- เทียบตัวเลขพิสูจน์ ไทยไม่ได้แย่สุดในอาเซียน แต่ตอนนี้คาดการณ์ GDP อยู่ที่ -7.3% ถึง -7.8% หนักกว่าใครเพื่อน
- เวียดนาม ยังคงเศรษฐกิจดีที่สุดในบรรดาเพื่อนบ้าน ตัวเลขคาดการณ์ GDP ยังคงเป็นบวก
- เงินบาทแข็ง ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องจับตาในปี 2564 เพราะกระทบหลายส่วน ที่น่ากังวลคือ การฟื้นฟูการส่งออก
เดินทางมาถึงสัปดาห์สุดท้ายของปี 2563 กันแล้ว ตลอดปีที่ผ่านมา เรียกว่ามีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นมากมาย ทั้งเรื่องดี เรื่องร้าย แต่ที่เผชิญเหมือนๆ กันทั้งโลก ก็คงหนีไม่พ้น "วิกฤติโควิด-19" ที่บอบช้ำกันถ้วนหน้า นับตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงปลายปี สถานการณ์ก็ยังไม่คลี่คลาย เกิดการระบาดระลอกใหม่ บางประเทศเป็นคลื่นลูกที่ 3 แล้ว ส่วนประเทศไทยเองก็เจอคลื่นลูกที่ 2 รุนแรงกว่าคลื่นลูกแรกมาก เพราะเป็นแบบ "คลัสเตอร์!!"
ซึ่งพอเห็นตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่แต่ละวันๆ แล้ว ก็ตึงเครียดไม่น้อย เพราะนั่นหมายความว่า อนาคตการเปิดประเทศย่อมเป็นไปได้ยาก อย่างญี่ปุ่นที่ออกมาประกาศสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา งดรับเที่ยวบินต่างชาติทุกประเทศจนกว่าสถานการณ์โควิด-19 จะดีขึ้น และแม้ไทยไม่ได้ปิดจนถึงขนาดนั้น แต่ก็ไม่ได้สบายใจเท่าไร เพราะถึงไม่ปิด แต่เที่ยวบินระหว่างประเทศเพื่อการท่องเที่ยวก็ยังเปิดไม่ได้อยู่ดี แถมพอมีข่าวการติดเชื้อภายในประเทศเพิ่มเข้ามา คนก็กล้าๆ กลัวๆ ที่จะออกไปเที่ยวกันอีก พอจบวิกฤตินี้... ภาคการท่องเที่ยวที่เป็นรายเล็ก รายน้อย ไปจนถึงกลางๆ อาจต้องจากลา...
ย้อนกลับไปช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ผู้เขียนนึกถึงคำพูดหนึ่งของ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่กล่าวปาฐกถาภายในงาน SHARING OUR COMMON FUTURE ร่วมแรง เปลี่ยนแปลง แบ่งปัน ในหัวข้อ "ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจไทยปี 2564" ไว้ว่า...
...
"รายงานล่าสุดของ IMF มีการปรับการพยากรณ์การถดถอยทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 ของประเทศไทยให้ดีขึ้น ซึ่งเป็นประเทศเดียวในอาเซียน ที่เหลือปรับลดลงหมดเลย... ถ้าเป็นไปตามทิศทางที่กล่าวมา เชื่อว่าน่าจะอยู่ในเกณฑ์ที่เรียกว่า ดีและดีกว่าในอาเซียน... หากยังจำกันได้ หลายคน นักเศรษฐศาสตร์หลายท่าน เคยบอกว่า ประเทศไทยจะมีการเติบโตน้อยที่สุดในอาเซียน วันนี้ผมคิดว่าไม่ใช่ ถึงสิ้นปีเดี๋ยวเรารอดูกัน"
ผู้เขียนขอเน้นประโยคเด็ดอันน่าสนใจที่ว่า "ประเทศไทยจะมีการเติบโตน้อยที่สุดในอาเซียน วันนี้ผมคิดว่าไม่ใช่..." หากสรุปง่ายๆ ความหมายก็คือว่า "ไทยไม่ได้แย่ที่สุดในอาเซียน (แน่นอน ฟันธง!!)"
แถมท่านยังบอกอีกว่า "ถึงสิ้นปีเดี๋ยวเรารอดูกัน"
เมื่อท่านบอกมาแบบนี้ ผู้เขียนก็เลยคิดอยากเปิดย้อนดูสถิติตัวเลขกันหน่อยว่า ตลอดปี 2563 นี้ (1 ม.ค.-27 ธ.ค.) ไทยไม่ได้แย่ที่สุดในอาเซียนอย่างที่คนเขาสบประมาท และตรงตามที่ท่านรองนายกฯ บอกไว้ไหม...
