- ฉางเอ๋อ-5 ออกเดินทางจากโลก 24 พฤศจิกายน ก่อนแตะพื้นดวงจันทร์บริเวณ Oceanus Procellarum ซึ่งเป็นพื้นที่ราบสีคล้ำที่กว้างใหญ่ที่สุด
- ฉางเอ๋อ-5 นำตัวอย่างก้อนหินบนดวงจันทร์กลับมายังโลก มีน้ำหนักรวมประมาณ 2 กิโลกรัม
- จับตาอนาคต ฉางเอ๋อ-8 ปฏิบัติการทดลองเทคโนโลยี เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับฐานวิจัยบนดวงจันทร์
ฉางเอ๋อ เธอคือใคร?
"ฉางเอ๋อ" คือชื่อของเทพธิดาแห่งดวงจันทร์ตามความเชื่อปรัมปราของจีน โดยเธอมี "ยวี่ถู่" หรือ "กระต่ายหยก" เป็นสัตว์เลี้ยงที่อาศัยอยู่ด้วยกันบนดวงจันทร์ หากแต่...เมื่อตัดภาพมาในปี 2020 "ฉางเอ๋อ" และ "ยวี่ถู่" กำลังกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความทะเยอทะยานที่สุดไฉไลเป็นบ้าของประเทศจีน อันอาจจะทำให้ชาติคู่แข่งสำคัญในทุกๆ ด้าน อย่าง "สหรัฐอเมริกา" เริ่มต้องเมียงมองด้วยความระแวดระวังมากขึ้น และอาจจะมากขึ้นทุกทีๆ นับจากนี้
นั่นเป็นเพราะ...บางทีก้าวเล็กๆ ของมนุษย์คนหนึ่งบนดวงจันทร์ที่เคยเต็มไปด้วยเท้าของมนุษย์สัญชาติเดียวมาโดยตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา อาจจะมีก้าวเล็กๆ ของอีกชาติมหาอำนาจแห่งเอเชีย ขึ้นไปฝากรอยเท้าไว้ภายในอีก 10 ปีข้างหน้าก็เป็นได้!
"ฉางเอ๋อ โปรแกรม" (Chang’e Program) คือ ชื่อของโครงการบุกดวงจันทร์ขององค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน หรือ CNSA ซึ่งเป็นชื่อที่แทบไม่ต่างอะไรกับอาร์ทีมิส โปรแกรม (Artemis Program) ที่องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา หรือ NASA ตั้งเป็นชื่อโครงการพาผู้หญิงคนแรกไปเหยียบดวงจันทร์ โดยอ้างอิงมาจากชื่อเทพธิดาแห่งดวงจันทร์ในเทพนิยายกรีก ซึ่งเป็นฝาแฝดของเทพเจ้าอะพอลโลที่นาซาเคยใช้เป็นชื่อโครงการพามนุษย์ผู้ชายขึ้นไปสร้างประวัติศาสตร์ที่โลกต้องจารึกไปตลอดกาลมาแล้ว
...
เทพธิดาฉางเอ๋อ ทำให้ประเทศจีนกลายเป็นประเทศลำดับที่ 3 ของโลก ต่อจากสหรัฐอเมริกาและอดีตสหภาพโซเวียต ที่ประสบความสำเร็จในการส่งยานอวกาศไปเก็บตัวอย่างหินบนดวงจันทร์ แล้วสามารถเดินทางกลับมายังโลกได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2020 ตามเวลาท้องถิ่น
โดยตัวอย่าง "ก้อนหิน" ชุดใหม่จากดวงจันทร์ที่กลับมายังโลกครั้งนี้ เป็นการเก็บมาจากพื้นที่บนดวงจันทร์ที่ไม่เคยผ่านการสำรวจของชาติใดมาก่อน และยังถือเป็นตัวอย่างแรกจากดวงจันทร์ที่มายังโลก นับตั้งแต่ปี 1970 เป็นต้นมา
ยานฉางเอ๋อ-5 (Chang’e-5) ออกเดินทางจากโลกเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ก่อนจะลงไปแตะพื้นดวงจันทร์ บริเวณ "Oceanus Procellarum" หรือพื้นที่ราบสีคล้ำที่กว้างใหญ่ที่สุดบนดวงจันทร์ ซึ่งพื้นที่แห่งนี้เป็นบริเวณที่มีหินอายุเพียง 1.21 พันล้านปี ถือว่ามีอายุน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับตัวอย่างหินดวงจันทร์จากโครงการอะพอลโลที่มีอายุในช่วง 3.1-4.4 พันล้านปี
หลังจากลงจอด "ฉางเอ๋อ-5" ได้เข้าไปยังบริเวณที่เรียกว่า "มอนส์ รุมเกอร์" (Mons Rümker) ซึ่งเป็นที่ตั้งของแนวภูเขาไฟ ก่อนจะเจาะลงไปในพื้นดินลึก 2 เมตร เพื่อเก็บตัวอย่างน้ำหนักครึ่งกิโลกรัมมาทำการตรวจสอบ เพื่อพิสูจน์ทฤษฎีที่ว่า ดวงจันทร์เคยมีภูเขาไฟมาก่อนหรือไม่?
