“มวยไทย” ถือเป็นศิลปะการต่อสู้ประจำชาติ ที่อยู่คู่กับสยามประเทศมาช้านาน โดยมีเรื่องเล่า ตำนานมากมาย ที่กล่าวถึงนักรบไทยใช้วิชาการต่อสู้ปกป้องบ้านเมืองให้พ้นภยันตราย หรือกอบกู้เอกราช ไม่ให้ชาติไทยตกเป็นเมืองขึ้นของมหาอำนาจที่เข้ามารุกราน

ทุกวันนี้ “มวยไทย” กลายเป็นกีฬาที่คนทั่วโลกให้ความสนใจ โดยเฉพาะฝรั่งเศส หรือ จีน ที่ให้ความนิยมเป็นอย่างสูง พร้อมเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาเรียนศิลปะการต่อสู้แขนงนี้ เพราะทุกส่วนในร่างกายคือ “อาวุธ”

และเป็นความโชคดีของผู้เขียน ที่มีโอกาสเดินทางไปสัมผัสบรรยากาศแห่งการต่อสู้ ณ “สนามมวยลุมพินี” (เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.ก่อนโควิด-19 ระบาดครั้งใหม่) สนามมวยเก่าแก่ ที่มีศักดิ์ศรีอันดับต้นๆ ของไทย หลังจากห่างหายเพราะถูกปิดไม่ให้คนดูเข้าชม เนื่องจากไวรัสโควิด-19 ระบาด

บรรยากาศภายในที่ผู้เขียนได้สัมผัสวันนั้น ช่างแตกต่างจากการเชียร์มวยตู้ ดูจากทีวีหน้าจอเสียเหลือเกิน เพราะ เสียงโห่ ฮา ดังกึกก้อง ตี! ตี! ป้าบ ป้าบ เสียงเชียร์และแรงเตะที่นักมวยหวดแข้งเข้าฝ่ายตรงข้าม ดังมาไกลถึงคนดู นี่คือบรรยากาศที่ห่างหายไปช่วงระยะหนึ่ง และตอนนี้ความมันที่เหล่าบรรดาแฟนมวยชอบ...กลับมาแล้ว

เบื้องหลังความสนุกของมวยไทย ต้องมีดนตรีประกอบ
เบื้องหลังความสนุกของมวยไทย ต้องมีดนตรีประกอบ

...

การดูมวยให้ได้อรรถรส นอกจากสายตาที่จับจ้องบนเวทีแล้ว หูก็ต้องฟังเสียงรอบๆ ซึ่งหนึ่งในเสียงที่คอยเพิ่มอรรถรสระหว่างดูมวยไทยคือเสียงดนตรี “วงปี่มวย” ที่อยู่ด้านข้างเวที

ผู้เขียนมีโอกาสได้สนทนากับ 2 ผู้เฒ่าที่ทำหน้าที่ กลองแขก และปี่มวย ที่คอยให้จังหวะการต่อสู้ในสังเวียนลุมพินีมาช้านาน พร้อมบอกเล่าเบื้องหลัง ความรัก ความประทับใจ ในการทำงานนี้ แม้จะมีรายได้พอยาไส้เท่านั้น...

นายสมศักดิ์ ปั้นบุญ ในวัย 73 ปี ผู้ทำหน้าที่กลองแขก บอกกับผู้เขียนว่า เป็นนักดนตรีไทยมาทั้งชีวิต และได้ทำงานตีกลองให้จังหวะมวยไทยประมาณมากว่า 10 ปีแล้ว ก่อนหน้านี้ก็รับงานอื่นๆ เช่น งานศพ งานบวช เรียกว่าใครจ้างเราก็ไปหมด

สาเหตุที่การแข่งขันชกมวยไทยต้องใช้ดนตรีสดเล่นประกอบ เพราะความสนุกจากดนตรีที่เราเล่นนั้นแตกต่างกับเพลงที่อัดไว้ การเล่นดนตรีสดๆ มันสนุกเร้าใจมากกว่า

