให้เข้าถึงประชาชนอย่างครอบคลุม โดยจะเริ่มลงทะเบียนตรวจสอบกลุ่มเสี่ยงที่จะฉีดวัคซีนปลายเดือนมกราคมถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ จัดระบบและซักซ้อมความเข้าใจในการฉีดวัคซีน การขนส่ง การเก็บรักษา และการเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์หลังได้รับวัคซีน

: เปิดขั้นตอนกระบวนการนำวัคซีนโควิด 19 มาใช้ปลายเดือน ก.พ.  :

สำหรับวัคซีนโควิดที่ไทยจะได้รับปลายเดือน ก.พ. จากประเทศจีน เกิดจากการเจรจาร่วมมือกันระหว่างไทยกับจีน โดยองค์การเภสัชกรรมนำเข้ามา แม้วัคซีนกำลังจะประกาศการทดลองเฟส 3 กลางเดือน ม.ค. แต่จากข้อมูลทางเอกสารวัคซีนระบุมีประสิทธิผลมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ หากมาฉีดกับคนไทยคงได้ผลในระดับเดียวกัน

สำหรับวันที่จะฉีดวัคซีน เป็นในวันที่เท่าไรของเดือน ก.พ. ขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้ เพราะ กระบวนการนำวัคซีนโควิด 19 มาใช้ มีหลายขั้นตอน ดังนี้

1. การนำเข้าวัคซีน
2. การขึ้นทะเบียน
3. การตรวจสอบคุณภาพ
4. การขนส่ง
5. การเก็บรักษา
6. แนวทางการฉีดให้ประชากร
7. การเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์และประสิทธิภาพของวัคซีนภายหลังการฉีด เนื่องจากวัคซีนจากบริษัทซิโนแวค ไบโอเทค ที่จะนำมาฉีดนั้น เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย (inactivated vaccine) ซึ่งเป็นการนำเชื้อโรคที่ตายแล้วหรืออ่อนฤทธิ์ฉีดเข้าร่างกาย อาจเกิดผลข้างเคียง 

...

ความปลอดภัยของวัคซีนโควิดในการทดลองฉีดในปลายเดือน ก.พ. ให้คนไทยฟรีโดยรัฐ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ เปิดเผยข้อมูลว่า อาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น ไข้ เจ็บ ปวดบวม จนกระทั่งผลขั้นร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีระบบติดตามตรวจสอบตามหลักสากล (AEFI)

ทั้งนี้เหตุผลที่ต้องฉีดวัคซีนโควิด 2 โดสต่อคน เนื่องจากการฉีดวัคซีนโควิดเข็มแรก เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขี้นมา 60-70 เปอร์เซ็นต์ หลังจากนั้นอีก 4 สัปดาห์ จึงฉีดวัคซีนโควิดเข็มสองเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้สูงเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์

ผลหลังฉีดวัคซีนโควิดจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการปวด ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อน้อยลง 70 เปอร์เซ็นต์ เมื่อฉีดวัคซีนแล้วจะครอบคลุมกี่ปี ณ ตอนนี้ยังบอกไม่ได้ และยังเป็นข้อจำกัด เพราะแม้วัคซีนของจีนที่ได้รับมาขึ้นทะเบียนตั้งแต่ ก.ค.-ส.ค. 2563 ยังไม่มีผลเฟส 3 อย่างเป็นทางการออกมา และวัคซีนโควิด-19 ที่มีอยู่ในปัจจุบันทุกชนิดยังไม่สิ้นสุดการทดลอง ก็ยังต้องมีการเก็บข้อมูลต่อเนื่อง เพื่อดูประสิทธิผลของวัคซีนหลังฉีดสามเดือน ต้องติดตามต่อไป

...

“วัคซีนโควิด คือมาตรการเสริม อย่างไรคนไทยก็ยังคงต้องเคร่งครัดในการป้องกันตัวเองไปอีกจนกว่าจะมีวัคซีนครอบคลุมคนไทย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของประชากร หรือประมาณ 70 ล้านโดส เพราะฉะนั้นการ์ดอย่าตก ใส่หน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง” นพ.ศุภกิจ กล่าว.

: ข่าวน่าสนใจ :