ในตอนแรก คือ 5 เรื่องใหญ่ในวงการวิทยาศาสตร์ ที่ ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล กูรูวงการวิทยาศาสตร์ไทย ได้เล็งเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ ส่วนอีก 5 เรื่องใหญ่จะมีอะไรบ้างนั้น สามารถอ่านได้เลย...
6. ยาน “เทียนเวิ่น-1” สำรวจดาวอังคารครั้งแรกของจีน
วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ยานอวกาศเทียนเวิ่น-1 (Tianwen-1) ขององค์การอวกาศแห่งชาติจีน หรือ ซีเอ็นเอสเอ (CNSA :China National Space Agency) เดินทางขึ้นจากโลก มุ่งหน้าสู่ดาวอังคารและมีกำหนดจะถึงดาวอังคารในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564
เมื่อถึงดาวอังคาร ยานเทียนเวิ่น-1 จะแบ่งสามส่วน ส่วนหนึ่งเป็นยานโคจร (Orbiter) ที่จะโคจรสำรวจดาวอังคารอยู่ในอวกาศรอบดาวอังคาร ส่วนที่สองและส่วนที่สามประกอบด้วยยานลงจอด (Lander) และรถโรเวอร์ลงสู่พื้นผิวดาวอังคารด้วยกัน หลังจากที่ลงสู่พื้นผิวดาวอังคารอย่างปลอดภัย ประมาณ 3 เดือน หลังจากนั้น รถโรเวอร์ก็จะเริ่มออกเดินทางสำรวจสภาพพื้นผิวดาวอังคารโดยรอบที่ลงจอด
...
ชื่อของโครงการเทียนเวิ่น เป็นภาษาจีน แปลว่า “คำถามสู่สรวงสวรรค์” วัตถุประสงค์ของโครงการ คือ สำรวจดาวอังคารจากอวกาศและสำรวจพื้นผิวดาวอังคารโดยรถโรเวอร์เพื่อค้นหาหลักฐานเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคาร ทำแผนที่พื้นผิวดาวอังคาร ศึกษาส่วนประกอบของดินบนดาวอังคาร ค้นหาหลักฐานและปริมาณของน้ำบนดาวอังคาร และสำรวจบรรยากาศดาวอังคาร
นอกเหนือไปจากวัตถุประสงค์ดังกล่าว โครงการเทียนเวิ่น-1 ยังมีภารกิจเป็นการทดสอบเทคโนโลยี สำหรับการสำรวจศึกษาดาวอังคารในอนาคต รวมทั้งการเก็บตัวอย่างดิน หิน บนดาวอังคาร เพื่อนำกลับมาศึกษายังโลกโดยโครงการของจีนในอนาคต
ถ้าโครงการเทียนเวิ่น-1 ประสบความสำเร็จ จีนก็จะเป็นประเทศที่สอง ถัดจากสหรัฐอเมริกา ที่สามารถส่งยานไปลงจอดบนดาวอังคารได้สำเร็จ
7. กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ ตามล่าหาเสียงจากดาวดวงแรกๆ
เดือนตุลาคม พ.ศ. 2564 กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ (JAMES WEBB SPACE TELESCOPE) ของนาซา มีกำหนดจะถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเพื่อสำรวจจักรวาลย้อนหลังไปไกลถึงระยะแรกๆ ของการก่อกำเนิดดวงดาวและกาแล็กซี
กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล เริ่มต้นด้วยการเป็นกล้องโทรทรรศน์ชนิดแสง แต่มาเพิ่มส่วนเป็นกล้องโทรทรรศน์รังสีอินฟราเรดในภายหลัง สำหรับกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ ก็จะมีทั้งส่วนเป็นกล้องชนิดแสง แต่เน้นส่วนเป็นกล้องชนิดรังสีอินฟราเรดมากเป็นพิเศษ
วัตถุประสงค์หลักสำคัญ 4 ข้อของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ คือ (1) ค้นหาแสงจากดาวฤกษ์ดวงแรกๆ และกาแล็กซีแรกๆ ในจักรวาลหลังบิ๊กแบง (2) ศึกษาการก่อกำเนิดและวิวัฒนาการของกาแล็กซี่ในจักรวาล (3) ศึกษาการก่อกำเนิดของดาวฤกษ์และดาวเคราะห์บริวาร และ (4) ศึกษาระบบดาวเคราะห์และกำเนิดของชีวิตในจักรวาล
กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ จะถูกส่งไปประจำที่ตำแหน่งพิเศษเรียก จุดลากรานจ์ 2 (L2 : SECOND LAGRANGE POINT) อยู่ห่างจากโลก 1,500,000 กิโลเมตรในแนวเส้นตรงระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ ซึ่งแรงดึงดูดโน้มถ่วงของดวงอาทิตย์กับของโลกสมดุลกัน
ชื่อของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ มาจากชื่อของ JAME WEBB อดีตผู้บริหารนาซาและเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ) ในการนำมนุษย์ไปสู่ดวงจันทร์ได้สำเร็จกับโครงการอะพอลโล
8. รางวัลเบรกทรู รางวัลใหม่วิทยาศาสตร์ให้มากกว่ารางวัลโนเบล
"รางวัลเบรกทรู" (BREAKTHROUGH PRIZE) เป็นรางวัลใหม่ทางด้านวิทยาศาสตร์ เมื่อเทียบกับรางวัลโนเบลที่มีอายุมากกว่า 100 ปี เพราะรางวัลเบรกทรูมอบรางวัลครั้งแรกเมื่อ 8 ปีก่อน คือ พ.ศ. 2555 แต่กำลังได้รับการกล่าวถึงเป็น "รางวัลโนเบลแห่งศตวรรษที่ 21" และ "รางวัลออสการ์ทางด้านวิทยาศาสตร์"
รางวัลเบรกทรู ตั้งขึ้นมาโดยนักวิทยาศาสตร์และนักธุรกิจอิสราเอล-รัสเซีย ยูริ มิลเนอร์ (URI MILNER) สมทบด้วย มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (FACEBOOK), แจ็ก หม่า (อาลีบาบา) และคนอื่นๆ เป็นรางวัลเปิด สำหรับนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกใน 3 ด้าน คือ คณิตศาสตร์, ฟิสิกส์ และวิทยาศาสตร์ชีวภาพ
...
ความแตกต่างไปจากรางวัลโนเบล คือ รางวัลโนเบลเน้นผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติ แต่รางวัลเบรกทรูเน้นผลงานการบุกเบิกที่เป็นวิทยาศาสตร์พื้นฐาน
รางวัลเบรกทรูถึงวันนี้ นับเป็นรางวัลส่วนที่เป็นเงินรางวัลสูงกว่ารางวัลโนเบล และสูงกว่ารางวัลทางด้านวิทยาศาสตร์อื่นๆ ทั้งหมดในโลก คือ รางวัลละ 3 ล้านดอลลาร์ เปรียบเทียบกับรางวัลโนเบลล่าสุด ที่เพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านโครนสวีเดน (ประมาณ 1,180,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ)
รางวัลเบรกทรูใหญ่จะเป็นรางวัลทางด้านวิทยาศาสตร์ 1 รางวัล ด้านฟิสิกส์ 1 รางวัล และด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ 4 รางวัล โดยมีรางวัลสำหรับนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ และล่าสุด มีรางวัลใหม่สำหรับนักคณิตศาสตร์หญิงรุ่นใหม่ ชื่อ MARYAM MIZAKHANI NEW FRONTIER PRIZE (รางวัลพรมแดนใหม่มาเรียม มีร์ซาคานี) ตั้งตามชื่อนักคณิตศาสตร์อัจฉริยะหญิงชาวอิหร่าน ผู้ถึงแก่กรรมด้วยวัยเพียง 40 ปี และเริ่มประกาศชื่อผู้ได้รับรางวัลใหม่นี้เป็นครั้งแรกสำหรับปี พ.ศ. 2564
รางวัลประจำปี พ.ศ. 2564 ได้ประกาศไปแล้วเมื่อเดือนกันยายน 2563 แต่พิธีมอบรางวัลถูกเลื่อนจากปี พ.ศ. 2563 ไปเป็น 2564 เนื่องจากโควิด-19
9. นาฬิกาวันสิ้นโลก
จับตานาฬิกาวันสิ้นโลก (DOOMSDAY CLOCK) ปี พ.ศ. 2564 หลังจากที่นาฬิกาวันสิ้นโลกตั้งใหม่ล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2563 ปรับเวลาเข้าใกล้เที่ยงคืนมากที่สุด ที่ 100 วินาทีก่อนเที่ยงคืน ตั้งแต่มีการตั้งเวลาวันสิ้นโลกครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2490 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยกลุ่มคน 2 นักวิทยาศาสตร์อะตอม ที่ร่วมกันก่อตั้งจดหมายข่าวนักวิทยาศาสตร์อะตอม (BULLETIN OF THE ATOMIC SCIENTISTS)
สถานการณ์สำหรับการตั้งนาฬิกาวันสิ้นโลกแต่เริ่มต้น เน้นการเตือนถึงวิบัติภัยใหญ่ระดับวันสิ้นโลก จากปัจจัยเหตุเพียงอย่างเดียวเป็นหลัก คือ ภัยจากอาวุธนิวเคลียร์ ต่อมาจนถึงปัจจุบัน ได้เพิ่มภัยพิบัติใหญ่คุกคามโลกอีก 2 ประเภท คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือโลกร้อน และเทคโนโลยีใหม่มีผลกระทบร้ายแรงต่อมนุษย์และสังคม หรือ DISRUPTIVE TECHNOLOGY ดังเช่นเทคโนโลยีดิจิทัล และเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมที่สร้างชีวิตแบบใหม่
...
