เดินทางมาถึงช่วงท้ายปี 2563 กันแล้ว เหลือเวลาอีกไม่กี่วันก็เตรียมเคาต์ดาวน์ฉลอง ปีใหม่ 2564 หลังตลอดปีที่ผ่านมา เราต้องเผชิญกับมรสุมอันหนักหน่วงแทบจะทุกเดือน โดยมีเจ้าไวรัสร้าย "โควิด-19" (COVID-19) เป็นตัวการใหญ่!!
แต่แทนที่เราจะได้เฉลิมฉลองอย่างที่ตั้งใจไว้... เพราะคิดว่า ยังไงปลายปีต้องดีขึ้นแน่นอน!!
สุดท้าย.... กลับพลิกกลับหัว หกคะเมนตีลังกา หลังวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (20 ธ.ค.) ไทยพบ "คลัสเตอร์" ใหม่ที่ใหญ่กว่าครั้ง "สนามมวย" เมื่อเดือนมีนาคมซะอีก เพียงวันเดียวมีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ถึง 576 ราย ที่ทั้งหมดนั้นมีความเชื่อมโยงกับ "ตลาดอาหารทะเล" ใน จ.สมุทรสาคร
และจนถึงตอนนี้ มีการรายงานผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 สะสม 5,910 ราย ล่าสุดวันที่ 25 ธันวาคม มีผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ 81 ราย แบ่งเป็น ติดเชื้อภายในประเทศ 37 ราย แรงงานต่างด้าวที่มีการคัดกรองเชิงรุก 35 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 9 ราย เทียบอัตราการติดเชื้อต่อล้านคนอยู่ที่ 70.30
อย่างที่บอกไปว่า ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ ล้วนมีความเชื่อมโยงกับ "ตลาดอาหารทะเล" ใน จ.สมุทรสาคร รวมกันแล้วกว่า 1,000 ราย และกระจายไปจังหวัดรอบๆ ทั้งกรุงเทพฯ, นครปฐม และสมุทรปราการ บางรายข้ามไปไกลถึงภาคใต้และอีสาน
เอาละ!!... เมื่อแพลน ปีใหม่ 2564 แบบจัดใหญ่จัดเต็มอาจต้องล้มไป แต่ทาง ศบค. ก็บอกให้ได้อุ่นใจว่า หากอยากเดินทางไปฉลองข้ามจังหวัดก็ยังไปได้อยู่ ขอแค่ระมัดระวังตัวเองและปฏิบัติตามคำแนะนำ โดยเฉพาะการสวมหน้ากาก อย่าลืมเด็ดขาด!! แต่สำหรับ "ชาวสมุทรสาคร" คงต้องเบรกไว้ก่อน งดเดินทางออกนอกพื้นที่ชั่วคราว
ขอย้ำอีกครั้ง!!...ยังไม่มีการล็อกดาวน์ทั่วประเทศแต่อย่างใด
...
แต่ในส่วน จ.สมุทรสาคร นั้น ก็ถือว่าเจ็บพอสมควร เพราะ "คลัสเตอร์" ครั้งนี้ ทำให้เสียรายได้ไปไม่น้อยทีเดียว
และสำหรับคำถามที่ว่า จ.สมุทรสาคร เจ็บแค่ไหน? ...ไปไล่เรียงหาคำตอบกับ The Answer กัน...
:: "สมุทรสาคร" จังหวัดที่เศรษฐกิจใหญ่อันดับ 6 ของประเทศ
คิดดูว่า เพียงแค่การประกาศพบ "คลัสเตอร์สมุทรสาคร" ในวันอาทิตย์ ก็ทำให้ SET Index ลดลงถึง 5.4% ปิดตลาดวันจันทร์ (21 ธ.ค.) ลดลงกว่า 80 จุด ซึ่งเป็นการลดลงที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563
ไม่เว้นแม้แต่ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด หนึ่งในผู้ค้าทูน่ารายใหญ่ที่สุดของโลก ก็ลดลงถึง 8.9% และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ที่ปิดลดลง 6.4% เช่นกัน ก่อนจะดีดกลับบวก 0.20 และ 0.50 ตามลำดับในวันถัดมา
ซึ่งหากมีการล็อกดาวน์ (Lockdown) ขึ้นมาจริงๆ ก็มีการประเมินมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจไว้ว่า อาจสูงถึง 1,000 ล้านบาทต่อวันทีเดียว แถมยังทำให้ราคาอาหารทะเลดีดเพิ่มขึ้นอีกด้วย เพราะเท่าที่สอบถามบรรดาร้านค้าต่างๆ ก็ได้ยินเสียงบ่นกันพอสมควรว่า ปลา หมึก กุ้ง อาหารทะเลทั้งหลายล้วนหายาก แถมที่หาได้ก็แอบราคาขึ้นนิดๆ ด้วย ในส่วนคนที่ไม่กล้ากิน ขอให้เบาใจ คุณหมอออกมายืนยันแล้วว่า กินได้เหมือนเดิม แต่ต้องปรุงสุก เมนูสดๆ เลี่ยงได้ควรเลี่ยง!!