:: เช็กตัวเลขท้ายปี 2563 พิสูจน์...ไทยไม่ได้แย่สุดในอาเซียน
ก่อนอื่นเรามาดูเทรนด์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศแท้จริง หรือ Real GDP ที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF เก็บรวบรวมตั้งแต่ปี 2523-2563 สักหน่อย
หากสังเกตดีๆ จะเห็นได้ว่า ปี 2563 ประเทศไทยที่เป็นเส้นสีเขียวเข้มนั้น ปลายแหลมพุ่งลงมาล่างสุดของบรรดาเส้นประเทศอื่นๆ ในอาเซียนทั้งหมด อยู่ที่ -7.1% โดยมีเพื่อนบ้านตามมาติดๆ 2 ประเทศ คือ มาเลเซียและสิงคโปร์ ที่ต่าง -6% เท่ากัน และแม้จะมีบางประเทศที่พ้นเส้นติดลบ เช่น เวียดนาม (1.6%) เมียนมา (2%) ลาว (0.2%) บรูไน (0.1%) แต่ทั้งหมดล้วนปลายแหลมพุ่งลงดิ่งทั้งสิ้น
ซึ่งหากมองแค่นี้... ก็อาจแย้งคำพูดข้างบนได้ว่า "นี่ไง...ไทยแย่ที่สุดในอาเซียน!!"
แต่...เราจะไม่รีบด่วนสรุปขนาดนั้น
จากกราฟข้างบน เราก็พอจะคัดเลือก "ผู้ท้าชิง" ประเทศที่เศรษฐกิจแย่ที่สุดในอาเซียน ปี 2563 แข่งกับไทยได้ด้วยกัน 2 ประเทศ นั่นคือ "มาเลเซียและสิงคโปร์" ส่วนเวียดนามนั้น...แม้จะเป็นคู่แข่งกันในทุกๆ เรื่อง (ปีนี้ถูกจับเทียบกันบ่อยมาก) แต่สำหรับตำแหน่งนี้คงต้องตัดรายชื่อทิ้งไปได้เลย เพราะถึง GDP ไตรมาส 3 เราจะดีขึ้นจากไตรมาส 2 คือ จาก 12.1% ซึ่งหนักที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2541 ช่วงวิกฤติการเงินเอเชีย (-12.5%) มาเป็น 6.4% แต่เขากลับเติบโตขึ้น 2.6% ยังยากที่จะไล่ตามในเวลานี้...
...
แต่ก่อนจะไปเทียบกับ 2 ประเทศนั้น เรามาเช็กตัวเลขของประเทศไทยกันก่อน ซึ่งจากภาพรวม GDP ไตรมาส 3 ที่ดีขึ้น แน่นอนว่า ในส่วนอื่นๆ ก็ย่อมดีขึ้นตาม เริ่มตั้งแต่การจับจ่ายการบริโภคภาคเอกชนที่ลดลง 0.6% ดีขึ้นจากไตรมาส 2 ที่ลดลง 6.8% ขณะที่ กิจกรรมการบริการที่พักและอาหาร หลังไตรมาส 2 หดตัว 50.2% พอมาไตรมาส 3 มีการหดตัวลดลง อยู่ที่ 39.6%
และเมื่อในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ทั่วโลกมีสัญญาณการฟื้นตัว ก็ทำให้การส่งออกสินค้าเริ่มกลับมาอีกครั้ง โดยไตรมาส 3 ลดลงเพียง 7.7% ดีกว่าไตรมาส 2 ที่หดตัวถึง 15.9% สวนทางกับการส่งออกภาคบริการที่หดตัวอย่างหนัก 73.3% มากกว่าไตรมาส 2 ที่หดตัว 68%
อย่างไรก็แล้วแต่...ก็ยังพอพยากรณ์เศรษฐกิจไทยได้ว่า ทั้งปี 2563 อาจหดตัว 6.0% จากที่เคยคาดการณ์ว่า อาจหดตัวมากถึง 7.3-7.8% และมองว่า ปี 2564 จะกลับมาเติบโตอีกครั้งได้ 3.5-4.5%
ทีนี้...ตัวเลขมาเลเซียกับสิงคโปร์เป็นอย่างไร?