การปรับตั้งเวลาใหม่ของนาฬิกาวันสิ้นโลกมักจะเกิดขึ้นในเดือนมกราคมของแต่ละปี สำหรับปี พ.ศ. 2564 ก็ต้องจับตาดูกันตั้งแต่ประมาณกลางเดือนมกราคม 2564
ตามสภาพการณ์ปัจจัยที่ใช้สำหรับการปรับตั้งเวลาของนาฬิกาวันสิ้นโลก คาดกันว่า น่าจะไม่เลวร้ายกว่าที่เป็นอยู่ และน่าจะปรับเวลาใหม่ถอยห่างจากเที่ยงคืนมากกว่า 100 วินาที จากปัจจัยใหญ่อย่างหนึ่งของผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ ที่มีนโยบายประนีประนอมมากขึ้นกับประเทศใหม่มหาอำนาจนิวเคลียร์ และกลับทิศทางนโยบายเกี่ยวกับการร่วมแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน...
ยกเว้นปัญหาการคุกคามของเทคโนโลยีประเภท DISRUPTIVE ที่มีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้นในปี พ.ศ. 2564
...
10. รถยนต์ไฟฟ้า : ความเคลื่อนไหวและแนวโน้ม
ต่อเนื่องจากการมองอนาคตหนึ่งปีข้างหน้าเมื่อปีที่แล้ว รถยนต์ไฟฟ้าของดีที่ใครๆ ก็ว่าดี อยากได้ แล้วอย่างไร?
จากปี พ.ศ. 2563 เข้าสู่ปี 2564 ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญ คือ แนวโน้มที่ชัดเจนสำหรับประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลก ที่เห็นด้วยกับการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อช่วยแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน อีกทั้งผลกระทบจากโควิด-19 ที่ทำให้การเดินทางภายในประเทศลดลง
ประเทศญี่ปุ่นประกาศนโยบายเปลี่ยนรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันทั้งหมด ให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งไฟฟ้าล้วนๆ (EV) และแบบไฮบริด (HYBRID) ภายในปี พ.ศ. 2573 ประเทศอังกฤษมีแผนจะห้ามจำหน่ายรถยนต์ใช้น้ำมันเร็วขึ้น จากปี พ.ศ. 2583 เป็น 2573 ประเทศสหรัฐอเมริกาก็ตั้งเป้าหมายแบบเดียวกับอังกฤษ แต่จะให้เป็นภายในปี 2578
สำหรับประเทศไทย รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนส่งเสริมการใช้รถไฟฟ้า การผลิตและจำหน่ายรถไฟฟ้า และเร่งการติดตั้งจุดชาร์จไฟที่เป็นปัญหาใหญ่ สำหรับแผนให้รถส่วนใหญ่หรือจำนวนมากเป็นรถไฟฟ้า
แต่การส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าของไทย ก็ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ ถึงผลกระทบต่อการเปลี่ยนผ่านจากการใช้น้ำมัน เป็นรถไฟฟ้า ต่ออุตสาหกรรมการผลิตทั้งตัวรถยนต์และชิ้นส่วน เนื่องจากถึงขณะนี้ ยังไม่มีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในระดับเป็นอุตสาหกรรมในประเทศ ทำให้ราคารถยนต์ไฟฟ้า ที่จะแทนรถยนต์น้ำมันได้จริง จึงยังมีราคาแพง
อย่างไรก็ดี รถยนต์ไฟฟ้าก็ยังเป็นของดีที่ใครๆ ก็ว่าดี อยากได้ แต่อย่างไรจึงจะทำให้มีรถยนต์ไฟฟ้าวิ่งบนถนนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในประเทศไทย โดยที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