สำหรับ จ.สมุทรสาคร รู้กันไหมว่า จังหวัดเล็กๆ ที่มีขนาดพื้นที่ 872.3 ตารางกิโลเมตร และประชากรเพียง 584,703 คน แต่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ใหญ่อย่างไม่น่าเชื่อ...!!
โดย "สมุทรสาคร" เป็นจังหวัดที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 6 ของประเทศ ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด หรือ "จีพีพี" (Gross Provincial Product : GPP) กว่า 400,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 2.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ "จีดีพี" (Gross Domestic Product : GDP) ของประเทศไทย เทียบ GPP ต่อหัว เท่ากับ 389,818 บาท มีรายได้ส่วนใหญ่มาจากอุตสาหกรรมการผลิต มูลค่ากว่า 280,000 ล้านบาท อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งโรงงานมากกว่า 6,000 แห่ง ซึ่งมีเป้าหมายการพัฒนา ปี 2561-2565 ว่าจะเป็น "เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เกษตรและอาหารปลอดภัย และแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ในอนาคต"
ในส่วนประมาณการเศรษฐกิจ จ.สมุทรสาคร เมื่อปี 2562 มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 1.8%, ภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 4.7%, การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 2.9%
...
แต่ก็อย่างที่ทราบกัน พอเกิดวิกฤติโควิด-19 ในปี 2563 จ.สมุทรสาคร ก็เผชิญกับภาวะการหดตัวทางเศรษฐกิจเช่นกัน โดยคาดว่าจะหดตัวถึง -4.8% สำหรับภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชน แม้ไม่หดตัว แต่การขยายตัวก็ลดลง อยู่ที่ 2.0% และ 2.5% ตามลำดับ
ซึ่งจาก "คลัสเตอร์สมุทรสาคร" ในครั้งนี้ พบว่ากว่า 90% ของการตรวจหาเชื้อ เป็น "แรงงานข้ามชาติ" ที่เดินทางมาจาก "เมียนมา" เพราะเป็นกลุ่มที่มีการจ้างงานมากที่สุด แต่การค้นพบคลัสเตอร์กลับไม่ได้มาจากกลุ่มแรงงานข้ามชาติ กลับเป็น "แม่ค้าปลา" อายุ 67 ปี ที่เดินทางไปตรวจที่โรงพยาบาลและพบว่าติดเชื้อโควิด-19 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม
และล่าสุด กระทรวงสาธารณสุขได้ออกมายืนยัน "สายพันธุ์โควิด-19" ของ "คลัสเตอร์สมุทรสาคร" ว่าเป็นสายพันธุ์เดียวกับฝั่งทางเมียนมา ที่มีต้นตอมาจากอินเดีย นั่นก็คือ สายพันธุ์ GH
:: ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ GH คืออะไรกันแน่?
หากย้อนกลับไปช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 ที่เกาหลีใต้เคยมีการถกกันในประเด็นนี้ เพราะพวกเขาก็พบ "สายพันธุ์ GH" เช่นกัน ว่ากันว่าแพร่เชื้อได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ถึง 6 เท่า!!
...
โดยก่อนที่จะกลายพันธุ์มาเป็นสายพันธุ์ GH (จีเอช) นั้น นับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมีนาคม ที่ปรากฏการแพร่ระบาดโควิด-19 ครั้งแรกหลายพื้นที่ในเอเชีย รวมถึงจีนด้วย พบว่าเป็นสายพันธุ์ S (เอส) และสายพันธุ์ V (วี) แต่พอมาถึงเดือนเมษายนเป็นต้นมา กลับพบว่า การแพร่ระบาดโควิด-19 ในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสายพันธุ์ G (จี) ซึ่งกลุ่มสายพันธุ์ G ที่ว่าก็แบ่งเป็น G, GR, GV และ GH
จากข้อมูลการศึกษาใหม่ของนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยประจำห้องปฏิบัติการแห่งชาติลอส อลาโมส (Los Alamos National Laboratory) พบว่า สายพันธุ์ GH ไม่ได้แพร่กระจายเร็วเพียงอย่างเดียว แต่เสี่ยงที่จะทำให้คนกลับมาติดเชื้อซ้ำอีกครั้งได้ด้วย!!