เริ่มกันที่ "มาเลเซีย"
จากการหดตัวอย่างหนัก 17.1% ในไตรมาส 2 ปี 2563 (Q1: -16.4%) พอมาถึงไตรมาส 3 แม้จะยังติดลบอยู่ แต่ก็ดีขึ้นกว่าเดิมมาก พยุงขึ้นมาอยู่ 2.7% โดยปัจจัยหลักที่ทำให้ไตรมาส 3 ของมาเลเซียฟื้นกลับมา คือ ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ที่เติบโตขึ้น 3.3% เทียบกับไตรมาสที่แล้ว 18.3% ในส่วนการส่งออกสินค้ายังคงหดตัว 4.7% แต่ก็ถือว่าดีขึ้นจากไตรมาส 2 มากๆ เพราะตอนนั้นหดตัวถึง 21.7% ทีเดียว
...
ในภาพรวมไตรมาส 3 ของมาเลเซีย ถือว่าดีขึ้นมาก ไม่ได้หนักหนาเท่าไตรมาส 2 ที่ติดลบเลข 2 หลักเกือบทุกอย่าง เหลือเพียงภาคการก่อสร้างที่ยังติดลบเลข 2 หลักอยู่ คือ 12.4% จากไตรมาส 2 หดตัว 44.5% นั่นทำให้ทั้งปี 2563 มีการประมาณการ GDP ไว้ว่าน่าจะอยู่ที่ 4.5-3.5%
ทั้งนี้ สำหรับเศรษฐกิจมาเลเซียนั้นมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไตรมาส 3 ปีที่แล้วขยายตัว 4.4% โดยมีการคาดการณ์ว่า ในปี 2564 จะกลับมาโต 6.5-7.5% เลยทีเดียว
ต่อกันที่ "สิงคโปร์"
ไตรมาส 3 หดตัว 7% ดีขึ้นจากไตรมาส 2 ที่หดตัวถึง 13.3% ในส่วนอื่นๆ อย่างภาคบริการลดลง 8% จากปีก่อนหน้า ภาคอุตสาหกรรมการผลิตเพิ่มขึ้น 2% และภาคการก่อสร้างลดลง 44.7% ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า GDP ทั้งปี 2563 อาจหดตัว 5-7% จากปี 2562
นี่เป็นตัวเลขคร่าวๆ ที่ยังเหลือไตรมาส 4 อีกที่ต้องลุ้น ซึ่งเท่าที่ดูตัวเลขเบื้องต้นนี้ ไทยกับสิงคโปร์นั้นเป็นคู่แข่งที่สูสี แต่หากเทียบสถานการณ์ปลายปีนี้ ที่ไทยพบคลัสเตอร์สมุทรสาครขนาดใหญ่ ขณะที่ สิงคโปร์มีข่าวเริ่มฉีดวัคซีน ก็มีแววว่า... เศรษฐกิจไทยอาจจะและแย่ที่สุดในอาเซียนก็เป็นได้ (หรือคุณผู้อ่านคิดอย่างไร?)
...
:: ย้อนภาพ... "เศรษฐกิจ" ที่ต้องตามต่อในปีหน้า
ในปี 2564 มีหลายเรื่องที่เราต้องติดตาม บางอย่างเป็นประเด็นร้อนอยู่แล้ว และบางอย่างเป็นเรื่องใหม่ หากเราพลาดหรือชักช้า ...อาจตกขบวนได้
1. การถูกจับตา "บิดเบือนค่าเงิน"
หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ไทยต้องถูกจับไปอยู่ในรายชื่อต้องจับตาบิดเบือนค่าเงิน ก็คือ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างรุนแรง จนส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์สหรัฐ อยู่ที่ระดับ 30 บาท และเมื่อ 17 ธันวาคม ก็ร่วงลงต่ำกว่า 30 บาท เป็นครั้งแรกในปีนี้ ที่น่ากังวลในเรื่องนี้ คือ อาจเสี่ยงต่อการฟื้นฟูการส่งออก ดังนั้น ปีหน้าหากไม่แก้ไขเรื่องค่าเงิน อาจส่งผลกระทบหนักได้
2. สนามเงินดิจิทัล