อะไรคือความสำคัญของตัวอย่างก้อนหินจากดวงจันทร์?
...
การวิเคราะห์ตัวอย่างจะสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับข้อมูลในอดีตและวิวัฒนาการของทั้งดวงจันทร์และโลก และหากก้อนหินตัวอย่างที่ "ฉางเอ๋อ-5" นำมาจากดวงจันทร์ มีลาวาจากภูเขาไฟผสมอยู่จริง มันไม่เพียงแต่จะบอกว่า ดวงจันทร์เคยมีภูเขาไฟมาก่อนเท่านั้น แต่มันยังจะเป็นการเพิ่มความรู้ให้กับนักวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับวิวัฒนาการการก่อกำเนิดของดวงจันทร์หลังหลุดออกไปจากโลก รวมถึงอายุพื้นผิวของดาวดวงอื่นๆ ในระบบสุริยะ ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับภารกิจสำรวจอวกาศและดวงดาวอื่นๆ ที่จะมีความซับซ้อนมากขึ้นต่อไปในอนาคต และเมื่อนักวิทยาศาสตร์จีนได้วิเคราะห์ตัวอย่างหินบนดวงจันทร์เสร็จเรียบร้อยแล้ว จะมีการส่งผลการศึกษาและวิเคราะห์ตัวอย่างบางส่วนไปให้กับนักวิทยาศาสตร์ในประเทศอื่นๆ ต่อไป
ชาติใดบ้างที่นำตัวอย่างก้อนหินจากดวงจันทร์กลับมายังโลก?
ที่ผ่านมา โครงการอะพอลโล (Apollo) ของสหรัฐอเมริกา ส่งยานอวกาศลงไปสำรวจดวงจันทร์รวมกันทั้งสิ้น 12 ครั้ง ในจำนวนนี้เป็นการส่งมนุษย์ลงไปเหยียบดวงจันทร์ 6 ครั้ง ระหว่างปี 1969-1972 โดยสามารถนำหินและดินจากดวงจันทร์กลับมายังโลกได้น้ำหนักรวมกันทั้งสิ้น 382 กิโลกรัม
...
ในขณะที่ สหภาพโซเวียตประสบความสำเร็จ 3 ครั้ง ในการส่งหุ่นยนต์ไปดวงจันทร์ช่วงยุค 70 โดยปฏิบัติการครั้งสุดท้าย มีชื่อว่า The Luna 24 สามารถนำตัวอย่างบนดวงจันทร์กลับมายังโลก ด้วยน้ำหนักรวม 170.1 กรัม ในปี 1976
ส่วนภารกิจของยานฉางเอ๋อ-5 นั้น ตามรายงานของทางการจีนระบุว่า มีการนำตัวอย่างก้อนหินบนดวงจันทร์กลับมาด้วยน้ำหนักรวมประมาณ 2 กิโลกรัม
...
จีนจะได้อะไรจากตัวอย่างก้อนหินจากดวงจันทร์?