ขณะที่ แคทเทอรีน เบนเน็ต ศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยา ก็มองเจ้าไวรัสสายพันธุ์ GH นี้ว่า การเคลื่อนย้ายของมันเป็นลักษณะ Super Spreader หมายความว่า การติดเชื้อจะไม่มีการเฉพาะเจาะจงเป็นที่คนใดคนหนึ่ง แต่จะมาในรูปแบบ "คลัสเตอร์"
เหมือนอย่างที่เราเห็นใน จ.สมุทรสาคร นี้นั่นเอง...
แล้วจุดศูนย์กลางของสายพันธุ์ G นั้นอยู่ตรงไหน?
จากฐานข้อมูลการวิเคราะห์ตัวอย่างพันธุกรรมมากกว่า 185,000 ชนิด ของ Global Initiative on Sharing All Influenza Data (GISAID) เห็นได้ว่า ตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อสะสมของสหรัฐอเมริกา คลื่นลูกที่ 1, 2 และ 3 ล้วนเป็นกลุ่มสายพันธุ์ G ขณะที่ อินเดียก็มีรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน โดยการตรวจตัวอย่างการติดเชื้อนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน-กันยายน มีแนวโน้มสายพันธุ์ G แทบทั้งหมด ก็สอดคล้องกับทางการไทยที่มีการบ่งชี้ว่า ต้นตอสายพันธุ์ GH ที่กำลังแพร่ใน จ.สมุทรสาคร
ทำไมการกลายพันธุ์ถึงสำคัญ?
ว่ากันตามจริงแล้ว เราเองก็ไม่ควรกังวลกับเรื่องของสายพันธุ์ไวรัสมากนัก เพราะจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีการยืนยันความอันตรายว่ารุนแรงกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้าหรือไม่ อย่างไร แต่ที่นักวิทยาศาสตร์กังวลก็คือ การกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนาอาจมีผลต่อการแพร่เชื้อ รวมถึง "การพัฒนาวัคซีน" ที่อาจมีผลต่อการสร้างภูมิคุ้มกัน
...
:: เปิด "สัญญาวัคซีน" ประชากรโลกฉีดไปแล้วมากกว่า 2.1 ล้านคน
โดยทั่วโลกตอนนี้มีคนเข้าสู่ขั้นตอนการฉีดวัคซีนแล้วมากกว่า 2.1 ล้านคน แบ่งเป็น จีน 650,000 คน, สหรัฐอเมริกา 614,117 คน, สหราชอาณาจักร 500,000 คน, รัสเซีย 320,000 คน, แคนาดา 16,929 คน และอิสราเอล 10,000 คน ซึ่งนอกจากการทำสัญญาซื้อวัคซีนโควิด-19 จากผู้ผลิตทั้งหลายแล้ว ประเทศต่างๆ ยังทุ่มงบในการพัฒนาวัคซีนรูปแบบใหม่ๆ กว่า 30,000 ล้านบาท รวมแล้วในเวลานี้ มีวัคซีนที่เพียงพอต่อประชากร 7,800 ล้านคนทั่วโลก หรือคิดคร่าวๆ ก็ประมาณ 8,200 ล้านโดส
แต่อย่าลืมว่า... วัคซีนส่วนใหญ่นั้นต้องฉีด 2 โดส ซึ่งมันจะเพียงพอต่อประชากรทั้งโลกได้ก็ต่อเมื่อมีการแจกจ่ายอย่างเท่าเทียม ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการออกมาเตือนอยู่เสมอว่า การแจกจ่ายวัคซีนอย่างเท่าเทียมจะไม่มีทางเกิดขึ้น!!
นั่นเพราะประเทศร่ำรวยย่อมมีโอกาสทำสัญญาซื้อวัคซีนโควิด-19 ได้ถ้วนทั่วกว่า อีกทั้งการสั่งซื้อวัคซีนมายังต้องจัดหาที่เก็บรักษาความเย็นแบบพิเศษให้ตรงกับชนิดของวัคซีนอีกด้วย ดีไม่ดี...บางประเทศอาจต้องรอไปจนถึงปี 2565 เลยก็ได้
หากถามว่า ประเทศไหนกันที่ได้วัคซีนโควิด-19 ไปฉีดให้กับประชากรตัวเองได้ครอบคลุมที่สุด?
คำตอบคือ แคนาดา
ประเทศที่มีประชากร 38 ล้านคน แต่มีการทำสัญญาสั่งซื้อวัคซีนโควิด-19 ไปอย่างน้อย 7 บริษัท รวมแล้วหากได้ครบตามจำนวนจะครอบคลุมประชากรกว่า 190 ล้านคน หรือคิดเป็นมากกว่า 4 เท่า อ้อ...นี่ยังไม่รวมวัคซีนที่มีการทำข้อตกลงการซื้อผ่าน "โคแวกซ์" (Covax) แต่อย่างใด
ในส่วนของรัสเซียกับจีน มีความเชื่อมั่นในการผลิตของตัวเองสูงมาก โดยรัสเซียมีการฉีดวัคซีนสปุตนิกส์ ไฟว์ (Sputnik V) ที่ผลิตโดยศูนย์กามาเลยา (Gamaleya Center) และซิโนฟาร์ม (Sinopharm) ยักษ์ใหญ่เภสัชกรรมที่มีภาครัฐจีนเป็นเจ้าของ ขณะที่ จีนเองไม่ได้มีการเปิดเผยปริมาณโดสที่รัฐบาลมีการทำสัญญาสั่งซื้อที่แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่า บริษัทเหล่านั้นจะผลิตให้ได้มากเท่าที่ประชากรจีนมีความต้องการ
เมื่อเทียบความครอบคลุมเป็น % แน่นอนว่ามากที่สุด คือ แคนาดาอย่างที่บอกไป 511% ครอบคลุมประชากร 192 ล้านคน รองลงมาคือ สหราชอาณาจักร 295% ครอบคลุม 197 ล้านคน และอันดับ 3 คือ ออสเตรเลีย 230% ครอบคลุม 59 ล้านคน ในส่วนยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาและจีน อยู่ที่ 154% และ 16% ตามลำดับ
หากย้อนมาดูในภูมิภาคอาเซียน การทำสัญญาซื้อวัคซีนโควิด-19 ที่ครอบคลุมประชากรมากที่สุด คือ อินโดนีเซีย 50% ครอบคลุม 133 ล้านคน รองลงมา คือ มาเลเซีย 25% ครอบคลุม 8 ล้านคน และไทยอันดับ 3 ครอบคลุม 13 ล้านคน หรือ 19%
สุดท้ายแล้ว...ก็หวังว่า วิกฤติโควิด-19 นี้จะจบโดยเร็ว หรืออย่างน้อยก็บรรเทาให้หลายๆ ประเทศได้กลับมาฟื้นเศรษฐกิจ และประชากรทั่วโลกกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติ ไม่ต้องคอยหวาดระแวงอีกต่อไป... ก่อนปิดท้ายปี 2563 นี้ The Answer ก็ขอให้ทุกคนฉลองปีใหม่ 2564 มีความสุข ไร้โรคภัยตามมา.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก: Supassara Traiyansuwan
ข่าวน่าสนใจ:
- สัญญาณอันตราย ธุรกิจไทยกลายเป็น "ซอมบี้" ย้อนบทเรียน "ทศวรรษที่หายไป"
- แย่งซื้อ "วัคซีนโควิด-19" ยอดพรีออเดอร์ถล่ม หวังหลุดวังวนหายนะ
- สหรัฐฯ กลัวเสียเปรียบไทย ยัดข้อหาเดิม จับตามอง "บิดเบือนค่าเงิน"
- เรื่องเล่าข้างสังเวียน เบื้องหลังวงปี่มวยไทย อาชีพไม่ตาย รายได้พออยู่
- ปรัชญา "สวีเดน" โควิดเสรี ไม่ล็อกดาวน์ เศรษฐกิจนำ สุดท้ายพัง!
ข้อมูลอ้างอิง:
- รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย โดยศูนย์ข้อมูล COVID-19
- ประมาณการเศรษฐกิจจังหวัดสมุทรสาคร ปี พ.ศ. 2563 และปี พ.ศ. 2564 โดยสำนักงานคลังจังหวัดสมุทรสาคร