คำตอบนี้เป็นคำตอบที่คล้ายคลึงกับ นายสมพงษ์ ภู่สร ในวัย 75 ปี นักดนตรีไทยที่รับหน้าที่ “ปี่มวย” พระเอกของวงดนตรีที่ใช้บรรเลงข้างสังเวียนเลือด ที่บอกว่า สาเหตุที่ปี่มวยอยู่คู่กับสนามมวยเพราะมันคู่กันมาตั้งแต่โบราณ แต่ถ้าเปิดเทป มันก็เล่นวนๆ ไป ไม่เหมือนเป่าจริงๆ ที่เราดูมวยไปด้วยจะทำให้สามารถเร่งจังหวะได้ ความสนุกจึงแตกต่างกัน

สมศักดิ์ ปั้นบุญ (ซ้าย) มือกลองแขก ที่ตีกลองในวงปี่มวยมายาวนาน
สมศักดิ์ ปั้นบุญ (ซ้าย) มือกลองแขก ที่ตีกลองในวงปี่มวยมายาวนาน

ลุงสมพงษ์ เล่าว่า เดิมทีทำงานข้าราชการอยู่ในกองดุริยางค์ทหารอากาศ ได้ทำงานในวงปี่มวย เมื่อช่วง 30 ปีที่ผ่านมา โดยเพื่อนๆ ชักชวนให้มาลองเป่าที่สนามมวยดู ซึ่งก็เป่ามาหมดทั้งเวทีลุมพินี ราชดำเนิน หรือเวทีช่อง 7

เมื่อก่อนรายได้ประมาณ 300 บาทต่อวัน (ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา) เพิ่งจะได้เพิ่มขึ้นมาอีกเล็กน้อยเมื่อไม่กี่ปี่ แต่สิ่งที่ปี่มวยแตกต่างจากเพื่อนในวง คือ วงปี่มวยที่เราเป่า จะมี 2 คนช่วยกัน สลับกันเป่า

นักดนตรีไทยชั้นครู เผยว่า การเป่าปี่มวยจะเป่าตามการชกของมวย คือ ชกยกหนึ่ง 3 นาที ก็จะเป่าต่อเนื่อง 3 นาที แล้วจะได้พัก 2 นาที แต่ที่ใช้เวลาไม่แน่นอนก็ตอนไหว้ครู เพราะนักมวยบางคนไหว้ครูนานมาก มากกว่า 10 นาที ก็มี เราก็ต้องเป่าจนไหว้ครูเสร็จ

ส่วนเพลงที่ใช้ ส่วนมากจะเป็นเพลงเก่าๆ เช่น “เจ้าเซ็น” ซึ่งเพลงนี้จะเป็นเพลงที่ใช้สำหรับการตีกลองเป็นหลัก แต่สำหรับปี่มวยก็ใช้ แต่ก็จะมีเพลงอื่นๆ ด้วย โดยลุงสมพงษ์ บอกกับผู้เขียนว่า เพลงเจ้าเซ็น เปรียบเหมือนเพลงบังคับที่ใช้เปิด ส่วนยก 2 หรือ 3 อาจจะเปลี่ยนแปลงไปได้ เช่น

“น้อย นอย นอย หน่อย น้อ หนอ หน่อ หนอ น้อย...” เป็นต้น นายสมพงษ์ ร้องเพลงตัวอย่างให้ผู้เขียนฟัง อย่างมีความสุขและอมยิ้มไปด้วย

สมพงษ์ ภู่สร นักดนตรีไทยที่เป่าปี่มวยมากว่า 30 ปี
สมพงษ์ ภู่สร นักดนตรีไทยที่เป่าปี่มวยมากว่า 30 ปี

...

ส่วนตัวลุงสมพงษ์ มีความเคารพในวิชาชีพและครูที่พร่ำสอนมา และชมชอบในเพลงโบราณมากกว่าเพลงยุคใหม่ ที่อาจจะสอดแทรกหรือเอาเพลงลูกทุ่งมาผสม

“ส่วนมากจะเป็นเพลงเก่าๆ เพราะเรายึดถือเพลงแบบโบราณ ไม่เหมือนนักดนตรีรุ่นใหม่ ที่บางครั้งก็อาจจะเป่าเพลงลูกทุ่ง หากตีกลองเขาจะไม่ค่อยเปลี่ยนเพลง แต่ปี่นี่จะต้องเลือกใช้ตามความเหมาะสม ระหว่างที่กำลังเป่า..ต้องมองนักมวยด้วย หากไม่มอง เกิดนักมวยชกกันแล้วเกิดน็อกลงไปนอน หากดนตรีไม่หยุด..คนดูก็จะรู้ว่าเราไม่ได้สนใจดูอะไรเลย จะเป่าอย่างเดียวโดยไม่ดูไม่ได้” ลุงสมพงษ์ บอกอย่างอารมณ์ดี

แบบนี้เราจะเป่าตามจังหวะการต่อสู้ไหม ลุงสมพงษ์ บอกกับผู้เขียนว่า ไม่ถึงขนาดนั้น เราก็เป่าของเรา แต่...ถ้าเป็นนักมวยยุคก่อน เขาจะฟังปี่กลอง โดยออกอาวุธใส่คู่ต่อสู้สอดคล้องกับจังหวะ แต่สมัยนั้นมันคนละยุคกันแล้ว

แบบนี้แสดงว่าสมัยก่อน เราสามารถเร่งจังหวะให้ดุเดือดได้... ลุงสมพงษ์ ยิ้ม ตอบแบบติดตลกว่า “บางครั้งเวลาเราเร่ง เขาก็ไม่เร่งกับเรา” (หัวเราะ)

คำว่าปี่กลอง กับการชกมวย ต้องสนุกไปด้วยกัน ถ้ามวยต่อยกันสนุกเราก็จะสนุกไปด้วย บางทีนักมวยต่อยกันจืดชืดเราก็จืดชืดไปด้วย

วงปี่มวยพร้อมบรรเลงให้คนดูและเซียนมวยได้ดูการต่อสู้ได้สนุกขึ้น
วงปี่มวยพร้อมบรรเลงให้คนดูและเซียนมวยได้ดูการต่อสู้ได้สนุกขึ้น

...

ก่อนเป่าต้องวอร์มก่อนไหม.. ลุงสมพงษ์ บอกว่าไม่จำเป็น ลมที่มีคงที่แล้ว (เป่ามาหลายสิบปีแล้ว) เทคนิคการฝึก คือ ช่วงที่เราเป่า แก้มพองๆ นี่ เราสามารถเป่าไปด้วยและสูดลมหายใจเข้ามาด้วย แบบให้มันบาลานซ์กันพอดีได้ แต่เทคนิคนี้ เราสอนให้ 10 คน จะทำได้เพียงไม่กี่คน ถ้าทำแบบนี้ได้ เสียงเป่าจะไม่ขาดสาย

“ด้วยที่ทำอาชีพนี้มานาน อนาคตก็อยากจะทำไปเรื่อยๆ จนทำไม่ไหว ถึงแม้จะอายุมาก 75 ปีแล้ว เวลาไปหาหมอตรวจโรคประจำตัว หมอก็ถาม “ทำอะไร” เราก็บอก “เป่าปี่มวย” หมอก็บอก “ดีแล้วๆ ปอดจะได้ใหญ่ๆ แข็งแรง ฉะนั้นก็อยากจะทำไปเรื่อยจนทำไม่ไหว”

ซึ่งคำตอบของลุงสมพงษ์ นักดนตรีไทยชั้นครู ไม่แตกต่างจากเพื่อนร่วมวงรุ่นเก๋าอย่าง นายสมศักดิ์ มือกลองรุ่นเก๋า ว่าอยากทำไปเรื่อยๆ มีความสุข ได้เจอผู้คนมากมาย

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ คงอยากรู้แล้วใช่ไหม ว่าสรุปแล้ว นักดนตรีวงปี่มวย มีรายได้เท่าไรกันแน่ ทั้งคู่เฉลยว่า..ได้วันละ 500 บาท เป่าปี่มวย 2 คน กลอง 1 คน และมือฉิ่ง 1 คน ได้เงินเท่ากันหมด...

...

โอ้โห..แบบนี้มือฉิ่งก็สบายสุดน่ะซี่ ผู้เขียนนึกในใจ และอดถามออกไปไม่ได้ ลุงๆ ทั้งสองถึงขั้นหัวเราะคำโต แต่บางวิก (ใบ้แล้วนะว่าที่ไหน) เขาก็ให้ราคามือฉิ่ง 300 บาทนะ แต่ที่นี่ลุมพินี ให้เท่ากัน

“ว่าแต่เมื่อไหร่จะขึ้นให้สักที นี่มัน 4-5 ปีแล้วนะ” ลุงสมศักดิ์ กล่าวติดตลกทิ้งท้ายถึงเจ้าของสังเวียน

ผู้เขียน : อาสาม
กราฟิก : sathit chuephanngam

อ่านข่าวที่น่าสนใจ