นี่คือโอกาสครั้งสำคัญสำหรับนักวิทยาศาสตร์จีนที่จะได้ศึกษาก้อนหินจากดวงจันทร์อย่างจริงจังอีกครั้ง หลังรัฐบาลสหรัฐฯ ได้เคยส่งมอบชิ้นส่วนก้อนหินจากดวงจันทร์น้ำหนัก 1 กิโลกรัม จากทั้งหมด 382 กิโลกรัม ที่นาซานำกลับมายังโลก มอบให้กับรัฐบาลจีนเพื่อสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการเมื่อปี 1978 โดยมีรายงานว่า ของขวัญสำคัญจากรัฐบาลสหรัฐฯ ชิ้นนั้น ในเวลาต่อมาถูกนำไปให้นักวิทยาศาสตร์จีนทำการวิจัยครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งยังถูกเก็บรักษาไว้ในประเทศจีนจนถึงปัจจุบัน
ขณะเดียวกัน มีรายงานด้วยว่า ตัวอย่างก้อนหินจากดวงจันทร์ที่ครั้งนี้ชาวจีนสามารถนำมันกลับมาได้ด้วยตัวเอง ส่วนหนึ่งจะถูกนำไปเก็บรักษาไว้ที่มณฑลหูหนาน บ้านเกิดของประธาน เหมา เจ๋อตุง บิดาแห่งประเทศจีนด้วย
อะไรคือ "ฉางเอ๋อโปรแกรม" และอะไรคือเป้าหมาย?
องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน หรือ CNSA เปิดตัวโครงการแห่งความทะเยอทะยานสู่การเดินทางไปยังอวกาศอันไกลโพ้นนี้มาตั้งแต่ปี 2003 โดยจะมีขั้นตอนการปฏิบัติทั้งหมดแบ่งเป็น 4 เฟส โดย เฟสที่ 1 และเฟสที่ 2 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการโคจรรอบดวงจันทร์นั้น ดำเนินการไปเมื่อปี 2007 และปี 2010
จากนั้นในปี 2019 จึงเป็นปฏิบัติการลงจอดและการส่งหุ่นยนต์รถสำรวจไปยังดวงจันทร์ ซึ่งขั้นตอนนี้ สำเร็จลงอย่างงดงาม เมื่อยานฉางเอ๋อ 4 สร้างประวัติศาสตร์ในฐานะยานอวกาศลำแรกที่ลงจอดอย่างนุ่มนวลที่ด้านไกลของดวงจันทร์ และส่งหุ่นยนต์รถสำรวจ "ยวี่ถู่" (Yutu) ออกแล่นสำรวจพื้นผิวได้สำเร็จ
ทั้งๆ ที่ด้านไกลของดวงจันทร์นี้ เป็นภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยเทือกเขาระเกะระกะและมีความเสี่ยงมากกว่า ด้านใกล้ของดวงจันทร์ที่สหรัฐฯ และสหภาพโซเวียตเคยส่งยานไปลงสำรวจ นอกจากนี้ สภาพภูมิประเทศยังไม่ใช่อุปสรรคเพียงอย่างเดียวของการเดินทางครั้งนั้น หากแต่ตำแหน่งลงจอดที่หันออกจากโลกตลอดเวลา ทำให้ยานไม่สามารถสื่อสารกับโลกได้ การสื่อสารระหว่างยานกับโลกจึงต้องอาศัยดาวเทียมถ่ายทอดสัญญาณ แถมในช่วงกลางคืนยังมีอุณหภูมิหนาวจัด -173 องศาเซลเซียส ยาวนานต่อเนื่องถึง 14 วัน ในขณะที่ ในช่วงกลางวันอุณหภูมิจะสูงถึง 127 องศาเซลเซียสด้วย
ยานฉางเอ๋อ-5 ประกอบด้วยอะไรบ้าง?