ปี 2563 นี้ เราได้เห็นการผลักดันการเป็นสังคมไร้เงินสดอย่างเต็มกำลัง ซึ่งก็ถือว่าได้ผลดีมากทีเดียว และภาพที่เห็นไกลกว่านั้นคือ จีนกำลังผลักดันการใช้หยวนดิจิทัลในการเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนการค้า ในมุมไทยเองก็เคยมีแว่วอนาคตมาให้เห็นในเรื่องของ "บาทดิจิทัล" เช่นกัน
3. บริษัทซอมบี้ล้นตลาด
ภาพที่เกิดขึ้นในประเทศไทยตอนนี้ คือ บริษัทซอมบี้ ที่จำนวนมีแต่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น ก่อนที่จะไปถึงไตรมาส 2 ปีหน้า ต้องเร่งเข้ามาปรับโครงสร้างหนี้ หากรายได้ไปไม่ไหวก็ต้องยอมปล่อยให้ออกจากตลาด เพราะถ้าขืนปล่อยไว้จะเป็นการตัดโอกาสในการสร้างงานให้กับคนที่มีศักยภาพได้ โดยคาดว่า ปี 2563 จะมีสัดส่วนบริษัทซอมบี้ถึง 11%
4. ลุยตลาดรถยนต์ไฟฟ้า
เทรนด์ EV ปี 2564 ที่มาแรง คือ ภาคการขนส่งสาธารณะและการเป็น Sharing Economy ซึ่งในส่วนรถยนต์ไฟฟ้าบนท้องถนนไทยยังถือว่าน้อยมาก หนึ่งในเหตุผลคือ ราคาและสถานีชาร์จ ที่จริงๆ แล้วมีการกระตุ้นต่อเนื่อง แต่มันยังไม่พอ และการจีบให้เทสล่ามาลงหลักปักฐานการผลิตในไทยก็น่าลุ้น แม้ว่าช่วงหลังจะเงียบๆ ไปแล้วก็ตาม อย่างไรก็แล้วแต่ในปีหน้าหวังว่าจะมีการผลักดันรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นกว่านี้ เพราะมลพิษทางอากาศเริ่มเยอะมากขึ้นทุกที โดยเฉพาะ PM 2.5
5. การแข่งขันตลาดเสรี
หลังจากผ่านก้าวแรกข้อตกลง RCEP ไปแล้ว ก็รอเพียงแต่การอนุมัติใช้ร่วมกัน แต่ในส่วนนี้ที่น่าติดตาม คือ การค้าเสรี ที่หากใครมัวชักช้าไม่ปรับตัวให้ทันประเทศอื่นแล้ว อาจต้องเสียตลาดให้ประเทศเหล่านี้ไปได้ คำย้ำเตือนจาก 2 นักเศรษฐศาสตร์ไทย คือ การแข่งขันจะรุนแรงขึ้นแน่ หากใครยังทำเหมือนเดิม อาจต้องหายไปจากตลาด ง่ายๆ ว่า “เจ๊ง!!" และที่น่าจับตาอีกอย่างคือ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ จะมีแผนต่อข้อตกลงการค้าเสรีอย่างไร โดยเฉพาะ CPTPP หรือ TPP เดิม ที่ไทยเองก็โดนประชาชนในประเทศต่อต้านไม่หนัก
สุดท้าย ใกล้ถึงช่วงเวลาฉลอง ปีใหม่ 2564 แล้ว ก็ขอให้ทุกท่านระมัดระวังตนเอง สุขสันต์ไร้โรคภัย ปีหน้ากลับมาเริ่มใหม่ ปรับตัวให้ทันโลก รวมถึงท่านๆ ฟากรัฐบาลบางอย่างอย่ามัวรีรอ ทำได้ทำเลย เพราะปีหน้าความรุนแรงของการแข่งขันหนักกว่าปี 2563 เป็แน่แท้.
ผู้เขียน : เหมือนพระอาทิตย์
กราฟิก : sathit chuephanngam
ข่าวน่าสนใจ:
- ทำความรู้จัก "เมียนมา" ทิศทางเศรษฐกิจหลังโควิด-19 จับตาเมกะโปรเจกต์
- "ยักษ์ธุรกิจช่วยตัวเล็ก" กลยุทธ์ฟื้นเศรษฐกิจ ทางรอดปี 2564
- CPTPP กับการเปลี่ยนผ่าน 3 ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย
- "อาเซียน" โรงละครแห่งความขัดแย้ง ไม่จำเป็นต้องเลือกข้าง "สหรัฐฯ vs จีน"
- เมื่อ "เวียดนาม" ผู้ชนะสงครามการค้า ตกเป็นผู้ต้องสงสัย ถูกสหรัฐฯ ตั้งข้อหา