ยานฉางเอ๋อ-5 ประกอบไปด้วย ยาน 4 ลำ คือ 1. Lander ยานสำหรับลงจอดและเก็บตัวอย่างบนดวงจันทร์ 2. Attached ascent vehicle ส่วนนำตัวอย่างจากดวงจันทร์ขึ้นสู่อวกาศ 3. Orbiter ยานโคจรรอบดวงจันทร์ 4. Sample-return capsule แคปซูลเพื่อเก็บตัวอย่างส่งกลับมายังโลก
สำหรับปฏิบัติการของยานฉางเอ๋อ-5 นี้ ถือเป็นปฏิบัติการในเฟส 3 ของ "ฉางเอ๋อโปรแกรม" นั่นก็คือ การส่งยานขึ้นจากพื้นผิวและเก็บตัวอย่างจากดวงจันทร์กลับมายังโลก
ส่วนปฏิบัติการในลำดับถัดไป CNSA จะมุ่งเน้นไปที่การสำรวจที่ราบขั้วใต้ของดวงจันทร์ (The moon’s south pole) โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ การตั้งฐานวิจัยบนดวงจันทร์
โดย "ฉางเอ๋อ-6" จะถูกส่งไปเก็บตัวอย่างบนดวงจันทร์กลับมายังโลกเพิ่มเติม ในขณะที่ "ฉางเอ๋อ-7" จะเป็นการปฏิบัติการที่มุ่งเน้นเรื่องการสำรวจพื้นที่ให้มากขึ้น ในขณะที่ "ฉางเอ๋อ-8" จะเป็นปฏิบัติการสำหรับการทดลองเรื่องเทคโนโลยีเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับฐานวิจัยบนดวงจันทร์
ความฝันด้านอวกาศเป็นส่วนหนึ่งของความฝันที่จะทำให้ประเทศจีนแข็งแกร่งขึ้น!
โดยหลังจาก CNSA ประสบความสำเร็จในภารกิจเดินทางไปและกลับดวงจันทร์ภายในระยะเวลา 23 วันแล้ว บรรดานักวิเคราะห์ทั่วโลกต่างมองตรงกันว่า สิ่งที่ CNSA ปรารถนานอกจากก้อนหินและตัวอย่างจากดวงจันทร์ที่ไม่เคยมีใครเข้าไปสำรวจแล้ว อีกเป้าหมายสำคัญหนึ่งที่พวกเขาต้องการ คือ การทดสอบเทคโนโลยีการขับเคลื่อนยานขึ้นจากพื้นผิวของดวงจันทร์ และเทคโนโลยีการเข้าเชื่อมต่อยานอวกาศในวงโคจรของดวงจันทร์แบบอัตโนมัติโดยไม่จำเป็นต้องใช้มนุษย์ควบคุม ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างน่าตื่นตะลึง
โดยปฏิบัติการทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อเปิดทางไปสู่เป้าหมายอื่นๆ ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นแผนการสำรวจดาวเคราะห์น้อยที่อยู่ใกล้โลก การเดินทางไปสำรวจดาวอังคารในทศวรรษหน้า การปฏิบัติการส่งมนุษย์ชาวจีนไปเหยียบดวงจันทร์ภายในปี 2030 และการเปิดตัวสถานีอวกาศถาวรของตัวเองในปีหน้า
รวมถึงเป้าหมายที่น่าจะตกตะลึงอย่าง...
"เราหวังจะร่วมมือกับหลายๆ ประเทศ เพื่อสร้างสถานีวิจัยนานาชาติบนดวงจันทร์ เพื่อใช้เป็นสถานที่ร่วมกันสำหรับการวิจัยและทดลองทางวิทยาศาสตร์ต่อไป" CNSA แถลงหลังฉางเอ๋อ-5 กลับคืนสู่โลกพร้อมตัวอย่างก้อนหินจากดวงจันทร์ได้สำเร็จ
ซึ่งหากพญามังกรทำได้ทั้งหมดที่ว่านั้นจริง สมดั่งวิสัยทัศน์ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เมื่อปี 2013 ที่ว่า...
"ความฝันด้านอวกาศเป็นส่วนหนึ่งของความฝันที่จะทำให้ประเทศจีนแข็งแกร่งขึ้น ชาวจีนจะก้าวไปอีกขั้นเพื่อสำรวจอวกาศให้ไกลขึ้นกว่าเดิม!"
อ่านมาถึงบรรทัดนี้ บางทีชาติที่เคยครองความเป็นหนึ่งในอวกาศ รวมถึงมีผู้นำประเทศที่ประกาศอย่างห้าวหาญว่า จะสร้างกองทัพอวกาศขึ้น อาจต้องกลับไปใคร่ครวญกันให้จงหนักว่าในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมานี้ เหตุไฉน พวกเขาจึงถดถอยลงจากจุดเดิมในฐานะผู้บุกเบิกอวกาศ จนกระทั่งทำให้คู่แข่งสำคัญวิ่งไล่ตามมาได้กระชั้นชิดขนาดนี้ก็เป็นได้!
ผู้เขียน: นายฮกหลง
กราฟิก: เทพอมร แสงธรรมาพิทักษ์
ข่าวที่น่าสนใจ: